posttoday

เคล็ด(ไม่)ลับการลงทุนในภาวะหยวนแข็ง-เย็นอ่อน

09 ตุลาคม 2556

โดย...เจษฏา สุขทิศ, CFA บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด

โดย...เจษฏา สุขทิศ, CFA บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด

สัปดาห์นี้เราจะมาคุยกันเรื่องเงินเอเชียสองสกุล ที่แม้จะอยู่ทวีปเดียวกันแต่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวค่อนข้างจะตรงข้ามกันครับ อันดับแรกคือค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในระยะหลังปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ สังเกตง่ายๆ จากการที่คนไทยปีนี้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเยอะเป็นพิเศษ จากเดิมเงิน 100 เยน ราคา 38 บาทในปีที่แล้ว วันนี้เงิน 100 เยน ราคาเพียง 32 บาท (ช่วงกลางปีลงไปต่ำสุดที่ 29 บาท) สินค้าญี่ปุ่นที่เคยว่าแพงก็เริ่มจะดูแพงน้อยลงในช่วงนี้ สาเหตุหลักที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมานั้นมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งมีปริมาณมากถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะทยอยเพิ่มเข้าสู่ระบบในปี 2556-2557 ส่งผลให้ปริมาณเงินเยนในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในด้านพื้นฐานค่าเงินที่อ่อนค่ามีส่วนช่วยภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในภาคการส่งออก ในด้านตลาดการเงิน ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้เงินบางส่วนโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น อสังหาฯ เป็นที่มาทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นกว่า 50% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยทาง บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2557

หากพูดถึงเงินหยวนประเทศจีนนับว่ามีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเงินสกุลนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ซื้อของจากจีนมาขายในประเทศซึ่งต้องจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินหยวน กลุ่มวัยกลางคนที่เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศจีนมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มแม่บ้านที่ซื้อทัวร์ไปไหว้พระสวดมนต์ในประเทศจีน ซึ่งเราเรียกรวมๆ ว่าการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง การค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการสะพัดของเงินหยวนที่มากขึ้น เมื่อเงินหยวนเป็นที่ต้องการของต่างชาติมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการแข็งค่าของค่าเงิน ซึ่งเกิดจาก 3 ตัวแปรหลัก คือ ความต้องการเงินหยวนที่แท้จริงจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น นโยบายจากภาครัฐที่ต้องการให้เงินหยวนเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลก และปัจจัยบวกระยะสั้นจากนอกภูมิภาค

ในช่วงเดือน ก.ย. 2556 ที่ผ่านมา ผลการประชุมเฟดได้สรุปว่ายังไม่มีการลด QE เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่งอยู่ในช่วง “เริ่มฟื้นตัว” ซึ่งผิดความคาดหมายของนักวิเคราะห์ นักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลสหรัฐยังคงพิมพ์เงินดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ ส่งผลให้เงินหยวนเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในทันทีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ถ้าในด้านการลงทุน หากถามว่า “เงินหยวนแข็ง” แล้วลงทุนอะไรดี คำตอบง่ายๆ ก็คือ ลงทุนใน “เงินหยวน” หรือ “ตราสารหนี้สกุลเงินหยวน” ครับ ปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินหยวนเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากมุมมองการแข็งค่าของสกุลเงินหยวนข้างต้น นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการลงทุนเพื่อรับอานิสงส์ของการแข็งค่าของเงินหยวน คือการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structure Note) ที่ผลตอบแทนส่วนหนึ่งไปผูกกับการแข็งค่าของเงินหยวน ซึ่งเริ่มมีธนาคารพาณิชย์ และกองทุนบางแห่งนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้แล้วเช่นกันครับ ทั้งหมดก็เป็นการเผยเคล็ด (ไม่) ลับ การลงทุนในภาวะ “หยวนแข็ง เยนอ่อน” เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดพอร์ตลงทุนของท่านนักลงทุนครับ