posttoday

แนะช่องใช้สิทธิประโยชน์ภาษี ระหว่างไทย-พม่า

25 ตุลาคม 2556

สำหรับนักธุรกิจ 0.1% มีความหมายไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้น การขาดทุน หรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายธนาคาร

สำหรับนักธุรกิจ 0.1% มีความหมายไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้น การขาดทุน หรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายธนาคาร เพราะการทำธุรกิจ เราพูดถึงตัวเลขหลักล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การวางโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนี่เป็นเรื่องที่ท่านวางแผนได้ว่าเงินในกระเป๋าจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง โดยไม่รวมถึงปัจจัยด้านอื่น

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ในฉบับนี้จะยกตัวอย่างเรื่อง ระบบภาษีของพม่า และวิธีที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ระบบภาษีบริษัทของพม่า มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับระบบภาษีในประเทศไทย โดยมีประเภทภาษีหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราภาษีแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินได้ จะแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องที่ว่าประเทศพม่ายังไม่มีระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเรียกเก็บภาษีการค้าจากการขายสินค้าหรือให้บริการในบางประเภทธุรกิจโดยอัตราภาษีการค้านั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทสินค้าและบริการซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับภาษีธุรกิจเฉพาะในประเทศไทยนั้นเอง

ในส่วนนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีของพม่านั้น พม่าให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับองค์กรธุรกิจ อันได้แก่ บริษัทและสำนักงานสาขาของบริษัทต่างชาติ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนของคนต่างชาติ 2555 (MFIL : Myanmar Foreign Investment Law, 2012) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2555โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดประเภทธุรกิจที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบธุรกิจได้และการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนทั้งในด้านภาษีและด้านอื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับกฎหมายไทยเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือลักษณะสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการผนวกเอาพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า BOI ของไทยมารวมเข้าไว้ด้วยกันนั้นเอง

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ MFIL ที่สำคัญๆ ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปีแรก ซึ่งอาจขอขยายระยะเวลาได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการการลงทุนของพม่า (Myanmar Investment Commission) การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรในการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์หรือวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการ การอนุญาตให้หักค่าเสื่อมได้เร็วขึ้น การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผลกำไรที่นำกลับมาลงทุน ฯลฯ

ถ้าหากมีวิธีที่จะทำให้ท่านจ่ายภาษีได้น้อยลงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หนึ่งในวิธีนั้นคือ การใช้ “อนุสัญญาการเว้นการเก็บภาษีซ้อน” หรือ Double Taxation Agreement (DTA)

DTA ระหว่างไทยพม่าเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สำคัญๆ ภายใต้ DTA ฉบับนี้ ได้แก่ การเรียกเก็บภาษีในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นโดยจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนและให้สิทธิในการเครดิตภาษีในอีกประเทศหนึ่ง และการลดอัตราภาษีหักณ ที่จ่ายในการจ่ายเงินได้จากแหล่งเงินได้ในพม่าไปยังผู้รับเงินได้ในประเทศไทยในเงินได้หลายประเภท ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับอัตราภาษีปกติได้ที่นำเสนอในตาราง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าอัตราภาษี ภายใต้ DTAไทยพม่าจะมีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีปกติ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่บริษัทพม่ากู้เงินจากบริษัทไทย ในการส่งดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บริษัทไทย บริษัทพม่าจะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ก่อนนำส่งแทนที่จะเป็น 15% ในกรณีการจ่ายเงินดอกเบี้ยไปยังต่างประเทศปกติ

จากประโยชน์ของสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังที่ได้กล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการสามารถนำมาพิจารณาในการวางโครงสร้างภาษีของตน และสามารถนำแนวทางนี้ไปใช้กับการศึกษาตลาดในประเทศอื่นด้วย โดยดูว่าประเทศเป้าหมายของท่านให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างไร หรือได้มีการทำข้อตกลงเรื่องภาษีซ้อนกับไทยไว้หรือไม่ มีรายละเอียดเช่นไร เพราะประเด็นเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทท่านได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย