posttoday

เรื่องสั้นนับหนึ่ง

21 กุมภาพันธ์ 2559

การทำงานศิลปะทุกแขนงก็คือการฝึกปรือทักษะความชำนาญชำนิให้เต็มพิกัด จึงจะสามารถกลั่นพลังขับและความเป็นเลิศของตัวเองออกมาได้

โดย...พรเทพ เฮง ภาพ : litreactor.com, literaryfictions.com

การทำงานศิลปะทุกแขนงก็คือการฝึกปรือทักษะความชำนาญชำนิให้เต็มพิกัด จึงจะสามารถกลั่นพลังขับและความเป็นเลิศของตัวเองออกมาได้

คนส่วนมากมักมองที่เป้าสูงสุดในที่พวกเขายืนอยู่ แต่ไม่สนใจที่จะมองระยะทางผ่านที่พวกเขาทั้งหลายประสบและพัฒนาตัวเองขึ้นมาถึงจุดนั้น

ความยากลำบากในการไต่เต้าขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับจากผู้คนเป็นหลังฉากที่น่าสนใจ

หยิบสองเรื่องสั้นที่บรรจุอยู่ในหนังสือ “นับหนึ่ง” ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่แปลจากเรื่องสั้นเรื่องแรกของ 16 นักเขียนระดับโลก โดย ร.จันเสน แปล เรืองเดช จันทรคีรี เป็นบรรณาธิการ

หนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2557 พิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 700 เล่ม เข้าใจว่าน่าจะไม่เหลือในท้องตลาดแล้ว

หยิบเรื่องสั้น “การยอมครั้งที่ 3” ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มาพูดถึง

เรื่องสั้นนับหนึ่ง เรื่องสั้นของมาร์เกซ

 

เขาเป็นนักเขียนชาวโคลอมเบีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ตั้งแต่เมื่อเขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1982 ผลงานของเขาที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่คือ นวนิยาย “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude หรือ Cien anos de soledad ในภาษาสเปนที่เป็นต้นฉบับ) ซึ่งออกมาในปี 1967

แต่เรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาออกมาในปี 1947 หรือ 20 ปีก่อนหน้านั้น โดยมีชื่อว่า “การยอมครั้งที่ 3” (La Tercera Resignacion) โดยเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นเรื่องแรกในหนังสือพิมพ์ El Espectador ที่ออกในเมืองโบโกต้า

บรรณาธิการในหนังสือพิมพ์เล่มนั้นยกย่องมาร์เกซในฐานะอัจฉริยะรุ่นใหม่แห่งวงการวรรณกรรมโคลอมเบีย

มาร์เกซเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ตอนอายุ 19 ปี แต่เขาไม่ค่อยพอใจเรื่องสั้นยุคแรกของตนมากนัก ส่วนมากองค์ประกอบไม่ลงตัวและอ่านเข้าใจยาก แต่จินตนาการเหนือจริงในเรื่องเหล่านี้ได้พัฒนาไปเป็นแนวอัตถนิยมมายา (Magical Realism) แต่บ้างก็เรียกว่าแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายาในงานยุคหลัง

“…ปีนั้นเอง ปีที่เขาตายขณะอายุได้เจ็ดขวบ แม่ได้สั่งต่อโลงให้เขาด้วยไม้ที่ยังสด เป็นโลงเล็กๆ สำหรับเด็ก แต่หมอกลับสั่งให้ต่อโลงใหญ่กว่านั้น เป็นขนาดของผู้ใหญ่โดยทั่วไป เพราะโลงเล็กจะทำให้เขาเติบโตอย่างแคระแกร็น และกลายเป็นคนตายที่มีรูปร่างผิดเพี้ยนหรือเป็นคนที่ผิดปกติ...”

 บางส่วนในเรื่องสั้นที่ยกมาทำให้เห็นและรับรสกรุ่นกลิ่นอายของความเป็นเมจิคอล เรียลลิสม์ อยู่อบอวล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แหวกและแปลกในความรู้สึกของคนอ่านที่สามารถจับต้องได้ ถึงพลังและเทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร และมีแววที่จะรุ่งโรจน์ในอนาคต

 เรื่องสั้นเรื่องแรกของนักเขียนอีกคนที่จะหยิบมากล่าวถึงคือ ทรูแมน คาโพที เริ่มแรกก่อนเป็นนักเขียน เขาเป็นเด็กเดินสารในสำนักงานนิตยสาร New Yorker ที่ซึ่งไม่มีบรรณาธิการคนไหนสนใจงานของเขาจริงจัง ไม่ว่าจะพยายามเพียงใดก็ตาม

 อันที่จริงเรื่องสั้นเรื่องแรกของทรูแมน คาโพที ขายได้คือเรื่อง “My Side of the Matter” ซึ่งนิตยสาร Story เป็นผู้รับซื้อและได้รับการรวมไว้ในหนังสือ “Firsts of the Famous”

เรื่องสั้นนับหนึ่ง เรื่องสั้นของคาโพที

 

 ทว่า มันไม่ใช่เรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์คือ “Miriam” (มีเรียม) ที่ขายให้กับนิตยสาร Mademoiselle ซึ่งตอนนั้นคาโพทีอายุเพียง 20 ปี และถูกนำไปตีพิมพ์ตัดหน้าก่อน

 เสน่ห์ในผลงานและความสามารถเกินวัยทำให้คาโพทีกลายเป็นที่ชื่นชอบของวงวรรณกรรมในนิวยอร์กอย่างรวดเร็ว จากพลังของเรื่องสั้น “มีเรียม” ที่ได้รับรางวัลอนุสรณ์ โอ.เฮนรี่ ประเภทเรื่องสั้นเรื่องแรกยอดเยี่ยมในปี 1946 และเรื่องสั้นอื่นๆ ของคาโพทีที่ปรากฏในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1945 ทำให้เฮอร์เชล บริ๊คเคล บรรณาธิการหนังสือรวมเรื่องสั้นอนุสรณ์ โอ.เฮนรี่ รายปี กล่าวทำนายไว้อย่างแม่นยำว่า คาโพทีจะต้องติดอันดับมือเรื่องสั้นชั้นยอดในหมู่นักเขียนคลื่นลูกใหม่

 งานชิ้นเยี่ยมของคาโพทีคือ “In Cold Blood ที่เขาได้บัญญัติศัพท์คำว่า non-fiction novel หมายถึงงานเขียนที่อิงข้อมูลจากความเป็นจริงเช่นเดียวกับข่าวหรือสารคดี แต่ใช้รูปแบบการเขียนของนิยายในการดำเนินเรื่อง

 ยกเอาบางส่วนของเรื่องสั้น “มีเรียม” มาให้อ่าน ก็จะเห็นได้ถึงการเล่าเรื่องที่เป็นบุคลิกเฉพาะตัวที่ความแปลกแยกโดดเดี่ยวสะท้อนออกมาได้หมดจด

“…ใบหน้าของนางมิลเลอร์แปรเปลี่ยนไปดูประหนึ่งหน้ากากที่เต็มไปด้วยเส้นสีแดงอัปลักษณ์ นางเริ่มร้องไห้และมันเป็นการร้องที่ไร้น้ำตาผิดธรรมชาติราวกับนางลืมวิธีร้องไห้ไปแล้ว เพราะมิได้ร้องมานานแสนนาน นางค่อยๆ เขยิบถอยไปทางด้านข้างอย่างระมัดระวังจนกระทั่งสัมผัสประตู...”

 ลองไปหาอ่านเรื่องสั้นเหล่านี้ในแบบเต็มเรื่องกันดู นี่คือความสด ความกล้าหาญในการเล่าเรื่อง เพื่อจะตรึงใจบรรณาธิการและคนอ่าน เป็นความพยายามของนักเขียนหน้าใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์และไม่มีชื่อเสียง เพราะฉะนั้นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่พวกเขาได้นับหนึ่ง จึงเป็นความสดใหม่อันเป็นอมตะคู่โลกวรรณกรรมที่คนทั้งโลกยอมรับ