posttoday

ทศกัณฐ์ ทศเกิน

25 กันยายน 2559

เรื่องที่ถูกพูดถึงและถูกนำมาขึ้นเป็นประเด็นในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีมากที่สุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย...เพรงเทพ

เรื่องที่ถูกพูดถึงและถูกนำมาขึ้นเป็นประเด็นในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีมากที่สุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็น่าจะหนีไม่พ้นเรื่องการออกมาร้องเรียนและแสดงความคิดเห็นของ ลัดดา ตั้งสุภาชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ต่อสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์) ถึงความเหมาะสมในการเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง “เที่ยวไทยมีเฮ” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รู้สึกติดใจที่ทศกัณฐ์ ราชาแห่งยักษ์ทั้งปวง และเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม มาทำกิจกรรมที่ดูไม่เหมาะสม อาทิ การหยอดขนมครก, ขับโกคาร์ต, ถ่ายเซลฟี่ เป็นต้น และผู้กำกับการแสดงมิวสิควิดีโอจะโดนฟ้องโทษฐานทำลายวัฒนธรรมชาติ

ในทางข่าวก็มีความเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นกันทั้งทางกว้างและทางลึกจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการสายศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านวรรณคดี สังคมวิทยา ที่ออกมาแสดงทัศนะในเรื่องดังกล่าวกันในวงกว้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายต่อต้านสุดฤทธิ์อนุรักษนิยมสุดขั้ว ฝ่ายที่เป็นกลางๆ มองแบบวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีการดัดแปลงประยุกต์ปรุงแต่งกันได้ แต่อย่าถึงขั้นเลยเถิด และสุดท้ายฝ่ายหัวก้าวหน้าที่ทุกอย่างสามารถรื้อสร้างได้ ไม่ใช่เก็บแช่แข็งเป็นของโบราณรอวันตายและเสื่อมสลายไป เดินไม่ทันความเป็นไปของสังคม

อย่างที่ว่าแต่ละความคิดเห็นก็มีมุมมอง ความคิด และจุดยืนของตัวเองอย่างเข้มแข็งเหนียวแน่น จึงเกิดการปะทะกันทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลและควบคุมเรื่องนี้ตามกฎหมายโดยตรงก็คือ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขับเคลื่อน ประสาน และบริหารจัดการเครือข่ายในการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ตลอดจนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก็พยายามที่จะไกล่เกลี่ยและหาจุดตรงกลางของทุกฝ่าย

เมื่อมองถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ให้ลึกลงไปว่า ทำไมจึงเกิดการปะทะทางความคิดในเรื่องแบบนี้อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำในสังคมไทย ทั้งที่มีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมที่มารับผิดชอบดูแลโดยตรงในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ มีการจัดตั้งสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็หลายปีมาแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในวิสัยทัศน์และกระบวนทัศน์ที่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมในมุมมองใหม่เกิดขึ้นเลย

ซึ่งกรณีทศกัณฐ์เที่ยวไทยมีเฮ หรือทศกัณฐ์หยอดขนมครก เห็นได้ชัดว่า คนที่เคยเป็นอดีตระดับผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมออกโรงเองในการร้องเรียนและฟ้องร้องเอง สังคมไทยมีปัญหาในเรื่องวิธีคิดเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างแน่นอน

เพราะแม้จะมีสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ผู้ที่ถูกโอนถ่ายหรือโยกย้ายมาทำงานในระดับบังคับบัญชาล้วนเป็นข้าราชการในสังกัดเก่าคือ กระทรวงศึกษาการ ซึ่งมีกระบวนทัศน์และชุดความคิดอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม คือตัดสินถูกผิดแล้วสั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่างอย่างเป็นปกติวิสัย

เพราะฉะนั้นลักษณะการปฏิบัติงานก็ยังเป็นแบบเดิม ศิลปวัฒนธรรมมีอยู่แค่ชุดเดียวคือ ชุดของกรมศิลปากร ผิดไปจากนี้ไม่ใช่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นการวางมาตรฐานเดียวกับยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่วางรากฐานแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของชาติไว้ และถูกแช่แข็งมายาวนานจากระบบราชการไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมชั้นเลิศหรือคลาสสิก เป็นอันดับแรกที่ต้องทำให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสถาพร แต่นอกเหนือจากนั้นคือการชี้นิ้วพิพากษาความก้าวหน้าและวิธีคิดในเชิงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยผ่านอำนาจและวิธีคิดแบบเก่าก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะผู้คนในสังคมหรือประชาชนจะตัดสินเองว่ารับหรือไม่รับให้อยู่ในศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของพวกเขา ไม่ต้องมาห้ามหรือคัดเลือกแล้วชี้นิ้วว่าอะไรดีหรือไม่ดี ไม่สมควรดู

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีการจัดเรตภาพยนตร์โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ แต่สุดท้ายก็ยังมีเรต “ห” หรือห้าม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็คือการเซ็นเซอร์ในระบบเก่าเพียงแต่ใช้วาทกรรมในการเปลี่ยนชื่อเรียก แต่วิธีปฏิบัติยังคงเดิมในรูปแบบที่เรียกกันใหม่ ซึ่งวิธีคิดก็ไม่ได้แตกต่างกับกรณีทศกัณฐ์หยอดขนมครก

หลายๆ เรื่อง หลายๆ กรณีที่มีการวิวาทะและโต้แย้งอย่างเอาเป็นเอาตายในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมในสังคมไทย สิ่งที่ปฏิรูปเป็นอย่างแรกคือ ข้าราชการผู้รับผิดชอบและระบบราชการในกระทรวงวัฒนธรรมนั่นเอง