posttoday

ณัฐพล ทรัพย์มนู ปีนป่ายฝันพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์

07 มิถุนายน 2554

ราวต้นเดือน เม.ย. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง

ราวต้นเดือน เม.ย. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง

โดย..เสน่ห์จันทน์

ราวต้นเดือน เม.ย. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จับมือกันสร้างสรรค์โครงการ “ไทย เอเวอร์เรสต์ 2011 Live Your Dream” หวังจุดประกายให้คนไทยกล้าคิด กล้าฝัน และมีความมุ่งมั่น โดยเปิดตัว “ณัฐพล ทรัพย์มนู” วัย 35 ปี ผู้มีความฝันและความมุ่งมั่นที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ซึ่งมีความสูงที่สุดของโลกคือ 8,844 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยระหว่างประเทศเนปาลกับทิเบต

ในวันที่ณัฐพลออกเดินทางมุ่งสู่ขุนเขาอันยิ่งใหญ่เราไม่มีโอกาสได้ไปส่ง ทว่า ในวันที่เขาถอยร่นลงมาจากภูเขาน้ำแข็ง เราได้มีโอกาสไปรับและพูดคุยกับเขา ณ เมืองดูลิเคว ประเทศเนปาล เมืองที่สามารถมองเห็นเทือกเขาเอเวอร์เรสต์ที่ชายไทยคนนี้พยายามป่ายปีนเพื่อหวังพิชิต แต่ว่าไม่สำเร็จในครั้งนี้ ที่ต้องบอกว่า “ในครั้งนี้” เพราะณัฐพลยังมีความุม่งมั่นว่าในชีวิตนี้จะต้องพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ให้ได้ ด้วยคติที่ว่า “ไม่เร่ง ไม่รีบ ไม่เลิก”

ณัฐพล ทรัพย์มนู  ปีนป่ายฝันพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์

วันที่ 24 มิ.ย. คือวันที่ณัฐพลตัดสินใจยุติภารกิจขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ และตัดสินใจลงมาด้วยเหตุผลเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับทางจีนทำเชือกที่ต้องใช้ปีนในระยะสุดท้ายล่าช้า ทำให้เลยกำหนดช่วงเวลาที่สภาพอากาศเหมาะสมตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 2223 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่สามารถปีนได้ และหลังจากนั้นอากาศก็แปรปรวนมาก เพราะเป็นช่วงใกล้ฤดูมรสุม จากอากาศดีๆ ก็มีพายุหิมะเข้าอย่างหนัก ซึ่งนักปีนเขาชาวเชอร์ปา (Sherpa) ประเมินว่า ฤดูมรสุมมาเร็วกว่าปกติ สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางต่อไปได้ รวมถึงเชอร์ปาบางคนป่วยหนัก จึงสรุปร่วมกันว่าควรเดินทางกลับ

อาการเซ็งๆ ซึมๆ เบาบางลงไปมากแล้วในวันที่เราได้พบ เจอณัฐพล ทว่าเขาดูผ่ายผอมลงไปจากเดิมมาก ด้วยน้ำหนักที่หายไปถึง 7 กิโลกรัม ใบหน้าดูซูบเซียว แต่ทว่ายังมีแววตาที่มุ่งมั่นดังเดิม หลังจากสำรวจสภาพภายนอกของเขาด้วยสายตาแล้ว เช็กกันต่อถึงภายในจิตใจซึ่งถ้าเขาไม่เอ่ยออกมาเอง เราคงเดาได้แบบถูกๆ ผิดๆ ไปตามรูปการณ์ แต่นั้นไม่ใช่ความจริงจากเบื้องลึกความรู้สึกของเขา

“มันเซ็งมากกว่าเสียใจ ถ้าเกิดว่าเราขึ้นไปแล้วเกิดอุบัติเหตุ ป่วย ร่างกายเราไม่ไหว เราก็จะรู้ตัวเองว่าเราทำได้แค่นี้ แต่เหตุการณ์นี้เหมือนเราง้างเต็มที่ เหลือแค่ปล่อยลูกดอกออกไป แต่ปล่อยไม่ได้ พอกลับมาแบบนี้ก็เหมือนมีอะไรค้างคาใจ กลับมาผมนั่งนิ่งไปเลยทั้งวัน”

7,500 เมตร คือ ความสูงที่ณัฐพลป่ายปีนขึ้นไปยืนได้สำเร็จ เหลืออีกเพียง 1,000 กว่าเมตรเท่านั้น เขาก็จะสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จ ในระหว่างที่วิเคราะห์สถานการณ์ว่าจะขึ้นไปพิชิตยอดเขาหรือกลับลงมานั้น ณัฐพลยอมรับว่ามีการถกเถียงจนเกือบเรียกว่าทะเลาะกับเชอร์ปา เพราะความหมายมาดว่าจะขึ้นสู่ยอดเขาให้ได้ถึงขั้นเตะถ่วงเวลาไว้ก็แล้ว แต่เมื่อสภาพอากาศเลวร้ายอย่างสาหัส หากดันทุรังขึ้นไปจริงๆ ก็คงสะบักสะบอมหรือเอาชีวิตไม่รอดก็ได้

“ตอนที่รอเชือกผมก็รู้สึกผิดหวัง เห็นทางฝั่งใต้เขาขึ้นปีนได้ (ฝั่งใต้ทางเนปาล ณัฐพลปีนฝั่งเหนือทางทิเบต) แต่เรารอโดยไม่มีจุดหมายก็เซ็ง จากพยากรณ์อากาศวันที่ 15-25 พ.ค. อากาศจะดีที่สุด แต่พอเชือกเสร็จวันที่ 19 พ.ค. ผมออกมาจากเต็นท์มองไม่เห็นอะไรเลย หิมะขาวเต็มไปหมด ผมพยายามจะฝ่าขึ้น คือความรู้สึกผมไปนั่งรอนอนรอทรมานอยู่เป็นเดือน เจอสภาพอากาศที่ตื่นมาเหมือนกับจมน้ำ เพราะบนนั้นติดลบ 20 องศา มีออกซิเจนแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของอากาศข้างล่าง เราคนปีนก็อยากจะขึ้นไปให้สำเร็จ ก็ดันทุรังรออยู่ ก็เถียงกันอยู่อีกหนึ่งวัน ก็ดึงเวลาเขาอยู่ เขาก็เตือนขึ้นอาจขึ้นได้ แต่ตอนลงลงไม่ได้ เพราะหิมะละลายพอดี เช็กสภาพอากาศข้างบนลม 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และก็ขึ้นไปถึง 100 แล้ว ถ้าผมดันทุรังปีน ป่านนี้คงถูกพัดปลิวไปไหนต่อไหนไม่รู้ แต่มีทีมที่ยังฝืนปีนต่อ แต่ก็ไปไม่ถึง”

ณัฐพล ทรัพย์มนู  ปีนป่ายฝันพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์

“ความสำเร็จชื่นชมกับมันแค่ 5 นาที ความล้มเหลวก็เช่นกัน” ณัฐพลว่าไว้แบบนี้ ดังนั้นการล้มเหลวในครั้งนี้ไม่ได้นำความท้อแท้ถอดใจมาสู่เขาแต่อย่างใด หากแต่ ณ เวลานี้เขาได้มองการณ์ถึงครั้งหน้า และเริ่มมองหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไขสำหรับพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์อีกครั้งในปีหน้า ซึ่งในเบื้องต้นได้เจรจากับทางไทยเบฟเวอเรจว่าจะยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนเช่นเคย

“สำหรับปีหน้าต้องปรับหลายอย่าง การเตรียมคน การเตรียมอุปกรณ์ จะดีกว่าจะดีกว่าถ้าเรามีแคมป์เมเนเจอร์ และผมอยากให้มีทีมที่เป็นคนไทยร่วมไปด้วยจะดีมาก อย่างเพื่อนบ้านเราประเทศมาเลเซีย รัฐบาลสนับสนุน 100% ประเทศเขาพิชิตยอดเขาได้มากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 คน แต่ของไทยเราน้อยมาก เพราะต้องใช้งบต่อคนเป็นล้านบาท ถ้าเป็นทีมเยอะถึงหลายสิบล้านบาทได้ และอีกบทเรียนหนึ่งที่ผมได้จากตอนลงมาถึงพื้นเลยคือ เราทำผิดไปอย่างหนึ่ง ผมมุ่งมั่นจนหมายมั่นที่จะพิชิตภูเขา ผมเห็นภูเขายิ่งใหญ่ แต่เราจะขึ้นไปพิชิตให้ได้ จนลืมไปว่าเราควรจะน้อมตัวเข้าหาขุนเขา ลงมาแล้วมีเวลาคิดหลายวันหรือผมเพี้ยนก็ได้ แต่ผมเกิดอารมณ์ความคิดแบบนั้นจริงๆ เหมือนเราไม่ได้เคารพ เราอยากเอาชนะ”

การปีนเขาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างหนัก และระหว่างทางต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ และเสี่ยงอันตราย แต่ณัฐพลเขารักทุกการผจญภัย “ทุกอย่างมีความเสี่ยงในชีวิต ถ้าคิดยังไหวไม่ควรเลิก ที่เราขึ้นไปได้เรื่อยๆ เราตั้งเป้าไว้แล้ว เราอยากทำไปเรื่อยๆ อยากทดสอบขีดจำกัดของเราทั้งกายและใจอยู่ตรงไหน เราอยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กับตัวของเราเอง ขึ้นไปผมเอาธงชาติ เอาพระบรมฉายาลักษณ์และธงธรรมจักร ผมอยากเห็นศาสนาพุทธอยู่ตรงจุดสูงของโลก”

ณัฐพลได้ฝากถึงคนที่มีความฝัน แต่ยังไม่ได้ตามฝันว่า “สำหรับคนอยากปีนเขาควรจะเริ่มทันที การเตรียมตัวไม่มีเร็วเกินไป มีแต่คำว่าสาย เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด อย่าประมาท เพราะบนนั้นป่วยจริง ตายจริง ถ้ามีฝันอยากให้ทำ ชีวิตเรามันสั้น เราตายวันตายพรุ่งก็ได้ มีโอกาสเราทำแล้ว ทำเต็มที่ ไม่สำเร็จไม่เป็นไร ได้ทำแล้วไม่เสียหาย เรามีโอกาสทำแล้วไม่ได้ทำแบบนี้น่าเสียใจมากกว่า อย่างเด็กไทยตอนนี้ผมนึกภาพแล้วเศร้า ทุกคนเหมือนหลงอยู่ในโลกอิเล็กทรอนิกส์ ทุกคนเลือกที่จะเสพฝันของคนอื่นผ่านทางหน้าจอ ผมอยากให้ออกมาข้างนอก แทนที่จะติดแชต ติดเล่นเกมออนไลน์ แทนที่จะผจญภัยในหน้าจอ ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกบ้าง ลองดูแล้วจะติดใจ มันได้ใช้ชีวิตจริงๆ เริ่มจากเล็กๆ แค่ออกมาออกกำลังกายบ้างก็ได้”

สำหรับตัวณัฐพลเอง ฝันหนึ่ง ฝันใหญ่ในชีวิต คือ สักครั้งหนึ่งกับการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ “หากภูเขาท่านเมตตา” เขาทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น