posttoday

อยากรวยขึ้น? ลองใช้สิทธิอย่างชาญฉลาดสิ

09 พฤษภาคม 2556

โดย...สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

โดย...สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ในคราวก่อนเราได้พูดถึงสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้คุณมีเงินเก็บในกองทุน+จ่ายภาษีน้อยลง+มีเงินเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) ที่เกิดจากความร่วมมือของลูกจ้างและนายจ้างภาคเอกชน หรือผ่านช่องทางกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับข้าราชการ หรือการจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งบางท่านบอกว่ากองทุนที่ว่าฉันไม่มีเลย!!!!! แล้วทำยังไงดี แก่ไปใครจะดูแล?

หากคุณดูแล้วไม่มีอะไรเลย!!!! ก็ไม่ต้องกังวลใจนัก ขอให้คุณรู้รักตัวเอง ใส่ใจบริหารเงินของคุณเอง ภาครัฐก็มีมาตรการสนับสนุนให้อีก

1.การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) กองทุน RMF นี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ภาครัฐสนับสนุนให้ทุกคนมีเงินเก็บเพื่อใช้จ่ายเมื่อยามเกษียนอายุ เป็นการสร้างระบบการออมการลงทุนระยะยาวให้กับตนเอง ซึ่งเหมาะมากๆ กับคนที่ไม่ได้ทำงานบริษัทไม่มีเงินกองทุน PVD หรือไม่ได้รับราชการ ซึ่งก็ไม่มีเงิน กบข. ไม่ได้มีสวัสดิการรองรับ หรือไม่ได้มีเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม แต่คนที่มีกองทุนต่างๆ ที่ว่ามา อยากจะลงทุนในกองทุน RMF เพิ่มเติมก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐให้คือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนที่คุณลงทุนไปสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนยังได้รับยกเว้นภาษีอีกด้วย โดยเงื่อนไขการลงทุนก็ไม่ยาก เพียงคุณปฏิบัติให้ถูกต้อง คือ ลงทุนต่อเนื่องทุกปีจนอายุครบ 55 ปี โดยต้องมีเงินลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีการลงทุน และเงินลงทุนขั้นต่ำในแต่ละปี คือ 3% ของเงินได้ที่ยืนภาษี หรือ 5,000 บาท โดยสามารถเลือกตัวที่ต่ำกว่าได้ หรือจะลงทุนสูงสุดก็ได้ โดยเกณฑ์กำหนดให้เงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ยื่นภาษี หรือ 500,000 บาท ไม่เกินนี้ตรงไปตรงมา (ตัวไหนคิดแล้วได้น้อยกว่าลงได้สูงสุดก็ไม่เกินนั้น เช่น คุณมีเงินได้ที่ยื่นภาษี 10 ล้านบาท 15% ของเงินได้ ก็ 1.5 ล้านบาท แต่ตามเกณฑ์ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย ดังนั้นสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ไม่ใช้ 1.5 ล้านนะครับ)

เห็นไหมครับ คุณสามารถรักตัวเองได้ นั่นหมายความว่าท่านจะมีเงินเก็บอยู่ในกองทุน+จ่ายภาษีน้อยลง+มีเงินเพิ่มขึ้นอีกๆๆๆ

สำหรับผู้ที่มีเงินกองทุน PVD เงินกองทุน กบข. เงินกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือมีเงินประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องนำยอดเงินที่มีอยู่ทั้งหมดมารวมกันและไม่เกินกว่า 500,000 บาทด้วย ยกตัวอย่างเช่น คุณเก่ง เป็นข้าราชการมีเงินได้ที่ยื่นภาษี 2 ล้านบาท มีเงินกองทุน กบข. 250,000 บาท คุณเก่งจะลงทุนในกองทุน RMF ได้สูงสุดเท่าไร????

ตอบ กรณีนี้ลงทุนใน RMF ได้สูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท

บางท่านอาจถามว่า “ก็มีเงินได้ 2 ล้านบาท จะลงทุนในกอง RMF เต็มที่ 15% ก็ต้องได้ 300,000 บาท สิ
อย่าลืมครับว่าคุณเก่งมีกองทุน กบข.อยู่แล้วในปีภาษี 250,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นที่มาของคำตอบครับ

อีกสักตัวอย่าง คุณบอย เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชน มีเงินได้ทั้งปี 10 ล้านบาท คุณบอยต้องการลงทุนในกองทุน RMF เต็มสิทธิ จะลงทุนได้เท่าไร?

ต้องถามก่อนว่ามีเงินกองทุน PVD ไหม หากมีสมมติว่ามี 300,000 บาท ก็จะลงทุนในกองทุน RMFได้เต็มสิทธิ ที่เหลือ คือ 200,000 บาท ไม่ใช่ 500,000บาท และก็ไม่ใช่ 15% ของเงินได้ หรือ 1.5 ล้านบาทนะครับ

และหากถามต่อว่า ถ้าคุณบอยจะซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยจะซื้อได้เท่าไร

คำตอบคือ ซื้อได้ แต่ไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว เนื่องจากใช้สิทธิเต็มที่ ที่ 500,000 บาทแล้วครับจากกองทุน PVD 300,000 บาท และกองทุน RMF อีก 200,000 บาท