posttoday

CPF

10 กรกฎาคม 2556

โดย...จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส

โดย...จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้ของโรงงานสหฟาร์มที่ จ.ลพบุรี จนนำมาสู่การปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งเลยไปถึงโรงงานที่ จ.เพชรบูรณ์ ด้วย ที่ต้องปิดชั่วคราว เหตุเพราะขาดสภาพคล่อง ปรากฏว่าราคาหุ้นของ CPF และ GFPT วานนี้ปรับขึ้น 4-6% สวนทางตลาดที่ปรับลงถึงกว่า 20 จุด เพราะตลาดมองว่าคู่แข่งที่หายไปหรือแผ่วลง น่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ในตลาดดีขึ้น ความจริงในความเชื่อนั้นมีเหตุผลอยู่

ปัจจุบันปริมาณการผลิตลูกไก่ทั้งประเทศอยู่ที่ 26 ล้านตัวต่อสัปดาห์ CPF มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 20% โดยผลิต 5-5.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ อันดับ 2 ของตลาดคือ สหฟาร์ม ด้วยส่วนแบ่ง 13% โดยมีปริมาณการผลิต 3.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ส่วนอันดับ 3 และ 4 ของประเทศไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมี GFPT เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ด้วยส่วนแบ่ง 7% หรือ 1.75 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ปริมาณการผลิตไก่ที่ชะลอลงของสหฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ย่อมส่งผลให้ปริมาณไก่ในประเทศลดลง ส่งผลต่อราคาไก่ในระยะถัดไปไม่มากก็น้อย ขณะที่ผู้ส่งออกรายอื่นทั้ง CPF และ GFPT มีโอกาสที่จะได้รับคำสั่งซื้อในส่วนของสหฟาร์มแทนก็เป็นได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ผู้ประกอบการไก่ในประเทศส่วนใหญ่สามารถสร้างกำไรที่สูงเป็นประวัติการณ์ CPF ก็เช่นกัน มีกำไรถึง 1.6 หมื่นล้านบาท จากราคาไก่ในประเทศที่สูงขึ้นถึง 10% จากปีก่อนหน้าเป็นเฉลี่ย 47 บาทต่อกิโลกรัม โดยไปทำสถิติสูงสุดที่ 55.50 บาทต่อกิโลกรัมในเดือน พ.ค. ซึ่งมีสาเหตุมาจากปริมาณไก่ (Supply) ที่ค่อนข้างต่ำจากทั้งสภาวะอากาศที่ร้อนและไก่จำนวนมากตายไปจากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่เมื่อราคาไก่ดี ผู้ผลิตหลายรายต่างเพิ่ม Supply เข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข่าวที่ว่ายุโรปจะเปิดรับไก่สดแช่แข็งจากไทย ทำให้ปริมาณผลผลิตไก่มีเป็นจำนวนมาก ตามกฎของ Demand-Supply เมื่อ Supply เพิ่ม แต่ปริมาณการบริโภคไม่ได้เพิ่มเป็นอัตราเร่งตาม ราคาไก่ในปี 2555 จึงตกต่ำลง โดยลงไปต่ำที่สุดในเดือน มี.ค. ที่ 26 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของทุกราย ผู้ผลิตจึงต้องทนบาดเจ็บไปตามๆ กันอยู่ระยะใหญ่จนกว่าการบริโภคจะตามทัน ราคาไก่จึงเพิ่งฟื้นตัวในช่วงเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา ประกอบกับในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ค่าแรงเพิ่มขึ้น จึงยิ่งกระทบผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก เพราะพึ่งพิงแรงงานสูง (Labor Intensive Industry)

ความตกต่ำของราคาไก่ในประเทศ ประกอบกับโรคตายก่อนวัย (EMS) ที่เกิดในกุ้งตั้งแต่ปลายปีก่อน (CPF มีรายได้จากธุรกิจกุ้ง 12% ของรายได้รวม) ส่งผลให้ CPF ขาดทุนเป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 ของปี 2555 หนักถึง 2,000 ล้านบาท และคาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ในไตรมาส 2 ปีนี้ ที่ระดับ 500-600 ล้านบาท แต่ถือเป็นการขาดทุนลดลงจากไตรมาสแรกที่ขาดทุน 738 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจในต่างประเทศ (เวียดนามและตุรกี) ยังไม่สดใส ราคาเนื้อสัตว์ยังตกต่ำ ส่วนปัญหาโรค EMS ในกุ้งเพิ่งแก้ปัญหาได้เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่าราคาไก่จะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 46.30 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาส 2 ของปีก่อน และราคาหมูปรับขึ้นด้วยเช่นกัน มาอยู่ที่เฉลี่ย 67 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้ แต่ในส่วนของตัวเลขสุทธิน่าจะรายงานออกมาเป็นกำไรสุทธิ เพราะมีกำไรจากการขาย CPALL และกำไรจากการยื่น Tender offer MAKRO ให้ CPALL 2.4 ล้านหุ้น ที่ต้นทุนเพียง 3.70 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า CPF จะสามารถพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป จากปัญหาโรคกุ้งที่หมดไป ราคาเนื้อสัตว์ที่ฟื้นต่อเนื่อง และอาจได้รับคำสั่งซื้อทดแทนจากสหฟาร์ม แต่เราไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นหลังนี้ ผลขาดทุนในครึ่งปีแรกรวมกับกำไรในครึ่งปีหลังน่าจะทำให้ CPF มีกำไรไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ฟื้นขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรเพียง 3,900 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติที่เคยทำได้ปีละประมาณ 1 หมื่นต้น ราคาที่เหมาะสมสำหรับปีนี้ไม่สูงนัก คือ 30-32 บาท ซึ่งประเมินจากธุรกิจไก่ของบริษัทเองที่มีมูลค่าเพียง 14-16 บาท (อิง PE 15 เท่า) และมูลค่าที่ถือใน CPALL อีก 16 บาท (คิดตามสัดส่วนที่ CPF ถือ 30%) การซื้อ CPF จึงน่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อหวังการฟื้นตัวในปีหน้าที่จะมาเต็มที่ทั้งธุรกิจไก่และกุ้ง