posttoday

ทำไมเพลงไทยต้องสองแง่สองง่าม

04 กรกฎาคม 2554

จากเพลง"คันหู"ถึงนานาทัศนะกับคำถามเพลงไทยดังกระฉูดทำไมต้องมีเนื้อหาสองแง่สองง่าม

จากเพลง"คันหู"ถึงนานาทัศนะกับคำถามเพลงไทยดังกระฉูดทำไมต้องมีเนื้อหาสองแง่สองง่าม

โดย...ทีมแซ่ด

“คันหู” เป็นอาการคันตรงบริเวณหู ต้องใช้มือเกาให้หายคัน แต่ถ้าใครดูคลิปเพลงคันหูของวง “เทอร์โบ มิวสิค” ที่ถูกนำมาโพสต์ลงในเว็บไซต์ยูทูบ แล้วมีคนเข้าไปดูกว่า 3 แสนครั้งภายใน 3 สัปดาห์ ปรากฏว่านักร้องสาวสวยหุ่นเซ็กซี่นุ่งผ้าน้อยชิ้นประจำวงผู้ขับร้อง ตอนที่เนื้อเพลงบอกคันหู เธอดันไปเกาตรงบริเวณเป้ากางเกงขาสั้นจุ๊ดจู๋ อย่างนี้เขาเรียกว่าเกาไม่ถูกที่คัน

แต่เพลงนี้ก็โด่งดังในโลกไซเบอร์ชั่วข้ามคืน ทั้งที่ หลิว วาริสสรา นักร้องอาชีพ ร้องเพลงนี้ไว้ตั้งนานแล้ว แต่ไม่ดังเท่ากับตอนที่วงเทอร์โบ มิวสิค นำมาร้อง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเนื้อหาของเพลงและท่าเต้นไม่เหมาะสม จนกระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาปราม

 

ทำไมเพลงไทยต้องสองแง่สองง่าม

ทำไมเพลงคันหูยุค 2011 ถึงเตะหูเตะตาคน จะดูกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ นั่นเป็นเพราะเนื้อเพลงสองแง่สองง่าม ชวนให้คิดนั่นเอง เช่น บางท่อนของเนื้อเพลงระบุว่า “อู๊ย...คันหู ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เอาสำลีมาปั่นก็ไม่หาย คันจริ๊ง มันคันอยู่ข้างใน คันหูทีไร ขนลุกทุกที หากใครรักษาให้หายได้ จะเอาอะไรจะยกให้ทันที จะกินจะฉีดขอให้เป็นยาดี จะลองให้ฉีดยาสักทีสองที ถ้ายาเค้าดีหูคงหายคัน...” ถ้าฟังเนื้อหาของเพลงแล้วไม่คิดอะไรมากก็ธรรมดา แต่ถ้าคิดลึกก็โป๊ะเชะ ใช่เลย

ขณะที่ตัวนักร้องเองก็มีส่วนทำให้เพลงนี้โด่งดังติดตาคนดู เนื่องจากเธอร้องเต้นเล่นกับคนดูได้อารมณ์จริงๆ ถ้าเป็นนักแสดงก็เอนเตอร์เทนคนดูได้สุดๆ โดยเฉพาะตอนที่เนื้อเพลงต้องร้อง อู๊ย...เธอเล่นร้องเสียครวญคราง จนน้ำเสียงกระเส่าไม่เหมือนกับร้องเพลง ตรงจุดนี้เองยิ่งทำให้คนดูติดอกติดใจเป็น 2 เท่า คนดูหน้าเวทีถึงกับอ้าปากค้าง พูดแบบนี้ถ้ายังไม่เห็นภาพ ก็เข้าไปดูทางยูทูบได้ (เดี๋ยวจะไม่เชื่อ)

พูดถึงเพลงของ หลิว วาริสสรา ที่เคยวางแผงขาย ไม่ใช่มีเฉพาะเพลงคันหูอย่างเดียวที่เนื้อหาสองแง่สามง่าม “เพลงฝันประหลาด” ก็ใช่ย่อย เนื้อเพลงบางตอนร้องว่า “แม่จ๋า ทำนายฝันที เมื่อคืนนี้หนูฝันประหลาด ฝันว่างูมาเลื้อยคาด ไม่รู้จะรัดหรือกัดให้ตาย ชอบใจตอนงูเลื้อยผ่าน หนูสั่นสะท้านไปทั้งร่างกาย งูอะไรตัวดำปิ๊ดปี๋ ดูหัวนั่นซีหัวมันก็ส่าย เลื้อยผ่านไปทางหน้าอก คิดว่าจะฉกจึงยกหูขึ้นส่าย หลับตาไม่กล้ามองดู หนูเลยไม่รู้ว่างูจะฉกอะไร ไม่รู้งูอะไรนะแม่ ตรงหัวมีแผล คงโดนตีมาแต่ไกล ลำตัวย่นๆ ยู่ๆ มองดูไม่รู้เลยว่าเป็นงูอะไร ชอบใจตอนงูเลื้อยผ่าน หนูสั่นสะท้านไปทั้งร่างกาย...” แต่ทำไมเพลงไม่ดัง และไม่ถูกสั่งห้าม

พูดถึงเพลงไทยถ้าเป็นในลักษณะสองแง่สองง่ามจะโด่งดังเร็ว ไม่ใช่เพิ่งมี นักร้องในอดีตก็แต่งและร้องมาตลอด สมัยก่อนโน้นก็ต้องยกให้ “เพลิน พรหมแดน” ถ้าเป็นเจ้าพ่อเพลงแปลงที่โด่งดังก็ต้อง “บุญโทน คนหนุ่ม” ก่อนหน้านี้เพลง “หมากัด” ของ “เอกชัย ศรีวิชัย” ก็โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง จนถูกห้ามไม่ให้ออกอากาศ มองว่าเป็นเพลงทะลึ่งลามก ทั้งที่เนื้อเพลงไม่ได้ลามกอนาจารอะไรเลย เพียงแต่เนื้อร้องทิ้งช่วงให้คนฟังคิดเท่านั้นเอง

มาในยุคปัจจุบันเพลงที่โด่งดังฮอตฮิตติดชาร์ตอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสัปดาห์ของการจัดอันดับเพลงคือ “กินตับ” ของ “เท่ง เถิดเทิง” หากฟังเนื้อหาเพลงนี้แล้วก็ธรรมดา ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าจะโด่งดังได้ เพราะชักชวนกันไปกินตับ อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ความนัยแล้วหนุ่มชวนสาวไปกินตับ มีนัยแฝง ยิ่งตอนท่อนฮุกที่ร้องว่า ตับ ตับ ตับ ตับ พร้อมใส่ท่าเต้นสะบัดเอว ยิ่งทำให้ชวนคิดกันไปใหญ่

จนมีน้องร้องลูกทุ่งหลายคนนำไปร้องบ้าง จะดังไม่ดังไม่รู้ ขอให้มีคำว่าตับไว้ก่อน เช่น “ส้มเช้ง สามช่า” ก็ออกเพลง “ชวนไปกินตับ” กลายเป็นว่าฝ่ายหญิงชวนฝ่ายชายไปกินตับเสียเอง ไม่รวมเพลงของ “เหินฟ้า หน้าเลื่อม” นักร้องหน้าเหี่ยว ก็นำตับมาเป็นเนื้อเพลง จนโด่งดังอยู่ตามเธคตามผับทั่วประเทศ เพราะเนื้อหาและจังหวะที่เข้าถึงคนฟังนั่นเอง

 

ทำไมเพลงไทยต้องสองแง่สองง่าม

นอกจากเนื้อหาเพลงสองแง่สองง่ามเป็นจุดขายแล้ว ชื่อเพลงก็มีส่วนทำให้เพลงติดตลาดได้ ล่าสุดมีเพลง “น้องมายด์ ป่วนเมือง” ชื่อ “เดี๋ยวโดนป้าบ” ออกมากำลังได้รับความนิยมทางสถานีวิทยุ ทั้งที่เนื้อหาของเพลงสอนให้เด็กอย่าตื่นสาย ไม่เช่นนั้นจะถูกพ่อแม่ตีก้นดังป้าบเท่านั้นเอง แต่ท่อนฮุกของเพลงจะใส่จังหวะมันๆๆ ป้าบๆๆๆๆ เข้าไป คนฟังได้ยินจะคิดไปต่างๆ นานา ความจริงเพลงที่มีลักษณะสองแง่สองง่ามมีมาตั้งแต่ในอดีต ทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว ที่เป็นเพลงดั้งเดิมของไทย ก็มีเนื้อหาลักษณะนี้เช่นกัน

ในมุมมองของ “ระพงษ์ ศักดิ์แก้ว” หรือครูบอย นักแต่งเพลงหนุ่มสังกัดแกรมมี่ โกลด์ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มองว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย ปัจจุบันมีภาษาสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งศัพท์สแลง ศัพท์วัยรุ่น อาจทำให้เพลงยุคใหม่ต้องสู้กันด้วยภาษาว่าใครจะแหล่มกว่ากัน

“ต้องดูเจตนาของผู้เขียนเพลงว่าเขาต้องการจะหลีกเลี่ยงแบบทิ้งไว้เป็นปริศนาให้คิดตามเอง หรือจะว่ากันตรงๆ เลย เพลงจะสะท้อนเจตนา รวมทั้งนิสัยใจคอของผู้เขียนว่าเป็นคนแบบไหน ลามก ทะเล้น ดื้อ เช่นเดียวกันสาเหตุที่เพลงพวกนี้ดังเร็ว ผมว่าเป็นทางเลือกของคนฟังมากกว่า ถ้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่จับทางได้เขาก็จะยี้ ส่ายหัว แอนตี้ไปเลย แต่ถ้าเป็นพวกนึกสนุก พวกร้องกันในวงเหล้า ในผับ ก็จะมีการตอบรับอีกแบบหนึ่ง อาจจะสะใจพวกนักเต้น พวกขี้เมา”

ครูบอย มองว่าเพลงสองแง่สองง่าม ถ้าผู้แต่งมีเจตนาให้มันดังแบบอื้อฉาว ก็น่าตำหนิ มันคล้ายกับเป็นเพลงใต้ดินที่ดันทะลึ่งขึ้นมาอยู่บนหน้าปัดวิทยุ เมื่อเด็กๆ เห็นว่าเปิดตามรายการเพลงทั่วไป เขาก็ฟังแล้วคิดว่าไม่เห็นจะเป็นไร ยิ่งเห็นบ่อยก็ยิ่งฟังบ่อยมากขึ้น ฉะนั้นก็เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคลของดีเจแต่ละท่านว่า จะส่งเสริมด้วยการเปิดเพลง หรือแบนไปเลย แต่ยังไงก็ยังเชื่อว่าเพลงพวกนี้มีอายุสั้น อยู่ได้ไม่นาน เพราะมันไม่ได้มีความเป็นอมตะเหมือนเพลงลูกทุ่งยุคเก่าๆ ที่สวยงามทั้งเนื้อร้องและทำนอง

ด้าน “เสริมเวช ช่วงยรรยง” อดีตหัวหน้าวงรอยัลสไปรท์ส และนักแต่งเพลงชื่อดัง ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมัยก่อนมีเพลงลูกกรุงโด่งดังชื่อว่า อ่าวอารมณ์ ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ เนื้อเพลงค่อนข้างอีโรติก บรรยายถึงการเมกเลิฟระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย แต่ผู้แต่งฉลาดมาก บรรยายได้อย่างแนบเนียนและคมคาย ฟังดูไม่น่าเกลียด

 

ทำไมเพลงไทยต้องสองแง่สองง่าม

หรืออีกเพลงที่ชื่อ คืนนั้นสวรรค์ล่ม ของ ทูล ทองใจ แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน เกี่ยวกับผู้ชายนอนฝันเปียก แต่ด้วยความอัจฉริยะของผู้แต่งในการเลือกใช้คำสละสลวย งดงามราวบทกวี ผสมผสานกับน้ำเสียงนุ่มนวลของผู้ร้อง เพลงออกมาจึงไพเราะสวยงามจับใจคนฟัง

“แต่เพลงสมัยนี้อย่างเห็นหมีหนูไหม หรือคันหู ที่กำลังเป็นข่าวใหญ่โต มันสะท้อนให้เห็นว่านักแต่งเพลงไม่มีชั้นเชิงในการแต่งเพลง ไม่รู้จักการใช้ภาษา แถมเจตนาส่อไปทางไม่ดี ง่ายๆ เป็นเพลงลามก ไอ้อย่างนี้มันเหมือนหนังเอ็กซ์โจ๋งครึ่ม มาถึงก็แหกอ้าเลย ไม่ใช่หนังอีโรติกสวยๆ งามๆ ที่มีความเป็นศิลปะสูงค่าเหมือนเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย เพลงพวกนี้ไม่เรียกว่าเพลงดัง มันเป็นกระแสบอกกันปากต่อปากมากกว่า คนได้ยินคนก็รู้จักแต่ยี้ ประเดี๋ยวเดียวคนก็ลืมๆ หายไป” เสริมเวช บอก

นักร้องลูกทุ่งอาวุโสคนนี้ ฝากไปยังนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ๆ ว่า เพลงคือศิลปะ คือจินตนาการทางสมอง เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่า คนแต่งเพลงต้องถ่ายทอดอารมณ์ จินตนาการ ศิลปะ และภูมิปัญญาลงในเพลง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการตามได้ นักแต่งเพลงสมัยนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องถ้อยคำคล้องจอง สัมผัสนอกสัมผัสใน ยกตัวอย่างเนื้อเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ของครูไพบูลย์ บุตรขัน ลองเอาดนตรีออก ร้องปากเปล่าก็ยังไพเราะ แต่กับเพลงส่วนใหญ่สมัยนี้ ถ้าเอาทำนอง เอาดนตรีออกก็จบเลย เหมือนพูดให้ฟังเฉยๆ ไร้ชีวิตชีวา