posttoday

ออมเงิน... ไม่ใช่เรื่องง่าย

24 กันยายน 2559

ออมเงิน เงินออม เป็นคำพูดง่ายแสนง่าย แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำได้ยาก ในโลกของทุนนิยม

โดย...กองบรรณาธิการ

ออมเงิน เงินออม เป็นคำพูดง่ายแสนง่าย แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำได้ยาก ในโลกของทุนนิยมที่มีวัตถุที่ยั่วยวนใจให้มนุษย์ธรรมดาที่มีกิเลสไม่สามารถหักห้ามใจที่จะควักเงินในกระเป๋าหรือเงินล่วงหน้าผ่านการรูดบัตรเครดิตอย่างง่ายดาย โดยหลงลืมวินัยในการใช้ชีวิต เพื่อความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมาทุกข์ภายหลัง เพราะเงินไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กลายเป็นหนี้สินติดตัวและทุกข์ในระยะยาว

ยูโกฟ (YouGov) บริษัทสำรวจและวิจัยทางอินเทอร์เน็ตระดับสากล ระบุว่า การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของคนไทยยังไม่ดีพอ คนไทยมียอดใช้จ่ายปริศนามากที่สุดในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำแบบสำรวจตามด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ หรือคนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1,588 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าใช้ไปกับสิ่งใดถึง 1,143 บาท หรือ 72% ของรายจ่ายทั้งหมด โดยผู้บริโภคชาวไทยที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ค่าใช้จ่ายปริศนาที่เกิดขึ้น 49% มาจากค่าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคและค่าขนมขบเคี้ยว อีกทั้งกว่า 45% เกิดจากการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย

ดังนั้น ถ้าเริ่มออมเพียง 5-10% ของรายได้ต่อเดือนก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นการบังคับเก็บเงินออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินและยามจำเป็น ที่ผ่านการรณรงค์เรื่องการออมทั้งของภาครัฐและเอกชนรวมถึงธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็ร่วมมือร่วมใจกระตุ้นเตือนผ่านกิจกรรม แคมเปญออมเงินต่างๆ

ปัจจุบันคนไทยเห็นความสำคัญเรื่องการออมเงินมากขึ้น จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันมีประชากรที่มีเงินออม 77.4% ของประชากรทั้งหมด โดย 47.4% เป็นการออมระยะสั้น และ 52.6% เป็นการออมระยะยาว

มิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารส่งเสริมการตลาดลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความต้องการของลูกค้าวัยทำงานอายุ 25-45 ปี และพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มทำงานและอยากหาที่ออมเงินที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่สำคัญเบี้ยประกันต้องไม่เป็นภาระกับชีวิตมากนัก และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ความสนใจการออมเงินของคนไทยปัจจุบันจะพบเห็นได้ทั่วไป จากคำถามและคำตอบในเว็บไซต์พันทิป ดอทคอม ซึ่งการออมเงินด้วยวิธีการใดก็ตามไม่มีใครถูกหรือไม่มีใครผิด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับจริตหรือสไตล์ของแต่ละคน อย่างเช่น

ออมเงินแบบสุภาพสตรี

หญิงคนหนึ่งแนะนำวิธีออมตามแบบฉบับของตัวเองว่า

1.ฝากเงินประจำในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือน

2.ตั้งแต่ปีใหม่มาเราตั้งใจว่าจะเก็บเงินทุกๆ เดือน เดือนละ 1,000 บาท แล้วพอสิ้นปีจะไปซื้อทองให้รางวัลตัวเองค่ะ ก็เตรียมกระปุกแยกไว้เลย พอสิ้นปุ๊บก็เอามาหยอดเดือนละ 1,000 บาท

3.เก็บแบงก์ 50 บาท เราเก็บแบงก์ 50 บาท มาประมาณ 3 ปีแล้ว (รวมๆ เงินที่ได้จากแบงก์ 50 ก็หลายหมื่นแล้วนะคะ อย่าดูถูก) พอครบ 2,000 บาท ก็เอาไปฝากธนาคารครั้งหนึ่งค่ะ

4.มีกระปุกอีกอันหนึ่งไว้ใส่แบงก์ 20 ค่ะ เพราะบางทีบางเดือนไม่มีแบงก์ 50 ผ่านมือมาเลย ก็จะมาเก็บเป็นแบงก์ 20 แทน (โดยในกระปุกนี้ตั้งใจจะแคะออกมาตอนเดือนเกิดตัวเอง เพื่อซื้อของขวัญให้ตัวเองค่ะ)

5.กระปุกใหญ่ๆ ไว้ใส่เหรียญค่ะ พอมีเหรียญ 5/10 ก็จะเอามาหยอด (กระปุกจะแคะออกมาเมื่อมันเต็มค่ะ)

ทั้งนี้ ข้อ 2,4 จะมีการหยอดเพิ่มในกรณีที่ช็อปปิ้งแล้วเงินเหลือ คือช็อปปิ้งไม่เกินงบ ส่วนที่เหลือถ้าเป็นแบงก์ร้อยก็หยอดข้อ 2 ที่เหลือก็มาหยอดข้อ 4 ค่ะ หรือในกรณีที่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายค่ะ

สรุปคือ เก็บหมดตั้งแต่เหรียญ 5/10 แบงก์ 20/50 (โดยอันนี้แล้วแต่สะดวก) และเก็บแบงก์ 1,000 เดือนละ 1 ใบ

ออมเงินแบบสุภาพบุรุษ

ไอเดียของผมคือ ซ่อนเงินครับ ซ่อนเพื่อนบ้าง ซ่อนตัวเองบ้าง แต่ไม่ค่อยดีบางทีจะลืมจริง ตอนเรียนทำงานแล้วยังเจอเงินที่ซ่อนไว้ในตู้เลย

เคยหยอดกระปุกหมู แบงก์ 20 เท่านั้น สำหรับผมได้ผลแค่ระยะสั้น พออยากได้อะไร หมูโดนปล้นเงินทุกที

สิ่งที่ทำให้ผมเก็บเงินได้จริงๆ คือแรงบันดาลใจครับ มีอยู่วันหนึ่งเจ้านายเก่าผมเอาเงินสดมาฝากผมไว้ 1 แสนบาท

ตอนนั้นเงินเดือนผมแค่หมื่นต้นๆ ได้จับเงิน 1 แสนบาท ครั้งแรกนี่มันทั้งตื่นเต้น ทั้งเครียดเลยครับ เครียดเพราะไม่ใช่เงินเรา

พอเจ้านายกลับ ผมรีบเอาไปฝากธนาคารทันที เดินไปธนาคารนี่ระวังตัวแจ พร้อมลุยเต็มที่

ฝากเสร็จชื่นชมกับเลขเงิน 1 แสนบาท ในบัญชีได้คืนเดียว ค่ำๆ วันรุ่งขึ้นเขาก็มารับเงินคืน

หลังจากวันนั้นคิดเลยว่า ผมจะต้องเก็บเงิน 1 แสนบาท ให้ได้ เริ่มจากแยกบัญชีเงินฝาก 1 หมื่นบาท แล้วฝากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยไม่ใช้เงินในบัญชีนี้ ยกเว้นเอาไปงอกเงิน แต่ต้องหาเงินมาคืนให้เหลือไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

ออมแบบมนุษย์เงินเดือน

ออมเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ที่มีหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จ่ายมาปีที่ 8 แล้ว ที่มีเงินเก็บ 4-5 หมื่นบาทแล้ว

1.หักเศษเงินเดือน (หลัก 100 บาท ประมาณเดือนละ 800 กว่าบาท) ประมาณปีละ 9,000 บาท

2.ฝากประจำ 24 เดือน เดือนละ 1,000 บาท ปีละ 1.2 หมื่นบาท

3.ฝากออมทรัพย์ธนาคารออมสิน เดือนละ 500 บาท ปีละ 6,000 บาท

4.ฝากสลากออมสิน เดือนละ 1,000 บาท ปีละ 1.2 หมื่นบาท

5.เก็บเหรียญ แต่ละวันเหลือเหรียญเท่าไหร่หยอดออมสินให้หมด

- แคะนับทุกสิ้นเดือน / นำเหรียญไปฝากเข้าบัญชีแบงก์ออมสิน / สิ้นปีถอนออกไปซื้อสลากออมสินเพิ่ม ประมาณ 6,000 บาท

ออมตั้งแต่เรียน

วิธีออมเงินของเราคือ มี 3 บัญชีเป็นอย่างน้อยค่ะ

1.บัญชีที่มี ATM เอาไว้ใช้ทั้งเดือน ค่ากิน เดินทาง ของใช้ประจำวัน ช็อปปิ้ง เป็นบัญชีเดียวที่มี ATM

2.บัญชีสำรองเผื่อจำเป็น หรือซื้อของที่ไม่ใช่ของใช้ในชีวิตประจำวัน หรือของชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปเที่ยว เผื่อใส่ซองงานต่างๆ บัญชีนี้หมด

3.บัญชีเก็บ บัญชีนี้จะไม่ถอนเลย พอเก็บได้จำนวนหนึ่งก็เอาไปลงทุนต่อ เด็กๆ ก็ออมทรัพย์พิเศษดอกสูงหน่อย สลากออมสิน พอหลังๆ ก็มีพวกกองทุน หุ้น เพิ่มมา กองนี้จะเก็บยาวเลยเผื่ออนาคตอยากทำอะไร

เราจะคิดไว้เลยว่าจะให้งบตัวเองเท่าไหร่คือตอนเรียนอยู่หอ พ่อคำนวณให้คือ ข้าวจานละ 25 บาท กิน 3 มื้อก็ 75 เผื่อซื้อของจำเป็นก็คิดเป็นวันละ 100 บาท

30 วันก็ 3,000 บาท แล้วพ่อก็ให้เผื่อมาอีก 2,000 บาท

เอา 3,000 บาท ใส่ในบัญชี 1 ส่วน อีก 2,000 บาท อยู่บัญชี 2 ทั้งเดือนจะพยายามใช้แค่บัญชี 1 แต่ถ้าไม่ไหวก็โอนบัญชี 2 ออกมา

พอหมดเดือนเงินที่เหลือจากบัญชี 1 และ 2 จะโอนไปบัญชี 3

แต่ถ้าเกิดมีทริปจะไปเที่ยว จะตั้งงบแล้วทยอยเก็บเงิน โดยที่สิ้นเดือนก็จะเอาเงินมารวมไว้ที่บัญชีที่ 2 มาเพิ่มของเพื่อนเรา

ลองมาดูวิธีการออมเงินในมุมมองของเจ้าหนี้ อย่าง บริษัท ไฮเวย์ เจ้าของสโลแกน สมหวังสั่งได้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มธนาคารทิสโก้ ที่บอกว่า อยากรวย มีเงินเก็บ ไม่ใช่เรื่องยาก ใช้คาถา เก็บ ก่อน ใช้

ดังนี้

1.ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รองเท้า เสื้อผ้า เหล้า บุหรี่ การพนัน เป็นต้น2.หาวิธีเก็บเงินแนวใหม่ สะสมแบงก์ 50 แบงก์ใหม่และเศษเหรียญนำมาเก็บออม

3.หักเศษเงินเดือนเข้าบัญชี

4.ซื้อสลากออมสินแทนหวย เงินต้นไม่หาย ได้ลุ้นรางวัล

รู้ทันหนี้

1.กู้ซื้อบ้าน

2.กู้ซื้อรถเพื่อใช้ขนสินค้า

3.กู้ซื้อของฟุ่มเฟือย

4.กู้ไปเล่นการพนัน

หนี้ดี ต่อยอดสร้างรายได้งอกเงย หนี้ไม่ดีรายได้หดหาย

วิธีปลดหนี้

ปลดหนี้จากสินเชื่อที่มี ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน

รู้หรือไม่.?

จ่ายค่างวดผ่อนบ้าเพิ่มเดือนละ 1,000 บาทจะทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น 5 ปี (ต่อเงินต้น 1 ล้านบาท)ประหยัดค่าใช้จ่ายและหารายได้เสริม เดือนละ 7,000 บาท ไม่ถึง 15 ปี ก็มีเงินล้าน (เพื่อนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 3% ต่อปี)

ออมเงิน... ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

เก็บเงินแบบ 6 โถ

ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้แนวทางในการเก็บเงินแบบ 6 โถ โดยเริ่มจากการนำรายรับทั้งหมดมานับเป็น 100% แล้วแบ่ง 6 โถ ดังนี้

โถแรก เงินดำรงชีพ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายประจำวัน ใครจะรวมค่าผ่อนรถผ่อนบ้านด้วยก็ได้

โถที่สอง เงินสนองความสุข เงินเก็บสำหรับสนองกิเลสของตัวเองบ้างนานๆ ครั้ง เช่น เสื้อผ้าสักชุด

โถที่สาม เงินเพื่ออนาคต เงินเก็บลืม เอามาใช้ตอนเกษียณหรือตกงานเท่านั้น

โถที่สี่ เงินเพื่อการศึกษา เงินนี้เก็บไว้เพื่อเรียนพิเศษ อบรม ซื้อหนังสือ หรือหาความรู้เพิ่มเติม

โถที่ห้า เงินรางวัลก้อนใหญ่ เงินนี้เก็บนานหน่อย ไว้ให้รางวัลตัวเองชิ้นบิ๊กๆ เช่น ทัวร์ยุโรป หรือรถใหม่สักคัน

โถที่หก เงินเพื่อให้ เงินนี้สำหรับให้ครอบครัว ทำบุญหรือซื้อของขวัญให้คนที่รักในโอกาสพิเศษ

อย่างไรก็ตาม สามารถปรับสัดส่วนเงินในโถต่างๆ ได้ เช่น ลดเงินดำรงชีพลงนำไปเพิ่มใส่โถเพื่อการศึกษาแทน

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ซึ่งภาครัฐมีความกังวลใจว่าในแต่ละปีมีภาระด้านงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ สูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2559 มีภาระงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ 3.08 แสนล้านบาท และอีก 10 ปีข้างหน้าภาระจะพุ่งเป็นปีละ 7.5 แสนล้านบาท

 แต่ละปีรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนที่ดูแลสวัสดิการผู้สูงวัยดังนี้

- เบี้ยยังชีพคนชรา 6.3 หมื่นล้านบาท

- เงินสมทบเข้าประกันสังคม 2.3 หมื่นล้านบาท

- เงินบำนาญข้าราชการ 1.75 แสนล้านบาท

 - เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 4.6 หมื่นล้านบาท

 - เงินสมทบกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) 600-700 ล้านบาท

 ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไร ภาระการจ่ายเกี่ยวกับผู้สูงอายุจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะนำเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

 ในขณะเดียวกันหากไม่เตรียมตัวที่จะเก็บออมไว้เพื่อเป็นเงินดูแลตัวเองยามเกษียณอายุ รอเพียงแต่เงินสวัสดิการจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ ในที่สุดทั้งเราและรัฐก็คงไปไม่รอด