posttoday

เตรียมความพร้อมให้วัยทองคำ(ตอนจบ)

28 สิงหาคม 2556

โดย...เสกสรร โตวิวัฒน์, CFP

โดย...เสกสรร โตวิวัฒน์, CFP

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว

ดังนั้น ความเข้าใจภาวะทางอารมณ์และสุขภาพของ|ผู้เกษียณในแต่ละช่วงวัยจึงสำคัญยิ่ง

หากเราจะแบ่งช่วงอายุในวัยเกษียณแบบคร่าวๆ โดยใช้ระยะเวลาและความสามารถในการใช้ชีวิตเป็นเครื่องกำหนดเบื้องต้นก็แบ่งได้ เช่น

ช่วงเริ่มต้นเกษียณ อายุ 60-69 ปี

ช่วงวัยเกษียณจริง อายุ 70-79 ปี

และช่วงสุดท้ายวัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ช่วงอายุต่างๆ เป็นเพียงตัวเลขกำหนดคร่าวๆ ขึ้นเป็นตัวอย่างเพื่อประเมินกิจกรรมการใช้ชีวิต โดยการประเมินแต่ละช่วงอายุจะขึ้นกับสุขภาพ อายุขัยของบรรพบุรุษในครอบครัว และผลพวงจากการดำรงชีพที่สั่งสมมาของแต่ละคนเป็นสำคัญ

ช่วงเริ่มต้นเกษียณ อายุ 60-69 ปี

ในช่วงวัยนี้ ส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ เป็นวัยที่ยังคงมีพลัง เชื่อในความสามารถของตนเองในการทำสิ่งต่างๆ เหมือนก่อนเกษียณ

ในวัยนี้ ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวหรือผู้มีอาชีพอิสระ อาจจะมีความแตกต่างในการใช้ชีวิตก่อนและหลังเกษียณน้อย เพราะยังทำงานไปเรื่อยๆ ได้ แม้จะลดระยะเวลาการทำงานลง แต่ข้าราชการ พนักงาน กับลูกจ้าง จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก จากที่ต้องทำงานเต็มเวลา อาจจะกลายเป็นคนว่างงาน หรือเหลือเพียงงานพิเศษ เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น

ในวัยนี้ จึงควรประเมินความพร้อมของตนเองในด้านต่างๆ ให้ดี โดยเฉพาะสถานะด้านการเงินและการใช้ชีวิตก่อนตัดสินใจจะทำอะไร เพราะเป็นวัยที่ยังฮึกเหิม อยาก|ทำสิ่งใหม่ๆ ที่ใฝ่ฝัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง ข้าราชการ ที่มีเงินเก็บเงินออม หลายคนอย่างเริ่มต้นอาชีพใหม่ เช่น ไปลงทุนทำสวน โดยอาจลืมศึกษาความเป็นไปได้ ความสามารถ กำลังกาย และความเหมาะสมของตนเอง จนอาจเกิดผลเสียหายด้านการเงินของตนเองสำหรับใช้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

วัยนี้ยังเป็นวัยที่มีความสามารถทั้งทางสมองและร่างกาย หลายคนยังใช้ความรู้ที่สั่งสมมานาน รับงานที่ปรึกษา ทำกิจการต่อเนื่อง ก่อนส่งต่อให้ลูกหลาน สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างที่เกษียณจากการทำงานเต็มเวลา อาจใช้เวลาในช่วงชีวิตนี้สั่งสมการเงินเพิ่มเติมจากการหารายได้พิเศษ หรือทำงานการกุศล หรือทำในสิ่งที่ตนเองต้องการแต่ยังไม่ได้ทำ เช่น การท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ การเข้าไปช่วยงานมูลนิธิการกุศล กิจกรรมต่างๆ หรือช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกหลาน รวมถึงการดูแลสุขภาพออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง

ช่วงวัยเกษียณจริง อายุ 70-79 ปี

ช่วงวัยนี้ความสามารถในการหารายได้จะลดลงจนเกือบหมด ค่าใช้จ่ายสันทนาการจะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตามปัญหาสุขภาพที่มีมากขึ้น โรคภัยที่มีอยู่จะแสดงอาการชัดเจนขึ้น และความสามารถต่างๆ ในการใช้ชีวิตจะลดลง ความแตกต่างด้านการใช้ชีวิตจะใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ลูกจ้างเกษียณ หรืออาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ

การทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับวัยนี้ควรลดระดับลง ให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองให้มาก ควบคุมการบริโภค เน้นการรักษาสุขภาพมากขึ้น ช่วยเหลือตนเองในกิจกรรมต่างๆ ตามความสามารถ หากิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับตนเอง เช่น ใช้ชีวิตกับสังคมเพื่อนในหมู่บ้านเพื่อคลายเหงา เป็นต้น

ช่วงสุดท้ายวัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

เป็นช่วงวัยชราภาพจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต จัดเป็นวัยพักผ่อนอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาสุขภาพจะแสดงออกอย่างชัดเจน ปัญหาด้านสุขภาพและสมอง การจดจำต่างๆ ลดลงอย่างเด่นชัด การทำกิจกรรมต่างๆ ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลือเป็นส่วนใหญ่ การใช้จ่ายด้านการเงินจะเป็นเรื่องสุขภาพเกือบทั้งหมด สำหรับผู้ชราภาพมากๆ จำเป็นต้องมีผู้คอยดูแล หากมีครอบครัวลูกหลานช่วยเหลือจะลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายไปได้มาก การเตรียมพร้อมด้านการเงินช่วงสุดท้ายนี้จึงจะต้องเตรียมไว้สำหรับเรื่องสุขภาพเป็นหลัก

แม้ว่าการวางแผนชีวิตตั้งแต่เริ่มเกษียณไปจนถึงช่วงสุดท้าย ตั้งแต่วันนี้จะเป็นการกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันห่างไกล ซึ่งเมื่อถึงเวลาสิ่งต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลง อาจพบปัญหาจนไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้แม้ว่าแผนนั้นจะดีเพียงใดก็ตาม แต่อย่างน้อยการเตรียมพร้อม เข้าใจตนเอง รู้ข้อจำกัด จะช่วยให้การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแผนการใช้ชีวิตทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาแบบไร้ทางออกเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ ครับ