posttoday

ครอบครัวยังเขียวสด ในวันที่หุ่นโจหลุยส์ไร้เวที

31 สิงหาคม 2553

ปิดฉากลงแล้ว จากนี้ไม่มีโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) อีกต่อไป

ปิดฉากลงแล้ว จากนี้ไม่มีโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) อีกต่อไป

โดย....อินทรชัย พาณิชกุล

 

ครอบครัวยังเขียวสด ในวันที่หุ่นโจหลุยส์ไร้เวที

สิ้นเสียงปรบมือดังกึกก้องยาวนาน ทุกคนต่างอาลัยอาวรณ์กับการโบกมืออำลาอย่างถาวรของทีมงานคณะหุ่นเล็กโจหลุยส์

กว่า 8 ปีที่หุ่นละครตัวเล็กเหล่านี้ร่ายรำบอกเล่าเรื่องราวคล้ายมีชีวิต ท่ามกลางเสียงดนตรีปี่พาทย์โหมบรรเลง แสง สี เสียง ยิ่งใหญ่ตระการตา ณ โรงละครนาฏยศาลา สวนลุมไนท์บาซาร์ ใจกลางกรุง บัดนี้กลายเป็นเพียงตำนานที่จะฝังแน่นลึกลงในความทรงจำ

คงไม่มีใครโศกเศร้ามากเท่าสมาชิกครอบครัว ยังเขียวสด ทายาทรุ่นปัจจุบันผู้สืบทอดวิชามาจากบรมครูโจหลุยส์ หรือนายสาคร ยังเขียวสดผู้ก่อตั้งคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงหุ่นละครเล็ก ปี 2539

“ถ้าพ่อยังอยู่และได้มาเจอกับวิกฤตครั้งนี้ ที่คณะหุ่นของเราไม่มีโรงละครให้แสดง ผมว่าทุกอย่างก็คงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะท่านเป็นศิลปินร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ท่านจะฟังความเห็นลูกๆ ทุกคนว่าจะเอายังไง โลกของท่านสวยงามมาก คิดแค่การแสดงคิดแต่เรื่องศิลปะ ไม่มีเรื่องเงินๆ ทองๆ อะไรทั้งนั้น” พิสูตร ยังเขียวสด กรรมการผู้จัดการนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก บุตรชายคนที่ 5 จากทั้งหมด 9 คน ของครูโจหลุยส์ เผยความในใจ

อดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สมาชิกเริ่มต้นของคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ล้วนมาจากคนในครอบครัวทั้งสิ้น โดยเป็นลูกๆ ทั้ง 9 นั่นเอง ซึ่งไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องการเชิดหุ่นเลย แต่ครูสาครก็ได้ฝึกสอนและให้คำแนะนำจนกลายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมีชื่อเสียงของคณะได้เหมือนอย่างวันนี้

“พวกเราโตมากับศิลปะโขน ละคร ลิเก ดนตรีไทย พ่อสอนลูกทุกคนตั้งแต่ยังตัวเท่าเอว” พิสูตร หัวเราะแช่มชื่นทุกครั้งที่ได้เล่าความหลัง ขณะเดียวกัน สุรินทร์ ผู้เป็นน้องชายและสมาชิกคนที่ 6 ของครอบครัว บอกด้วยสีหน้าเข็ดขยาดว่าครูโจหลุยส์ผู้เป็นพ่อนั้นดุมาก

“พ่อดุมาก (เน้นเสียง) ตอนเด็กๆ นี่เคี่ยวเข็ญหนัก โอ้โห ตียับเลย ตีด้วยหางกระเบนแหลมๆ ยาวๆ ที่เป็นหนามน่ะ ฟาดลงมาแล้วตวัด อืมหืมเลือดกระจาย (ทำหน้าสยดสยอง) บางครั้งจับลูกผูกเชือกบนขื่อเหมือนทาสเลย หนีเรียนใช่ไหม เกเร ไม่ซ้อมใช่ไหม ฟาดเพี้ยะ โดนทุกคนถ้วนหน้าไม่มีเว้น”

แต่สำหรับพิสูตรกลับเห็นต่างไปอีกทาง “วิธีของพ่อผมถือว่าเจ๋ง สมัยเด็กยังไม่รู้เดียงสา เลยโดนคุมเข้ม ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ผมว่าพ่อทำถูกแล้ว มันช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พอเริ่มโตแล้ว ท่านให้เลือกเอง ปล่อย ไม่อะไรทั้งสิ้น แต่ท่านก็ทำให้ดู พ่อไม่เคยใช้ลูก แต่จะสอนลูก ปลูกฝังลูกให้ค่อยๆ ซึมซับโดยการลงมือทำให้เห็น จนลูกๆ ต้องมาช่วยพ่อทำ นี่คือวิธีของท่านที่ทำให้เราทุกคนรักและทำมาจนถึงทุกวันนี้ได้”

 

ทั้งคู่บอกเล่าว่า บ้านหลังแรกอยู่ที่ชุมชนสะพานไม้ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสลัมแออัด ละแวกนั้นเต็มไปด้วยดงนักเลง บ่อนพนัน และยาเสพติด ถึงอย่างนั้นก็มิได้ดึงดูดให้สมาชิกในครอบครัวเข้าไปติดในวังวนอบายมุขแต่อย่างใด นั่นก็เป็นเพราะการปลูกฝังเลี้ยงดูอย่างไม่ขาดตกบกพร่องของบุพการี

“คนส่วนใหญ่ก็อยากจะเข้ามาเที่ยวเล่นบ้านเรานะ พวกที่ดูท่าทางนักเลงๆ หลายคนก็เข้ามาหัดเรียนโขนบ้านเรา พ่อเป็นคนชอบสอนเด็กๆ สลัมให้มีวิชาความรู้เรื่องศิลปะ เขาบอกว่าจะได้ไม่ต้องไปติดยา ไปตีกัน เด็กๆ บ้านเราจะไม่โดนรังแกเลย(หัวเราะ) เพราะพวกนักเลงใหญ่ที่เขามาเรียนโขนก็จะดูแลเรา เพื่อนทุกคนชอบมาเที่ยวบ้านเรามาก”

ยุคนั้นครอบครัวยังเขียวสดยังหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเล่นโขน เล่นลิเก ตามงานศพและงานต่างๆ ตามแต่จะว่าจ้าง ยามว่างก็รับทำหัวโขน เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ในการแสดง รวมทั้งฝึกซ้อมนาฏศิลป์ให้ลูกๆ จนในที่สุดหลังจากได้รับมรดกซึ่งเป็นหุ่นเล็กมาจาก ครูแกร ศัพทวนิช ผู้เป็นอาจารย์ มาครอบครอง ครูโจหลุยส์ก็เริ่มผ่องถ่ายวิชาความรู้ในการเชิดหุ่นให้แก่ลูกๆ

ครอบครัวยังเขียวสด ในวันที่หุ่นโจหลุยส์ไร้เวที

ปี 2528 คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เปิดแสดงขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้คนที่ตื่นตาตื่นใจทะลักเข้ามาชมอย่างท่วมท้น ด้วยความงดงามอ่อนช้อยของหนึ่งหุ่นต่อสามนักเชิด คล้ายมีชีวิตโลดแล่นอยู่บนเวที สะกดทุกความเคลื่อนไหวให้ตะลึงงัน ทั้งหมดมีส่วนสำคัญมาจากฝีไม้ลายมือของนักเชิดรุ่นใหม่ที่ขัดเกลาโดยบรมครูหุ่นละครเล็กคนสุดท้ายแห่งยุค ทำให้ชื่อเสียงของคณะเล็กๆ นี้ เริ่มขจรขจายไปทั่วประเทศ

“ถือเป็นโชคดีของพวกเรา พี่น้องที่มีสายเลือดศิลปินเข้มข้น ทุกคนมีพรสวรรค์แตกต่างกันออกไป พี่สาวคนโตจะเก่งเรื่องออกแบบเครื่องประดับ พี่ชายคนรองเก่งเรื่องดนตรีไทย คนที่ 3 และ 4 จะเก่งเรื่องการพากย์ การร้อง เจรจา คนที่ 6 เก่งสารพัดอย่างเลย และเป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านนี้ที่สุดในบรรดาพี่น้อง คนที่ 7 สุรินทร์เขาจะเก่งเรื่องโปรดักชัน ฉาก แสงสี เสียง คนที่ 8 จะเก่งเรื่องโครงสร้างหุ่น สรีระหุ่น คนสุดท้ายจะเก่งเรื่องคอสตูม เสื้อผ้าการแต่งกาย ทั้งหมดเลยลงตัวพอดี”

“ผมเป็นลูกชายคนที่ 5 แต่กลับไม่ได้มีพรสวรรค์โดดเด่นในทางใดทางหนึ่งเลย แถมยังกลับชอบเพลงฝรั่ง เล่นกีตาร์โซโล ฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอล ทุกคนไม่เชื่อว่าผมจะมายืนตรงจุดนี้ได้ ตอนผมหนุ่มๆ จะค่อนข้างหัวรุนแรง อันธพาล พี่น้องผมคิดว่าจะไปเป็นกุ๊ยแล้ว ท้ายที่สุดเมื่อเตะบอลไม่รุ่ง ทำเพลงก็ไม่ได้เป็นศิลปินอย่างที่ฝัน เลยตัดสินใจกลับบ้าน” พิสูตร ซึ่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัว พูดถึงเส้นทางชีวิตอันผันผวนของเขาให้ฟัง

กว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้คนเหมือนอย่างวันนี้ คณะละครหุ่นเล็กโจหลุยส์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน พานพบทั้งความสำเร็จมีชื่อเสียง ประสบความล้มเหลวขาดทุนเจ๊งไม่เป็นท่า มีโรงละครแห่งแรกเป็นของตัวเอง ซึ่งต่อมาโดนเพลิงไหม้วอดวาย ก่อนจะรวบรวมกำลังใจฮึดสู้อีกครั้ง จนได้มาตั้งโรงละครแห่งใหม่ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ใช้ชื่อว่าโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และได้รางวัลแชมป์หุ่นโลกจากสาธารณรัฐเช็กอันถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุด

รวมระยะเวลากว่า 8 ปีเต็ม ที่โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์) สวนลุมไนท์บาซาร์ มอบความสุขให้แก่ผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ

“สถานการณ์ยากลำบากแต่ละครั้ง พวกเราไม่เคยหวั่นไหว ไม่เคยแกว่ง และไม่เคยร้องไห้ เราสู้สถานเดียว ทุกครั้งที่เจอปัญหาถือว่าเป็นประสบการณ์ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น โรงละครไม่ได้ทำให้เราร่ำรวย เพราะเราหวังให้เป็นสมบัติชาติ หวังจะสร้างชื่อเสียงให้คนไทย ไม่หวังจะมีฐานะร่ำรวยมีเงินมากมาย” พิสูตร ยืนยันหนักแน่น

ด้านสุรินทร์ เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมของครอบครัวที่ไม่ค่อยจะเหมือนบ้านอื่นเท่าไหร่นัก

“เห็นอย่างนี้พวกเราพักผ่อนกันน้อยมาก เราทำงานเอนเตอร์เทน วันหยุดเราทำงาน วันทำงานเราก็ไม่ได้หยุด แต่พวกเราพี่น้องก็คุยกันตลอดเวลา กินข้าวเย็นด้วยกันทุกวัน เพราะเราต้องทำงานด้วยกัน นั่งโต๊ะกลมคุยกัน ใครมีอะไร ใครคิดอะไร ตอนนี้ครอบครัวยังเขียวสด ทั้งลูกทั้งหลาน รวมแล้วประมาณกว่า 30 ชีวิตได้ ก็เกิดก็โตมาในโรงละครนี่แหละ หลานๆ เขาก็ชอบมาตั้งแต่เด็ก และมีแนวโน้มด้วยว่าจะสืบทอดวิชาจากรุ่นเราไปได้อย่างราบรื่น”

หลังการปิดตัวลงอย่างถาวรของโรงละครแห่งนี้ เนื่องจากหมดสัญญาเช่า ส่งผลทำให้คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ จากทีมงานที่เคยมีถึง 200 ชีวิต จำเป็นต้องลดลงเหลือเพียง 70 คน คงไว้แต่ทีมนักแสดงและฝ่ายการตลาด ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ สถานที่ทำงานใหม่ที่ต้องใช้ติดต่อรับงาน ฝึกซ้อมการแสดง เก็บอุปกรณ์การแสดงทั้งหุ่นและฉากมากมาย

“ตอนนี้หาที่เก็บของได้แล้ว อยู่ที่ อ.บัวทอง จ.นนทบุรี ส่วนออฟฟิศอยู่ใกล้ๆ กับเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ โรงละครให้แสดงยังไม่มี แต่แผนการของเราใน 2 ปีข้างหน้านี้ เราจะจัดโรดโชว์ไปแสดงตามโรงเรียน ตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และในต่างประเทศ โดยร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม เราก็ยังคุยกันว่าจะขอสถานที่แสดงชั่วคราว อาจจะเป็นโรงละครแห่งชาติสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่หายหน้าหายตาไปไหน”

“มันเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ วันใดเมื่อมีโรงละครแห่งใหม่ เราเข้มแข็งเหมือนดังเดิม เราก็ยินดีที่จะรับพวกเขากลับเข้ามาทำงานร่วมกันใหม่อยู่แล้ว เรื่องนี้ทุกคนเข้าใจดี”ทั้งสองพี่น้อง หัวเรี่ยวหัวแรงหลักของครอบครัวยังเขียวสด ทายาทรุ่นปัจจุบันของคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เอ่ยความรู้สึกจากหัวใจด้วยท่าทีปล่อยวาง

วันข้างหน้าจะเป็นเช่นไรนั้น ยังคงต้องรอดูกันต่อไป