posttoday

"สิ่งที่วงการเพลงยุคใหม่ไม่มี คือ การเป็นฮีโร่ในดวงใจคนฟัง" เปิดประสบการณ์ 20 ปี ลาบานูน

06 กุมภาพันธ์ 2561

เส้นทางดนตรีตลอด 20 ปี ลาบานูน และคำแนะนำการเตรียมตัวของศิลปินรุ่นใหม่ที่อยากเดินบนถนนสายนี้

เรื่องโดย...วิรวินท์ ศรีโหมด / ภาพ...ฉัตรอนันท์ ฉัตรอภิวันท์ 

ลาบานูน "LABANOON" วงดนตรีจากปลายด้ามขวานที่เคยเกือบยุบวงไปแล้ว วันนี้พวกเขากลับมาสร้างปรากฏการณ์ความนิยมได้อีกครั้ง ในยุคที่ถนนสายดนตรีมีการแข่งขันสูงจากศิลปินรุ่นใหม่ และใครก็เป็นศิลปินได้ เพราะอิทธิพลของโลกยุคดิจิทัล

เหตุใดวงร็อคชื่อดังถึงครองใจแฟนเพลงได้ต่อเนื่องมายาวนานถึง 20 ปี แถมยังไม่มีท่าทีว่าจะกระแสความนิยมจะลดลง

วันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะถ่ายทอด เส้นทางชีวิตบนถนนสายดนตรีที่มีทั้งโรยด้วยกุหลาบและขวากหนามที่ต้องฝ่าฟัน 

20 ปี บนนถนนสายดนตรี

ลาบานูน เริ่มแรกมีสมาชิก 3 คน คือ เมธี อรุณ ร้องนำและมือกีตาร์ ,อนันต์ สะมัน มือเบส และ สมพร ยูโซ๊ะ มือกลอง รวมตัวกันสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไปประกวดเวทีฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ ครั้งที่ 2 และสามารถเข้าถึงรอบ 10 วงสุดท้าย จากนั้นได้รับการชักชวนจากคณะกรรมการ เข้าสู่ถนนสายดนตรีเมื่อปี 2541  

เมธี ยอมรับว่าตอนนั้นตื่นเต้นมากสำหรับกลุ่มเด็กผู้ชายวัย 17 ปี ที่ได้ออกเทป เพราะเป็นความฝันของนักดนตรีหลายคน แม้ยังไม่รู้ว่าชอบเส้นทางนี้หรือไม่ แต่เมื่อโอกาสเข้ามาก็คว้าไว้และทำเต็มที่ พร้อมกับพยายามศึกษาและทำความเข้าใจกับโอกาสที่ได้รับ

“ลองจินตนาการว่า มีคนมาบอกเด็กอายุ 17 ปี จะให้ออกเทป ตอนนั้นเหมือนเราได้ทำกับข้าวให้ทุกคนกิน โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทำเป็นหรือเปล่า แต่รู้อย่างเดียวต้องเต็มที่กับมัน”

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ลาบานูนเจอหลากหลายสถานการณ์ปนกันไป หากเปรียบคงไม่เหมือนภาพยนตร์ที่ได้รางวัลออสการ์ แต่เป็นหนังชีวิตที่มีทั้งน่าเบื่อ ตื่นเต้น ขาขึ้นขาลง โดย 3 อัลบั้ม คือ นมสด 191 และ คนตัวดำ เป็นช่วงที่โด่งดังมากมีเพลงฮิตมากมาย อาทิ ยาม 191 คนตัวดำ แฟนเก่า บังอาจรักเธอ

แต่หลังจากนั้นกระแสความนิยมได้ลดลง เพราะความเปลี่ยนแปลงในวงการเพลง สุดท้ายพวกเขาหยุดเล่นดนตรีชั่วคราว และออกเดินตามเส้นทางของตัวเอง โดยเมธี นำความรู้ที่จบคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ลงเล่นการเมืองในจังหวัดสตูล รวมถึงเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ส่วนอนันต์ เลือกเป็นพนักงานบริษัท จนกระทั่งปี 2555 เมธีและอนันต์ กลับมารวมตัวทำอัลบั้มชุดที่ 8 พร้อมชักชวน ณัฐนนท์ ทองอ่อน มาเป็นมือกลองคนใหม่ กระทั่งปี 2557 อ๊อฟและกบ วงบิ๊กแอส ชวนพวกเขามาอยู่ค่ายจีนี่เรคอร์ด พร้อมกับออกอัลบั้มชุดที่ 9 และได้มีเพลงฮิต เช่น พลังงานจน เชือกวิเศษ แพ้ทาง ใจกลางเมือง จนทำให้ลาบานูน กลับมาโด่งดังอีกครั้ง

เมธี เล่าด้วยสีหน้ามีความสุขว่า การกลับมาครั้งนี้เกินกว่าที่คาดคิดไว้มาก ส่วนตัวดีใจและภูมิใจที่แฟนเพลงยังให้การตอบรับ และให้ความสำคัญกับเพลงมากกว่าวง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการ เพราะหากวันหนึ่งไม่มีลาบานูน แต่ถ้าเพลงยังอยู่ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก

“ผมนิยามวงเหมือนชิงช้าสวรรค์ มีขึ้นและลงคล้ายวัฏจักรชีวิต ซึ่งเกิดได้กับทุกอาชีพ เพราะมันเป็นการพิสูจน์ว่า เราของจริงหรือทนได้แค่ไหน”

"สิ่งที่วงการเพลงยุคใหม่ไม่มี คือ การเป็นฮีโร่ในดวงใจคนฟัง" เปิดประสบการณ์ 20 ปี ลาบานูน อนันต์ (ซ้าย) / เมธี (กลาง) / ณัฐนนท์ (ขวา)

 

เทคโนโลยีจุดเปลี่ยนวงการเพลง

การพัฒนาของโลกยุคดิจิทัลทำให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงวงการเพลง

ร้องนำลาบานูน ยอมรับว่า ตลาดเพลงยุคนี้เปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก แต่ในความเปลี่ยนแปลงยังมีข้อดี คือทำเพลงง่ายมากขึ้น เพราะมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถอัดตัดต่อทำเพลงได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง ทำให้ปัจจุบันศิลปินส่วนใหญ่ เลือกทำทีละเพลง มากกว่าทำเป็นอัลบัมเหมือนเมื่อก่อน

การทำเพลงที่ง่ายและลงทุนไม่มาก อีกด้านก็เป็นอุปสรรคของศิลปิน จากตัวเลือกในการฟังที่มากขึ้นของแฟนเพลง ทำให้ระยะเวลาในการฟังที่สั้นลง จึงทำให้ไม่ติดหูยาวนานเหมือนเพลงในอดีต ทั้งหมดคือความแตกต่างระหว่างการผลิตผลงานเพลงในอดีตกับปัจจุบัน

แต่อย่างไรลาบานูน เลือกจะยึดหลักการทำงานเหมือนเดิม ไม่ออกผลงานเป็นซิงเกิ้ล แต่เลือกทำเป็นอัลบัม โดยเชื่อมั่นว่าวิธีคิดดังกล่าว นำไปสู่ผลงานเพลงที่ดีกว่า แม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยง

“หากจะอยู่วงการนี้ อย่าไปตั้งความหวัง อยากทำอะไรทำเลย ความสำเร็จการทำเพลงยุคนี้ไม่มีใครวัดได้ เมื่อก่อนอาจวัดจากการขึ้นอันดับหนึ่งคลื่นวิทยุ แต่ยุคนี้วัดไม่ได้ตามโจทย์เดิมแล้ว หลายเพลงอยู่ดีๆ ก็ดังขึ้นมาได้ง่าย”

เมธี บอกว่า สิ่งที่วงการยุคใหม่ไม่มีเหมือนอดีต คือ ความเป็นไอดอลหรือฮีโร่ในดวงใจของแฟนเพลง เมื่อก่อนเพลงเปรียบเสมือนแรงบันดาลของผู้ฟัง เพื่อให้สู้หรือเดินต่อตามความฝัน เช่น วงไมโคร ปู พงษ์สิทธิ์ คําภีร์ ซึ่งเป็นไอดอลของแฟนเพลง ขณะที่ปัจจุบันความรู้สึกแบบนั้นหาได้ยากมาก และไม่รู้ 20 ข้างหน้าจะมีฮีโร่ในวงการเพลงให้ยึดเป็นแบบอย่างเหมือนอดีตหรือไม่

เมธี บอกว่า สิ่งที่วงการยุคใหม่ไม่มีเหมือนอดีต คือ ความเป็นไอดอลหรือฮีโร่ในดวงใจของแฟนเพลง เมื่อก่อนเพลงเปรียบเสมือนแรงบันดาลของผู้ฟัง เพื่อให้สู้หรือเดินต่อตามความฝัน เช่น วงไมโคร ปู พงษ์สิทธิ์ คําภีร์ ซึ่งเป็นไอดอลของแฟนเพลง ขณะที่ปัจจุบันความรู้สึกแบบนั้นหาได้ยากมาก และไม่รู้ 20 ปีข้างหน้าจะมีฮีโร่ในวงการเพลง ให้ยึดเป็นแบบอย่างเหมือนครั้งอดีตหรือไม่

"สิ่งที่วงการเพลงยุคใหม่ไม่มี คือ การเป็นฮีโร่ในดวงใจคนฟัง" เปิดประสบการณ์ 20 ปี ลาบานูน

ตัวตนทำให้คนรู้จัก เพลงลาบานูน

หลักการเขียนเพลงของศิลปินมีเรื่องราวไม่กี่อย่าง อาทิ ความรัก ความฝัน ความหวัง ความคิดถึง ความเชื่อ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า จะเขียนและสื่อออกมาอย่างไร

เมธี อธิบายว่าหลักการเขียนเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของวง พื้นฐานคล้ายกับวงอื่นๆ แต่หัวใจสำคัญคือกระบวนการคิด ทัศนคติ และมุมมอง โดยหาวัตถุดิบมาจากเรื่องราวใกล้ตัว เช่น เพลงใจกลางเมือง จุดเริ่มต้นจากป้ายโฆษณาบ้านที่มีคำว่าใจกลางเมือง จากนั้นนำมาใส่ไอเดียผ่านการคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“สิ่งสำคัญของการทำเพลง อย่าคิดโจทย์ว่าเพลงต้องสำเร็จเสมอไป หลายเพลงของลาบานูนไม่ดังก็มี ทั้งที่มีความหมายดีมาก แต่ขอให้ภูมิใจกับเพลงที่ตั้งใจทำมันออกมา เพราะเพลงก็เหมือนอาหาร บางคนก็อาจไม่ถูกปาก”

ร้องนำวงลาบานูน มองว่าความสำเร็จการเขียนเพลง คือมีผู้ฟังเข้าใจความหมาย จึงจะนับเป็นความสำเร็จที่คุ้มค่ามาก เหมือนการแต่งเพลงเกี่ยวความเชื่อความฝัน หากลาบานูนร้องอาจไม่มีใครเชื่อเท่า ตูน บอดี้สแลม บางอย่างอยู่ที่คนร้องว่าจะสื่อพลังออกมาได้มากแค่ไหน

“ตัวตนลาบานูน คือ การต่อสู้ดิ้นรนของชีวิตเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่ง นั่งรถไฟชั้น 3 จากสุไหงโกลก มากรุงเทพมหานคร ซึ่งมันเป็นเรื่องจริงที่ถ่ายทอดออกมาได้ และเป็นคำว่าลาบานูน”

"สิ่งที่วงการเพลงยุคใหม่ไม่มี คือ การเป็นฮีโร่ในดวงใจคนฟัง" เปิดประสบการณ์ 20 ปี ลาบานูน

“สู้-อย่าท้อ” สูตรความสำเร็จศิลปินรุ่นใหม่

อนันต์ แนะนำเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นศิลปินว่า ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด แต่ไม่ใช่ต้านกระแส ทำสิ่งที่อยากเสนอออกมาให้เต็มที่ แม้ตอนแรกไม่มีใครเข้าใจ แต่เชื่อว่าวันหนึ่งเมื่อมีคนเข้าใจเพียงหนึ่งคน จะทำให้เขารักเราเป็นสิบๆปี 

“บางเรื่องระยะทางอาจไม่เกี่ยวกับเวลาที่จะสำเร็จ เพราะทุกอย่างมีเวลาของมัน เหมือนวงที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องใช้เวลา อะไรที่ได้มาง่าย มันก็จากไปง่ายๆ แต่อะไรที่ได้มายากก็จะอยู่กับเรานาน”

“ความล้มเหลวคือความสำเร็จ คุณจะไม่ได้เจอความสำเร็จเลย ถ้าหากไม่เคยเจอความล้มเหลว”

เสริมว่า การที่แต่ละวงจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีเรื่องราวการต่อสู้เพื่อให้มีเรื่องได้จดจำ หากดังเลยอาจสำเร็จเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว การยืนระยะยาวต้องมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีกหลายอย่าง

ณัฐนนท์ แนะนำศิลปินรุ่นใหม่ว่า ควรทำในสิ่งที่ชอบ และถ้าหาความชอบเจอควรทำให้เต็มที่แล้วมันจะออกมาดี แต่ถ้าทำตามกระแสในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ บางครั้งอาจทำไม่ดีก็เป็นได้ “เพลงเราอาจไม่มีคนชอบ ก็ไม่เป็นไร ขอให้เชื่อและทำไปเรื่อยๆ คงมีซักวันที่เป็นของเรา เพียงแต่ว่าอย่าท้อ”

“ทุกวันมีวินาทีให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลา ปีหน้าไม่รู้ว่าเราจะเจออะไร แต่ขอให้พร้อมเปิดใจรับไม่ว่าดีหรือเลว เพราะวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกได้” เมธีบอกถึงอนาคตของลาบานูน

"สิ่งที่วงการเพลงยุคใหม่ไม่มี คือ การเป็นฮีโร่ในดวงใจคนฟัง" เปิดประสบการณ์ 20 ปี ลาบานูน

"สิ่งที่วงการเพลงยุคใหม่ไม่มี คือ การเป็นฮีโร่ในดวงใจคนฟัง" เปิดประสบการณ์ 20 ปี ลาบานูน