posttoday

หมอ ชี้ เคส "บีม ปภังกร" เสียชีวิต ย้ำเตือน ภาวะ "ใหลตาย" พบบ่อยในผู้ชายอายุน้อย

24 มีนาคม 2565

"ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร" ชี้ กรณี นักแสดงดาวรุ่ง "บีม ปภังกร" เสียชีวิต หลังนอนหลับปลุกไม่ตื่น ย้ำเตือน ภาวะ "ใหลตาย" พบบ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กถึงกรณีการเสียชีวิต ของ นักแสดงดาวรุ่งมากฝีมือ บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ เนื่องจาก นอนหลับปลุกไม่ตื่น ว่า เวลาเห็นข่าวแบบนี้อยากให้เห็นความสำคัญของภาวะ “ใหลตาย” (SUDS) ซึ่งพบบ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (malignant arrhythmia) ซึ่งส่วนนึงเกิดจากโรคพันธุกรรม มีกลายพันธุ์ของยีนหลายชนิด เช่น long QT syndrome, Brugada syndrome, ARVD หรือกลุ่ม cardiomyopathy ปัจจุบันสามารถให้การวินิจฉัยได้ด้วย next generation sequencing ครับ

การทำ molecular autopsy ช่วยหาเหตุการเสียชีวิต และค้นหาสมาชิกครอบครัวที่เสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้

ข้อมูลการศึกษาคนไทยที่ใหลตาย การชันสูตรศพและ molecular autopsy หาสาเหตุการเสียชีวิตได้ถึง 81% (https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0180056)

ยีนก่อโรคใหลตายมีหลายยีน แม้บางโรคจะรู้จักกันดีเช่น Brugada syndrome แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้เกิดจากยีนก่อโรคนี้ (ปัจจุบันมีหลักฐานว่า Brugada syndrome มีลักษณะเป็น polygenic มากกว่าจะเป็น single gene disorder แล้ว อ่านเพิ่มเติมที่นี่ >> https://www.nature.com/articles/s41588-021-01007-6) ยังมียีนก่อโรคอื่นที่พบได้ เช่น long QT, cardiomyopathy, arrhythmogenic right ventricular dysplasia เป็นต้น

นอกจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว มีโรคพันธุกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดหัวใจหยุดเต้นหรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้คล้ายใหลตาย เช่น Marfan syndrome, aortic rupture, ลิ่มเลือดอุดตันในปอดจาก thrombophilia, เส้นเลือดหัวใจอุดตันจาก familial dyslipidemia ซึ่งการตรวจศพจะบอกได้ครับ

ภาพ IG thebeamishere