posttoday

กว่าจะรัก... สุนทราภรณ์

24 มกราคม 2554

ละครเวทีเรื่อง “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” ที่สร้างสรรค์โดยบริษัท เจ เอส แอล เป็นอีกเสียงเรียกหนึ่งที่ทำให้หันกลับมานึกถึง “สุนทราภรณ์” วงดนตรีระดับตำนานของไทย

ละครเวทีเรื่อง “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” ที่สร้างสรรค์โดยบริษัท เจ เอส แอล เป็นอีกเสียงเรียกหนึ่งที่ทำให้หันกลับมานึกถึง “สุนทราภรณ์” วงดนตรีระดับตำนานของไทย

โดย....เสน่ห์จันทร์

ละครเวทีเรื่อง “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” ที่สร้างสรรค์โดยบริษัท เจ เอส แอล เป็นอีกเสียงเรียกหนึ่งที่ทำให้หันกลับมานึกถึง “สุนทราภรณ์” วงดนตรีระดับตำนานของไทย ซึ่งในปีนี้ก็มีอายุครบ 72 ปีพอดิบพอดี ถ้าเปรียบกับคนต้องบอกว่าอยู่ในสภาพการณ์ที่ตรงกันข้าม เพราะคนกำลังย่างสู่ความร่วงโรยของชีวิต ทว่าสุนทราภรณ์กำลังเข้าสู่ยุคทอง เริ่มกลับมาเป็นที่รู้จักและอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมากขึ้น

กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล

ด้วยเกรงว่าคนรุ่นใหม่นับวันจะยิ่งรู้จักผลงานเพลงของครูเอื้อน้อยลง การเกิดขึ้นของละครเวที “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” จึงเข้ามาทำหน้าที่เสมือนเป็นอีกตัวเชื่อมที่สืบสานบทเพลงในอีกยุคหนึ่งมาสู่คนในยุคปัจจุบัน ในท่วงทำนองการเล่าเรื่องแบบใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย ทว่าในการทำอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและศรัทธาไม่ได้นำมาปู้ยี้ปู้ยำ อีกทั้งการเกิดขึ้นของละครเวทีเรื่องนี้ ก็เพื่อเป็นการสดุดีและระลึกถึงเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” บรมครูแห่งวงการเพลงไทยสากล และผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี 2553 จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco)

ในส่วนของภาคดนตรีได้ 2 นักดนตรี “ฟอร์ดสบชัย ไกรยูรเสน” และ “อู๋ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” มารับหน้าที่เป็น Music Director นำบทเพลงอมตะจากวงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียง และสร้างสรรค์ใหม่แต่ยังคงเสน่ห์ของทำนองเพลงให้ไพเราะจับใจเช่นเดิม

กว่าจะรัก... สุนทราภรณ์

“ได้รับโจทย์ให้มาดูแลในเรื่องของภาคดนตรีทั้งหมด ซึ่งเพลงของครูเอื้อผมยังเกี่ยวติดอยู่ ในการนำเพลงในยุคก่อนมาทำงานกับโจทย์ที่เป็นละครเวทีในการนำเสนอบทเพลงเราจำเป็นต้องมีการดัดแปลงบ้างนิดๆ เพื่อเอื้อให้เข้ากับละครเป็นหลัก แต่ยังคงกลิ่นอายดนตรียุคนั้นจริงๆ บางช่วงบางตอนก็หลีกบรรยากาศให้เป็นแบบสมัยนี้มาปนแต่ทุกอย่างก็ยังยืนอยู่บนโน้ตเดิม ส่วนการร้องการถ่ายทอดไม่เหมือนออริจินัล เพราะแต่ตอนนี้เรื่องของการอ่านโน้ต การตีความของนักดนตรี เราอยู่คนละยุค โน้ตตัวเดียว คนเป่า คนละครก็ให้เสียงที่ต่างกัน” ฟอร์ด กล่าว

ละครเวที “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” เปิดการแสดงแล้ววันนี้ถึงวันที่ 6 ก.พ. ทุกวันศุกร์ รอบเวลา 19.30 น. และวันเสาร์อาทิตย์ รอบเวลา 14.00 น. ทำการแสดง ณ โรงละครเอ็ม เธียเตอร์ บัตรราคา 2,000/ 1,500/1,000 และ 800 บาท มีจำหน่ายที่ Thaiticketmajor ทุกสาขา

คัฟเวอร์เพลงระดับตำนานไม่มีตกยุค

หลายๆ คน พอเอ่ยถึงครูเอื้อหรือเพลงสุนทราภรณ์ถึงกับส่ายหน้า นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าเพลงร้องยังไง แต่พอได้ยิน “เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด บุพเพสันนิวาส ที่ประสาทความรักภิรมย์...” หรือ “วันนี้วันดี ปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ ยิ้มให้กันในวันปีใหม่ โกรธเคืองเรื่องใดจงอภัยให้กัน...” ฯลฯ เท่านั้นแหละร้องตามกันได้ทั้งบาง โดยหารู้ไม่ว่าเป็นเพลงของสุนทราภรณ์ นั้นเพราะเราซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว พอรู้ตัวอีกทีก็รู้จักผูกพันกับบทเพลงเหล่านี้ไปเสียแล้ว

เพลงของครูเอื้อมีมากกว่า 2,000 เพลง หลายบทเพลงถูกนำมาทำซ้ำ โดยศิลปินในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น “แจ้ดนุพล แก้วกาญจน์” ที่มักจะนำเพลงสุนทราภรณ์มาร้องอยู่บ่อยๆ หรือเพลงพรานล่อเนื้อ ที่สุเมธ & เดอะปั๋ง นำมาขับร้องใหม่ เพลงพรหมลิขิต โป้ โยคีย์เพลย์บอย เพลงแสนงอน ที่ดีเจซี้ดนำมาทำในแนวเรโทร ดิสโก้ หรือที่ฮิตระเบิดระเบ่อไปกับเพลงประกอบละครวนิดา เพลงพรหมลิขิต ร้องโดย ที Jetseter และเพลงบุพเพสันนิวาส ร้องโดย แอ๊นท์ พีรพงศ์ และพชรพรรณ สุทธนนท์

ในส่วนของการนำเพลงมาคัฟเวอร์นั้นต้องติดต่อทำการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่ง “อติพร เสนะวงศ์” กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสุนทราภรณ์ และทายาทของครูเอื้อ ได้บอกว่า “มีคนมาขอซื้อเพื่อนำไปคัฟเวอร์เราพิจารณาเป็นรายๆ ไป เราจะให้คนที่นำไปทำงานในเรื่องของการสืบสาน สนใจที่จะทำงานในด้านอนุรักษ์หรือต่อยอดมากกว่าคนที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจ บางคนไม่เข้าใจทำไมขอยากจัง นี้เป็นเจตนาเลยที่จะทำให้มันยาก ของที่ได้มายากมักมีราคา แต่คนที่ติดต่อมาขอซื้อลิขสิทธิ์ก็มีไม่เยอะ อาจเพราะเขาได้ยินกิตติศัพท์ (หัวเราะ) แต่คนที่อยากทำจริงๆ ก็มีแล้วไม่ได้อยู่ในวงการเพลงด้วย คนกลุ่มนี้มีมาขอเยอะแล้วเราก็ให้ มาขอไปใช้ในวันครบรอบวันเกิด วันแต่งงาน ซึ่งเราอนุญาตหมดเลย เราอยากให้สุนทราภรณ์เป็นบทเพลงของคนไทย ทุกคนเอาไปใช้ได้ มันเลยเวลาของการเอาไปทำทางด้านธุรกิจแล้ว มันผ่านไปแล้ว”

กว่าจะรัก... สุนทราภรณ์

ด้านฟอร์ดให้ความเห็นว่า สุนทราภรณ์เอามาร้องแนวไหนก็ได้ แต่ต้องมีที่หนึ่งที่เก็บทุกอย่างเอาไว้แบบดั้งเดิม แล้วจะหยิบมาตีความใหม่ ไปรีมิกซ์แดนซ์ทำได้หมด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกศรัทธากับบทเพลง ไม่รบกวนไม่ทำลาย แต่สร้างบรรยากาศใหม่เข้าไปเท่านั้นเอง ที่ผ่านๆ มาในวงการดนตรีบ้านเราก็หยิบมาคัฟเวอร์เยอะพอสมควร แต่ส่วนใหญ่อิงของเดิม เนื้อหาเมโลดีคงเดิม มีวิธีการร้องเปลี่ยนไปตามไอเดียดนตรี ตามคาแรกเตอร์วิธีการร้องของศิลปิน

อีกหนึ่งนักดนตรี อู๋ ธรรพ์ณธร บอกว่า “การนำเพลงสุนทราภรณ์มาคัฟเวอร์ใหม่ เป็นเรื่องปกติเหมือนทุกๆ วงการที่ทุกอย่างจะต้องมีการเวียนซ้ำกลับมา ยิ่งเพลงสุนทราภรณ์เป็นเพลงที่เป็นอมตะ มีความงามของวรรณศิลป์คีตศิลป์ จะไม่มีวันที่ถูกออกจากหมวดเหมือนแนวดนตรีในสมัยนี้ เมื่อถึงคราวทำซ้ำก็ต้องถูกหยิบมา ซึ่งจะเป็นในแนวเรโทร มีกลิ่นย้อนยุคหน่อยซึ่งดูอินเทรนด์ในสมัยนี้ด้วยซ้ำ ทว่าเพลงของครูเอื้อก็ถูกจัดในหมวดแจ๊ซ ละติน เพลงคลาสสิก มากกว่าที่จะถูกนำไปคัฟเวอร์ในแนวอื่น”

มรดกคู่คนไทย

ปี 2544 เป็นปีครบรอบ 72 ปีวงสุนทราภรณ์ และเข้าสู่ปี 101 ของ ครูเอื้อ แน่นอนว่ากว่าวงสุนทราภรณ์จะเดินทางมาถึงปัจจุบันต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาบ้าง ซึ่งคนที่ประคองกันมาก็เป็นทายาทและกลุ่มคนที่รักสุนทราภรณ์ ทว่าตอนนี้ครูเอื้อและผลงานของท่านไม่ได้เป็นมรดกของทายาทเท่านั้น หากเป็นสมบัติของชาติที่คนไทยทุกคนควรจะช่วยสืบสานส่งต่อให้อยู่ไปถึง 200 ปี 300 ปี เรียกว่าให้อยู่คู่กับคนไทยอย่าให้ลืมเลือนกันไป

กว่าจะรัก... สุนทราภรณ์

อติพร ทายาทครูเอื้อมั่นใจว่าบทเพลงที่ครูเอื้อแต่งจะอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนาน เพราะเป็นบทเพลงที่มีความงามทั้งวรรณศิลป์และคีตศิลป์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีคนสร้างงานแบบนี้ อีกทั้งเพลงของครูเอื้อได้ผูกไว้กับวิถีชีวิตของคนไทย มีบทเพลงทุกเทศกาล มีเพลงพื้นบ้านทุกภาคของไทย อยากฟังเพลงครูเอื้อแบบดั้งเดิมก็มีให้ฟัง ซึ่งเรื่องคุณภาพเสียงก็ได้ทีมงานและเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาช่วยดูแล หรือจะหาฟังในรูปแบบใหม่ๆ ก็ยังมีหลายหน่วยงานหลายศิลปินนำเพลงมาขับร้องมาทำใหม่ อย่างละครเวทีกว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล ก็เป็นการต่อยอดผลงานของครูเอื้อ

“ท่านเอง (ครูเอื้อ) ได้วางรากฐานไว้ดีมาก ได้สร้างสถาบันดนตรีไว้รองรับงานของท่านและเราก็มีมูลนิธิสุนทราภรณ์ มีชมรมคนรักสุนทราภรณ์ทั่วประเทศ นี้จึงไม่ใช่แค่มรดกของทายาทเท่านั้น เพียงแต่ทายาทเป็นคนดูแลภาพรวม แต่จริงๆ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่คิดว่าเป็นคนไทย เพราะนี่คือมรดกที่อยู่คู่กับคนไทย”

อู๋ ธรรพ์ณธร รีบให้ความเห็นทันทีว่า “เพลงของครูเอื้อจะไม่มีวันสูญหาย จะเป็นของดีที่อยู่คู่ประเทศไทย เพราะเป็นเพลงที่ไม่ฉาบฉวย ใช้เวลากลั่นกรองออกมา ผมไม่ได้แอนตี้เพลงสมัยนี้นะ แต่เพลงสมัยนี้ฉาบฉวย แต่การที่เราจะอยากให้คนรุ่นหลังมาสนใจเพลงสุนทราภรณ์ผมว่าไม่ต้องยัดเยียด ผมเองตอนเด็กก็ไม่ได้รู้สึกว่าชอบเลย แต่คุณพ่อคุณแม่ฟังเราก็ได้ยินซึมซับมา ผมว่าหลายๆ ครอบครัวเป็นแบบนี้ ได้ยินตลอดเวลา อย่าไปยัดเยียด ยิ่งยัดเยียดยิ่งต่อต้าน ถ้าจะชอบ ชอบเอง”