posttoday

หนังไทยบุกตลาดจีน

22 กรกฎาคม 2560

ใน "งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ณ นครเซี่ยงไฮ้" ของจีน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และมูลนิธิไทย

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์ / พริบพันดาว

ใน "งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ณ นครเซี่ยงไฮ้" ของจีน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และมูลนิธิไทย พร้อมด้วยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ร่วมมือกันพาภาพยนตร์ไทยเข้าไปฉายเพื่อเปิดตลาดในประเทศจีน โดยใช้โอกาสของ "งานเทศกาล" ที่ปราศจากการจำกัดโควตาภาพยนตร์ต่างชาติเหมือนยามปกติ ให้เข้าไปฉายภาพยนตร์ไทยให้ชาวจีนได้

เทศกาลภาพยนตร์จึงเป็น "โอกาสทอง" ที่ไทยจะผลักดันภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดขนาดใหญ่ที่เป็นที่หมายมั่นของทั่วโลก ซึ่งจีนจำกัดโควตาภาพยนตร์ต่างชาติเอาไว้ปีละราว 38 เรื่องเท่านั้น

การผลักดันภาพยนตร์ไทยให้สู่ตลาดต่างประเทศในปี 2017 นี้ นับเป็นความพยายามปีที่ 7 ของหน่วยงานต่างๆ โดยจำนวนภาพยนตร์และจำนวนรอบที่ฉายในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 18 รอบ เป็น 27 รอบ จากภาพยนตร์ทั้งหมด 8 เรื่อง ในปีนี้ซึ่งฉายตลอดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival (SIFF2017))ครั้งที่ 20 กลายเป็นตัวเลขที่แสดงถึงพัฒนาการด้านความนิยมของภาพยนตร์ไทย

หนังไทยบุกตลาดจีน

สถานการณ์ล่าสุด ภาพยนตร์ไทยในตลาดจีน

"การที่เราเอาภาพยนตร์ไทยเข้ามาอยู่ในมิติต่างประเทศ จะเป็นฟีดแบ็กกลับไปยังตัวผู้สร้าง ให้เขาได้พัฒนาตัวเองให้เทียบได้กับสากล" ธีรเทพ พรหมวงศานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิไทย กล่าว

สำหรับปีนี้ "พรจากฟ้า" ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นตัวชูโรงที่สำคัญ และยังใช้เป็นภาพยนตร์ฉายเปิดงานสัปดาห์ภาพยนตร์ไทยอีกด้วย โดย เกรียงไกร วชิรธรรม หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์พรจากฟ้า เปิดเผยว่า การได้เข้ามาฉายในต่างประเทศนับเป็นโอกาสในการได้รู้ฟีดแบ็กจากคนดู โดยเฉพาะการได้เห็นคนดูสามารถเข้าใจอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์

ภายในงานดังกล่าว มีส่วนจัดงานกิจกรรมตลาดภาพยนตร์ (Film Market) เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจจากไทยและเทศได้มาพบปะกันเพื่อโอกาสในการร่วมงานในอนาคต บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ เปิดเผยว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมไทย เช่น ภาพยนตร์ไทยนั้น เป็นหนึ่งในความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม อาทิ อาหารไทยและการท่องเที่ยว

ไม่ใช่เพียงแค่จีนเท่านั้น อธิบดีกรมสารนิเทศ เปิดเผยอีกด้วยว่า โครงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไปในต่างประเทศนอกเหนือจากจีน ซึ่งปีนี้ได้ส่งเสริมเข้าไปในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

"อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพ และความนิยมชมชอบในดาราหนังไทยก็มีมากขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็จะดำเนินการหลายด้าน รวมถึงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ" บุษฎี กล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงวัฒนธรรมรวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงาน พบว่าในปี 2558 รายได้จากการส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยมาจากการจัดงานทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงดึงต่างชาติให้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย

หนังไทยบุกตลาดจีน

อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนที่ประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ไม่ได้เป็นที่หมายตาแค่เพียงไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกต่างก็ต้องการบุกตลาดจีนเช่นกัน ปาริฉัตร ลือไพบูลย์พันธุ์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า สำหรับการบุกเจาะตลาดจีนไทยยังคงเผชิญอุปสรรคในด้านภาษา จึงเสียเปรียบภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาจีนจากฮ่องกง

"แต่ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ และงานนี้จะเป็นก้าวแรกที่ภาพยนตร์ไทยจะได้เข้ามา" ปาริฉัตร แสดงความเห็น

พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ รองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เล่าว่า ภาพยนตร์ไทยเคยถึงจุดสูงสุดเมื่อประมาณปี 2003-2004 ที่ภาพยนตร์ไทยได้เป็นที่รู้จักของต่างชาติ อาทิ นางนาก (1999) ชัตเตอร์ (2004) องค์บาก (2003) เป็นต้น โดยในช่วงนั้นเพียงแค่ภาพยนตร์ตัวอย่างและโปสเตอร์ก็สามารถขายภาพยนตร์ไปฉายได้แล้ว

แต่หลังจากนั้นภาพยนตร์ไทยกลับไม่สามารถทำได้มาตรฐานตามความคาดหวังของผู้ซื้อต่างชาติ ในขณะที่ภาพยนตร์ที่ผู้ซื้อต่างชาติต้องการกลับไม่สามารถสร้างเสร็จได้ในเวลาอันสั้น เช่น ภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย จา พนม หรือภาพยนตร์จากปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับชื่อดัง ซึ่งใช้เวลา 2-3 ปีในการออกภาพยนตร์ จึงปราศจากความต่อเนื่อง

พันธุ์ธัมม์ ระบุว่า ความต่อเนื่องที่หายไปเป็นเพราะการขาดแรงผลักดันจากภาครัฐที่จะวางแผนระยะยาว 5-10 ปี จากภาครัฐ เนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความเสี่ยงสูงมาก และประเทศที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์รุ่งเรืองได้ ก็เป็นประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น จีน

"ศักยภาพภาพยนตร์ไทยที่จะเปิดตลาดต่างประเทศ ในฐานะคนทำภาพยนตร์มองว่าสถานการณ์ภาพยนตร์ทั่วโลกเลวร้ายทั้งหมด เพราะฮอลลีวู้ดโจมตี และยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉพาะดิจิทัล และทำให้การค้าขายภาพยนตร์ยาก"  พันธุ์ธัมม์ ลงลึกในรายละเอียด

ในยุคดิจิทัลหลายฝ่ายยังมองช่องทางการฉายที่เกิดขึ้นมากลายเป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในจีนที่มีผู้รับชมภาพยนตร์และละครผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้่น ขณะที่ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเริ่มนำภาพยนตร์ของตัวเองขึ้นมาออกฉาย เช่น เน็ตฟลิกซ์ ที่ริเริ่มทำภาพยนตร์เป็นของตัวเองและฉายผ่านทั้งโรงภาพยนตร์และสตรีมมิ่งทางอินเทอร์เน็ต

พันธุ์ธัมม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้คนทำภาพยนตร์จะสามารถได้เงินมากขึ้นและเปิดโอกาสให้โปรดักชั่นได้ทำภาพยนตร์ในสเกลใหญ่ขึ้น รวมถึงเน็ตฟลิกซ์ยังให้ทุนในการทำภาพยนตร์ในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสในการเข้าถึงเทศกาลภาพยนตร์ได้มาก และกลายเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้รู้จักภาพยนตร์ไทยมากขึ้น แต่การฉายผ่านสตรีมมิ่งเป็นการขายขาดให้กับทางผู้ให้บริการ จึงไม่ได้เงินเพิ่มมากนัก

กระนั้นภาครัฐยังคงเป็นหัวหอกในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ก้าวไกลไประดับโลก และการดำเนินการที่ผ่านมาก็นับได้ว่าได้รับผลตอบรับที่ดี และรอคอยการต่อยอดสู่ "ก้าว" ต่อไป

หนังไทยบุกตลาดจีน

หนังไทยในเซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม 2017

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2017 (Shanghai International Film Festival-SIFF2017) ที่ผ่านพ้นไป มีหนังไทยมี 8 เรื่องที่ได้เข้าฉาย

1.“พรจากฟ้า” (A Gift)

2.“ทองดีฟันขาว” (Legend Of The Broken-Sword Hero)

3.“วานรคู่ฟัด” (Monkey Twins)

4.“มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ” (Mr.Hurt)

5.“แฟนเดย์” (One Day)

6.“20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น” (Suddenly Twenty)

7.“มือปราบสัมภเวสี” (The Lost Case)

8.“ถึงคน..ไม่คิดถึง” (From Bangkok to Mandalay)

ตลาดภาพยนตร์ในจีนรุ่งเรืองสุดๆ

นโยบายการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของทางการจีน เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจบริการ อาทิ การท่องเที่ยว การศึกษา การรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ และแหล่งบันเทิง เป็นต้น สถิติจากกระทรวงพาณิชย์จีนชี้ว่า ตลาดภาพยนตร์ของจีนทำรายได้ 35,540 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ยุคเฟื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจีน โดยเฉพาะโรงฉายภาพยนตร์ที่กำลังจะมีจำนวนโรงฉายแซงหน้าสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยตามเมืองใหญ่ๆ มีการสร้างโรงฉายภาพยนตร์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

หนังไทยบุกตลาดจีน

เมืองระดับอำเภอทั่วประเทศจีนมีโรงหนังราว 1,300 แห่ง จอฉายหนังทั้งสิ้น 4,500 จอ จำนวนเมืองระดับอำเภอที่มีโรงหนังมีสัดส่วนร้อยละ 35 และโรงหนังส่วนใหญ่เป็นโรงหนังดิจิทัลแบบทันสมัย การที่โรงหนังพัฒนาไปยังตลาดเมืองชั้นที่สองและสาม และความสนใจกับความเชื่อมั่นต่อหนังจีนของผู้ชมกลุ่มใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน

จากการรวบรวมสถิติเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ของจีนในปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่ายอดการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 17,073 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 30.18 ขึ้นแท่นตลาดผู้ชมภาพยนตร์อันดับ 2 ของโลก หนังตลกทุนต่ำของจีน “Lost in Thailand” ที่เริ่มต้นฉายเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 กวาดเงินไปได้ถึง 1,200 ล้านหยวน กลายเป็นหนังจีนที่ทำรายได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ตลาดภาพยนตร์จีนมีการทำลายสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขสถิติจากสำนักงานกลางบริหารกิจการข่าว สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์แห่งชาติจีน (SARFT) ชี้ว่า นับแต่ต้นปี 2556 ถึงวันที่ 12 พ.ค. 2556 รายได้ภาพยนตร์ทั่วประเทศจีนมีมากกว่า 8,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่าในยอดรายได้ดังกล่าว ส่วนแบ่งตลาดของหนังที่จีนสร้างขึ้นมาเองมีสัดส่วนถึงร้อยละ 63 เทียบกับร้อยละ 34 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว นอกจากนี้ตัวชี้วัดตลาดภาพยนตร์สำคัญ อาทิ รายได้ภาพยนตร์รายวัน จำนวนรอบการฉายภาพยนตร์ จำนวนผู้ชม รายได้ของหนังจีนในรอบปฐมทัศน์ ต่างถูกทำลายสถิติสูงสุดครั้งแล้วครั้งเล่า

เว็บไซต์ ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) รายงานว่า ในช่วงปี 2004-2010 ที่ผ่านมา รายได้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนเติบโตเฉลี่ยมากถึงปีละ 40% ซึ่งคาดว่าในปี 2017 จะมีขนาดใหญ่ถึง 3 แสนล้านบาท/ปี และกำลังจะมีขนาดใหญ่กว่าในอเมริกาแล้ว

การเติบโตที่สูงขนาดนี้ก็ทำให้ทั้งธุรกิจที่ผลิตและฉายภาพยนตร์ที่มาจากอเมริกาค่ายดังๆ อย่าง DreamWorks Animation (DWA) และ IMAX Corporation เข้ามาบุกตลาดจีนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเข้ามาเปิดตลาดเอง หรือการร่วมเป็นพันธมิตรในการสร้างภาพยนตร์ร่วมกัน โดยเฉพาะ Warner Brothers ที่ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริษัทเงินทุน China Media Capital เพื่อสร้างภาพยนตร์ในเมืองจีน

หนังไทยบุกตลาดจีน

แม้แต่บริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่างอาลีบาบาก็เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกันในชื่อบริษัท Alibaba Pictures Group (1060:HK) โดยอาลีบาบาจะนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตชั้นสูงและลงทุนในบริษัทที่สามารถใช้โมเดลธุรกิจอินเทอร์เน็ตมาใช้กับการผลิตและการนำเสนอสื่อภาพยนตร์แบบใหม่ให้กับลูกค้า

แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตภาพยนตร์ที่เข้าถึงวัฒนธรรมความชอบของคนจีน ซึ่งจะต้องเป็นที่ยอมรับของผู้ชมในอเมริกาด้วย เพราะภาพยนตร์จะเข้าฉายในทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังมีเรื่องความละเอียดอ่อนของเนื้อหาที่อาจมีความเสี่ยงถูกเซ็นเซอร์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจีนนั้นมีการพัฒนาและการทดลองนำโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่สร้างโดยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใช้มาก มีการนำการระดมทุนการสร้างภาพยนตร์จากมวลชน หรือ Crowdsourcing มาใช้ได้สำเร็จแล้ว และจะมีโมเดลแบบออนดีมานด์แบบเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ที่ดังมากในอเมริกาอีกด้วย จีนมีความก้าวหน้าเรื่องการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้ได้ดีกว่าในอเมริกาเสียอีก เพราะเรื่องของลิขสิทธิ์ในอเมริกานั้นจำกัดเรื่องนี้ลงมาก

3 บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตอย่าง Alibaba Tencent และ Baidu ย่อมไม่พลาดโอกาสตรงนี้ ทุกบริษัทต่างเร่งลงทุนในเทคโนโลยีวิดีโอออนไลน์และใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กระจายคอนเทนต์ที่ดีในวงการภาพยนตร์เข้าเชื่อมต่อกับลูกค้าของบริษัท ซึ่งหากรวมลูกค้าของบริษัทในช่องทางต่างๆ ทั้ง Website, Instant Messaging App, Social Networking Platform หรือ Search Engine แล้วละก็ มีคนตามสูงเป็นพันล้านคนเลยทีเดียว

ทางด้านเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจีนถือว่าใหญ่มากและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอาเซียน ระบุว่า ในปี 2015 ภาพยนตร์จีนสร้างรายได้จากการทำภาพยนตร์มากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าเกือบ 70%

ซางปู้ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีน ซึ่งทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์จีนมานานถึง 20 ปี กล่าวว่า อุตสาหกรรมหนังจีนกำลังจะไปสู่ระดับโลก

ดาเลียน แวนดา กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และความบันเทิง ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เลเจนเดรี พิกเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้เงินทุนหนังในฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์อย่างเช่น จูราสสิก เวิลด์ โดยการซื้อหุ้นครั้งนี้ทำให้แวนดา กรุ๊ป เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารด้วย

หวางเจี้ยนหลิน ประธานบริษัท แวนดา กรุ๊ป ประกาศว่า ดีลดังกล่าวมีมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ และการเข้าไปมีส่วนบริหารนี้จะเปิดทางให้ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์จีนได้เผยแพร่งานสู่ผู้ชมนานาชาติมากขึ้น

นอกจากนี้ แวนด้า กรุ๊ป ยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์เอเอ็มซี เชนโรงหนังที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ ซึ่งคอนเนกชั่นทางธุรกิจนี้จะช่วยให้ภาพยนตร์จีนได้ออกไปสู่ผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งจำกัดจำนวนภาพยนตร์ต่างประเทศที่นำมาฉายในจีนเป็นรายปี โดยภาพยนตร์ต่างประเทศเหล่านี้สร้างรายได้ประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 และมีเพียง 3 เรื่องที่ติดอันดับท็อปเทนคือเรื่อง Fast and Furious 7, Avengers : Age of Ultron และ Jurassic World

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ เปิดประตูสู่ตลาดจีน

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีโอกาสสัมผัสกับภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 1896 จากนั้นอีก 120 ปี ภาพยนตร์ก็มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมและเป็นกลาง สื่อที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น (สังเกตได้จากรายชื่อภาพยนตร์จีนที่มีชื่อติดบ็อกซ์ออฟฟิศมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนนักลงทุนทั้งหลายแห่กันมาลงทุนในตลาดนี้)

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival (SIFF)) ก็ถือเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่ไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยส่งเสริมภาพยนตร์ในประเทศและในเอเชียให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่ยังถือเป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศิลปะผ่านทางภาพยนตร์ในระดับนานาชาติด้วย

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์เดียวในจีนที่ได้รับการรับรองโดยสถาบัน FIAPF จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1993 และในปี 2017 ถือเป็นครั้งที่ 20 ภายในงานมีการมอบรางวัล Golden Goblet ให้กับภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ที่น่าจับตาจากเอเชีย

โดยในปีนี้ คริสเตียน มันกิว ผู้กำกับการแสดงชื่อดังชาวโรมาเนีย ซึ่งเคยได้รับรางวัลปาล์มดอร์จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล Golden Goblet และยังได้ หวังเสียวชวย ผู้กำกับการแสดงชาวจีน มาทำหน้าที่ประธานตัดสินรางวัล Asia New Talent Award

สำหรับปี 2017 ทีมงานลอฟฟีเซียลและ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ในฐานะแอมบาสซาเดอร์ ได้รับเชิญจากทางเจเกอร์-เลอกูลทร์ ให้ไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ ในครั้งนี้ด้วย รวมถึงดาราไทยอย่าง มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ รวมถึงนักมวยที่มารับเล่นภาพยนตร์ในแบบเฉพาะกิจ บัวขาว บัญชาเมฆ

ข้อมูลที่จัดทำในปี 2559 โดย ศิวิมล มโนภานนท์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้สะท้อนภาพถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้ กับโอกาสของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าเห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลก ภายในงานยังได้จัดพื้นที่พิเศษเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” และมีการจัดสัมมนา “One Belt, One Road-World Cinema” โดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนให้จีนและต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์ร่วมกัน พร้อมกับส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ วัฒนธรรม และอื่นๆ ระหว่างกัน ถือว่างานนี้จีนวางกลยุทธ์ได้ยอดเยี่ยมและเฉียบคม

งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้เป็นเวทีในการเจรจาธุรกิจภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของจีน เพราะเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับ A เทศกาลเดียวในประเทศจีน จึงมีการรวบรวมบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั้งในจีนและต่างชาติที่สำคัญจำนวนมากไว้ในงานตลาดภาพยนตร์ ทำให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสพบปะเจรจาหาโอกาสทางธุรกิจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการชาติอื่น รวมถึงเป็นช่องทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ไทยให้แก่ผู้เข้าชมงาน และผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากการที่ BIC Shanghai ได้สอบถามและพูดคุยกับทางผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยพบว่าผู้ประกอบการจีนส่วนใหญ่สนใจที่จะร่วมทุนและสนใจมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย การที่ประเทศไทยมีโลเกชั่นที่สวยงามหลากหลาย มีสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากรในการถ่ายทำที่มีคุณภาพระดับโลก จึงทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในการถ่ายทำภาพยนตร์ของชาวจีนและนานาชาติ

หากดูจากสถิติของกรมการท่องเที่ยวก็จะยิ่งเห็นชัดว่า มีภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้สะพัดให้แก่ประเทศในแต่ละปีอย่างมหาศาล นอกจากนี้ ตามที่ไทยมีนโยบายจะให้สิทธิพิเศษคืนเงินทุน (Cash Rebate) สำหรับภาพยนตร์ที่สร้างหรือทำ Post Production ในประเทศไทย คาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์และ Post Production ในประเทศไทย ด้วยการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เลือกใช้ไทยเป็นโลเกชั่นในการถ่ายทำภาพยนตร์มากขึ้นอย่างแน่นอน

ในส่วนของแนวภาพยนตร์ไทยที่เป็นที่นิยมและโดนใจชาวจีนก็คือ ภาพยนตร์สยองขวัญ เนื่องจากไทยมีความเชี่ยวชาญในการสร้างภาพยนตร์แนวนี้เป็นพิเศษ จึงทำให้ผลงานที่ออกมาค่อนข้างแปลกใหม่และฉีกแนวจากหนังสยองขวัญทั่วไป สำหรับภาพยนตร์รักโรแมนติกก็ฮิตไม่แพ้กัน ด้วยรูปร่างหน้าตาของนักแสดงที่หล่อและสวย บวกกับฝีไม้ลายมือในการแสดงที่ยอดเยี่ยม ส่งผลให้ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของชาวจีนไปโดยปริยาย

แม้ว่าภาพยนตร์ไทยและต่างชาติจะถูกจำกัดการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์จีน ด้วยระบบโควตา ให้ฉายได้เพียงปีละ 38 เรื่อง แต่นี่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยออกสู่สายตาชาวจีน เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย การจะขยายฐานผู้ชมจึงไม่ใช่เรื่องยาก หากผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ได้ก็จะเป็นการโปรโมทและเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยในตลาดขนาดมหึมา

นอกจากนี้ การขายลิขสิทธิ์ให้กับเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การเสนอรับทำเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ ฯลฯ ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็เป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดได้เช่นกัน เห็นอย่างนี้แล้วก็ควรเร่งผลักดันหาวิธีพาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้พัฒนาไกลไประดับอินเตอร์ และหากจับตลาดจีนได้ รับรองจะมีรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล