posttoday

นิวเคลียร์ฟิวชั่น อนาคตพลังงานสะอาดที่ซ่อนเร้นหายนะไปพร้อมกัน

10 พฤษภาคม 2565

พลังงานสะอาดคือหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงหนาหู หนึ่งในพลังงานที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ นิวเคลียร์ฟิวชั่น หลายประเทศต่างให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีนี้กันต่อเนื่อง หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดเราจึงย้อนกลับไปพึ่งพานิวเคลียร์? มันมีอันตรายแค่ไหน? พบคำตอบได้ในบทความนี้

 

Highlight

  • ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้หลายประเทศเริ่มลดการใช้น้ำมันและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เลือกเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
  • พลังงานสะอาดที่ผู้คนคิดถึงมักเป็นพลังงานหมุนเวียนจำพวก น้ำ ลม หรือแสงอาทิตย์ น่าเสียดายพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวขาดความเสถียรในการใช้งาน จนเริ่มมีการมองหาลู่ทางใหม่อย่าง พลังงานนิวเคลียร์
  • แน่นอนว่ามันแตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอดีตที่ใช้ปฏิกิริยาฟิชชั่น ปัจจุบันเริ่มมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากปฏิกิริยาฟิวชั่น นอกจากมีความเป็นพิษน้อยยังสามารถสร้างพลังงานได้มากกว่าหลายพันเท่า
  • นั่นทำให้นิวเคลียร์ฟิวชั่นกลายเป็นกระแสการผลิตพลังงานในอนาคต สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯและจีนต่างให้ความสนใจ ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี ซึ่งหากสำเร็จอาจไม่มีการขาดแคลนพลังงานอีก
  • แต่ความอันตรายที่มีไม่แพ้กันคือ ในกรณีผิดพลาดแบบครั้งเชอร์โนบิลหรือฟุกุชิมะ ความร้ายแรงจะกลายเป็นคนละระดับ ชนิดที่เราอาจไม่เหลือโลกใบนี้ไว้ให้รักษาเช่นกัน

 

          ปัญหาพลังงานในปัจจุบันทวีความเข้มข้นซับซ้อนขึ้นทุกขณะ แหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานหลักอย่างน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ถูกโจมตีว่าเป็นหนึ่งในตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเรื่องยิ่งทวีความซับซ้อนเมื่อเชื้อเพลิงเหล่านี้ ถูกนำไปพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ

 

          นั่นทำให้ผู้คนเริ่มมองหาตัวเลือกพลังงานทดแทนเพื่อบรรเทาปัญหา สิ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงหลังคือพลังงานสะอาด กลายเป็นประเด็นถูกหยิบยกมาพูดถึงและส่งเสริมกันกว้างขวาง ด้วยสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันผู้คนจึงยิ่งมองเห็นความสำคัญมากขึ้น

 

          ตัวเลือกอันดับต้นที่ผู้คนต่างให้ความสนใจพูดถึงย่อมเป็นพลังงานสะอาด อาศัยการปั่นพลังงานจากน้ำ ลม หรือแสงอาทิตย์ แต่บางส่วนเริ่มหันไปให้ความสนใจพลังงานนิวเคลียร์กันอีกครั้ง สร้างความกังวลแก่คนบางกลุ่มเกี่ยวกับอนาคตด้านพลังงานไปพร้อมกัน

 

          ดังนั้นวันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานนิวเคลียร์ว่าเหตุใดจึงมีความสำคัญ


นิวเคลียร์ฟิวชั่น อนาคตพลังงานสะอาดที่ซ่อนเร้นหายนะไปพร้อมกัน

 

สู่ยุคสมัยแห่งพลังงานสะอาด เมื่อโลกกำลังก้าวสู่การนับถอยหลัง

           ในปี 2021 ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่คลื่นความร้อนทำให้อุณหภูมิหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส, ไฟป่าลุกลามทั่วยุโรปและสหรัฐฯจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย, เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจีนที่ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตกว่า 302 คน, ภัยแล้งครั้งใหญ่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปารานาต่ำสุดในรอบ 77 ปี ฯลฯ

 

          ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนอันชัดเจนว่าเราไม่สามารถเมินเฉยต่อภาวะโลกร้อนอีกต่อไป หากปล่อยให้สภาพอากาศสุดขั้วดำเนินไปในทิศทางนี้ ความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบมีแต่จะเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน นั่นทำให้ประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนได้รับความสนใจแก้ไขอย่างจริงจัง

 

          โดยหนึ่งในสาเหตุประการสำคัญจากภาวะโลกร้อนคือการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกวันนี้นั่นเอง

 

          แน่นอนต่อให้ทุกคนพากันหยุดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกันเสียเดี๋ยวนี้ เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดโดยพลันภาวะโลกร้อนก็ไม่ได้ลดลงทันที อย่างไรก็ตามการลดภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสที่ถือเป็นเส้นอันตรายต่อทุกชีวิต ซึ่งจะทำให้ภัยธรรมชาติทวีความร้ายแรงขึ้นไปอีก

 

          แน่นอนเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถกระทำให้สำเร็จได้ในเร็ววัน พลังงานเชื้อเพลิงผูกติดกับชีวิตของคนเราเหนียวแน่น เป็นเหตุให้เป้าหมาย Net Zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์นั้น ถูกตั้งให้เป็นเป้าหมายที่จะต้องประสบความสำเร็จในปี 2050 หรืออีกราว 28 ปี

 

          ฟังดูยาวนานแต่หากเราไม่เริ่มเสียตอนนี้ทุกอย่างคงสายเกิน นั่นทำให้หลายประเทศเริ่มมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลักดันการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รักษาและอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ จนถึงการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานน้ำมันถ่านหินในปัจจุบันมาสู่พลังงานสะอาด ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติซึ่งหลายประเทศต่างเริ่มให้ความสำคัญ

 

          ด้วยเหตุนี้เองการพัฒนาและใช้งานพลังงานสะอาดขึ้นทดแทนจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้โลกไม่เลวร้ายลงกว่านี้


นิวเคลียร์ฟิวชั่น อนาคตพลังงานสะอาดที่ซ่อนเร้นหายนะไปพร้อมกัน

พลังงานสะอาดสู่การย้อนรอยกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์

          เมื่อพูดถึงพลังงานสะอาดคนส่วนมากย่อมคิดถึงพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าด้วยสิ่งเหล่านี้คือเทคโนโลยีที่มีมายาวนาน ได้การยอมรับจากทั่วโลกว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานสะอาดไม่ทิ้งมลพิษไว้บนโลก ถือเป็นรูปแบบพลังงานสะอาดในอุดมคติของผู้คน

 

          การใช้พลังงานหมุนเวียนมีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยจนเกือบไม่มีเลย แต่ประสิทธิภาพและความเสถียรในการสร้างพลังงานนี่เองคือจุดที่เป็นปัญหา อย่างที่ทราบกันว่าการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องดี แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงจากปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นข้อจำกัดในการผลิตพลังงานด้วยเช่นกัน

 

          ตัวอย่างของสถานการณ์เหล่านี้ เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในทวีปอเมริกาใต้ในปี 2021 ภัยแล้งครั้งใหญ่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปานามาลดต่ำสุดในรอบ 77 ปี ส่งผลให้กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีกำลังการผลิตจากปกติเพียง 50% จนเกิดการขาดแคลนพลังงานในหลายประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับประเทศแทบตะวันตกเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว อาจมีปริมาณแสงอาทิตย์ต่อวันเพียงไม่กี่ชั่วโมง ถือเป็นข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถใช้โซลาร์เซลล์หล่อเลี้ยงในการผลิตไฟฟ้าได้

 

           อีกหนึ่งปัจจัยในการมองหาพลังงานทดแทนมากขึ้นคือ สถานการณ์ราคาน้ำมัน ถ่านหิน จนถึงก๊าซธรรมชาติ ดังที่เราทราบกันว่าความมั่นคงทางพลังงานคือสิ่งสำคัญ เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับชั้น เมื่อเกิดเหตุทำให้ราคาผันผวนย่อมตามมาด้วยความเดือดร้อนของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้สงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

          นี่เองเป็นสาเหตุให้บรรดานักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลต้องมองหาลู่ทางที่มีความมั่นคงมากกว่า เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนในประเทศเพียงพอรวมถึงมีต้นทุนไม่สูงจนเกินไป ประกอบกับเวลาบีบเข้ามาว่า ทุกอย่างต้องเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี 2050 จึงเริ่มมีการหยิบแนวคิดเก่ามาปัดฝุ่นอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง


นิวเคลียร์ฟิวชั่น อนาคตพลังงานสะอาดที่ซ่อนเร้นหายนะไปพร้อมกัน

 

พลังงานนิวเคลียร์ จากภัยร้ายในอดีตสู่ใบเบิกทางแห่งอนาคต

          โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่ของใหม่ มันถูกสร้างขึ้นมาหลายสิบปีนับแต่เทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นที่พูดถึง และถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีพิษภัยไม่แพ้ประโยชน์ เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ทำให้พื้นที่แถบนั้นยังคงกลายเป็นแดนต้องห้าม รวมถึงการรั่วไหลของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะที่สร้างผลกระทบต่อญี่ปุ่นมาถึงวันนี้

 

           ความร้ายแรงจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้หลายประเทศพากันเบือนหน้าหนี เช่น เบลเยี่ยมที่มีแผนจะเลิกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปตามกันภายในปี 2025 แม้ภายหลังจากสถานการณ์โลกจะทำให้ถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2035 หรือ เนเธอร์แลนด์ ที่เริ่มลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน ผลักดันให้กลายเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

 

           ทิศทางของชาติในยุโรปกลับขัดแย้งกับมหาอำนาตทางเศรศฐกิจที่มองว่าพลังงานนิวเคลียร์คืออนาคตโดยสิ้นเชิง

 

          เริ่มจากสองมหาเศรษฐีเลื่องชื่อแห่งสหรัฐฯ บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับการคิดค้นเตาปฏิกรณ์รูปแบบใหม่ Natrium reactor ขึ้นมา อาจไม่ได้ยกระดับเทคโนโลยีขึ้นผิดหูผิดตา เป็นเพียงการปัดฝุ่นเอาแนวคิดดั้งเดิมมาต่อยอด แต่ในเชิงค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงาน จนถึงการใช้งาน ถือเป็นเตาปฏิกรณ์ที่มีต้นทุนการผลิตถูก ความปลอดภัยสูง  สามารถเข้าแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ทันที จึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากการจ่ายพลังงานเป็นจำนวนมาก

 

          แต่สิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงต่อจากนี้คืออีกรูปแบบของพลังงานนิวเคลียร์ที่ต่างจากเดิมอย่าง นิวเคลียร์ฟิวชั่น

 

           สิ่งนี้แตกต่างจากเตาปฏิกรณ์รูปแบบเดิมโดยสิ้นเชิง ด้วยที่ผ่านมาเราอาศัยการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น โดยการยิงนิวตรอนเข้าหานิวเคลียสของธาตุหนักจำพวกยูเนียมให้เกิดการแตกตัวจนเกิดการคายพลังงาน แล้วจึงนำเอาพลังงานที่ได้มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหากัมมันตรังสีตกค้างจากค่าความเป็นพิษสูง

 

          แตกต่างจาก นิวเคลียร์ฟิวชั่น ที่เกิดจากการนำธาตุเบามารวมกันแล้วเผาไหม้ทั้งหมดยามเกิดปฏิกิริยา ทำให้มีค่าความเป็นพิษต่ำทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า วัตถุดิบในการผลิตคือไฮโดรเจนสามารถหมุนเวียนขึ้นมาจนพบได้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้แร่หายากอย่าง ยูเรเนียม เช่นเดียวกับปริมาณพลังงานที่สร้างสูงกว่าเดิมมากจนไม่สามารถนำมาเทียบกันได้

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่หลายประเทศเริ่มพัฒนางานวิจัยเพื่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น เพราะเมื่อสามารถสร้างขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ ปริมาณพลังงานที่เกิดมากพอจะสร้างดวงอาทิตย์เทียมขึ้นมาสักดวง จะกลายเป็นพลังงานหมุนเวียนชิ้นสำคัญจนไม่มีปัญหาขาดแคลนพลังงานอีกต่อไป

 

นิวเคลียร์ฟิวชั่น อนาคตพลังงานสะอาดที่ซ่อนเร้นหายนะไปพร้อมกัน

 

นิวเคลียร์ฟิวชั่น ก้าวใหม่แห่งพลังงานที่จะพลิกโฉมโลกทั้งใบ

          กระแสของนิวเคลียร์ฟิวชั่นได้รับความสนใจจากทั่วโลก จนเริ่มมีการทดสอบและทยอยสร้างเตาปฏิกรณ์แพร่หลายขึ้นในหลายประเทศ แม้บางแห่งที่เลิกสนใจเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิชชั่นไปแล้ว ยังเริ่มหันมาพัฒนาเตาปฏิกรณ์ชนิดใหม่ เพื่อรองรับการสร้างรูปแบบใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในย่างก้าวแห่งอนาคต

 

          ตัวอย่างการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น เช่น การสร้าง ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ จาก เตาปฏิกรณ์ HL-2M Tokamak ในเมืองเฉิงตู มลฑลเสฉวน ประเทศจีน, การสร้างเตาปฏิกรณ์ Wendelstein 7-X ในสถาบันพลาสมา ฟิสิกส์ แม็กซ์ พลังก์ เมืองไกรฟ์วาลด์ ประเทศเยอรมนี จนถึงการยิงเลเซอร์เพื่อสร้างพลาสม่าจุดชนวนนิวเคลียร์ฟิวชั่น ในห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (LLNL) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เป็นต้น

 

           เห็นได้ชัดว่ามหาอำนาจด้านเทคโนโลยีเริ่มขยายทิศทางพัฒนามาสู่ด้านนี้ โดยเฉพาะมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอย่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มแสดงประสิทธิภาพผลการวิจัยในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะทั้งคู่ต่างเข้าใจว่าความมั่นคงด้านพลังงานถือเป็นรากฐานอันสำคัญ เป็นทิศทางที่ได้การยอมรับจากทั่วโลก

 

           สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะทั้งสองขั้วอำนาจต่างเข้าใจดีว่าความมั่นคงทางพลังงาน คือรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจในการผลักดันพัฒนาประเทศให้ยิ่งใหญ่ ประกอบกับรัฐบาลทั้งสองชาติต่างมองเห็นคุณค่าการพัฒนาในส่วนนี้ ผลักดันให้โลกขับเคลื่อนไปในทิศทางการใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นยิ่งขึ้น เพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์ของตัวเอง

 

          พูดให้ถูกความขัดแย้งทางการค้าที่เคยเกิดขึ้นระหว่าง จีน กับ สหรัฐฯ นอกจากจะประชันในด้านความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงเทคโนโลยีอวกาศแล้ว หัวข้อด้านพลังงานและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น ก็กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทั้งสองมหาอำนาจต่างนำมาแสดงความได้เปรียบด้วยเช่นกัน

 

          หรือจะบอกว่าการพัฒนาเตาปฏิกรณ์ถูกดึงเข้าไปพัวพันในสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจอีกครั้งก็คงได้

 

 

ความเสี่ยงของนิวเคลียร์ฟิวชั่น อานุภาพการทำลายล้างเกินจินตนาการ

         อย่างไรก็ตามปัญหาของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นก็ยังมี ในด้านความเป็นพิษของกากกัมมันตรังสีจะน้อยกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชั่น แต่ความระมัดระวังและมาตราการรักษาความปลอดภัย ไม่เพียงเข้มงวดเท่าเดิมแต่ต้องได้รับการปรับปรุงให้แน่นหนายิ่งขึ้น เพราะนิวเคลียร์ฟิวชั่นเองก็มีอันตรายเช่นกัน

 

        เราเคยเห็นตัวอย่างความผิดพลาดครั้งใหญ่จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาแล้ว 2 ครั้ง หนึ่งคือเชอร์โนบิลในยูเครน ที่จนปัจจุบันพื้นที่แถบนั้นยังคงอัดแน่นไปด้วยกัมมันตรังสี กลายเป็นแดนหวงห้ามอันตรายพร้อมคร่าชีวิตผู้อาศัยทุกคน หรือฟุกุชิมะเองก็ยังเป็นเมืองที่ผู้คนครั่นครามและต้องตรวจสอบการรั่วไหลใกล้ชิดจนทุกวันนี้

 

        แต่ในกรณีปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นนั้นต่างออกไป ด้วยเป็นไปได้สูงว่าถ้าผิดพลาดเราคงไม่เหลืออะไรมาแก้ไขอีก

 

        สิ่งนี้ประเมินจากพลังงานมหาศาลที่สร้างขึ้นภายใต้การทดสอบ การสร้างดวงอาทิตย์เทียมในประเทศจีน สามารถสร้างอุณหภูมิสูงถึง 160 ล้านองศาเซลเซียส สูงกว่าแกนกลางของดวงอาทิตย์นับสิบเท่า แค่เศษเสี้ยวพลังงานในการเดินเครื่อง 10 วินาที สามารถสร้างพลังงานความร้อน 100 เมกะวัตถ์เพื่อหล่อเลี้ยงเมืองขนาดเล็กทั้งเมืองได้

 

          คำถามคือในกรณีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นทำงานผิดพลาด เกิดการหลอมละลายแกนกลางแบบครั้งฟุกุชิมะ หรืออย่างร้ายสุดคือการระเบิดแบบเดียวกับเชอร์โนบิล เป็นไปได้สูงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอีกต่อไป ขอบเขตการทำลายล้างอาจกว้างเกินกว่าใครจะจินตนาการ

 

         นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างที่สุดและควรตั้งคำถามให้มาก ยิ่งมีการสร้างเตาปฏิกรณ์ฟิวชั่นมากเท่าไหร่ ความระมัดระวังก็ยิ่งต้องเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุผิดพลาดขึ้นมา ครั้งนี้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ได้มีแค่เมืองหรือประเทศเดียว แต่อาจทำให้ทั้งโลกหายวับไปกับตาเลยทีเดียว 

 

          แน่นอนว่าความเสี่ยงดังกล่าวฟังดูน่ากลัวเมื่อผลกระทบหลังจากนั้นอาจหมายถึงโลกทั้งใบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นเป็นคำตอบของพลังงานสะอาดอันยั่งยืน อาจทำให้คนเราสร้างพลังได้เกือบไร้ขีดจำกัด จนไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องพลังงานหรือราคาน้ำมันใดๆ อีก

 

        คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายนิวเคลียร์ฟิวชั่นจะเป็นใบเบิกทางสู่อนาคต หรือเป็นจุดจบชองมนุษยชาติกันแน่

 

 

ที่มา

https://www.nationtv.tv/original/378850830

https://www.nationtv.tv/original/378859154

https://www.nationtv.tv/original/378859326

https://interestingengineering.com/belgium-postpones-exit-nuclear-energy

https://interestingengineering.com/biden-white-house-nuclear-fusion

https://interestingengineering.com/non-thermal-nuclear-fusion

https://blog.pttexpresso.com/nuclear-energy-effect-world/

https://www.matichon.co.th/foreign/news_3177597

https://www.north2.eu/en/?fbclid=IwAR0kAqzouu2HwEwZpo2wR-EvcOHopwyH3xMEjiz4PDpUK4sVEPijMTeOSVI

https://www.firstpost.com/tech/science/nuclear-fusion-reactor-in-germany-sets-multiple-records-towards-sustainable-energy-5629251.html