posttoday

ทูมอร์โรว์แลนด์ กับ เดอะ เรนฟอเรสต์ เวิลด์ มิวสิค เฟสติวัล

03 กรกฎาคม 2559

ได้อ่านข่าวของการโยนหินถามทางถึงการจะจัดเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค (อีดีเอ็ม)

โดย...เพรงเทพ ภาพ : edmchicago.com, proaudio-central.com

ได้อ่านข่าวของการโยนหินถามทางถึงการจะจัดเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค (อีดีเอ็ม) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก “ทูมอร์โรว์แลนด์” ในเมืองไทย เพราะทางผู้จัดสนใจที่จะใช้ไทยเป็นสถานที่จัด และมีการเรียกร้องภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการจัดอีเวนต์บันเทิงระดับโลก เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวขยายตัวจากการชมดนตรีและความบันเทิง (ทราเวลเทนเมนต์) ซึ่งตอนนี้มีคู่แข่งคือจีนและญี่ปุ่นที่จ้องแย่งเอาเทศกาลดนตรีนี้ไปจัดในประเทศของตัวเอง

สำหรับเทศกาลดนตรีทูมอร์โรว์แลนด์ จัดครั้งแรกเดือน ส.ค. 2548 ที่เมืองบูม ประเทศเบลเยียม จากการเริ่มจัดแค่วันเดียวผู้ชมมีเพียงหลักพัน จนถึงปี 2559 ที่มีการจัดงาน 3 วัน ประเมินผู้ชมไว้ 1.8 แสนคน และเป็นเทศกาลดนตรีที่เติบโตเร็วที่สุดที่หนึ่งของโลก สำหรับในขั้นต้นที่ทางบริษัทเอกชนของไทยเรียกร้องให้ภาครัฐของไทยต้องเตรียมการ ก็คือสถานที่ที่รองรับคนได้ 4.5 แสนคน อีกทั้งต้องเตรียมพร้อมเรื่องการอำนวยความสะดวกให้คนเดินทางมาดูคอนเสิร์ตเข้าประเทศ เพราะที่ผ่านมารูปแบบการจัดคอนเสิร์ตของทูมอร์โรว์แลนด์ หากจัดที่ใดจะใช้ริสต์แบนด์เพียง 1 ชิ้น ใช้ดำเนินการทุกอย่างแทนหนังสือเดินทาง

ซึ่งตามข่าวที่ออกมา กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กำลังศึกษาแนวทางดึงงานทูมอร์โรว์แลนด์มาจัดในไทย

นั่นเป็นเรื่องของอนาคตและเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะมีเทศกาลดนตรีระดับโลกเกิดขึ้นในเมืองไทย และสามารถดึงนักท่องเที่ยวระดับหลายหลักแสนเข้ามาเที่ยวและดูคอนเสิร์ตในประเทศไทย

แต่เมื่อมองมุมกลับ หากจะดูและศึกษากันจริงๆ อย่างรอบด้านด้วยความรอบคอบ สำหรับเทศกาลดนตรีที่จัดในอาเซียนและมีชื่อเสียงระดับโลกต้องยกให้ เดอะ เรนฟอเรสต์ เวิลด์ มิวสิค เฟสติวัล หรือเรียกสั้นๆ ว่า อาร์ดับเบิ้ลยูเอ็มเอฟ (The Rainforest World Music Festival - RWMF) ซึ่งจัด 3 วัน 3 คืน เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายของดนตรีบนโลกใบนี้ที่เรียกว่า เวิลด์ มิวสิค ที่เมืองคูชิง รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย

โดยช่วงกลางวันก็จะมีสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมจากทั่วโลก การปรุงอาหาร และปิดท้ายด้วยคอนเสิร์ตในตอนเย็นลากไปถึงค่ำคืน โดยเทศกาลดนตรีนี้ได้รับรางวัลเทศกาลนานาชาติที่ดีที่สุดถึง 25 รางวัล และได้รางวัลถึง 6 ปีซ้อนจากนิตยสารดนตรี Songlines ของอังกฤษถึง 6 ปี ติดต่อกัน ระหว่างปี 2010-2015

เทศกาลดนตรี เดอะ เรนฟอเรสต์ฯ จะเน้นไปที่การแสดงดนตรีแบบเทรดิชั่นหรือประเพณีนิยมดั้งเดิมจากทั่วโลกและของตัวเอง รวมถึงการผสมผสานวัฒนธรรมดนตรีร่วมสมัย โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการเล่นและแสดงผ่านเครื่องดนตรีอะคูสติกแบบดั้งเดิม แต่ก็มีเครื่องดนตรีไฟฟ้าสมัยใหม่มาแทรกบ้างประปราย

ในช่วงแรกที่จัดเทศกาลดนตรีนี้ในปี 1997 มีผู้ชมแค่ 400 คน และจากปากต่อปากก็ขยายตัวไปเรื่อยๆ จนองค์กรดนตรีเวิลด์ มิวสิค ของอังกฤษ ที่เรียกว่า Womad จะเข้ามาขอเป็นผู้จัดและเปลี่ยนชื่อ แต่ถูกปฏิเสธไป จนทาง Womad ต้องจัดเทศกาลดนตรีของตัวเองที่สิงคโปร์แทน โดยการท่องเที่ยวแห่งซาราวักในฐานะเจ้าภาพประสบความสำเร็จอย่างมากในการที่ดึงผู้ชมและนักท่องเที่ยวให้มาร่วมงานเทศกาลนี้แบบปากต่อปาก และประสบความสำเร็จในแง่รายได้อย่างสูง หลังจากจัดงานผ่านไป 15 ปี ในปี 2013 รวมจำนวนผู้ที่เข้าร่วมเทศกาลดนตรีสูงถึง 37 ล้านคน และ 60% ของผู้ที่จะกลับมาอีกในปีต่อๆ ไป

หากเทียบ 2 เทศกาลดนตรีระหว่างเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค (อีดีเอ็ม) “ทูมอร์โรว์แลนด์” ของเบลเยียม กับ เดอะ เรนฟอเรสต์ เวิลด์ มิวสิค เฟสติวัล ของมาเลเซีย ภาครัฐคือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ต้องกลับมาทบทวนและศึกษาว่าเทศกาลดนตรีแบบไหนที่จัดขึ้นมาแล้วจะเป็นเรื่องของบุคลิกแบบไทยที่จะก้าวไปสู่ความเป็นสากลระดับนานาชาติ และถูกจัดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงประสบความสำเร็จด้านรายได้ คงคิดได้ไม่ยากว่าจะเลือกแบบไหนหากจะเลือกเทศกาลดนตรีระดับโลกให้เกิดขึ้นในเมืองไทย