posttoday

ลุยนอก

16 กันยายน 2556

โดย...ทิสโก้ เวลธ์

โดย...ทิสโก้ เวลธ์

บทวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุน ประจำเดือน ก.ย. โดย ทิสโก้ เวลธ์ ยังคงมุมมองเชิงบวกและแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น เนื่องจาก 1) แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 2) การปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ และ 3) มูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นโดยรวมยังดูน่าสนใจเมื่อเทียบตราสารหนี้

ตลาดหุ้นที่แนะนำ ประกอบด้วย ตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาคของเศรษฐกิจ ทำให้เชื่อว่ากำไรของดัชนี S&P500 มีโอกาสถูกปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปี

ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น (ApxJ) เนื่องจากการเทขายสินทรัพย์ในตลาดการเกิดใหม่ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้น ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ Forward P/E ของดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 13 เท่า เปรียบเทียบกับ Forward P/E ของดัชนี S&P500 และ Stoxx600 ที่ 15 เท่า และ 14 เท่า ตามลำดับ รวมถึงเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการส่งออก

ตลาดหุ้นจีน แนะนำซื้อลงทุนระยะยาว โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของ TISCO Wealth ที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าที่ 7.5% ในปีนี้ ขณะที่ผลกำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ในดัชนี HSCEI เติบโตขึ้น 41.58% และมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นจีน เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันที่ดัชนี HSCEI เทรดที่ระดับประมาณ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงวิกฤต Subprime ในปี 2008 น่าจะสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว ขณะที่ระดับ P/E ของหุ้นจีนปัจจุบันที่ 7.6 เท่า ยังถูกมากเมื่อเทียบศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

ตลาดหุ้นไทย แนะนำซื้อสะสม โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้คาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นไทยจะเริ่มทรงตัว แนะนำให้ “ซื้อสะสม”  ปัจจุบันหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ P/E ของปี 2013 ที่ 12.6 เท่า ใกล้เคียงกับดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ 12.4 เท่าและต่ำกว่าหุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ 17.3 และ 13.7 เท่า ตามลำดับ

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แนะนำซื้อสะสม เนื่องจากจะเป็นตลาดที่ได้รับผลดีที่สุดจากการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐ จากทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่กระตุ้นการส่งออกและกำไรบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่มีฐานการผลิตอยู่นอกประเทศ นอกจากนี้ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของดัชนี Nikkei อยู่ที่ 1.5 เท่า ต่ำสุดเมื่อเทียบดัชนีหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วที่ 1.9 เท่า

ตลาดหุ้นยุโรป แนะนำลงทุนเป็นรายประเทศ โดยเน้นกลุ่มประเทศหลัก เนื่องจากแนวโน้มผลกำไรมีศักยภาพในการขยายตัวได้ดี