posttoday

อินดี้แห่งปี อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

28 ธันวาคม 2553

อภิชาติพงศ์มิใช่เทพเจ้าจากดาวประหลาดดวงไหน เขาก็แค่ผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่รักการทำหนังอย่างสุดขั้วหัวใจ ซึ่งอาศัยความเพียรพยายามด้วยการสร้างชื่อจากผลงาน....

อภิชาติพงศ์มิใช่เทพเจ้าจากดาวประหลาดดวงไหน เขาก็แค่ผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่รักการทำหนังอย่างสุดขั้วหัวใจ ซึ่งอาศัยความเพียรพยายามด้วยการสร้างชื่อจากผลงาน....

เรื่อง วิชช์ญะ ยุติ 

ปีนี้เป็นปีของอินดี้โดยแท้

อะ...ไม่เชื่อเหรอ ลองนั่งทบทวนสิว่า ตลอดปีอินดี้น่ะมาแรงงงงส์ไหม

คนอินดี้ หนังอินดี้ ใช่...เรากำลังหมายถึง “เจ้ย” หรือ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

อภิชาติพงศ์มิใช่เทพเจ้าจากดาวประหลาดดวงไหน เขาก็แค่ผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่รักการทำหนังอย่างสุดขั้วหัวใจ ซึ่งอาศัยความเพียรพยายามด้วยการสร้างชื่อจากผลงานที่แม้จะเข้าถึงมวลชนหมู่มากได้น้อยเต็มทน ทว่าเขาก็ไม่เคยคิดละทิ้งดวงไฟแห่งฝันอันริบหรี่นั้นเลย

อินดี้แห่งปี อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อภิชาติพงศ์

ก่อนหน้าที่อภิชาติพงศ์จะเด็ด “ปาล์มทองคำ” (Palme d’Or) ณ เมืองคานส์ ครั้งที่ 63 มาครองได้สำเร็จ คำขยายที่หลายๆ คนมักห้อยท้ายหลังชื่อสกุลของเขา คงไม่พ้น “เจ้ยอาร์ตแตก” หรือ “เจ้ยอาร์ตตัวพ่อ” บ้างละ

แต่พอมีรางวัลอันทรงเกียรติตีตรา ทีท่าน้ำเสียงเหน็บแนมแกมจิกกัดดูจะอ่อนโยนและเบาแรงลงกว่าเดิม บางคนยกย่องให้ฉายา “เจ้ยปาล์มทองคำ” บางรายชื่นชม “เจ้ยอินดี้ของแท้” พร้อมเปิดรับหนังที่เสพไม่ง่ายนักที่เขากำกับอย่างไร้จริตกังวล
สำหรับเรา อภิชาติพงศ์ เป็นผู้ชายธรรมด๊าธรรมดา เป็นหนุ่มอีสานเลือดข้นคลั่ก เป็นผู้กำกับ (ปาก) ตรงไปตรงมา เป็นคนทำหนังที่มีแนวทางชัดเจน เป็นแรงบันดาลใจในหลายๆ เรื่อง และแน่นอน...เขาเป็นบุคคลแห่งปีที่ควรค่ากับตำแหน่งนี้

หลังหอบรางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดกลับสู่บ้านเกิด ใครๆ ก็อยากคุยกับอภิชาติพงศ์ทั้งนั้น โดยเฉพาะพื้นที่สื่อซึ่งเบียดแย่งชิงกันชนิดหัวหกก้นขวิด และบางสำนักบางฉบับก็ต้องรับประทานแห้วไปตามระเบียบ ด้วยคิวที่แน่นเอี๊ยดจนหาที่แทรกซึมได้ยากนั่นเอง

ในช่วงจังหวะเดียวกับที่เขม่าควันของเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบดี อภิชาติพงศ์ ปาล์มทองคำ และ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” กลายเป็นฟีเวอร์ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นอย่างอาจหาญ

ม็อบจบ เลือดสาด คนตาย ตึกไฟไหม้ ถนนร้าง ทั้งหมดไม่มีอยู่ในผลงานที่กรรมการคานส์ ซึ่งนำโดยผู้กำกับสติเฟื่อง “ทิม เบอร์ตัน” ตัดสินใจมอบรางวัลสายประกวดหลักให้สักนิด (เอ๋!!! หรือมันจะแอบมีอ่ะ อันนี้ก็ต้องไปดูเองนะจ๊ะ)

“ถ้าขาดลุงบุญมีฯ คานส์ปีนี้ถือได้ว่าแห้งแล้ง ไร้ความกระชุ่มกระชวย หนังของอภิชาติพงศ์ถูกฉายประลองกับหนังอีก 18 เรื่องในสายหลักตลอดระยะเวลา 12 วัน หนังส่วนใหญ่ทำเอาผม (และนักวิจารณ์นานาชาติ) ส่ายหน้าอยากจะยกพลออกจากโรง ลุงบุญมีฯ ของอภิชาติพงศ์จึงกลายเป็นข้อยกเว้นที่โดดเด่นขึ้นมา เมื่อเขาทำในสิ่งที่นักทำหนังคนอื่นไม่ได้ทำ นั่นคือการแสวงหาการเกิดใหม่ของศิลปะการเล่าเรื่องด้วยภาพยนตร์ การระลึกชาติของลุงบุญมีจึงกลายเป็นการระลึกได้ของผู้ชมไปพร้อมกัน” (ความเห็นโดย ก้อง ฤทธิ์ดี-นักวิจารณ์หนัง / นิตยสาร FLIMAX มิ.ย. 2553)

ไม่เกินไปและไม่เกินจริง ถ้าจะบอกว่า ปาล์มทองคำทำให้ชื่อผู้กำกับไทย-อภิชาติพงศ์ ดังทะลุฟ้าผงาดถึงจักรวาลแผ่นฟิล์ม (?!?) โลกรับรู้ในฝีมือ ความคิด และวิถีหนังของเขา ขณะเดียวกัน คนไทยร่วมชาติต่างก็อดปลาบปลื้มใจไปด้วยมิได้ กับการสร้างเครดิตดีๆ เชิงศิลปะให้เป็นที่ประจักษ์แจ้ง

“ผมก็ไม่แน่ใจหรอกนะ ด้วยสภาพการจัดจำหน่ายหนังของสายหนังตอนนี้ หนังของผมได้เผยแพร่อยู่ในหมู่คนดูค่อนข้างจำกัด แต่ผมก็ดีใจแล้วล่ะที่มีโอกาสได้ทดลองทั้งศิลปะและหนังในระดับที่เป็นส่วนตัว การตอบรับมันเหมือนกับการเมืองนั่นแหละครับ...คือเป็นหลุมดำ” (สัมภาษณ์โดย ไบรอัน เคอร์ติน-นักวิจารณ์ศิลปะ / นิตยสารไบโอสโคป มิ.ย. 2553)

.........................

คานส์กับอภิชาตพงศ์ว่ากันตรงๆ ก็มีความใกล้ชิดแนบสนิทกันอยู่ไม่น้อย 8 ปีที่แล้ว คานส์เคยมอบแชมป์สาย Un Certain Regard ให้กับ “สุดเสน่หา” ตามด้วยรางวัลขวัญใจกรรมการจาก “สัตว์ประหลาด” ในอีก 2 ปีถัดมา

อินดี้แห่งปี อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โปสเตอร์ภาพยนตร์ลุงบุญมีระลึกชาติ

ขณะที่คนไทย ที่ไม่ใช่ขาประจำของอภิชาติพงศ์ ก็คงรู้จักมักจี่ตัวเขาจากข่าวฮือและฮากรณีกองเซ็นเซอร์ไม่ยอมให้ “แสงศตวรรษ” ผ่านไปด้วยดี เพราะติด 4 ฉากขัดต่อศีลธรรม (พระเล่นกีตาร์ พระเล่นเครื่องร่อน หมอดื่มเหล้า หมอเกิดอารมณ์ทางเพศ)

อภิชาติพงศ์เคยพูดไว้ว่าหนังทุกเรื่องของเขามักมีคนตีความไว้น่าสนใจและหลากหลายมาก นั่นเพราะคนเรามีความแตกต่างกันทางความคิด ตัวเขาจึงไม่สามารถบังคับให้ผู้ชมเข้าใจสารที่สื่ออยู่ในหนังไปเหมือนกันได้หมด

แม้จะมีรางวัลใหญ่มาประดับบารมี แต่อภิชาติพงศ์ก็หาได้เริ่ดหรูงดงามไม่ เขายังธรรมดามากๆ กับการใช้ชีวิต ว่ากันว่า บ้านที่เชียงใหม่ไม่มีเสาอากาศ ทีวีจึงไม่อยู่ในความสนใจของเขา มากไปกว่าการอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ การพักผ่อน รวมทั้งการคิดทำโปรเจกต์ใหม่ๆ และร่วมสร้างเสรีภาพให้เกิดขึ้นในวงการหนังไทย อันเป็นเสมือนวิถีแพ้วถางทางของคนตัวเล็กๆ เพื่อวันหนึ่งจะได้มีพื้นที่ยืนหยัดหายใจคล่องและก้าวย่างอย่างสะดวกสบาย

“เคยเลือกเหมือนกันนะว่าประเทศไหนที่พอจะไปอยู่ได้ มีหลายตัวเลือก แต่ดูไปดูมากลายเป็นว่าเมืองไทยมันก็มีเสน่ห์ในความงาม ความมั่ว มีความเผ็ดร้อน ชอบในความที่มันไม่พัฒนา ความไม่เท่าเทียม บางทีทั้งขำทั้งรู้สึกกวนอารมณ์ด้วย จนอาจจะเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ เคยไปอยู่ปารีส 6 เดือน อยู่ญี่ปุ่น 3 เดือน ซึ่งก็ไม่ยาวนะ แต่ก็ยาวพอที่จะรู้สึกว่ามันสบาย มีสวนสาธารณะที่ดี มีโรงหนังที่ฉายหนังที่เราอยากดู มีวัฒนธรรม มีละคร มีคนเข้าคิวรอดู แต่พอถึงเวลา ณ จุดหนึ่งแล้ว มันเบื่อ คิดอะไรไม่ออก สู้เมืองไทยไม่ได้หรอก” (สัมภาษณ์โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์-ผู้กำกับหนังสั้น / ไบโอสโคป มิ.ย. 2553)

“ลุงบุญมีฯ” มันคือเรื่องอะไรกันหนอ

คร่าวๆ หนังเล่าเรื่องเจ้าของฟาร์มผึ้งจากแดนอีสานที่กำลังป่วยเป็นโรคไตวาระสุดท้าย แล้วจู่ๆ คืนหนึ่งผีเมียของลุงก็กลับมาเยี่ยม พร้อมลูกชายที่หายสาบสูญ ซึ่งปรากฏกายในร่างที่ไม่ใช่คน จนนำไปสู่การเดินทางสู่อดีตชาติของคนทั้ง 3 ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้ของทหารกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แถมด้วยองค์หญิงแห่งอาณาจักรโบราณกับปลาดุกสุดเลิฟ รวมถึงยังมีการแสวงหาความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ซุกซ่อนไว้ในโครงสร้างอันท้าทาย

ไผคืออภิชาติพงศ์

จ.ขอนแก่น คือภูมิลำเนาของเขา ที่นั่นช่วยกล่อมเกลาหล่อเลี้ยงให้เด็กหนุ่มคนนี้เติบโตและก้าวมาโลดแล่นในโลกแผ่นฟิล์มได้อย่างงามสง่า นับแต่เรียนจบ ป.ตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ป.โท ด้านภาพยนตร์ จาก The School of the Art Institute of Chicago สหรัฐอเมริกา

อภิชาติพงศ์ขยับมาเป็นผู้กำกับแถวหน้า ด้วยผลงานอันโดดเด้งทั้งไอเดียและการนำเสนอเฉพาะตัว ถ่ายทอดเรื่องราวเรียบง่าย โดยเล่าผ่านตัวละครที่ค่อนข้างลุ่มลึกทางความรู้สึก

ด้วยเหตุนี้เอง หนังของเขาจึงคว้ารางวัลสำคัญๆ หรือถูกเลือกเข้าชิงจากเทศกาลชื่อดังอยู่บ่อยๆ (แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว) ไม่เพียงแค่นั้น เขายังได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่น ล่าสุดผู้กำกับวัย 40 (เกิด 16 ก.ค 2513) ก็คว้าตำแหน่งบุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี 2553 สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย (ด้านภาพยนตร์)

จากปาล์มทองคำสู่ออสการ์

“โดม สุขวงศ์” หัวหน้าอนุรักษ์ภาพยนตร์ หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) : “ปาล์มทองคำที่คุณเจ้ยได้มาผมว่าเป็นเกียรติภูมิของคนไทยและประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะปาล์มทองคำถือว่าเป็นรางวัลสุดยอดทางศิลปะด้านภาพยนตร์แล้วนะ ฉะนั้น ถ้าหนังเรื่องนี้จะได้ออสการ์ ผมว่านั่นคือของแถมที่เกิดจากคุณงามความดีของตัวหนังล้วนๆ ไม่ใช่เพราะปาล์มทองคำ หรือชื่อคุณเจ้ยหรอกครับ”

“ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ผู้กำกับหนังอินดี้ (ที่เพิ่งโดนแบนไปหมาดๆ คือ Insects in the Backyard) : “อันนี้เรารู้กันดีอยู่ว่าการเมืองเป็นเรื่องเดียวกับงานแจกรางวัล ออสการ์เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้วัดที่ความยอดเยี่ยมเลย หนังดีบางเรื่องก็อาจไม่ได้ออสการ์ แต่ความดีเด่นของมันจะยังคงอยู่ แม้จะไม่มีคำว่าออสการ์แปะท้ายก็ตาม ถ้าเกิดลุงบุญมีฯ คว้าออสการ์มาได้ หรือไม่มีชื่อติด 1 ใน 5 ส่วนตัวก็ไม่แปลกใจอะไร เพราะนี่ละคือมาตรฐานออสการ์”