posttoday

การเมืองไทยแบบนี้ น่าจะต้องมองไปที่การลงทุนในต่างประเทศอย่างจริงจัง

13 มกราคม 2557

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ลูกค้าของผมหลายคนอดทนกินแห้วมาเป็นเวลาหลายปีหลังต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยต่ำมากของเงินฝากประจำ ซึ่งเมื่อคำนวนควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อ ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ติดลบ การออกไล่ล่าผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากนอกประเทศ โดยเฉพาะจากพันธบัตรเกาหลี ทำให้ได้กำไรมาเป็นเวลาหลายปี แต่ความแตกต่างที่น้อยมากของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนดังกล่าวไม่คุ้มค่า บางคนได้เลือกลงทุนในพันธบัตรของกลุ่มประเทศยุโรปตอนใต้ อาทิ อิตาลี และโปรตุเกส ซึ่งผมมองว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไป ปรากฏด้านล่าง จะเป็นประเด็นสำคัญต่างๆ ที่คุณควรจะรับทราบและเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในตลาดต่างประเทศ

ประเด็นแรก ที่ต้องคำนึงถึงสำหรับนักลงทุนไทย คือ คุณจะบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไรในการเพิ่มการลงทุนในตลาดต่างประเทศในพอร์ทการลงทุนของคุณ การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะประกอบด้วยหุ้นและตราสารหนี้จากหลายประเทศ ซึ่งก็จะมีมูลค่าในสกุลเงินที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งมูลค่าของการลงทุนดังกล่าว จะขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าของหุ้นและตราสารหนี้ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน หรือมูลค่าของสกุลเงินท้องถิ่นเมื่อเทียบกับมูลค่าของเงินบาท

ประเด็นที่สอง สัดส่วน ขนาด และขอบเขตของหลักทรัพย์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Bank of International Settlement (BIS) ระบุว่า ตลาดพันธบัตรโลกได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 19.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมากกว่า 97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ข้อมูลจาก BIS ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ตลาดพันธบัตรของโลกจะถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40 ยุโรปเข้ามาห่างๆ เป็นลำดับที่สอง ตามด้วยญี่ปุ่น แต่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 สัดส่วนของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ในตลาดพันธบัตรโลก ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 34 ในเวลาเดียวกับที่ตลาดพันธบัตรยุโรปได้มีมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นจาก 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีสัดส่วนในตลาดพันธบัตรโลกที่ใกล้เคียงกับของสหรัฐฯ   แต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่สุดคือการออกพันธบัตรรัฐบาลโดยกลุ่มประเทศอื่นที่อยู่นอกตลาดพันธบัตรใหญ่ๆ โดยระหว่างปี พ.ศ. 2534-2554 มีประเทศใหม่เข้าร่วมตลาดพันธบัตรโลกกว่า 30 ประเทศ (ซึ่งรวมถึงตลาดตลาดเกิดใหม่ – Emerging Markets) โดยได้เริ่มออกพันธบัตรทั้งของภาครัฐและของภาคเอกชน ทำให้หนี้จากนอกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 20 ของพันธบัตรโลก ประเทศใหญ่ในกลุ่มดังกล่าวรวมถึง ออสเตรเลีย บราซิล และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ตลาดพันธบัตรโลกได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในด้านของน้ำหนักสัดส่วนเช่นกัน เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว พันธบัตรรัฐบาลจะมีสัดส่วนสูงสุด ตั้งแต่นั้นมาได้เริ่มมีพันธบัตรที่หลากหลายออกสู่ตลาดมากขึ้น การออกตราสารหนี้ที่อิงเครดิต (Credit-related Securities) อาทิ ตราสารหนี้ออกโดยภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bonds) และตราสารหนี้จากการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitized Bonds) (ซึ่งมีการค้ำประกันโดยการก่อหนี้เชิงพาณิชย์ และหนี้ส่วนบุคคล โดยเครื่องมือหรือวิธีต่างๆ อาทิ การจำนำ การกู้เงินสำหรับรถยนต์ และบัตรเครดิต เป็นต้น)  ทำให้ตลาดพันธบัตรโลกขยายตัว และมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมาก

แต่เหมือนกับการลงทุนอื่นๆ การการกระจายการลงทุนและความหลากหลายคือปัจจัยสำคัญ การเพิ่มสัดส่วนของหลักทรัพย์ต่างประเทศในพอร์ทของคุณ จะทำให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ตลาดพันธบัตรในหลายประเทศกับของตลาดพันธบัตรไทย จะมีความแตกต่างกันมาก โดยมีตั้งแต่ตลาดพันธบัตรที่มีความสัมพันธ์สูงกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อาทิในแคนาดา และสหราชอาณาจักร จนถึงตลาดพันธบัตรที่มีความสัมพันธ์น้อยมากกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อาทิในไทยและญี่ปุ่น ความแตกต่างและหลากหลายระหว่างประเทศ สกุลเงิน ภาคการลงทุน และผู้ออกพันธบัตรในตลาดเงินของโลกจะช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ทการลงทุนของคุณ

ประเด็นสุดท้าย และในความเห็นของผม เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สองวิธีการสุดขั้วคือ พอร์ทการลงทุนที่ไม่ประกันความเสี่ยง (Unhedged Portfolio) กับพอร์ทการลงทุนที่ประกันความเสี่ยงทั้งหมด (Fully Hedged Portfolio) สำหรับนักลงทุนไทยที่มีพอร์ทการลงทุนในต่างประเทศที่ไม่ได้ประกันความเสี่ยง ก็เปรียบเสมือนมูลค่าการลงทุนจะถูกระบุเป็นเงินบาท และจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน หรือมูลค่าของสกุลเงินต่างชาติเมื่อเทียบกับเงินบาท ในทางกลับกัน พอร์ทการลงทุนที่ประกันความเสี่ยงทั้งหมดจะมีการลบล้างความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยการทำสัญญาแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ทำให้นักลงทุนได้รับรายได้จากดอกเบี้ยและกำไร  โดยไม่ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

นักลงทุนจะเลือกประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนมากเพียงใดขึ้นอยู่กับความอดทนต่อความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคน สำหรับส่วนตัวผมขอแนะนำว่าถ้าคุณต้องการที่จะลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ควรที่จะต้องป้องกันความเสี่ยงเนื่องจากค่า ใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงค่อนข้างมีราคาแพงและไม่คุ้มค่า แต่ถ้าคุณต้องการที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศการป้องกันความเสี่ยงบางส่วนอาจจะคุ้มค่าขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง

ผู้อ่านสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลให้ผมได้ที่ [email protected]