posttoday

ฝันในฝัน Waking Life

01 พฤศจิกายน 2553

หนังล้ำๆ เรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบต่อสิ่งที่ตัวละคร (และคนดู) สงสัย ทั้งยังทำให้เราตั้งคำถามเก่าๆ เดิมๆ เหมือนกับที่บรรพบุรุษเราเคยถาม....

หนังล้ำๆ เรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบต่อสิ่งที่ตัวละคร (และคนดู) สงสัย ทั้งยังทำให้เราตั้งคำถามเก่าๆ เดิมๆ เหมือนกับที่บรรพบุรุษเราเคยถาม....

เรื่อง แหนงดู

ถึงจะเป็นวันฮัลโลวีน แต่ แหนง-ดู ขออนุญาตไม่แนะนำหนังสยอง เพราะผู้เขียนนั้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นหัวแถวของพวก “ปอดแหก”!!! จึงไม่นิยมชมชอบงานประเภทนั้นนัก --- แจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน (ไม่) Ha!!!

 

ฝันในฝัน Waking Life

ส่วนหนังที่จะมาชวนให้ดูวันนี้เป็นงานของ ริชาร์ด ลิงเคลเตอร์ คนทำหนัง (อินดี้) ชาวอเมริกัน ซึ่งโด่งดังจาก Dazed and Confused, Before Sunrise, Before Sunset, Fast Food Nation หรือกระทั่งงานตลาดอย่าง School of Rock ล้วนเป็นฝีมือคุณพี่คนนี้

ต้นปี 2000 ริชาร์ดได้พล็อตเรื่องเด็ดๆ มาจากทฤษฎีของนักจิตวิทยาชื่อดัง ผลลัพธ์คือ Waking Life ซึ่งเปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ก่อนจะเข้าฉายแบบจำกัดโรงในสหรัฐอเมริกา งานของเขาได้รับคำชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์ยกย่องให้เป็นหนังแอนิเมต/ทดลองที่ยอดเยี่ยมของปี ทั้งยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงสิงโตทองคำในเทศกาลหนังที่เวนิสอีกด้วย

Waking Life เป็นหนังที่เกิดจากการถ่ายทำนักแสดงและฉากจริงด้วยกล้องวิดีโอ ก่อนนำไปทำภาพใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Rotoscoping จากนั้นจึงเปลี่ยนกลับไปเป็นฟิล์ม 35 มม. อีกครั้ง

เล่าเรื่องชายหนุ่มคนหนึ่งที่ “ติด” อยู่ในความฝัน จากฝันหนึ่งสู่ฝันหนึ่ง ระหว่างที่พยายามหาทางออกจากความฝันของตัวเอง เขาได้ผ่านพบหลากหลายผู้คน เพื่อถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของมนุษย์และจักรวาล

พล็อตเรื่องนี้มาจากแนวความคิดทางจิตวิทยาเรื่อง Lucid Dreaming ของ ดร. สตีเฟน ลาเบิร์จ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เชื่อว่า คนเราสามารถตื่นขึ้นมาพร้อมตระหนักว่ากำลังอยู่ในความฝันของตัวเอง ทั้งยังสามารถควบคุมความฝันนั้นได้ มนุษย์สามารถรู้ว่าตัวเองอยู่ในฝัน ถ้าดูเวลาจากนาฬิกาดิจิตอลไม่ได้ และไม่สามารถควบคุมแสงสว่าง เช่น เปิดหรือปิดสวิตช์ไฟ

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยบทพูดที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวทางปรัชญา จิตวิทยา เรื่อยไปถึง สังคม การเมือง และศิลปะ เมื่อบวกกับเทคนิคภาพ เด็กๆ สมัยนี้อาจจะพูดถึง Waking Life ว่า “อาร์ตค่อดๆ” ทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือประสบการณ์ใหม่ๆ ของการรับรู้ และแน่นอนว่าไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ชอบเรื่องเบาๆ สบายๆ

 

ฝันในฝัน Waking Life

หลังจากดูจบ แหนง-ดู อยากจะลุกขึ้นปรบมือให้กับผู้กำกับ ในแง่ที่เขาได้นำลมหายใจสดใหม่มาให้เราได้สัมผัส ถึงแม้ว่าหนังจะขาดเสน่ห์สำหรับบางคน ทั้งยังไม่ใช่หนังดีที่สุดตลอดกาล แต่เป็นหนังที่เราอยากดูรอบแล้วรอบเล่า (ถ้าอยากจะดูให้รู้เรื่องถ่องแท้)

หลายฉากจาก Waking Life มีความผูกพันเชื่อมต่อกับงานเก่าๆ ของ ริชาร์ด ลิงเคลเตอร์ ทั้งยังมีดาราคู่โปรดของเขาคือ อีธาน ฮอร์ก และ จูลี เดลพี ปรากฏตัวในบท เจสซี และ เซลีน จาก Before Sunrise ด้วย ตัวผู้กำกับเองก็ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้เช่นกัน

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจคือ ดนตรีประกอบ ซึ่งเป็นผลงานของ โกลเวอร์ กิลล์ บรรเลงโดยวงทอสกา แทงโก ออร์เคสตรา ถ้าใครอยากจะรู้จักดนตรีแทงโกแห่งศตวรรษที่ 21 แล้วละก็ บอกได้คำเดียวว่าต้องหามาฟัง

ด้วยบทที่ค่อนข้างจะ “วิชาการ” จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่คนดูจะ “ใส่ใจ” อยู่กับทุกคำพูดทุกประโยคของตัวละคร ระหว่างนั้นเรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในห้องเลกเชอร์ หรือหวนคิดถึงสมัยอยู่ในมหาวิทยาลัย พร้อมรู้สึกว่าหนังคงจะน่าเบื่อและน่าสนใจน้อยกว่านี้ถ้าหากไม่มีภาพที่ชวนตื่นตาน่าติดตามชมช่วงต้นๆ ของหนังนั้นทำให้รู้สึกอึดอัดอย่างยิ่ง “เมื่อไหร่บทสนทนาแปลกๆ นี่จะจบลงสักที” แต่สุดท้ายก็ได้พบว่าตัวเราถูกดูดเข้าไปในหนัง จนดูเหมือนฝันนั้นจะกลายเป็นฝันของเรา คำถามของตัวละครก็กลายมาเป็นคำถามของเรา

หนังล้ำๆ เรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบต่อสิ่งที่ตัวละคร (และคนดู) สงสัย ทั้งยังทำให้เราตั้งคำถามเก่าๆ เดิมๆ เหมือนกับที่บรรพบุรุษเราเคยถาม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ชัดแจ้ง --- นี่กลายเป็นเสน่ห์อีกหนึ่งข้อของ Waking Life

Waking Life
ปี   2001
ประเทศ สหรัฐอเมริกา
ประเภท แอนิเมต
ความยาว  100 นาที
กำกับ ริชาร์ด ลิงเคลเตอร์
แสดงนำ ไวลีย์ วิกกินส์/อีธาน ฮอว์ก/จูลี เดลพี/สตีเฟน พรินซ์มอร์