posttoday

ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ งานที่ดีต้องเริ่มจากรักและทุ่มเท

08 พฤษภาคม 2560

ผมเกิดและเติบโตในโรงเรียนมาตลอด จนถึงอายุ 14 ถึงได้ย้ายบ้านออกมาอยู่ข้างนอก แต่ก็ยังคลุกคลีอยู่กับวงการการศึกษา

โดย....โยธิน อยู่จงดี

“ผมเกิดและเติบโตในโรงเรียนมาตลอด จนถึงอายุ 14 ถึงได้ย้ายบ้านออกมาอยู่ข้างนอก แต่ก็ยังคลุกคลีอยู่กับวงการการศึกษา ด้วยความที่เราอยู่กับโรงเรียนอยู่ โรงเรียนผมถึงมีความตั้งใจที่จะทำให้เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในลักษณะที่ว่าให้ผู้ปกครองมีความไว้ใจเรามากที่สุด และเด็กๆ ก็มีความสุขที่จะเรียนในโรงเรียนของเราด้วย” ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ เด่นหล้า บริติช สกูล (Denla British School) และผู้แต่งร่วมหนังสือ “Cartoonomics : เศรษฐศาสตร์ฉบับการ์ตูน” และผู้แปลร่วมหนังสือ “The Confident Leader” กล่าว

เต็มยศ เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะโรงเรียนที่บริหารอยู่เท่านั้น การให้ความรู้กับสังคมด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย และการแต่งหนังสือให้ความรู้กับคนทั่วไปบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมได้เป็นอย่างดี บางวรรคบางตอนระหว่างการสนทนา เขาเปรยกับเราว่า ถ้าให้เทียบระหว่างงานด้านการสอนหนังสือกับการเขียนหนังสือ เขาชอบที่จะเขียนหนังสือมากกว่า เพราะอย่างน้อยก็ได้ให้ความรู้กับคนที่อยากรู้อยากอ่านงานของเขา หนังสือเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมหรือคนหมู่มากได้ เพราะหนังสือให้ความรู้กับผู้คน ทำให้ผู้คนเกิดปัญญาในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราในทุกๆ วัน ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเหมือนที่คนส่วนใหญ่คิด เราควรใส่ใจค้นคว้าหาความรู้ เพราะสองสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของเรา ซึ่งการเขียนหนังสือจะมีประโยชน์ต่อคนหมู่มาก

“คุณพ่อเคยให้คำนิยามในตัวผมก็คือ มีความอดทนสูง ถ้าในการทำงาน คำว่า ยอมแพ้ไม่อยู่ในความคิด ไม่เคยคิดว่าจะถอย ทำอะไรไม่เคยคิดว่าเลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว อย่างเช่น ผมชอบการเล่นสควอช ปีแรกที่ไปอเมริกาเคยไปคัดตัวแล้วไม่ติดทีม ผมก็ซ้อมวิ่งครอส คันทรี วันละ 5 กิโลเมตร วิ่งเสร็จก็มาซ้อมสควอชทุกวัน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ติดทีมใหญ่

“มีประโยคหนึ่งของ เฮนรี่ เดวิด ทอโร นักปรัชญาชาวอเมริกันที่ผมชอบมากคือ ‘In the long run, men hit only what they aim at’ ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราตั้งใจทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ สักวันเราต้องถึงจุดหมาย ซึ่งมันก็มีความหมายตรงกับคำว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่นั่น’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แทรกอยู่ในการอบรมสั่งสอนของคุณพ่อของผมมาตลอด

ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ งานที่ดีต้องเริ่มจากรักและทุ่มเท

“ในงานที่ผมโดยเฉพาะกับการบริหารโรงเรียนนานาชาติ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือเราต้องการเด็กที่รู้วัฒนธรรม รู้จักตัวตนความเป็นไทยของเรา ผมอ่านหนังสือของคุณลีกวนยูอดีตนายกของสิงคโปร์ บอกถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจว่าเด็กสิงคโปร์ทุกคนจะต้องเรียน 2 ภาษาคือภาษาอังกฤษกับภาษาจีน เขาให้เหตุผลว่าสมัยเด็กๆ ในกลุ่มเพื่อนของเขามีทั้งกลุ่มที่เรียนในโรงเรียนฝรั่งและเรียนในโรงเรียนจีน

“กลุ่มฐานะดีเรียนโรงเรียนฝรั่ง กลุ่มฐานะไม่ดีมากเรียนโรงเรียนจีน เรียนจบมา ลีกวนยู พบว่าพวกที่เรียนในโรงเรียนฝรั่งจะได้งานที่ดีกว่า ทำงานในบริษัทที่ดีกว่าเพราะพูดภาษาอังกฤษได้ มีทักษะในการทำงานที่ดีกว่า แต่กลุ่มที่เรียนภาษาจีน เรียนจบมาเริ่มต้นได้ไม่ดีเท่า แต่พอในระยะยาวกลุ่มหลังจะไปได้ไกลกว่ากลุ่มที่เรียนโรงเรียนฝรั่งเพียงอย่างเดียว

“ลีกวนยูเชื่อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงทางอารมณ์ กลุ่มที่ถูกสอนให้เป็นฝรั่งมาตั้งแต่เด็ก ถูกสอนแต่วัฒนธรรมตะวันตกมาตลอด แล้วก็ไม่มีความรู้จักไม่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง สุดท้ายก็ส่งผลต่อความมั่นคงต่อแรงจูงใจที่ตัวเองควรมี แต่กลุ่มที่เรียนแบบจีนก็ได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง กลุ่มนี้จะมีความเข้มแข็งทางอารมณ์ระยะยาวที่ดีกว่ามีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองได้มากกว่า เป็นเพราะพวกเขารู้จักตัวตนอย่างแท้จริง ภาษาไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการสื่อสาร แต่เป็นสิ่งบ่งบอกเชื้อชาติ และความมั่นใจในตัวเอง

“ลองนึกถึงคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ ถึงคุณจะทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร มีหน้าที่การงานดีแค่ไหนสุดท้ายเขาก็มองคุณเป็นแค่พลเมืองชั้น 2 แต่หากคุณรู้ว่าตัวคุณเองเป็นใคร มีความภูมิใจในภาษาและเชื้อชาติของเราอย่างไร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็จะไม่รู้สึกด้อยค่าไปกว่าฝรั่งเหล่านั้น”

เมื่อถามถึงแนวทางในการบริหารงานโรงเรียน ผู้บริหารหนุ่มบอกกับเราว่า “ผมให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการสื่อสารที่ชัดเจน สำหรับโรงเรียนถ้าเกิดเรารับผู้ปกครองที่ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ในการให้การศึกษากับบุตรหลาน ในแนวทางเดียวกับที่เราเป็น ก็ยากที่สื่อสารให้เข้าใจและช่วยกันพัฒนาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากผู้ปกครองมีแนวความคิดและแนวทางเดียวกับเรา ก็จะช่วยลดปัญหาได้มากกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์

ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ งานที่ดีต้องเริ่มจากรักและทุ่มเท

“ที่เหลือก็จะเป็นปัญหาปลีกย่อยที่เราจะต้องมาดูว่าเป็นปัญหาที่เด็กชอบหรือไม่ชอบอะไรแล้วเราจึงจะต้องเข้ามาปรับจูนให้เด็กได้ไปถึงสิ่งที่เขาต้องการ

“ผมคิดว่าแต่เด็กในยุคใหม่ควรจะเรียนให้มีความรู้ในรอบด้านคือ ไม่ได้เรียนในวิชาการในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว จะต้องสามารถออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เขาจะต้องเรียนรู้ในเรื่องการเล่นกีฬา เรียนรู้ในเรื่องของดนตรี เรียนรู้ในเรื่องของทักษะในการใช้ชีวิตต่างๆ แล้วค่อยมาดูว่าเด็กแต่ละคนนั้นเขามีความสนใจและความถนัดทางด้านไหนมากที่สุด แล้วเราจะค่อยๆ เริ่มโฟกัสให้เขาไปในทิศทางนั้นอย่างชัดเจน

“ผู้ปกครองมักจะมองว่าการเรียนโรงเรียนนานาชาติต้องเก่งภาษาอังกฤษ ได้เรื่องของกิจกรรม มีความมั่นใจในตัวเอง แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กเหล่านั้นต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการเรียนพิเศษ ดังนั้นเรื่องของเวลาในการเรียนที่เหมาะสม ก็เป็นสิ่งสำคัญอยากจะให้เด็กเก่งก็ต้องทุ่มเทเรื่องเวลาในการเรียนด้วยเช่นกัน ซึ่งผมคิดว่าถ้าเด็กเหล่านี้สามารถเรียนทุกอย่างได้ครบเพียงพอภายในโรงเรียน ได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย รู้วัฒนธรรม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และเก่งด้านวิชาการ ได้เก่งในสิ่งที่ถนัด ก็น่าจะดีกว่า ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะมีความคาดหวังให้เด็กเรียนต่อในเมืองไทย มากกว่าที่จะเรียนต่อในต่างประเทศ”

“กลับมาในแง่ของการทำงาน เริ่มต้นก่อนเลยก็คือเราจะต้องมีใจรักในสิ่งที่ทำไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ในทุกสาขาอาชีพ คุณต้องมีใจรักในสิ่งที่ควรจะทำ ถ้าเกิดเราเริ่มต้นอย่างถูกต้อง เราก็จะทุ่มเทลงลึกในรายวิชาและพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ

“สำหรับปัญหาในการทำงาน เราค่อนข้างที่จะเจอปัญหามาโดยตลอดอยู่แล้ว สิ่งที่ผมทำคือการให้เวลาในการหยุดคิดสักนิดนึงก่อน เพราะบางครั้งเราตัดสินใจไปแล้ว อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องเสียใจภายหลัง การชะลอการตัดสินใจแล้วค่อยๆ พิจารณาเหตุและผล รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อเรื่องนั้นๆ โดยปราศจากอารมณ์เข้าไปตัดสินก็จะทำให้การตัดสินใจนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้น

“แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องของการตัดสินใจแก้ปัญหาเราจะต้องมองที่เป้าหมายหลัก ความหมายของเป้าหมายหลักของผมในการทำงานกับโรงเรียนก็คือ การมองที่เด็กเป็นเป้าสำคัญว่าทำแล้วเด็กจะได้ผลดีอะไรบ้าง ถ้าหากเรามองปัญหาที่เด็กเป็นหลัก มองประโยชน์ที่เด็กจะได้รับเป็นหลัก ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นคุณครูหรือผู้ปกครองถ้าเกิดเขารับรู้แนวทางในการแก้ปัญหา แล้วเขาบอกว่าแก้แล้วเด็กจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าเกือบจะร้อยทั้งร้อยผู้ปกครองจะยอมรับในแนวทางแก้ปัญหาของเรา เพราะเด็กวันนี้ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนเขามีความคิดความอ่านของเขาเองมากขึ้น ถ้าเราทำให้เด็กรับรู้ถึงปัญหา แสดงให้เขาเห็นว่าเรียนไปแล้วจะได้อะไรผมเชื่อว่าเด็กจะกลับมาตั้งใจเรียนเพื่อตัวของเขาเองทุกคน”