posttoday

เปิดเรื่องราว “ศรีปราชญ์" กวีเอกในสมัย "พระนารายณ์มหาราช” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา"

05 เมษายน 2561

เปิดประวัติกวีเอก "ศรีปราชญ์” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา" อีกตัวละครที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

เปิดประวัติกวีเอก "ศรีปราชญ์” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา" อีกตัวละครที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

ดำเนินเรื่องมาอย่างเข้มข้นจนใกล้ถึงตอนจบเข้ามาทุกที สำหรับละครน้ำดีอิงประวัติศาสตร์ อย่าง “บุพเพสันนิวาส” แต่ว่ายังมีอีกตัวละครหนึ่งที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้เปิดตัว นั่นก็คือ “ศรีปราชญ์” บุตรของ "พระโหราธิบดี" ในสมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" วันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักประวัติคร่าวๆ ของ "ท่านศรีปราชญ์" ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “กวีเอก”

”ศรีปราชญ์” นั้นเป็นบุตรของ "พระยาโหราธิบดี" เกิดในปี พ.ศ. 2196 หรือ 3 ปี ก่อนที่ "สมเด็จพระนารายณ์” เสด็จขึ้นครองราชย์แทน "สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา" โดยในสมัยของ "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" ถือได้ว่าเป็น ยุคทองของวรรณคดี ครั้งหนึ่ง "สมเด็จพระนารายณ์” ทรงได้แต่งโคลงได้เพียง 2 บาท ก็ทรงติดขัด จึงพระราชทานแผ่นกระดานชนวนที่ทรงแต่งบทโคลงนั้นให้แก่ "พระยาโหราธิบดี” เพื่อนำไปแต่งต่อให้จบ และเมื่อรับแผ่นกระดานชนวนที่มีบทโคลงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งค้างเอาไว้แล้ว ก็พิจารณาจะแต่งต่อให้เดี๋ยวนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะแต่งต่อได้ จึงขอพระราชทาน เอาไว้แต่งต่อที่บ้าน ซึ่งพระองค์ก็ทรงไม่ขัดข้อง

เปิดเรื่องราว “ศรีปราชญ์" กวีเอกในสมัย "พระนารายณ์มหาราช” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา"

เล่ากันว่าเมื่อ "พระยาโหราธิบดี” กลับไปถึงบ้านก็นำแผ่นกระดานชนวนนั้นไปไว้ในห้องพระด้วยเป็นของสูง จากนั้นก็ไปอาบน้ำจนกระทั่งบุตรชายวัย 9 ขวบ ชื่อ “ศรี" ได้เข้ามาในห้องพระเพื่อเข้ามาหาผู้เป็นบิดา และพบกระดานชนวนนั้น ด้วยความซุกซนและเฉลียวฉลาด เลยเอาดินสอพองมาเขียนแต่งต่ออีก 2 บาท ต่อจากที่ "สมเด็จพระนารายณ์” ทรงแต่งค้างเอาไว้ เมื่อ "พระยาโหราธิบดี” พบว่าบุตรชายของตนได้มาแต่งต่อ พออ่านดูแล้วจึงรู้สึกชอบใจ วันรุ่งขึ้นงนำโคลงบทนี้ทูลเกล้าฯ ถวาย "สมเด็จพระนารายณ์” ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระองค์จึงทรงเรียกตัว "เด็กชายศรี” เข้ารับราชการ แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็ก "พระยาโหราธิบดี” จึงกราบบังคมทูลให้บุตรชายของตนเจริญวัยขึ้นมาก่อน เมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว จะนำบุตรชายมาถวายตัวรับใช้เบื้องพระยุคลบาท

ด้วยความที่ "พระยาโหราธิบดี” มีความสามารถในการพยากรณ์ จึงทำนายทายทักดวงชะตาให้บุตรชายตนแล้วพบว่า อายุจะสั้นด้วยต้องอาญา จึงทำการประวิงเวลาที่จะให้บุตรชายถวายตัวเข้ารับราชการเรื่อยมา จนกระทั่ง “เจ้าศรี” อายุได้ 15 ปี และเรียนรู้สรรพวิทยาการต่างๆ จากผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว "พระยาโหราธิบดี” จึงได้ถามความสมัครใจของบุตรชายว่าอยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่ ซึ่ง “เจ้าศรี” นั้นดีใจและเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการ สนองพระเดชพระคุณอย่างยิ่งดังนั้น เมื่อ "สมเด็จพระนารายณ์” ทวงถามอีกครั้งหนึ่ง "พระยาโหราธิบดี” ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องพา “เจ้าศรี” เข้าถวายตัวรับราชการแล้ว ในตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ เมื่อเสด็จไปไหนก็ทรงให้ “เจ้าศรี” ติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง

เปิดเรื่องราว “ศรีปราชญ์" กวีเอกในสมัย "พระนารายณ์มหาราช” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา"

 

มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อ "สมเด็จพระนารายณ์” นึกสนุกอยากให้ความสามารถของ “เจ้าศรี” เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน พระองค์จึงทรงแต่งโคลงกลอน ขึ้นมาบทหนึ่ง แล้วให้บรรดาเหล่าข้าราชบริพารตลอดจนนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายที่เข้าเฝ้าฯ ณ ที่นั้น ช่วยกันแต่งต่อ เพื่อประชันความสามารถกัน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดแต่งโคลงกลอนได้ดีและ ถูกพระราชหฤทัยพระองค์เทียบเท่ากับของ “เจ้าศรี" จึงทรงให้บำเหน็จด้วยการพระราชทานพระธำมรงค์ให้และตรัสว่า “เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้เถิด” นับแต่นั้นเป็นต้นมา คนทั่วไปจึงเรียก “เจ้าศรี” ว่า “ศรีปราชญ์” สืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

“ศรีปราชญ์” ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี จนกระทั่งเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของ “พระนารายณ์” ทำให้ “ศรีปราชญ์” ถูกต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่ามแต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง แต่พอพ้นโทษมาก็ไม่เข็ดหลาบ มีอยู่ครั้งหนึ่ง “ศรีปราชญ์” อาจกล้าถึงขั้นไปเกี้ยวพาราสีพระสนมเอกคือ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เข้าให้ และเมื่อความทราบถึง "สมเด็จพระนารายณ์” ทรงกริ้วมาก ถึงกับจะสั่งประหารชีวิต แต่ด้วยสัญญาที่พระราชทานไว้จึงทำได้เพียงเนรเทศ “ศรีปราชญ์” ไปเมืองนครศรีธรรมราช

เปิดเรื่องราว “ศรีปราชญ์" กวีเอกในสมัย "พระนารายณ์มหาราช” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา"

ในระหว่างการเนรเทศเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราช “ศรีปราชญ์” ได้แต่งโคลงกลอนที่เรียกว่า “กำสรวลศรีปราชญ์” ขึ้น โดยบรรยายถึงความรู้สึกที่ต้องพลัดพรากจากบิดามารดามา อีกทั้งบ้านเรือนที่สุขสบาย องค์พระนารายณ์เจ้าชีวิต ตลอดจนนาง อันเป็นที่รัก และเมื่อเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจาก “เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" ให้อยู่รับราชการด้วยกัน เพราะถึงอย่างไร “ศรีปราชญ์” แม้จะถูกเนรเทศ แต่ก็ไม่ได้ถูกปลดจากตำแหน่งหรือลดศักดินาแต่อย่างใด เมื่ออยู่สุขสบาย นิสัยเจ้าชู้ปากเสียบวกกับอารมณ์กวีนักรัก ก็ชักพาให้“ศรีปราชญ์” ต้องโทษถึงกับประหารชีวิต ด้วยไปเกี้ยวพาราสีอนุภรรยาคนโปรดของ “เจ้าพระยานครศรีธรรมราช” เข้าให้ ก่อนที่เพชฆาตจะลงดาบ “ศรีปราชญ์” ได้ใช้หัวแม่เท้าเขียนบทโคลงสี่สุภาพลงบนพื้น ใจความว่า

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง

เปิดเรื่องราว “ศรีปราชญ์" กวีเอกในสมัย "พระนารายณ์มหาราช” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย “ขุนศรีวิสารวาจา"

 

หลังจากที่ “ศรีปราชญ์” ตายไป อยู่มาวันหนึ่งเมื่อ “พระนารายณ์” ทรงแต่งโคลงกลอนติดขัดหาคนแต่งต่อให้ แต่ก็ถูกพระราชหฤทัยไม่ได้ ก็ทรงระลึกถึง “ศรีปราชญ์" ก็ตรัสสั่งให้มีหนังสือเรียกตัวกลับ เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่า “ศรีปราชญ์” ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยต้องโทษประหารจาก “เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสสั่งให้นำ "เจ้าพระยานครศรีฯ" ไปประหารชีวิต ด้วยดาบเล่มเดียวกันกับที่ประหาร “ศรีปราชญ์” นั่นเอง เรื่องราวของศรีปราชญ์จึงกลายมาเป็นตำนานและอุทาหรณ์เตือนใจเรา