posttoday

ค่าเงินบาทกับการลงทุน

21 พฤษภาคม 2556

โดย...บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (www.kasikornasset.com)

โดย...บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (www.kasikornasset.com)

นอกจากผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ผู้ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากจะเกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ผลตอบแทนลดลง เช่น ทองคำ โดยราคาทองคำในตลาดโลกตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงเดือน เม.ย. ปรับตัวลงมาประมาณ 11% แต่ราคาทองคำแท่งในประเทศ กลับปรับตัวลดลงมากถึงประมาณ 15% และนับตั้งแต่ต้นปี ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 12% แต่เมื่อแปลงกลับมาเป็นค่าเงินบาทแล้ว ผลตอบแทนจะเหลือเพียงแค่ประมาณ 8%

ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนมาก การที่จะคาดการณ์ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในการลงทุนในต่างประเทศ จึงควรมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศได้

ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น การลงทุนในต่างประเทศที่มีการทำ Hedging ค่าเงินไว้ จะช่วยลดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ในภาวะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แม้การลงทุนในต่างประเทศที่มีการทำ Hedging ค่าเงินไว้ อาจจะได้ผลตอบแทนในรูปเงินบาทน้อยกว่าการลงทุนแบบที่ไม่ได้ทำ Hedging แต่ว่าผลตอบแทนที่ได้ก็จะใกล้เคียงกับการลงทุนในตราสาร หรือหลักทรัพย์นั้นๆ ในสกุลต่างประเทศ โดยที่ผู้ลงทุนไม่ต้องคอยมานั่งลุ้นว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ กองทุนเปิดที่มีการลงทุนในต่างประเทศของ บลจ.กสิกรไทย ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทุกกองทุน โดยที่มีนโยบายแตกต่างกันไปในแต่ละกองทุน ตั้งแต่ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน ป้องกันความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 75% หรือแม้กระทั่งมีการป้องกันเต็มจำนวน

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่การลงทุนในต่างประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่การลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศเอง ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเช่นเดียวกัน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้นักลงทุนมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพื่อสกัดเม็ดเงินต่างชาติที่จะไหลเข้ามา เมื่อตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในประเทศเกือบทุกช่วงอายุปรับตัวลดลงกว่า 0.05-0.1% เนื่องจากราคาของตราสารหนี้ จะมีการแปรผกผันกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve)