posttoday

โฮมสเตย์พลังนํ้า นวัตกรรม ‘บ้านคีรีวง’

09 เมษายน 2560

หากเอ่ยถึง “ไฟฟ้าพลังน้ำ” ก็อาจนึกถึงภาพเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่กั้นกลางแม่น้ำ แต่สำหรับชาวบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช

โดย...นุชจรี แรกรุ่น

หากเอ่ยถึง “ไฟฟ้าพลังน้ำ” ก็อาจนึกถึงภาพเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่กั้นกลางแม่น้ำ แต่สำหรับชาวบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนกลางหุบเขา ซึ่งได้ชื่อว่า “หมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย” พวกเขาผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่รบกวนระบบธรรมชาติ โดยผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำใช้ภายในโฮมสเตย์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ ผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีมลพิษทำลายระบบนิเวศ

พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มกังหันน้ำคีรีวง 59

ณรงค์ เอียดสุวรรณ เจ้าของโฮมสเตย์สวนเปี่ยมสุข ตั้งอยู่กลางหุบเขาคีรีวง บอกว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของชาวคีรีวง เป็นการต่อท่อพีวีซีขนาด 1 นิ้ว จากน้ำตกแหล่งต้นน้ำบนภูเขาระดับความสูงประมาณ 50 เมตร โดยน้ำจากน้ำตกจะผ่านมายังท่อเข้าสู่เจนเนอเรเตอร์ขนาด 300 วัตต์ ผลิตกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ ซึ่งสามารถเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผ่านสายไฟฟ้านำไปใช้ในครัวเรือนและโฮมสเตย์ ทั้งไฟฟ้าแสงสว่าง หม้อหุงข้าว เปิดโทรทัศน์ รวมทั้งต้มน้ำด้วยกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ

สวนเปี่ยมสุขคีรีวง ของณรงค์ จัดเป็นโฮมสเตย์ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ผลิตขึ้นเองของกลุ่มวิสาหกิจกังหันน้ำคีรีวง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ ซึ่งได้จัดที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว มีกระท่อมเล็กๆ และสถานที่ตั้งเต็นท์ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวคีรีวงที่ผลิตไฟฟ้ามาใช้ในโฮมสเตย์ได้อย่างลงตัว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และไม่มีมลพิษ เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลธรรมชาติ

โฮมสเตย์พลังนํ้า นวัตกรรม ‘บ้านคีรีวง’

วิรัตน์ ตรีโชติ เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจกังหันน้ำคีรีวง บอกว่า การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำของชาวคีรีวง ชุมชนได้เรียนรู้ปฏิบัติจริง มีนักวิชาการเข้ามาให้คำแนะนำโครงการกังหันน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถตอบโจทย์ชาวคีรีวงได้ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจกังหันน้ำคีรีวงจำนวน 83 ราย และยังมีผู้สนใจอีก 30 ราย สมัครเข้าร่วมโครงการ และได้ขยายผลเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงต่อไปด้วย

การขยายผลจากชุมชนคีรีวงไปยังชุมชนอื่นๆ นั้น ได้รับการส่งเสริมอย่างดีจากภาครัฐ สุรเชษฐ์ หรดี พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ชาวชุมชนคีรีวงมีความตื่นตัวนำพลังงานน้ำมาใช้ประโยชน์ ทำให้มีไฟฟ้าใช้ ช่วยลดค่าไฟฟ้า เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน มีชุมชนจากหลายจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและสร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชน ช่วยลดรายจ่าย พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้พร้อมๆ กัน

ด้าน ฉัตรชัย คุณโลหิต หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศและประเมินผลยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน ในฐานะที่ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและข้อมูลวิชาการในการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังน้ำของชุมชนคีรีวง ก็บอกว่า กระทรวงพลังงานโดยกองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน เก็บเงินภาษีจากการใช้น้ำมัน นำมาสนับสนุนชุมชน ภาคอุตสาหกรรม SME และส่วนราชการ ดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ เริ่มจากชุมชนดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน เช่น ที่บ้านคีรีวงบางจุดที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

“ได้มีการคิดค้นนำพลังงานน้ำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเอง กองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานให้การสนับสนุน 60% จัดทำโครงการ และชุมชนออก 40% รวมแล้วใช้งบจัดทำกว่า 3.8 ล้านบาท ทำให้ชุมชน 83 ครัวเรือน สามารถคืนทุนภายในเวลา 7-8 ปี เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและสร้างความภูมิใจให้กับชุมชน สอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน”

ความสำเร็จของชุมชนคีรีวงน่าจะเป็นตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจน ว่า พลังงานทดแทนในชุมชนนั้น สามารถเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่เรากำลังกังวล 

โฮมสเตย์พลังนํ้า นวัตกรรม ‘บ้านคีรีวง’