posttoday

จำคุกทายาท‘ซัมซุง’ กรุยทางปฏิรูปแชโบล

26 สิงหาคม 2560

ซัมซุง กรุ๊ป หนึ่งในกลุ่มธุรกิจครอบครัว (แชโบล) ของเกาหลีใต้ เผชิญกับมรสุมระลอกใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะบั่นทอนภาพลักษณ์และกลยุทธ์การดำเนินงานระยะยาวของบริษัท

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ซัมซุง กรุ๊ป หนึ่งในกลุ่มธุรกิจครอบครัว (แชโบล) ของเกาหลีใต้ เผชิญกับมรสุมระลอกใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะบั่นทอนภาพลักษณ์และกลยุทธ์การดำเนินงานระยะยาวของบริษัท เมื่อศาลแขวงกลางกรุงโซล ตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี อีแจยอง รองประธานบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และทายาทสายตรงรุ่นที่ 3 ของประธาน ซัมซุง กรุ๊ป จากความผิดกรณีรับสินบน ให้การเท็จ และยักยอกเงิน พัวพันกับอดีตประธานาธิบดี ปาร์กกึนเฮ ที่ถูกถอดถอนไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ศาลเกาหลีใต้ประกาศคำตัดสินโทษอีแจยอง หลังคดีดังกล่าว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคดีอื้อฉาวที่สุดแห่งศตวรรษของประเทศ เปิดฉากขึ้นเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว โดยศาลระบุว่า พบหลักฐานมากพอที่จะยืนยันข้อกล่าวหาของอัยการว่า อีแจยอง จ่ายสินบน 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 213 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิ 2 แห่ง ในเยอรมนีของชเวซุนซิล คนสนิทปาร์กกึนเฮ เพื่อให้ช่วยควบรวมกิจการภายในของซัมซุงเมื่อปี 2015 ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งบริหารของอีแจยอง

ทายาทซัมซุงยังมีความผิดฐานปกปิดสินทรัพย์ในต่างประเทศและให้การเท็จ โดยนอกจากอีแจยองแล้ว ผู้บริหารระดับสูง 2 รายของซัมซุง คือ ชเวจีซอง อดีตผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์องค์กร ซึ่งคอยให้คำแนะนำอีแจยองมาโดยตลอด และชางชุงกี อดีตประธานซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ถูกลงโทษจำคุก 4 ปี  

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า หากศาลตัดสินลงโทษอีแจยอง ซัมซุงเสี่ยงเผชิญภาวะสุญญากาศภายในบริษัท เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรวมศูนย์การตัดสินใจสำคัญและวางกลยุทธ์บริษัท ทำให้การดำเนินงานต้องแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ตามการตัดสินใจของบอร์ดบริษัทในเครือ

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า การปรับเปลี่ยนตำแหน่งบริหารระดับสูง โดยโยกย้าย อีบูจิน น้องสาวของอีแจยอง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารธุรกิจโรงแรม ชิลลาโฮเทล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนพี่ชายนั้น ไม่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารธุรกิจต่างๆ ในเครือของซัมซุงไว้เรียบร้อยแล้ว ด้านคนวงในอีกรายของซัมซุง เปิดเผยว่า อีบูจิน ยังไม่มีพันธมิตรและอำนาจในบริษัทมากพอที่จะขึ้นมาบริหารซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์

จับตาอนาคต “แชโบล”

ทนายความของอีแจยอง เปิดเผยว่า จะเตรียมยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวต่อศาลสูงเกาหลีใต้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าคดีดังกล่าวอาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2018 อย่างไรก็ดี การตัดสินจำคุกอีแจยอง ซึ่งเป็นผู้บริหารแชโบลรายแรกที่ถูกลงโทษจำคุก จะเปิดทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในการคุมเข้มการกำกับดูแลแชโบล ตามที่ประธานาธิบดี มุนแจอิน เคยให้คำมั่นไว้เมื่อครั้งชนะเลือกตั้งเดือน พ.ค.

แม้กลุ่มแชโบลจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้มาโดยตลอด แต่อำนาจและเครือข่ายธุรกิจของแชโบลที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของขนาดเศรษฐกิจ สกัดการเติบโตของบรรดาธุรกิจรายย่อย อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารแชโบลหลายแห่งมีส่วนพัวพันในคดีคอร์รัปชั่น แต่กลับได้รับการยกเว้นโทษหรือได้รับโทษสถานเบาเท่านั้น

“ผู้บริหารแชโบลได้รับโทษเหมือนกันทุกครั้ง และมีแม้กระทั่งกฏหมาย 3-5 ซึ่งหมายถึงตัดสินลงโทษ 3 ปี และคุมประพฤติ 5 ปี” ปาร์กซังอิน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าว พร้อมเสริมว่า หากอีแจยองได้รับโทษสถานหนัก จะถือเป็นการเปิดทางทำลายแนวคิด “ใหญ่เกินจะล้มได้” ของแชโบล  

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2008 อีคุนฮี พ่อของอีแจยองและประธานซัมซุง กรุ๊ป ได้รับโทษจำคุก 3 ปีโดยรอลงอาญา และถูกปรับ 1.1 แสนล้านวอน (ราว 3,252 ล้านบาท) ฐานยักยอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี แต่อีคุนฮีกลับได้รับยกเว้นโทษดังกล่าวในปี 2009

ทั้งนี้ อีคุนฮีไม่ใช่ผู้บริหารแชโบลรายเดียวที่ได้รับการยกเว้นโทษ โดยในอดีตนั้น ประธานแชโบล 5 ราย ประกอบด้วย ชองมงกู ประธานฮุนไดมอเตอร์ กรุ๊ป เชแทวอน ประธานเอสเค กรุ๊ป อีเจฮยอน ประธานซีเจ กรุ๊ปคิมซึงยอน ประธานฮันฮวา กรุ๊ป และคิมอูจอง อดีตประธานแดวู กรุ๊ป ได้รับการยกเว้นโทษจากประธานาธิบดีในคดียักยอกเงิน หลบเลี่ยงภาษี และละเมิดความผิดทางการเงินอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

“คำตัดสินอีแจยองจะเป็นการส่งสัญญาณให้บรรดาแชโบลต้องพึ่งพาทีมนักบริหารมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เพราะในอนาคต รัฐบาลอาจไม่ชอบใจระบบบริหารงานเองภายในครอบครัวมากนัก จากการที่แชโบลยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่” แฮงก์ มอร์ริส ที่ปรึกษาฝ่ายเอเชียของบริษัทการลงทุน อาร์เจนทาเรียส กล่าว