posttoday

โรงหนังเก่า... เชื่อมต่ออดีตและอนาคต

10 กุมภาพันธ์ 2561

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กระแสของการอนุรักษ์และพยายามยื้อให้โรงภาพยนตร์หรือโรงหนังเก่าที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนักทั้งในกรุงเทพฯ

เรื่อง : พรเทพ เฮง

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กระแสของการอนุรักษ์และพยายามยื้อให้โรงภาพยนตร์หรือโรงหนังเก่าที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนักทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ให้สามารถอยู่ต่อได้หรือบูรณะฟื้นขึ้นมาให้รองรับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

ล่าสุด ตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่มีข่าวถึงการจะทุบทิ้งโรงหนังเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างสูง ซึ่งตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นั่นคือการออกมาปกป้องโรงหนังสกาลา จนดราม่ากันไปทั่วโซเชียลมีเดีย ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องโพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก CU Property เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการพัฒนาพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาว่า ยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่าไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด และกำลังหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับสกาลา

เพราะที่ผ่านมาทางนายกสมาคมสถาปนิกสยามได้แสดงความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่สกาลาเป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของสมาคม และยังมีองค์กรอื่นที่สนใจ ตลอดจนอีกหลายฝ่ายที่ให้ความเห็นอยากให้อนุรักษ์อาคารสกาลาไว้ เพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนโรงภาพยนตร์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์และสอดคล้องกับอาคารที่เป็นอยู่

อีกส่วนที่มีส่วนช่วยปลุกกระแสของการอนุรักษ์และบูรณะโรงหนังเก่าก็คือโครงการ “โรงภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The Southeast Asia Movie Theater) โดย ฟิลลิป จาบลอน นักวิจัยค้นคว้าและช่างภาพชาวอเมริกัน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เขาได้เริ่มบันทึกเรื่องราววันที่โรยราของโรงหนังในเมืองไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง เมียนมา และลาว ด้วยความหวังว่าเมืองและโรงภาพยนตร์นั้นมีบทบาทสัมพันธ์ต่อกัน รวมทั้งบทบาททางประวัติศาสตร์ที่โรงภาพยนตร์มีต่อการพัฒนาสังคมสมัยใหม่

นอกจากนี้ ยังมีโมเดลฟื้นฟูโรงหนังเก่าอย่าง โรงหนังปริ๊นซ์ราม่า กลายเป็นที่พักสุดฮิปรองรับนักท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าและไม่ทิ้งประวัติศาสตร์ของยุครุ่งเรืองของโรงหนังขนาดใหญ่ประเภทสแตนด์อะโลน

มุมมองของผู้เชี่ยวชาญ

ในยุคแรกของการกำเนิดภาพยนตร์ สถานที่จัดฉายภาพยนตร์มักจะถูกดัดแปลงจากโรงละคร เนื่องด้วยมหรสพแห่งยุคสมัยใหม่นี้ต้องการพื้นที่ที่สามารถจุผู้ชมจำนวนมากที่หลั่งไหลมาชมความอัศจรรย์ของภาพที่กระดิกได้ และเมื่อมีการคิดจะสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้น สถาปัตยกรรมของโรงภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่มก็ยังคงถอดแบบมาจากโรงละครขนาดใหญ่ และสถาปัตยกรรมของโรงภาพยนตร์เช่นนี้ก็ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก

โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงทางอยู่รอดของโรงหนังเก่าแก่แบบโรงเดี่ยวหรือสแตนด์อะโลน (Stand Alone) ว่า ก็เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงและวิถีชีวิตของผู้คน ที่โรงหนังได้กลายเป็นธุรกิจไปอย่างเต็มรูปแบบและเพื่อเป็นการบันเทิงเป็นหลัก

“ผมยังยึดถือและมองว่าโรงหนังในแง่มุมของภาพยนตร์สถาน ซึ่งสามารถให้ความบันเทิงแล้วยังเป็นสื่อทางปัญญา เป็นสถานที่ซึ่งสามารถส่งพลานุภาพของตัวหนังออกมาได้ ซึ่งโรงหนังในสมัยก่อนจะมีตรงจุดนี้อย่างมาก เพราะต้องเพ่งสมาธิในการชมอย่างสูงและด้วยความขรึมขลังและสวยงามของสถาปัตยกรรมและการตกแจ่งภายในที่ทรงคุณค่าของยุคสมัย”

โรงหนังเก่า... เชื่อมต่ออดีตและอนาคต

เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป ความตื่นตาตื่นใจของผู้ชมภาพยนตร์เริ่มน้อยลง หนังเริ่มกลายเป็นมหรสพที่คุ้นชิน กอปรกับการเกิดขึ้นของสิ่งบันเทิงอื่นๆ อย่างโทรทัศน์ ธุรกิจหนังเริ่มเปลี่ยนไป มีหนังถูกสร้างและออกฉายต่อสัปดาห์มากขึ้น รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนก็เริ่มต้องการความสะดวกสบายมากกว่าความหรูหรา โรงหนังขนาดใหญ่เริ่มปิดตัว และแทนที่ด้วยโรงหนังขนาดเล็ก หรือหนังแบบมัลติเพล็กซ์อย่างในปัจจุบัน โดมชี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ควรมีการอนุรักษ์โรงหนังเก่าแก่ของไทยไว้ด้วย

“มองว่าทำไมโบสถ์จึงอยู่ได้ ทั้งที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่เหมือนกัน เพราะยังสามารถใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยส่วนตัวมองว่าโรงหนังคือโบสถ์ชนิดหนึ่งโดยเฉพาะโรงหนังเก่าที่มีความขรึมขลังและทรงคุณค่า การอนุรักษ์จะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าโรงหนังเก่าที่เหลืออยู่ยังมีคุณค่าต่อชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกทิ้งร้างและรอวันทุบทิ้ง”

ขนาดที่ใหญ่โตของโรงหนัง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเปิดใช้งานและดูแลรักษาไม่คุ้มกับจำนวนผู้ชมที่ลดลง บางแห่งก็ต้องปิดตัวไป หรือถูกทิ้งร้างไว้ การทุบทำลายโรงหนังขนาดใหญ่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เนื่องจากความต้องการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อนำไปสร้างศูนย์การค้า อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ บางแห่งก็อาจจะถูกดัดแปลงไปทำประโยชน์อื่นๆ แล้วแต่สถานที่นั้นจะอำนวย จากโรงหนังเก่าแก่ขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่เคยมีกว่า 200 โรง ปัจจุบันถูกทิ้งร้างและทุบทิ้ง และเปิดอยู่ประมาณ 5 โรง

“นอกจากการอนุรักษ์แล้ว ยังมีการบูรณะเพื่อต่อยอดหรือเพิ่มมูลค่าจากโรงหนังเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยยังเก็บรักษาคุณค่าและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของโรงหนังนั้นๆ ไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยยืดลมหายใจโรงหนังเก่าขนาดใหญ่ให้อยู่ร่วมสมัยไปกับสังคม ซึ่งปัจจุบันก็มีความพยายามกันอยู่ ที่สำคัญก็ควรมีการปลุกจิตสำนึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ด้วย อย่างเช่นที่สวีเดนโรงเรียนจะมีการพานักเรียนหรือเด็กไปชมหนังที่โรงภาพยนตร์เก่าแก่เหล่านี้ในช่วงเช้า โดยภาครัฐเป็นคนจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เด็กได้ซึมซับถึงคุณค่าและโรงหนังเองมีรายได้มาหล่อเลี้ยง ซึ่งเมืองไทยก็น่าจะทำได้”

ฟื้นจิตวิญญาณโรงหนังเก่า โมเดลศาลาเฉลิมธานี

กรณีศึกษาถึงโรงหนังขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาให้สามารถเป็นสถานที่เพื่อการจัดฉายภาพยนตร์ หรือจัดกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ โดยยังคงสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ของโรงภาพยนตร์นั้นไว้ได้อย่างดี

จากรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของการบูรณะและฟื้นฟูโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี โดยดร.รังสิมา กุลพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรม เป็นหัวหน้าทีมมีการทำวิจัยที่น่าสนใจถึงทางเลือกของการอนุรักษ์และปรับปรุงโรงหนังเก่า ซึ่งได้ระบุไว้ 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 การบูรณะให้เหมือนกับของเดิมที่มีความแท้ด้วย (Authenticity) ทางเลือกที่ 2 คือ การนำมาดัดแปลงและปรับใช้เพื่อให้เหมาะในสภาวการณ์ปัจจุบัน (Adaptive Reuse) ซึ่งทั้งสองทางต่างก็เป็นแนวทางที่สุด การอนุรักษ์ที่มีผู้นิยมนำมาใช้เพื่อบูรณะและฟื้นฟูอาคารทั้งสิ้น และทางเลือกที่ 3 คือ การบูรณะและฟื้นฟูเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

สำหรับโมเดลศาลาเฉลิมธานี หรือโรงหนังนางเลิ้ง การศึกษาความเป็นไปได้ของการบูรณะและฟื้นฟูได้สรุป คือ 1.ศาลาเฉลิมธานีในฐานะโรงมหรสพและสถานที่ประกอบการทางธุรกิจ 2.ศาลาเฉลิมธานีในฐานะเป็นโบราณสถาน และ 3.ศาลาเฉลิมธานีในฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและโบราณสถาน

โรงหนังเก่า... เชื่อมต่ออดีตและอนาคต

โดยมีการสรุปให้บูรณะและฟื้นฟูให้ศาลาเฉลิมธานีเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตควบคู่กับการเป็นโบราณสถาน จึงนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และได้ให้ประชาชนเรียนรู้การชมมโหรสพภาพยนตร์ในยุคเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน และได้เปิดให้ชมอาคารประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการสร้างอาคารไม้ขนาดใหญ่ที่มีสภาพสมบูรณ์และสามารถใช้งานได้แห่งเดียวในประเทศไทย

แม้จะมีรายงานการศึกษาออกมาถึงความเป็นไปได้ของการบูรณะและฟื้นฟูโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี เมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีงบประมาณในการบูรณะฟื้นฟูโมเดลศาลาเฉลิมธานีแต่อย่างใด

อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า

โรงหนังขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาให้สามารถเป็นสถานที่เพื่อการจัดฉายหนัง หรือจัดกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ โดยยังคงสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ของโรงภาพยนตร์นั้นไว้ได้อย่างดี ซึ่งโครงการการชุบชีวิตโรงหนังนี้ บ้างก็เป็นโครงการที่สร้างสรรค์โดยชุมชน บ้างก็ได้รับการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานรัฐบาล หรือบ้างก็เป็นหน่วยงานเอกชนที่เห็นคุณค่าทางธุรกิจ ซึ่งโครงการชุบชีวิตโรงหนังเก่านี้ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

จากโครงการ "Creative Thailand สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์" จัดตั้งขึ้นโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ TCDC ที่นำเสนอในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2561 (Bangkok Design Week 2018) ซึ่งมีการคัดเลือก 3 โลเกชั่นเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่ไม่เพียงรักษามนต์เสน่ห์จากวันวานไว้ได้ แต่ยังเติมฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ให้สอดรับกับยุคสมัย ซึ่งจุดประกายให้มองเห็นเรื่องของ "ความสัมพันธ์" ระหว่างพื้นที่กับผู้คน ในมุมมองที่ต่างออกไป

หนึ่งในนั้นคือ นอนพักในโรงหนัง ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ TCDC ที่ให้ข้อมูลว่าหลังจากที่กรมธนารักษ์เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อาคารอายุกว่า 100 ปีของปริ๊นซ์ราม่า และพื้นที่โดยรอบซึ่งบางส่วนกลายเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน กำลังได้รับการชุบชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยฝีมือของบริษัท Heritage Stay ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท มนทาระ โฮลดิ้งส์ วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ และจิตติพันธ์ ศรีกสิกรณ์

โรงหนังเก่า... เชื่อมต่ออดีตและอนาคต

โครงการที่ชื่อว่า “Prince Theatre Heritage Stay” มีพื้นที่การใช้งานหลักคือส่วนของที่พัก ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์การพักอาศัยในอาคารประวัติศาสตร์ โดยพยายามรักษาองค์ประกอบเดิมของโรงหนังไว้ให้มากที่สุด

นั่นคือหน้าต่างกระจกสีสไตล์อาร์ต เดโค (Art Deco) ด้านหน้าตึก และจอฉายหนังขนาดยักษ์ที่ใช้งานได้จริง รวมถึงนำห้องพักส่วนตัว 4 ห้อง มาตกแต่งตามยุคสมัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแต่ละช่วงชีวิตของปริ๊นซ์ราม่า ทั้งยังจับมือกับชุมชนโดยรอบซึ่งส่วนใหญ่เติบโตและผูกพันกับโรงหนัง เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงแรม เช่น การเสิร์ฟอาหารด้วยเมนูท้องถิ่นขึ้นชื่อของย่านบางรัก ขณะที่บริเวณเวทีด้านหน้าจอหนัง ก็ยังเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปและอีเวนต์ต่างๆ ได้อีกด้วย

จิตติพันธ์ ศรีกสิกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Heritage Stay ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“การอนุรักษ์มันเป็นเรื่องที่แล้วแต่มุมมองแต่ละคน บางคนอาจจะอยากให้เก็บทุกอย่างไว้อย่างเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้ แต่สิ่งที่เราศึกษาค้นคว้าลงไปมันเป็นเรื่องของจิตใจและเรื่องราวของสถานที่มากกว่า

จากที่เราค้นคว้าข้อมูลหลายแหล่ง ก่อนที่จะเป็นโรงหนังปริ๊นซ์ ที่นี่เคยเป็นโรงบ่อนหลวงที่สร้างในปี 2455 แถมยังเป็นหนึ่งในห้าโรงบ่อนสุดท้ายของกรุงเทพฯ อีกด้วย สมัยนั้นโรงบ่อนหลวงทยอยเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงหนัง ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกโรงบ่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มจากฉายหนังเงียบขาวดำ จนถึงยุคเฟื่องฟู และยุคที่กลายมาเป็นโรงหนังชั้นสองที่ฉายหนังผู้ใหญ่ ก่อนจะปิดตัวลง

เราเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้คือสิ่งที่คนยุคนี้มองหา เขาไม่ได้มาแค่นอนพัก ดังนั้น Heritage Stay จึงไม่ได้ตั้งเป้าหมายแต่แรกว่าจะต้องทำโรงแรมเท่านั้น แต่เราจะเลือกพื้นที่ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ เพื่อเล่าให้คนที่มาพักฟัง”

นอกจากที่พักแล้ว ยังตั้งใจให้ที่นี่เป็นจุดนัดพบของกลุ่มเพื่อนและนักเดินทาง ให้แวะเข้ามาเที่ยวชมหรือนั่งเล่น เลือกทานเมนูขนมและเครื่องดื่มที่ได้รับแรงบันดาลจากหนังดังในยุคต่างๆ และยังมีแผนจะจัดกิจกรรมพิเศษอย่างการฉายหนังเก่า พาเดินชมจุดที่น่าสนใจในชุมชนและชิมอาหารขึ้นชื่อในย่านนี้อีกด้วย โดยพนักงานของที่นี่จะได้รับการฝึกอบรมให้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์และย่านบางรักเป็นอย่างดี