posttoday

เซเลบรุ่นใหม่หัวใจติดดิน

14 มีนาคม 2554

ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนสังคมนี้ ที่มองที่เมาท์เมามันถึงเซเลบริตีไปต่างๆ บ้างก็ว่ายังโง้น บ้างก็ว่ายังงี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนสังคมนี้ ที่มองที่เมาท์เมามันถึงเซเลบริตีไปต่างๆ บ้างก็ว่ายังโง้น บ้างก็ว่ายังงี้

เรื่อง อณุศรา ทองอุไร / วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนสังคมนี้ ที่มองที่เมาท์เมามันถึงเซเลบริตีไปต่างๆ บ้างก็ว่ายังโง้น บ้างก็ว่ายังงี้ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อมั่ง ทำอะไรไม่ได้เรื่องได้ราวมั่ง หมายประมาณว่าไม่ชาญฉลาด ทำอะไรจึงเหยาะๆ แหยะๆ เข้าทางคนช่างเมาท์ เพราะอิจฉา...เอ๊ย...เพราะภาพลักษณ์ภายนอกมันดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น

เซเลบรุ่นใหม่หัวใจติดดิน

เขาจะว่าเป็นอย่างไรก็เฉย เซเลบตัวจริงไม่เห็นจะต้องแคร์ เพราะไม่ได้ขอใครกิน อย่างไรก็ตามเพราะความรักชอบและเพราะความติดดินอันเป็นวิสัย ทำให้เซเลบบางคนได้ดั้นได้ด้นจนเจอเวย์ เปิดโอกาสให้ได้ทำอะไรบางอย่างบางสิ่งที่ “ได้เรื่องได้ราว” และ “ได้เงิน”

ตุนท์ มหาดำรงค์กุล ผู้บริหารฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ โทรคาเดโร กรุ๊ป หนึ่งหนุ่มทายาทนักธุรกิจตระกูลดังที่ทำธุรกิจนำเข้านาฬิกามาหลายสิบปี เขาคือรุ่นที่ 3 ของตระกูลมหาดำรงค์กุล ที่ปัจจุบันช่วยธุรกิจของครอบครัวอย่างสามารถ แต่ขณะเดียวกันก็แอบสนใจเกษตรแนวใหม่ หนุ่มหล่อได้เคยบรรยายเรื่องดินในงานประชุมสังสรรค์ประจำเดือนของสโมสรโรตารี บางรัก และงานประชุมทางการศึกษาให้กับกลุ่มนักธุรกิจจากชิคาโก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้ว

ความสนใจใช่เพิ่งเริ่ม หากแอบมีใจเกี่ยวกับเกษตรแนวใหม่ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่เมลเบิร์น ยูนิเวอร์ซิตี ออสเตรเลีย โดยได้เลือกเรียนวิทยาศาสตร์การเกษตร แล้วจึงกลับมาต่อปริญญาโทที่ศศินทร์ จุฬาฯ ด้านบริหารธุรกิจ

เขาบอกว่า ชอบอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็ชอบเรื่องที่เกี่ยวกับต้นไม้ ดิน ธรรมชาติ เกษตรกรรมด้วยเช่นกัน โชคดีที่ทางบ้านเข้าใจ ไม่ได้ขัดขวาง คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าบ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรม อนาคตอาจเป็นครัวของโลก ที่สำคัญพืชพันธุ์ทางการเกษตรจะมีราคาแพงขึ้น การเรียนด้านนี้ถือว่าสอดคล้องกับเทรนด์โลก

สำหรับตัวเขาเองมองว่า ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม อีกไม่ช้านานอาหารก็จะแพงขึ้น ถ้าเราไม่ให้ความรู้กับเกษตรกรของเรา ไม่ให้ความรู้กับคนของเรา เรานี่แหละที่จะลำบาก ทุกคนต้องปรับตัว สร้างผลผลิตที่คุ้มค่ากับการลงทุน นี่เองที่ทำให้ที่ผ่านมาพวกเราได้เห็นหนุ่มตุนท์คนโก้ เดินสายให้ความรู้เรื่องดินและน้ำในโครงการทางวิชาการต่างๆ อยู่เสมอ

“เพราะดินและน้ำเป็นพื้นฐานที่สำคัญของภาคเกษตรกรรม ถ้าดินและน้ำดี ก็จะทำให้ผลผลิตดี ถ้าดินน้ำไม่ดี ผลผลิตก็มีปัญหา” ตุนท์ กล่าว ตอนเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ เขายังได้มีโอกาสไปฝึกงานกับโครงการหลวงด้วย เพราะฉะนั้นก็ยิ่งทำให้มีความสนใจด้านนี้มาก เทรนด์ของโลกจะเดินไปทางนี้แน่ รวมถึงตัวเขาเองด้วย

กิตติชัย ว่องไวมหาศาล บุตรชายและทายาทร้านจิวเวลรีเก่าแก่ย่านเยาวราช T.V. Jewelry หรือ ปิง หนุ่มน้อยวัย 25 ปี ไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่เล็ก จนจบไฮสกูลจึงกลับมาเรียนปริญญาตรีที่มหิดล (อินเตอร์ฯ) โดยส่วนตัวใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เรียนหนังสือในบรรยากาศของมหาวิทยาลัยนานาชาติ เรียกว่าเป็นคุณหนูร้านเพชร ที่บรรยากาศรอบตัวเต็มไปด้วยเพชร เครื่องนิลจินดา จิวเวลรีที่สวยงามหรูหรามาตั้งแต่จำความได้

เพิ่งเรียนจบเมื่อปีที่แล้ว จากคณะบริหารธุรกิจการตลาด เขาเป็นหนึ่งในทีมผู้เข้าแข่งขันของ SIFE กลุ่มนักศึกษาที่ทำงานในองค์กรไม่แสวงหากำไร (Students in Free Enterprise) โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาช่วยเหลือสังคมตามปรัชญาพึ่งตนเอง โครงการของเขาคือการรณรงค์ทำนาโยน จุดความคิดที่จะช่วยเกษตรกรให้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยก้มดำนา หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ผลผลิตสูงขึ้น รายได้ก็สูงขึ้น

เซเลบรุ่นใหม่หัวใจติดดิน

“การทำนาโยน เป็นการปฏิวัติชาวนาไทย ผู้จับคันไถแล้วฝ่าดงโคลนลุยงานในท้องนา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ให้ไม่ต้องประสบปัญหาปวดหลัง และรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง” กิตติชัย กล่าว โครงการของเขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศในปีที่ผ่านมา โมเดลถูกหยิบยกเป็นโครงการนำร่องปลูกข้าวแบบนาโยน เพื่อเพิ่มผลผลิตนาไทย

เปรียบเทียบกับการทำนาในอดีต ทั้งนาดำและนาหว่าน ต้องมีขั้นตอนการไถนา เตรียมดิน คราด กำจัดวัชพืช ทำเทือก ตกกล้า ถอนกล้า และอีกมากมาย ชาวนาต้องตากแดดกรำฝน หลังขดหลังแข็งกว่าจะได้ซึ่งผลผลิต ส่วนนาโยนเป็นวิธีทำนาแบบใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างการทำนาดำกับนาหว่านน้ำตม ใช้วิธีโยนต้นกล้าที่เพาะไว้แล้วลงในแปลงนา แทนการตกกล้าปักดำด้วยแรงคน การทำนาโยนใช้ต้นทุนต่ำ สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี โดยเฉพาะข้าววัชพืชที่เรียกกันว่าข้าวดีด

นาโยนยังช่วยลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ คือ ใช้เพียง 45 กิโลกรัมต่อไร่ ลดการใช้สารเคมี เพราะกล้าข้าวจะเติบโตได้เร็วกว่าวัชพืช โดยรอ 14 วัน ให้โตประมาณ 1 คืบ จึงนำไปโยนนา ดูแลสะดวกกว่า และผลผลิตสูงกว่า นาแบบเก่าผลผลิตต่อไร่ 700 กิโลกรัม แต่นาโยนได้ต่อไร่เกือบตัน

“นาโยนเป็นที่นิยมของชาวนารุ่นใหม่ โดยเฉพาะในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ชาวนาภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยาหันมาทำนาแบบใหม่กันมาก” กิตติชัย กล่าว

จะให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีทำนา แต่ใครเขาจะเชื่อเด็กอย่างเรา เขาใช้วิธีทำเรื่องนี้ผ่านนักวิจัยของกรมการข้าว ซึ่งชาวนาให้ความเชื่อถือ ปรากฏว่าได้ผล ชาวนาจำนวนหนึ่งหันมาทดลองทำ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับเพิ่ม จนปัจจุบันมีการทำนาโยนอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หนุ่มปิงเวลานี้ยังต่อยอดธุรกิจด้วยการทำถาดเพาะกล้า พลาสติกหลุมเพาะขนาด 30 X 60 นิ้ว จำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่ต้องการเพาะกล้าข้าวแบบนาโยนทั่วประเทศ

หนุ่มน้อยก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด กล้าดี เพื่อผลิตและจำหน่ายถาดเพาะกล้า ซึ่งถ้าเป็นหน้านาแล้วจะมีออร์เดอร์เข้าทุกวัน ธุรกิจเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องมุมานะอีกยาวไกล เรื่องนาโยนและถาดเพาะขอยกเครดิตให้บิดา “สมชาย ว่องไวมหาศาล” ผู้ที่เขาบอกว่า เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่องถาดเพาะกล้าและการทำนาโยนคนแรก ตอนที่คุณพ่อยังมีชีวิตได้ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ทดลองและวิจัยมาตั้งแต่ปี 2544

“มาร์จินแตกต่างจากขายเพชรเยอะครับ แต่ก็เป็นความรู้สึกดีๆ ที่ได้ทำอะไรดีๆ” หนุ่มน้อยตอบยิ้มๆ