posttoday

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย

06 กุมภาพันธ์ 2559

งวดเข้ามาแล้ว สำหรับเทศกาลที่ฮิปสุดเปิดศักราชปี 2559 รวบรวมคนดังจากหลายแวดวงหลากประเทศ

โดย...นกขุนทอง

งวดเข้ามาแล้ว สำหรับเทศกาลที่ฮิปสุดเปิดศักราชปี 2559 รวบรวมคนดังจากหลายแวดวงหลากประเทศมาร่วมแสดงทัศนะและเวิร์กช็อปใน “เทศกาลบางกอกแหวกแนว” เทศกาลทางความคิดที่ผสมผสานสาระและความบันเทิงรวมไว้ด้วยกัน ครั้งสำคัญแห่งการรวมตัวของศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย ที่จะจัดขึ้น 2 วัน คือ วันที่ 13-14 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 12.00-24.00 น. ณ บริเวณท่าเตียน ครอบคลุมพื้นที่มิวเซียมสยาม จักรพงษ์วิลล่า โรงเรียนราชินี และยอดพิมานริเวอร์ วอล์ค นับเป็นการสร้างคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยบนพื้นที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์

 

แหวกแนว กระตุกต่อม ‘คิด’

“ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์” เป็นผู้ริเริ่มเทศกาลบางกอกแหวกแนว และเป็นผู้อำนวยการคัดสรรกิจกรรมทั้งหมดในงานเทศกาล พร้อมทั้งเปิดบ้านจักรพงษ์ โดยจะนำทัวร์ชมบ้านเองซึ่งจัดเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน

“ดิฉันเคยเห็นโครงการแนวๆ นี้มากมายที่ต่างประเทศ เป็นโครงการที่ดีมาก แต่กลับไม่ค่อยมีโครงการแบบนี้ในประเทศไทยเท่าใดนัก เห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมชัดเจน มีนักท่องเที่ยวมากติดอันดับโลก จึงคิดที่จะทำโครงการนี้ขึ้นมา กิจกรรมในงานต้องบอกว่าแหวกแนว มีทั้งการเสวนา มีนักคิดชาวไทยและต่างชาติมาร่วมพูดคุย เช่น ยุง จาง นักเขียนประวัติศาสตร์จีนชื่อดัง เควิน ควาน เจ้าของนิยายชุด Crazy Bitch Asians หรือนักคิดชื่อดังชาวไทย คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก นักคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการเสวนาด้านการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมโดยสยามสมาคมฯ

งานนี้อยากให้ทุกคนมาจริงๆ เพราะในประเทศไทย งานแนวนี้เกิดขึ้นยากมากๆ นอกจากการเสวนาที่เล่าไปข้างต้นแล้วยังมีการเวิร์กช็อปการเขียนกับคีฟ-ฟอกซ์ หรือสาธิตทำอาหารเมียนมาโดยเชฟดวงพร ทรงวิศวะ ที่สามารถใช้เวลาในวันนั้นได้อย่างเพลิดเพลิน”

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย จักรพงษ์วิลล่า

 

ด้าน “ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์” หนึ่งในศิลปินที่มีส่วนร่วมในการจัดงาน กล่าวว่า “เทศกาลครั้งนี้มีกิจกรรมดีๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสวนา การทำเวิร์กช็อปภาพยนตร์ นิทรรศการที่น่าสนใจ พร้อมฟรีคอนเสิร์ตจากเพื่อนๆ ศิลปิน กิจกรรมสำหรับครอบครัว ในพาร์ตของภาพยนตร์และดนตรีก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ภาพยนตร์ที่น่าสนใจก็มีเรื่อง Your Music เป็นภาพยนตร์ดนตรี เล่าเรื่องผ่านแนวดนตรีที่หลากหลาย และส่วนจัดแสดงผลงานภาพถ่ายโรงภาพยนตร์แบบที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย และพาร์ตสุดท้ายที่ผมเป็นคนดูแลคือ ด้านดนตรี มีศิลปินที่น่าสนใจหลายคน เช่น ปาล์มมี่ เคยร่วมงานกันมาหลายครั้ง เล็ก Greasy Cafe และอีกวงหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ วงพาราไดซ์แบงค็อก นับได้ว่าเป็นวงดนตรีไทยที่มีชั่วโมงบินในต่างประเทศสูงที่สุดวงหนึ่งก็ว่าได้ เป็นวงดนตรีหมอลำที่ไปเล่นมาแล้วทั่วยุโรป ผู้ชมต่างตื่นตาตื่นใจกับฝีมือ กับวัฒนธรรมที่พาราไดซ์แบงค็อกไปแสดง โดยส่วนตัวขนาดผมเป็นศิลปินลูกครึ่งยังมีชั่วโมงบินน้อยกว่ามากเลย”

“ราเมศ พรหมเย็น” ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและน่าสนใจ เพราะความคิดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการต่อยอดไปสู่อะไรหลายๆ อย่าง ในสังคมของเรามีพื้นที่ให้เยาวชนแสดงออกน้อย จึงเห็นเยาวชนไปแสดงอะไรไม่ถูกที่ถูกทางบ้าง งานนี้จึงอยากจะให้เยาวชนลองมา ถ้าคิดว่าตัวเองแหวกแนว มีความคิด เพราะตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ดีมาก สำหรับส่วนที่มิวเซียมสยามดูแล มีกิจกรรมสำหรับเยาวชน เช่น เสริมความคิดจากการสัมผัส การมอง เกมต่างๆ ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองอยากไปเที่ยวงานในส่วนอื่นก็สามารถฝากเด็กๆ ให้ที่นี้ดูแลได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ในงานคือเข้าชมฟรี

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย ดวงฤทธิ์ บุนนาค

 

“ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกและนักคิดแนวหน้าของไทย “ที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ว่าเส้นทางการพัฒนาในด้านเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่างๆ นานา มันเหมือนจะตันๆ ไม่รู้จะไปทางไหนดี แต่แนวทางด้านความคิดมันยังไม่ตัน มันยังมีเส้นทางให้เราพัฒนาอีกมากมาย แถมบ้านเรายังมีความได้เปรียบทางวัฒนธรรม ซึ่งถ้าเอาความคิดของเราใส่ลงไปมันก็จะกลายเป็นอะไรที่เพิ่มมูลค่าได้มากมาย อย่างในวันงานก็จะไปพูดเรื่องกรุงเทพฯ ในอนาคต ว่ากรุงเทพฯ ในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ในความคิดของเรามันควรจะเป็นอย่างไร แล้วเราเดาว่ามันจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือตรงนั้นมันจะกลายเป็นพื้นที่ที่เราได้แสดงความคิด ได้คิด ได้บริหารความคิด ได้แลกเปลี่ยนกันแค่คิดมันก็น่าสนุกแล้ว”

ฮียอนเซียว ลี ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ

หนึ่งในผู้เล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือ “ฮียอนเซียว ลี” ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือและนักกิจกรรม ปัจจุบันเธออาศัยและศึกษาอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ เธอหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือสู่อิสรภาพผ่านประเทศจีนและลาว ภายหลังเธอนำทางครอบครัวของเธอหลบหนีออกมาด้วย ภัยอันตรายที่เธอเผชิญนั้นได้รับการถ่ายทอดอย่างละเอียดลงในหนังสือ The Girl with Seven Names ซึ่งสำนักพิมพ์สันสกฤตกำลังแปลเป็นฉบับภาษาไทย เธอได้เล่าประสบการณ์ของเธอใน TED TALK ซึ่งมีผู้ชมกว่าสองล้านคน โดยในงานบางกอกแหวกแนวเธอจะมาเล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่เธอได้เผชิญให้ผู้ฟังได้เห็นภาพเสี้ยวหนึ่งของการเป็นประชากรของประเทศเกาหลีเหนือ

“ตอนที่ฉันเป็นเด็ก ฉันคิดว่าประเทศของฉันประเสริฐที่สุดในโลก ฉันโตมากับการร้องเพลงที่ชื่อว่า ไม่มีอะไรต้องอิจฉา และฉันก็ภูมิใจมากเลยทีเดียว เราใช้เวลาจำนวนมากที่โรงเรียนไปกับการศึกษาประวัติของ คิม อิล-ซ็อง (Kim Il-Sung) แต่เราไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับโลกภายนอกเลย นอกจากว่า อเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นศัตรูกับเรา จนกระทั่งวันหนึ่งตอนอายุ 7 ขวบ ฉันเห็นการประหารชีวิตในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก แต่ฉันก็คิดว่านั่นคงเป็นเรื่องปกติของชีวิต ครอบครัวของฉันไม่ได้ยากจน และตัวฉันก็ไม่เคยต้องหิวโหยมาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่ง ในปี 1995 แม่ฉันได้จดหมายจากน้องสาวของเพื่อนร่วมงานของแม่ ซึ่งเขียนไว้ว่า ในขณะที่เธออ่านจดหมายฉบับนี้ ครอบครัวของเราทั้ง 5 คนคงตายไปแล้ว เพราะเราไม่ได้กินอะไรมา 2 อาทิตย์แล้ว เรานอนกองอยู่บนพื้นด้วยกัน ร่างกายของเราอ่อนล้ามาก ประหนึ่งรอเวลาตาย ฉันตกใจมาก นี่คือครั้งแรกที่ฉันได้ยินว่าผู้คนในประเทศของฉันกำลังทุกข์ทรมาน”

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย ฮียอนเซียว ลี

 

ฮียอนเซียว ลี เล่าถึงช่วงลี้ภัยในประเทศจีน “แม่น้ำอัมร็อก ชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและจีน แม่น้ำตื้นและแคบมากในบางจุด กลายเป็นทางหลบหนีให้ชาวเกาหลีเหนือหลายๆ คน แต่หลายคนก็ตายที่นี่ บางครั้งฉันเห็นศพคนลอยไปตามแม่น้ำ ฉันบอกคุณมากไม่ได้ว่าฉันหลบหนีออกมาได้อย่างไร ฉันบอกได้แค่ว่า ในช่วงภาวะขาดแคลนอย่างหนักนั้น ฉันถูกส่งไปที่จีนเพื่ออาศัยอยู่กับญาติที่ห่างไกลของฉัน ตอนนั้นฉันคิดว่า ฉันคงพรากจากครอบครัวของฉันไม่นาน ฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องใช้เวลากว่า 14 ปีก่อนที่เราจะได้อยู่ด้วยกันอีกครั้ง”

จนถึงวันที่เธอฝังรากใหม่ที่ประเทศเกาหลีใต้ “การตั้งรกรากในเกาหลีใต้นั้น ยากกว่าที่ฉันคิดไว้มาก ที่เกาหลีใต้ ภาษาอังกฤษนั้นสำคัญมาก ฉันเลยต้องเรียนรู้ภาษาเพิ่มอีกภาษาหนึ่ง ฉันยังเห็นด้วยว่า มีช่องว่างแห่งความแตกต่างที่กว้างมาก ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เราล้วนแล้วเป็นชาวเกาหลี แต่ลึกๆ แล้ว เราต่างกันมาก เนื่องจากการแบ่งแยกที่นานกว่า 67 ปี ฉันเคยสงสัยตัวเองด้วยซ้ำว่า ฉันเป็นชาวเกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้ ฉันมาจากที่ไหน ฉันเป็นใคร สุดท้ายไม่มีประเทศใดที่เรียกได้อย่างภูมิใจว่าเป็นประเทศของฉัน แม้ว่าการปรับตัวใช้ชีวิตในเกาหลีใต้นั้นไม่ง่ายเลย แต่ฉันก็วางแผนไว้ ฉันเริ่มอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย”

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย สยาม ไลฟ์

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่พาตัวเองฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนขึ้นมายืนแถวหน้าเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องเสรีภาพความยุติธรรมได้ แต่เธอยังมีอีกหลายเรื่องราวที่อยากเล่า และชีวิตของเธอน่าสนใจมาก ไปทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้นได้ที่งานบางกอกแหวกแนว

แนวนี้มีกิจกรรมโดนๆ

เพื่อให้สมกับชื่องาน สิ่งที่ประชาชนจะได้พบนั้นต้องแหวก ต้องแนว และชัดเจนในตัวตนของเจ้าของเรื่อง ซึ่งกิจกรรมมีทั้งการแสดงดนตรี ฉายภาพยนตร์ เวิร์กช็อป เสวนา ส่วนกิจกรรมไหนจะเกิดขึ้นเวลาใด ตรวจสอบได้ที่ www.bangkokedge.com

ไม่บ่อยครั้งนักที่จะรวมนักคิดนักเขียนนักสร้างมาทำกิจกรรมด้วยกัน ตัวอย่างกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เช่น เอเดรียน ลอฟทัส พาร์กิ้นส์ ที่ปรึกษาด้านวรรณกรรมงานเขียนร่วมสมัยระดับโลก และเจ้าของผลงานเขียนและการสื่อสารในระดับโลกมากมาย จะมาสนทนากับ ยุง จาง นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายจีน ถึงเรื่องราวชีวิตของเธอบวกกับเกร็ดประวัติศาสตร์จีนที่หลายๆ คนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย ปกหนังสือของเควิน ควาน

 

คริสโตเฟอร์ จี มัวร์ เจ้าของผลงานการเขียนนวนิยายกว่า 25 เล่มที่ถูกแปลไปแล้วหลายสิบภาษาทั่วโลกและได้รับรางวัลมากมาย รวมถึง แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน เกิดในประเทศอิตาลี แต่หลงใหลมนตร์เสน่ห์ของประเทศไทย และเขียนนวนิยาย จะมาเวิร์กช็อปพัฒนาทักษะการเขียนในเทศกาลนี้ด้วย

ดวงพร ทรงวิศวะ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เจ้าของร้านอาหาร โบ.ลาน จะมาแบ่งปันเทคนิคการทำอาหารพร้อมการสาธิตปรุงอาหารไทยที่ขึ้นชื่อ

ฮยอนบังชิน เจ้าของงานเขียนที่เกี่ยวกับการนำเมืองมาพัฒนาใหม่และการย้ายประชากร การจัดสรรที่พักอาศัย สิทธิในการเข้าถึงเมือง จะเสวนาเรื่องการดัดแปลงพื้นที่เมือง (Gentrification) หัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจของเมืองใหญ่ระดับโลก

จอห์น เบอร์เด็ทท์ นักเขียนนวนิยายอาชญากรรมชาวอังกฤษ มีหนังสือซีรี่ส์ขายดีที่ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า Bangkok หลายเล่ม จะพูดคุยกับ คริสโตเฟอร์ มัวร์ แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความหลงใหลในการใช้เมืองไทยเป็นสถานที่หลักในหนังสือของเขาทั้งสอง

แคธี แม็กคลาวด์ ศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวไทย-อเมริกัน จะสอนวิธีวาดภาพเล่าเรื่องที่เหมาะสมทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ในหัวข้อเวิร์กช็อป Everyone Can Draw : How to Unlock Your Natural Creativity

เคนเน็ท ริมดาห์ล ผู้หลงใหลในกลิ่นและรสชาติของชามาเนิ่นนาน เปิดร้านชาเป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการ Monsoon Tea 0” เชียงใหม่ เขาจะมาเล่าถึงชาในประเทศไทย และสาธิตวิธีการชงชาทั้งแบบจีนและยุโรป

การรวมตัวของ ศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย ผลงาน แคธี แม็กคลาวด์

 

ฟิลิป คอร์นเวล สมิท นักเขียนและช่างภาพชาวอังกฤษที่มีผลงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย สมิทจะเสวนากับอเล็กซ์ เฟซ ศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังเกี่ยวกับวิวัฒนาการของวัฒนธรรม สมัยนิยมของไทย

ฟิลิป จา-บลอง นักวิจัยค้นคว้าและช่างภาพชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์โรงภาพยนตร์ ซึ่งบลองมองว่าโรงภาพยนตร์มีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมสมัยใหม่ โดยเขาได้คัดเลือกภาพถ่ายในโครงการ “โรงภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มาจัดแสดงด้วย

สุดาห์ ชาห์ เจ้าของผลงานหนังสือ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง (The King in Exile-The Fall of the Royal Family of Burma) จะมาเล่าถึงแง่มุมของประวัติศาสตร์พม่าที่เธอค้นพบ และประสบการณ์ในการสร้างผลงานเขียนในหัวข้อที่ไม่มีใครพูดถึงมากนัก

เควิน ควาน กับประสบการณ์ร่วมงานกับนิตยสารที่มีชื่อเสียงหลายฉบับ Crazy Rich Asians เป็นงานเขียนชิ้นแรกที่สร้างชื่อและเป็นหนังสือขายดีที่สุดระดับโลกและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดย Ivanhoe Pictures และ Color Forces ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ The Hunger Games เควินจะมาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของนวนิยายของเขารวมทั้งแนะนำหนังสือ China’s Rich Girlfriend ภาคต่อของหนังสือเรื่องแรก

เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในงาน ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสาระบันเทิงแนวใหม่ ที่จะมากระตุกต่อมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดแรงบันดาลใจต่อการใช้ชีวิต และสร้างสรรค์ผลงาน