posttoday

นวพล-คันฉัตร พลเมืองชั้น 3 แห่งวงการหนังสั้น

26 มกราคม 2553

แวบแรกที่เห็นพวกเขาทำให้เรา (เผลอ) นึกถึงการ์ตูนอ้วน-ผอมจอมยุ่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน...

แวบแรกที่เห็นพวกเขาทำให้เรา (เผลอ) นึกถึงการ์ตูนอ้วน-ผอมจอมยุ่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน...

โดย...อัคร เกียรติอาจิณ

แวบแรกที่เห็นพวกเขาทำให้เรา (เผลอ) นึกถึงการ์ตูนอ้วน-ผอมจอมยุ่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน คนหนึ่งบิ๊กไซส์ อีกคนสมอลไซส์ แต่ว่าทั้งคู่ก็สะท้อนความเป็นซี้ย่ำปึ้ก แถมท้ายด้วยเรื่องวายป่วงชวนปวดหัวไม่เว้นวัน

“เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” กับ “ต่อ- คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง” จะเข้าอีหรอบนั้น ไหม...? เราก็ไม่กล้าฟันธง (เดี๋ยวหน้าแหก หมอไม่รับเย็บ) แต่แหม! มันต้องมีบ้างละน้า อารมณ์บ้าบอสติแตกตามประสาเกลอสนิท

บ้านอยู่คนละย่าน เรียนจบคนละด้าน และจบคนละที่ นวพลเป็นศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนคันฉัตรมาจากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทว่าพวกเขากลับชื่นชอบสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการดูหนังและการทำหนัง

อย่าเพิ่งคิดว่าพวกเขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการแต่อย่างใด นวพลกับคันฉัตร...ก็แค่คนตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ที่อยากทำกิจกรรมเล็กๆ เท่านั้นเอง

แน่นอน...กิจกรรมเล็กๆ ที่ว่า จะเป็นอื่นไม่ได้หรอก ถ้าไม่ใช่อะไรที่เกี่ยวกับหนัง

นวพลสนใจหนังตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถม แต่ได้ลงมือทำจริงๆ ตอนเข้ามหาวิทยาลัยปี 2 และทำต่อเนื่องมาตลอด ผลงานของนวพลจะว่าง่ายก็ใช่ จะว่ายากก็ถูก คล้ายจะดูสบายๆ แต่แฝงนัยไว้มากมาย ที่เด่นๆ ก็เช่น “See” “ยุเรียมเป็นผัวฝรั่ง” “There There (ที่นั่นที่นั่น)” “My Shrunk House (บ้านหด)”

นวพล-คันฉัตร พลเมืองชั้น 3 แห่งวงการหนังสั้น

คันฉัตรสนใจหนังจากหนังสือหนัง เขาตามไปดูหนังที่ถูกแนะนำและวิจารณ์ จนวันหนึ่งก็เกิดคันไม้คันมือ จึงลองเขียนเป็นตัวหนังสือบ้าง แล้วค่อยต่อยอดทำเป็นภาพเคลื่อนไหวสไตล์ของเขาชื่อย้าว...ยาว “Time Still Destroys Everything You Touch”

สองหนุ่มนี้ไม่เพียงทำหนังสั้น พวกเขายังร่วมผนึกกำลังก่อร่างสร้างตัว (ตน) เป็น “Third Class Citizen” เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้สึก ของคนจริตตรงกัน อาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนทั่วไป แต่คนรักหนังสั้นคงพอจะรู้จักดี เพราะนี่คือ “กลุ่มพลเมืองชั้น 3”

นวพล : “ที่คิดตั้ง Third Class Citizen ขึ้นมาก็เพราะผมเห็นว่าหนังบางเรื่องซึ่ง ดีมาก แต่มีโอกาสได้ฉายแค่ครั้งเดียว หรืองานเดียว ก็จบกันไป และแทบไม่มีโอกาสกลับมาฉายซ้ำอีก ทั้งๆ ที่เจ้าของเขาอุตส่าห์ทำมานะ ประกอบกับอยากให้คนอื่นได้ดูด้วย บางคนอาจพลาดวันที่ฉาย หรือแม้แต่ผมเองอาจเป็นหนึ่งในคนที่พลาดวันนั้น แต่อยากดูทำไง ต้องรอนานอีกเท่าไหร่ นี่ละที่จะเป็นหน้าที่ของ Third Class Citizen”

คันฉัตร : “จริงๆ มันที่ชุบตัวของเราต่างหาก (หัวเราะ) ไม่ใช่...ล้อเล่น จริงๆ ก็เปรียบเสมือนสิ่งที่ทดแทนตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะตอนเป็นนักศึกษาชอบอยู่คนเดียว เพื่อนไม่มีใครคบมั้ง (ยิ้มๆ) พอจบมาก็เลยอยากมีอะไรทำให้กับชีวิต”

งานหลักของ Third Class Citizen จะโฟกัสไปที่การเสาะหาหนัง ทั้งขนาดสั้น ขนาดยาว (น้อยหน่อย) สารคดี แอนิเมชัน ไม่จำเป็นต้องไปเมืองคานส์ หรือมีรางวัลการันตี มาฉายให้คนที่สนใจดูฟรี ไม่มีเก็บสตังค์ โดยอาศัยสถานที่ไม่ใหญ่มาก จำลองให้เป็นโรงหนังขนาดย่อม บรรยากาศเหมือนไปนั่งดูหนัง อยู่บ้านเพื่อน จบแล้วก็พูดคุยถกเถียงกัน ถึงผลงานที่เพิ่งผ่านตาเพื่อหาทางออกต่อประเด็นคำถามทุกเรื่องที่ยังสงสัยจากปาก ผู้เป็นเจ้าของ

ผู้กำกับบางคนก่อนมาทำหนังดัง เช่นว่า “จุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์” เจ้าของหนังดรามา งดงาม “Wonderful Town” หรือกระทั่งผู้กำกับขวัญใจวัยรุ่น “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” จาก “เด็กหอ” กับ “ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น” รวมทั้ง “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ” ผู้ที่ทำให้ “รักแห่งสยาม” ฮิตระเบิดระเบ้อ ก็ล้วนแต่เคยมีผลงานหนังสั้นมาแล้ว เพียงแต่เราไม่ยักรู้

นี่เองจึงเป็นหน้าที่ Third Class Citizen จะตามหาผลงานของผู้กำกับเหล่านี้และอีกหลายคนมานำเสนอผ่านกิจกรรมฉายหนังประจำเดือน ซึ่งปัจจุบันก็ก้าวเข้าสู่ปีเศษ หลังเริ่มประเดิมครั้งแรกเมื่อราวๆ ต.ค. 2550

นวพล : “ถ้าจะขอมาดูส่วนตัวก็จะประหลาดไปหน่อย สู้ดูหลายๆ คนดีกว่าไหม เพื่อจะได้เป็นการแบ่งปันกันด้วย เพราะบางเรื่องผมเองยังไม่เคยดูก็มี อยากให้กิจกรรมมันคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ปกติมีคนมาดูกี่คนเราก็ฉาย คนเดียวก็ฉาย แต่ถ้าเทียบกับคน 20 คน ค่าไฟเท่ากัน อย่างหลังน่าจะเวิร์ก ผู้กำกับก็จะโอเคด้วย เพราะมีคนตั้งใจมาดู ไม่ใช่หลงทางมาดู”

คันฉัตร : “แม้แต่ใบโปรโมตก็ทำโง่ๆ ถ่ายเอกสารขาวดำ บางครั้งยังแอบไปซีรอกซ์ที่ทำงานแม่เลย บรรยากาศจะเป็นอะไรที่เรียบง่ายและเป็นกันเองมากครับ เราไม่อยากให้การดูหนังเป็นเรื่องสูงศักดิ์ อาร์ตๆ จิตวิญญาณ ฟังไม่รู้เรื่อง ดูหนังจบจะมี Q & A ระหว่างคนดูกับผู้กำกับ ใครอยากถามอะไรได้ตามสะดวก บางทีก็ต้องเอาตัวเข้าแลก ถามนำก่อน เพื่อให้คนถามต่อ”

พวกเขาคิดตรงกันว่าสิ่งที่กำลังทำไม่ได้หวังเป็นบันไดดาวทำให้นวพลกับคันฉัตรกลายเป็นบุคคลป๊อปปูลาร์ เพราะพอเอาเข้าจริง สุดท้ายมันก็ไม่ได้นำไปสู่อะไรมากเท่าไหร่ ทั้งคู่บอกอย่างนั้น ตลอดระยะเวลาที่ทำเป็นการทำแบบลงทุนลงแรงเอง

นวพล : “ออกสื่อแล้วไงล่ะ? ก็ยังไม่เห็นมีใครให้ความช่วยเหลือ ต้องดิ้นรนขวนขวายทุกอย่าง แต่ก็โชคดีที่มีบางคนโอเคกับสิ่งที่เราทำ อย่างพี่ๆ ที่ไบโอสโคปก็ให้สถานที่ฉายหนัง บางคนแนะนำหนัง หรือผู้กำกับที่เราไม่รู้จักให้ ตอนนี้ก็มีปัญหา คือเรื่องสถานที่ หลังจากที่ไบโอสโคปจะย้ายบ้านใหม่ เราต้องหาที่ใหม่เหมือนกัน เนื่องจากมันเดินทางไม่สะดวก ก็มีคนเสนอให้สถานที่หลายแห่ง เช่นที่สาธุ ประดิษฐ์ ซึ่งก็ยังติดปัญหาเรื่องเดินทางไม่สะดวกอยู่ดี”

คันฉัตร : “ผมว่าทุกอย่างมันมีข้อจำกัดหมดนะ ผมเขียนหนังสือ (เป็นคอลัมนิสต์ให้ไบโอสโคปกับแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนนวพลเป็นคอลัมนิสต์ให้ฟิ้วกับอะเดย์) อยากถ่ายทอดอะไรก็ได้ แต่คนจะเข้าใจหรือเปล่า อันนี้อีกเรื่อง หนังมันไม่ใช่ บางฉากทำไม่ได้ เคยคิดนะอยากถ่ายฉากข่มขืนในรถใต้ดิน ซึ่งทำไม่ได้แน่ๆ เพราะเดี๋ยวโดนยามไล่ มันคิดได้แต่ทำยาก หรือเขียนหนังสือทำคนเดียวได้ หนังบางทีมันไม่ได้ อย่างมีนักแสดงก็ต้องไปคุยกับเขา ฉะนั้นตราบใดที่ไม่เดือดร้อนอะไรมาก ไม่ได้เรียกร้องชีวิตของเราไปเยอะ เราก็จะไม่ให้ Third Class Citizen หมดลมหายใจง่ายๆ หรอก”

ในงาน “ไบโอสโคป อะวอร์ด 2551” ที่ประกาศไปเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว นวพล คันฉัตร และ Third Class Citizen คว้ารางวัลสาขา “หน้าใหม่น่าจับตา” มาครองได้อย่าง สมความภาคภูมิ (อีก 2 รายที่ได้แชมป์ไป คือ นัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล ผู้กำกับ A Moment in June และ บริษัท เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น ที่มี ผู้กำกับหญิงคนเก่ง พิมพ์ผกา โตวิระ จาก The Truth Be Told ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งขึ้น)

เป็นกำลังใจอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันให้สองหนุ่มก้าวเดินต่อไป ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวหนังสั้น เริ่มดีขึ้น (เรื่อยๆ) แม้ว่านี่อาจอยู่ช่วงเศรษฐกิจขาลง แต่เราก็เชื่อว่าพวกเขาและกิจกรรมฉายหนังแบบพลเมืองที่ 3 ยังคงเติบใหญ่อีกขั้น

อ้อ! ลืมบอกไปว่าตอนนี้พวกเขามี Third Class Radio วิทยุออนไลน์ พูดเรื่องสัพเพเหระ นอกเหนือจากการทำงานของ ผู้กำกับ สนใจแวะไปดูรายละเอียดได้ที่ http://thirdclasscitizen.exteen.com ส่วนอนาคตทั้งคู่แพลนไว้คืออาจมีเสวนาย่อยๆ เกิดขึ้น เพื่อกันไม่ให้แฟนๆ เบื่อหน่ายซะก่อน

นวพล : “หนังหนึ่งเรื่องมันมีอายุขัยของมันนะ บางทีก็ต้องรอจังหวะ บางคนต้องรอจูนกับใครสักคนอยู่ บางคนทำมาแล้วแทบจะไม่เคยได้ฉายด้วยซ้ำ เก็บเอาไว้ที่บ้าน ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะผมมองว่าอุตส่าห์ทำมาแล้วนี่ อย่างน้อยก็น่าจะได้ฉายบ้าง และ ผลงานของเขาจะทำให้เราเห็นพัฒนาการกับมุมมองความคิดได้”

คันฉัตร : “มันจะมีคนประเภทแบบพอเพียงเยอะครับ พอเพียงแบบที่ไม่รู้ว่าจะฉายที่ไหน แต่ก็ไม่เคยประกาศตัวว่าฉันมีหนัง หรือทำหนัง เราคือชาแนลหนึ่งที่อยากให้ผลงานของเขาถูกเผยแพร่ออกไป เพื่อให้คนรู้จักเขา จดจำผลงานเขา”