posttoday

ภาวะผูกขาด

07 พฤษภาคม 2559

ทำไมค่าป๊อปคอร์น ขนมขบเคี้ยวหน้าโรงหนังถึงมีราคาแพง ตั๋วหนังที่ราคาสูงขึ้น

โดย...นกขุนทอง/ศศิธร จำปาเทศ

ทำไมค่าป๊อปคอร์น ขนมขบเคี้ยวหน้าโรงหนังถึงมีราคาแพง ตั๋วหนังที่ราคาสูงขึ้น หนังไทยฟอร์มเล็กมีรอบฉายน้อย เราในฐานะคนดูหนัง (อาจ) กำลังสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในขณะนี้อุตสาหกรรมหนังไทยอยู่ในสภาวะใด อุตสาหกรรมหนังตกต่ำ หรืออุตสาหกรรมหนังถูกผูกขาด

เพียงแค่ไตรมาสแรกของปี วงการหนังไทยก็มีเรื่องมากระตุกให้คนในวงการหนังต้องตระหนักคิดและหันหน้าเข้าหากันหลายเรื่อง เพื่อหาทางร่วมมือฟันฝ่าวิกฤต เพราะตอนนี้ผลกระทบลุกลามไปทั่ว ไม่เพียง
ผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากค่าตั๋ว แต่คนเบื้องหลังทีมผลิตหนังเองก็ต้องเสี่ยงเช่นกัน  

เสียงครวญจากคนทำ (สาย) หนัง

คุณอาจจะยังไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกผูกขาด และกรณีใดเข้าข่ายการผูกขาด คนทำหนังอย่าง “บัณฑิต ทองดี” นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้กล่าวไว้ในงานเสวนา “เดินหน้า...หนังไทย? ในภาวะผูกขาด” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวศิลปวัฒนธรรมบันเทิง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

“ช่วง 3-4 ปีมาแล้วที่โรงภาพยนตร์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหนังไทย พูดในฐานะผู้กำกับก็คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะทำงานให้กับสตูดิโอใหญ่ ซึ่งมีอำนาจต่อรองพอกัน แต่ในฐานะโปรดิวเซอร์ต้องยอมแบ่งเปอร์เซ็นต์ฉายหนังให้กับโรงตามที่ตกลงกัน ซึ่งอาจไม่มีอำนาจต่อรองเลย ต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าฉายในโรง”

ภาวะผูกขาด

ระบบนี้ทำให้ค้นพบว่า ในการต่อรองทำให้คนทำหนังกับเจ้าของโรงผูกขาดต่างกันแล้วระหว่างคนทำหนังกับเจ้าของโรงผูกขาดต่างกันอย่างไร “สุภาพ หริมเทพาธิป” อดีตบรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป และเคยสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง แต่ถูกล้มจอหนังก่อนเข้าฉายไม่กี่วันก่อนหนังฉายจริง เนื่องจากเผยแพร่บทความวิจารณ์การผูกขาดของโรงภาพยนตร์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาการผูกขาดในวงการภาพยนตร์ไม่สามารถแก้ไขได้เป็นผลมาจากกฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่ได้ถูกหยิบมาใช้อย่างจริงจัง

“หลายครั้งที่เกิดกระแสข่าวการผูกขาดธุรกิจภาพยนตร์ในโลกออนไลน์ โรงภาพยนตร์เครือหนึ่งออกมาให้ข่าวในฐานะผู้ผลิตหนังว่าจะสร้างภาพยนตร์กระตุ้นอุตสาหกรรมหนังไทยขณะที่ต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องการผูกขาดทางการค้า เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ยอมให้เจ้าของโรงภาพยนตร์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์มีอำนาจเหนือตลาด แต่บ้านเราวันนี้กำลังท้าทายการผูกขาดทางการค้าที่ต้องตั้งคำถามว่า กฎหมายผูกขาดใหญ่กว่าคนทำธุรกิจ หรือคนทำธุรกิจใหญ่กว่ากฎหมาย เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องบังคับใช้

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเรามีหนังแนวเดียวกันกับเจ้าของโรงหนังที่สร้างภาพยนตร์เองโอกาสหนังของเราจะได้พื้นที่ในการฉายหนังมากไหม หนังบางเรื่องมีศักยภาพมากกว่า แต่ก็มักจะถูกบดบังพื้นที่เพียงเพราะเข้าฉายในเวลาเดียวกับหนังของเขา จะเป็นหนังไทยหรือหนังเทศก็แล้วแต่ เจ้าของพื้นที่กับเจ้าของคอนเทนต์ไม่ควรเป็นคนเดียวกัน เพราะมันเท่ากับตัดโอกาสคนอื่นที่ต้องการจะใช้พื้นที่เพื่อให้คอนเทนต์ของตัวเองไปสู่คนดูถูกจำกัดไปสู่หนทางที่แคบลง”

เสน่ห์งานวัดบ้านเราคงขาดสีสันความบันเทิงไป หากขาดจอผ้าใบผืนสี่เหลี่ยมขึงตึงเพื่อฉายภาพยนตร์ พ่อแม่อุ้มลูกเล็กเด็กแดงปูเสื่อจับจองพื้นที่อย่างไม่คิดจะลุกเพราะกลัวถูกแย่งที่นั่ง เป็นภาพบรรยากาศที่พบเห็นได้เกือบทั่วทุกพื้นที่ของบ้านเรา แต่ “ธุรกิจหนังกลางแปลง” คนปลายน้ำในวงการภาพยนตร์ก็ถูกผูกขาดไปด้วยเช่นกัน

ภาวะผูกขาด

 

กว่า 40 ปีที่ “นมิตร สัตยากุล” ผู้สืบทอดธุรกิจฉายหนังกลางแปลงรูปแบบเดิมต่อจากบิดา และเปลี่ยนมาฉายหนังด้วยระบบ Media Saver

“เมื่อก่อนสายหนังจะร่วมลงทุนกันสร้างหนังหนึ่งเรื่อง เราคุยกันด้วยเหตุผล ถ้าหนังมันทำเงินอย่างที่เราคิดก็จ่ายตามที่เราตกลงยุคหลังมีการซื้อหนังตามยอดคนดู สมมติว่าซื้อ10% ของโรงในกรุงเทพฯ โรงในกรุงเทพฯ เก็บได้1 ล้านบาท สายหนังจะต้องจ่าย 1 แสนบาท แต่ยุคนี้เลวร้ายกว่านั้น ระบบผูกขาดปัจจุบันทำให้โรงหนังหน้าใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีหนังฉาย หรือถ้ามีสายหนังเกิดขึ้นใหม่ก็ไม่มีโรงฉายคนทำหนังถึงตายไงครับ

สัญญาณการผูกขาดแบบนี้มันเริ่มมาประมาณ 20 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากบริษัทหนังแห่งหนึ่งเชื้อเชิญผมให้เป็นสายหนังต่างจังหวัด เพื่อป้องกันการผูกขาด จากนั้นหนังของผมก็ฉายในโรงไม่ได้ ผมตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการสร้างโรงหนังแห่งใหม่เพื่อฉายหนังตัวเอง สร้างเกือบทุกจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือ แต่ก็เกิดปัญหาหนังไม่พอฉาย เพราะซื้อหนังได้จากบริษัทเดียว และถูกบริษัทอื่นกีดกันไม่ให้เข้ามาฉายในโรงเรา สุดท้ายระยะเวลา 5 ปี ผมสูญเงินทั้งหมด 40 ล้านบาทไปจากกระเป๋า”

อีกทางออก ไม่ดูหนังโรง

ราคาตั๋วหนังที่เพิ่มสูงขึ้นถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทางออกหนึ่งของคนดูจึงเลือกดูหนังผ่านออนไลน์ ที่ไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้เฉพาะวงการสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่วงการภาพยนตร์ก็ได้ผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

ภาวะผูกขาด

สุภาพ สังเกตว่าพฤติกรรมคนดูหนังเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2540 จากอดีตคนดูหนังตามที่โรงกำหนดโปรแกรมไว้ แต่เมื่อมีแนวคิดต้องได้ดูพร้อมเข้าฉายในต่างประเทศ กระแสนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่ตอบสนองคนดูหนังให้ทันกระแส ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมดูหนังแบบรอบนี้ใกล้เรื่องไหนก็จะดูเรื่องนั้นไปในที่สุด แต่ไม่ได้มีหนังตอบสนองคนดูเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ พอมันไม่มีพื้นที่ฉายก็ต้องถูกเฉลี่ยไปให้กับหนังเรื่องอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันในทางธุรกิจหนังโรง เกิดการล็อกพื้นที่เขตตั้งโรงหนัง สังเกตดูว่าเราจะเห็นโรงหนังเครือเดียวในพื้นที่เขตเดียวกันเกือบทั้งหมด เพื่อกีดกันไม่ให้เกิดโรงหนังเครืออื่น เฉพาะเขตบางนา น่าจะมีโรงหนังเกิน 100 จอ หรือแถวๆ รังสิต ไปจนถึงนวนคร เกิดภาวะโรงโฮเวอร์ซัพพลาย ซึ่งคนดูไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนโรง โรงต้องเอาตัวเองให้รอด รายได้ที่จะเพิ่มมันมาจากไหนได้บ้าง เช่น แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้คนทำหนังน้อยๆ ขึ้นราคาตั๋ว หรือเพิ่มความหรูหราเก้าอี้”

“ดรสะรณ โกวิทวณิชชา” นักวิจารณ์หนังและตัวแทนเครือข่ายคนดูหนัง ระบายความรู้สึกที่ต้องพบเหตุการณ์เมื่อดูหนังในโรงภาพยนตร์ว่า “ผมยอมรับว่าไม่ได้ดูหนังในโรงมานานแล้ว ตัดปัญหาที่ต้องเจอความน่ารำคาญ เดี๋ยวก็ขายโน่นขายนี่ ราคาป๊อปคอร์นพูดกันมาหลายครั้งแล้วก็เหมือนเดิม ตัดปัญหาไปเลย คือไม่ไปดู ไม่จำเป็นจะไม่เสียตังค์ไปดูหนังในโรง จริงๆ หลายคนเริ่มรู้สึกแบบนี้เยอะ เคยมีคนให้มุมมองในภาพยนตร์สารคดีเรื่องเดอะมาสเตอร์ ว่าการดูหนังในโรงให้อรรถรสเป็นเรื่องเหลวไหล โรงหนังทำให้คนเห็นแต่บรรยากาศ ดูหนังในโรงมีแต่เรื่องเสียเงิน ไปแล้วมีแต่ความน่ารำคาญ ภาพไม่ชัดบ้าง หลายโรงฉายเครดิตตอนหนังจบไม่ครบ เปิดไฟไล่คนออก ซึ่งในต่างประเทศเขาไม่ทำกัน เพราะนั่นเป็นการให้เกียรติทีมงาน ถ้าคนคิดอย่างนี้มากขึ้นๆ อีกหน่อยคนเขาก็ไม่ไปดูหนังในโรงดูในไอแพดก็ได้ หากพูดตรงๆ หนังไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต ไม่ดูก็ได้ จะว่าไปมันไม่ดีต่อตัวโรง ภาวะการตลาดมันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน แม้กระทั่งคนทำหนังเอง วันหนึ่งเกิดคนทำหนังเขารู้สึกว่าเขาไปทำละครหรือทำซีรีส์ออนไลน์ก็ได้ ไม่ทำหนังอีก แล้วโรงจะเอาอะไรมาฉาย น่าเสียดายที่การเสพภาพยนตร์ในโรงที่อาจจะไม่มีอีกต่อไป”

ถึงแม้วันนี้ยังไม่สามารถหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันในวงการภาพยนตร์ได้ แต่ภาพยนตร์ยังคงทำหน้าที่ของสื่ออย่างไม่มีวันหยุด (ต่อไป) หนังไม่ได้มอบแค่ความสุขความบันเทิงเท่านั้น แต่หนังยังอัพเดทวิถีชีวิตของคนในสังคม แม้กระทั่งเป็นตัวแทนหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม ในภาวะที่ “เรากำลังตกอยู่ในยุคของการผูกขาด” อย่างเห็นได้ชัด