posttoday

เพลงเดียวดัง ฟังทั้งประเทศ

04 มิถุนายน 2559

‘เราเด็กบ้านๆ เราเด็กเลี้ยงวัว สากลัวเธอไม่สนใจ เราเด็กบ้านๆ คงไม่สาไหร่ ไม่ถูกใจเหมือนเด็กหาดใหญ่ในหลาด...’

โดย...นกขุนทอง

‘เราเด็กบ้านๆ เราเด็กเลี้ยงวัว

สากลัวเธอไม่สนใจ

เราเด็กบ้านๆ คงไม่สาไหร่

ไม่ถูกใจเหมือนเด็กหาดใหญ่ในหลาด...’

ท่อนฮุกเพลง “มหาลัยวัวชน” จากศิลปินแดนใต้“วงพัทลุง” ที่โดดเด่นทั้งเนื้อหาและสำเนียงแบบคนใต้แหลงแท้ๆ แต่ในโมงยามนี้คนในภาคอื่นๆ ร้องกันได้ราวกับเป็นเจ้าของภาษานั้นเสียเอง สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเพลงดังไร้ซึ่งพรมแดน

ยังมีอีกหนึ่งบทเพลงจากที่ราบสูงถิ่นอีสาน “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ของศิลปิน “ก้อง ห้วยไร่” ที่โด่งดัง นิยมไปทั่วประเทศ

‘ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไสว่าสิมีกันและกัน

ไสว่าสิฮักแพงกัน ไสว่าสิมีกันตลอดไป

ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไสว่าสิมีกันเรื่อยไป

ไสว่าสิบ่แบ่งใจ ไสว่าสิมีแค่เฮา...’

เพลงเดียวดัง ฟังทั้งประเทศ

 

เพลงสัมผัสใจ ใกล้ชิดชีวิต

ในหนึ่งอัลบั้มมีหลายเพลง แต่มีหนึ่งบทเพลงดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าหนึ่งบทเพลงนั้นดังระเบิดระเบ้อสร้างชื่อให้ศิลปินดังตามเป็นพลุแตกนั้นในรอบหลายปีจะมีเพียงไม่กี่เพลงกี่ศิลปิน

ใน 1-2 ปีมานี้ 2 บทเพลง มหาลัยวัวชน และไสว่าสิบ่ถิ่มกัน คือบทเพลงที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ที่น่าสนใจคือศิลปินทั้งสองเป็นศิลปินจากค่ายเล็กนำเสนอความเป็นท้องถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นปูมหลังของบทเพลง ไม่ว่าจะศัพท์แสงพื้นถิ่นแท้ๆ สภาพแวดล้อมการใช้ชีวิต อุปนิสัยใจคอ ที่นำมาร้อยรัด เรียกว่าฟังแล้วได้กลิ่นอายคิดถึงบ้านเกิด สร้างความรู้สึกร่วมของคนพลัดถิ่นได้ไม่ยาก

ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน เพลงแจ้งเกิดชื่อ ก้อง ห้วยไร่ เพลงแรกและยังเป็นเพลงเดียว แต่แค่เพลงเดียวในช่วงเวลาปีที่แล้วยาวมาจนถึงปลายปีนี้คิวงานของ ก้อง ห้วยไร่ ก็เต็มทุกคืน สะท้อนให้เห็นความนิยมของเพลงที่ไม่ได้ดังแบบพลุแตกแล้วดับวูบไป

ก้อง ห้วยไร่ นักร้องและผู้แต่งเพลง เปิดใจถึงเพลงดังว่า “เพลงนี้ใช้เวลาก่อนทำเป็นมาสเตอร์ 3 ปีปล่อยออกมาเป็นทางการ 1 ปีผมมีเพลงที่แต่งไว้อยู่แล้ว 20 เพลง แต่พี่กบ (ปรีชาพล ศรีธาตุ เจ้าของค่ายซาวด์มีแฮง) เลือกเพลงนี้แค่เพลงเดียว ตอนที่ผมแต่งเพลงนี้ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องดัง หรือต้องทำเพื่อให้เป็นเพลงดัง ผมแค่แต่งออกมาจากความรู้สึก แล้วพอเพลงที่มันแต่งมาจากข้างใน การใช้คำก็ตรงๆ เหมือนที่เราพูดกัน เพลงมันก็จริงใจ คนฟังเขาคงสัมผัสจากตรงนี้ได้ แล้วเพลงก็มีเนื้อหาสบาย ฟังง่ายคนทุกภาคฟังได้ ตอนแรกเขาก็ชอบที่ฟังแล้วโดนใจฟังอารมณ์ความรู้สึกที่ผมปลดปล่อย ฟังจนมันฉ่ำแล้วเขาถึงมาค้นหาความหมาย ทำเพลงเดียวดังเลยผมก็ดีใจ แต่กว่าที่เพลงนี้จะออกมาเราก็ทำอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช่ทำเพลงส่งๆ ออกมา แล้วผมไม่ได้หลงอยู่กับเพลงดังจนไม่พัฒนาตัวเอง  แต่ตอนนี้งานเยอะจนเรายังไม่สามารถทำเพลงอื่นออกมาได้ แต่จะมีออกมาให้ฟังกันแน่นอน”

กบ-ปรีชาพล ศรีธาตุ เจ้าของค่ายซาวด์มีแฮง ซึ่งมี ก้อง ห้วยไร่ เป็นศิลปินเบอร์แรกของค่าย เล่าถึงการสร้างเพลงและปั้นศิลปิน “ก้องเขามีแฟนคลับอยู่แล้วกลุ่มหนึ่ง เวลาที่เขาทำเพลงเอาลงในเฟซบุ๊กก็มีคนติดตาม แต่เพลงไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ผมฟังแล้วชอบการใช้ภาษาของเขาที่สุด ภาษาที่เขาใช้มันเป็นคำศัพท์เก่าที่ไม่ค่อยได้พูดได้ฟังกันแล้ว เป็นคำที่ผู้เฒ่าผู้แก่พูดกัน เขาเข้าใจใช้คำก็มาปรับกันนิดๆ ไม่มั่นใจว่าจะดังขนาดนี้ เราทำด้วยความชอบจริงๆ แต่รู้สึกได้ว่าเพลงนี้มันมีดี”

ในปี 2557 เพลงมหาลัยวัวชนถูกปล่อยออกมา เพลงนี้ค่อยๆ ดัง และดังแรงสุดๆเมื่อปีที่แล้ว มาถึงปี 2559 กระแสก็ยังไม่แผ่ว กลับแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เพียงแค่เพลงมหาลัยวัวชน แต่กลุ่มศิลปินในนามวงพัทลุงก็ได้รับการต้อนรับที่ดี เพลงใหม่ของพวกเขาก็เป็นที่สนใจ และตัวศิลปินเองไม่ว่าจะจัดกิจกรรมทำอะไรก็มีแฟนคลับตามไปให้กำลังใจอย่างล้นหลาม จัดเป็นการสะสมบารมีความดังมาเรื่อยๆ

เพลงเดียวดัง ฟังทั้งประเทศ โอ พารา กับศิลปินในสังกัด

 

โอ พารา-ทิวากร แก้วบุญส่ง ศิลปินและเจ้าของค่ายพาราฮัท มิวสิค ผู้แต่งเนื้อเพลง-ทำนอง “มหาลัยวัวชนเป็นเพลงแรกของวงพัทลุงที่ผมแต่ง หลังจากนั้นวงนี้มีเพลงทั้งหมด 7 เพลง เพลงนี้ดังที่สุด แต่เวลาเล่นคอนเสิร์ตก็เล่นหมด เพลงอื่นอาจจะร้องได้เฉพาะแฟนคลับ แต่ตอนนี้เพลงคบแล้วจะรักก็กำลังมาเป็นเพลงจังหวะสนุกด้วย พวกเรายังวางคอนเซ็ปต์เป็นเพลงท้องถิ่นใต้ นำเสนอตัวตนของพวกเราออกไป

“ที่มหาลัยวัวชนโด่งดังขนาดนั้น เรามองการตลาดปักษ์ใต้ในยุคนี้มีดนตรีเพื่อชีวิตป๊อป ทุกคนเดินตามรอยเพลงเพื่อชีวิตป๊อป ร้องเพลงก็ใช้เสียงออกแนวบอดี้สแลมใต้ไปหมดเลยทุกวง ไม่ใช่ไม่ดี แต่เราไปประดิษฐ์แบบนั้นก็ไปซ้ำทางเดิม เลยนำเสนอบทเพลงท้องถิ่นที่หายไปจากปักษ์ใต้เป็นสิบปีผ่านทางเด็กยุคใหม่ เป็นเรื่องเล่าการใช้ชีวิตไม่มีใครทำมานาน ผมเอามาสร้างรูปแบบใหม่ ใส่ความเห็นคุณค่าของตัวเอง เอาของใกล้ตัวมานำเสนอ เรานำเสนอเพลงใต้ภาษาท้องถิ่น แล้วตอนนี้ทุกคนเสพสื่อได้ง่าย พอมีอะไรที่แปลกใหม่นำเสนอออกไป แล้วเขาสัมผัสได้ อย่างคนใต้ที่อยู่ที่ต่างๆ ทำให้เพลงดังได้เร็วมาก เราทำให้เด็กเลี้ยงวัวคือตัวแทนของพวกเขา หรือคนภาคอื่นๆ ที่ไปอาศัยต่างถิ่นเขาก็เข้าใจความรู้สึกของคนชนบทได้จากเพลงนี้”

พงษ์-เทอดพงศ์ เภอบาล นักร้องนำวงพัทลุง บอกว่าไม่เบื่อที่ร้องเพลงมหาลัยวัวชนทุกคืนๆ หรือบางเทศกาลต้องร้องเพลงนี้ถึง 4 งานด้วยกันก็มีแต่ก็แอบหยอดคำหวานว่า วงพัทลุงยังมีบทเพลงอื่นๆ และตั้งใจสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ออกมา อยากให้ติดตามกันด้วย

“3 ปีที่ผมร้องเพลงนี้ รู้สึกเสมอว่าได้นำเสนอความเป็นตัวตนของเรา แล้วดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าที่เราได้แสดงออกไป เพราะตอนที่เราทำเพลงนี้ก็เหมือนเนื้อร้องเลยครับ เราเด็กบ้านๆ ไม่ได้คิดทำเพลงให้ดัง แต่เราอยากสื่อสารออกไปถึงการใช้ชีวิตท้องถิ่นของเราเท่านั้นเอง เอ็มวีเราก็ทำกันเองบ้านๆ วัวก็ยืมของน้า บ้าน รถก็ยืมของพี่ เราทำให้ออกมาเป็นธรรมชาติ ดีใจครับที่มีคนสนใจดู ยอดวิวในยูทูบตอนนี้ก็เป็นร้อยล้านแล้ว”

ป่าล้อมเมือง ความสำเร็จที่ยั่งยืน

การเกิดขึ้นของค่ายพาราฮัท มิวสิค โอ พารา ผู้ก่อตั้งต้องการให้เสมือนเป็นชุมชนของเด็กภาคใต้ที่รักดนตรีได้มีพื้นที่แสดงออก สร้างสรรค์งานเพลงท้องถิ่น เพราะศิลปินที่มีอยู่ตอนนี้ราว 50 คนต่างก็เป็นนักเรียน นักศึกษา มีอาชีพ การใช้เวลาว่างทางดนตรีจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้พวกเขามาเจอกัน

“ดนตรีภาคใต้ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมระดับหนึ่ง แต่ยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ทำเพลงได้ง่าย แล้วไอ้ความง่ายนี่ล่ะทำให้เด็กยุคใหม่ไม่เห็นคุณค่าของการเป็นศิลปินที่ดี นักดนตรีที่ดี คนสมัยก่อนจะได้เป็นศิลปินได้มาด้วยความพยายามที่มาก แต่ตอนนี้เพลงออกมาแทบจะฟังไม่ทันเลย อยากเป็นนักร้องก็ไปซื้อเพลงมา จ้างเขาทำดนตรี การโปรโมทง่ายมากในโลกโซเชียล ทำให้เพลงในปักษ์ใต้เยอะมาก ผมเลยจำกัดคน บทเพลงหนึ่งจะดังอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนก็เงียบ แต่เราทำค่ายให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้วย มีการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ดังนั้นบางวงคนไม่รู้จักเพลงแต่ก็รู้จักศิลปิน แล้วเราเอาวงที่ดังมาช่วยดึงวงที่ไม่ดังเกื้อกูลกันไปแบบนี้

“แล้วเราทำเพลงทำเหมือนป่าล้อมเมือง เพราะคนใต้อยู่ทุกที่ในประเทศไทย เราจึงทำเพลงภาษาถิ่นสื่อออกไปให้ถึงเขา อย่างเพลงมหาลัยวัวชนในตอนแรกเพลงดังที่จังหวัดเราก่อน เล่นตามผับ แล้วก็ปากต่อปากดังข้ามจังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะกระแสนิยมที่คนกำลังพูดถึงกันอยู่ รายการดังๆ เราก็ได้ไปออกรายการ จึงทำให้เพลงวงพัทลุงดังมากแต่ตอนนี้ในภาคใต้เราเองไม่ค่อยเล่นเพลงมหาลัยวัวชน แต่ได้รับความนิยมในภาคอื่น ตอนนี้ 1 เดือนมีงานในภาคใต้ 5 วัน อีก 25 วันอยู่เหนือ อีสาน ตะวันออก ภาคกลาง เพลงนี้เกือบ 3 ปี แต่ก็ยังมีงานเรื่อยๆ”

ไม่เพียงบทเพลง หากแต่ โอ พารา กำลังจะต่อยอดความสำเร็จในภาพยนตร์ชื่อเดียวกับบทเพลง ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองในการทำการประชาสัมพันธ์ รวมถึงเนื้อหา ที่นำเสนอความเป็นท้องถิ่นภาคใต้ แล้วให้ความเป็นธรรมชาติอย่างน้ำใสใจจริงค่อยๆ แทรกซึมเขาไปอยู่ในใจของผู้คนทั่วประเทศ หวังเพียงถึงเวลานั้นจะยังมีโรงภาพยนตร์ให้เข้าฉายสมกับความตั้งใจของพวกเขา

ส่วน ก้อง ห้วยไร่ ตอนนี้มีงานทั่วทุกภาคในไทยรวมถึงต่างประเทศแล้ว ก้อง ห้วยไร่ ก็ต่อยอดความสำเร็จตัวเองด้วยงานละครและภาพยนตร์ และความสำเร็จของเขาก็มีหลายค่ายมาทาบทามให้เข้าสังกัด แต่ก้องก็ประกาศเจตนารมณ์ว่าอยากอยู่กับค่ายเล็กๆ แต่ได้ทำงานสร้างสรรค์เต็มที่ ดีกว่าไปเป็นแรงงานความคิดในกับดักของค่ายใหญ่ เพราะเขาเชื่อว่าคนเราจะประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่อำนาจบารมีของสังกัดใหญ่ แต่อยู่ที่ความตั้งใจสร้างสรรค์งานมากกว่า

ค่ายซาวด์มีแฮง นอกจาก ก้อง ห้วยไร่แล้ว ตอนนี้กำลังเตรียมปั้นศิลปินเช่นเดิม งานที่ กบ ปรีชาพล ตั้งใจทำคือบทเพลงที่สะท้อนความรู้สึกลูกอีสาน ถิ่นอีสาน “งานของเราจะทำให้คนรู้จักทางอีสานมากขึ้น โดยไม่จำกัดแนวว่าอีสานต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทำได้ทุกอย่างที่ไม่อาจคาดคิดทำดนตรีร่วมสมัยขึ้น เพลงอีสานอาจมีเสียงเปียโนก็ได้ ความสำเร็จของเก่าก็เป็นส่วนหนึ่งในความมั่นใจให้เราสร้างงานตามแนวทางนี้ แต่แค่ความสำเร็จไม่พอ  ความตั้งใจที่เราทำเราอยากสื่อสารอะไรมากกว่าที่ทำให้เรามั่นใจที่จะสร้างศิลปินคนอื่นๆ ตัวเราเองก็ทำงานง่ายขึ้น เรารู้โจทย์ของการทำงานของเรา ศิลปินตัวต่อไปก็มีโจทย์ มีคาแรกเตอร์ เราต้องชอบในงานของเราก่อนที่จะปล่อยออกไป”

มหาลัยวัวชน และไสว่าสิบ่ถิ่มกัน เป็นอีก 2 บทเพลงที่แสดงให้เห็นว่าคนเล็กๆ สังกัดเล็กๆ แต่มีความคิดที่กว้างใหญ่ ที่ต้องการจะสืบสาน ถ่ายทอดความงดงามของท้องถิ่นออกไปสู่สังคมใหญ่
เมื่อต้นธารความคิดดีงามแล้ว ดอกผลของมันก็สวยงามให้ได้ชื่นใจเฉกเช่นเดียวกัน