posttoday

จากขี่หมอนเครื่องบิน 'น.ท.ปิยะ'ปันฝันปั้นกัปตัน

20 ธันวาคม 2558

ในวัยเด็กของใครหลายคนคงจะมีความฝันอยากเป็นนักบิน แต่เอาเข้าจริงแล้ว จะมีสักกี่คนที่ทำฝันนี้เป็นจริงได้

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ในวัยเด็กของใครหลายคนคงจะมีความฝันอยากเป็นนักบิน แต่เอาเข้าจริงแล้ว จะมีสักกี่คนที่ทำฝันนี้เป็นจริงได้ เพราะการเป็นนักบินไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะฝ่าฟันบททดสอบนานัปการจนเป็นนักบิน แต่สำหรับ น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ นอกจากจะทำฝันสำเร็จได้เป็นนักบินสมใจ เขายังมีความฝันใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม คือ อยากเป็นนักปั้นนักบิน จึงเปิดโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย เพื่อสานฝันนี้จนสำเร็จ

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ หรือ บีเอซี ผู้ดำเนินธุรกิจโรงเรียนการบินกรุงเทพ โรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ในวัย 49 ปี เล่าความหลังให้ฟังว่า เมื่อครั้งยังเด็กก็เหมือนกับเด็กผู้ชายหลายๆ คนที่มีความฝันอยากเป็นนักบิน มักจะหยิบหมอน ผ้าห่มในห้องนอนมาสร้างจินตนาการขับเครื่องบินเป็นประจำ เมื่อโตขึ้นจึงได้สานฝันนี้ด้วยการเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 27 เข้าฝึกบินในโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศ เริ่มรับราชการกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 2526

การผจญภัยบนท้องฟ้าเริ่มต้นขึ้นด้วยการฝึกบินจากเครื่องลำเล็กไปสู่ลำใหญ่ขึ้น โดยเริ่มฝึกเป็นผู้ช่วยนักบิน สำหรับเครื่องบินเล็กแบบ 2 ใบพัด และเครื่องบินเล็กแบบ 4 ใบพัดก่อน จากนั้นก็ก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันบินเครื่องบินเล็ก 4 ใบพัด แล้วเลื่อนไปเป็นครูผู้ฝึกสอนการบินเครื่องบินเล็ก

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ทำภารกิจที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ น.ท.ปิยะ นั่นคือ การได้เป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง รุ่นโบอิ้ง 737-400 เพื่อถวายงานรับใช้พระราชวงศ์ ระหว่างนั้นทางกองทัพอากาศก็ได้ส่ง น.ท.ปิยะ ไปหาประสบการณ์การบินเครื่องบินโบอิ้ง 737 กับการบินไทย ในฐานะนักบินยืมตัวควบคู่ไปด้วย รวมเวลา 8 ปี เพื่อให้มีทักษะในการนำเครื่องบินขึ้น-ลงสูงขึ้นสำหรับมาใช้ขับเครื่องบินพระที่นั่ง โดยตำแหน่งสูงสุดที่ น.ท.ปิยะ ได้รับในการเป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง คือนักบินที่หนึ่งพระราชพาหนะ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือกัปตันนั่นเอง

“ในช่วงที่เป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง ถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตอย่างมาก จำได้ว่าครั้งหนึ่งที่ได้รับภารกิจ ก่อนที่จะขับเครื่องบินได้ก้มลงไปกราบพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นเมื่อเงยหน้าขึ้นมา ก็พบว่าพระองค์ยังทรงประทับยืนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน พร้อมกับมีพระราชดำรัส สวัสดี กลับมา”

ทั้งนี้ หลังจาก น.ท.ปิยะ ได้เป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่งแล้ว ก็ได้เลื่อนมาเป็นครูฝึกนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนักบินตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการกองทัพอากาศ โดยระหว่างเป็นนักบินตรวจสอบของกองทัพอากาศ วันหนึ่งก็เกิดคำถามขึ้นมากับตัวเองว่า เรามาถึงจุดนี้แล้ว หากจะเติบโตในหน้าที่การงานต่อจากนี้ไป ก็ต้องไปนั่งโต๊ะทำงาน อยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่เกินกว่าจะได้ขับเครื่องบินแล้ว ปลายทางของเราหากโชคช่วยก็คงได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจตัวเองแล้ว ก็คิดว่าคงจะก้าวไปไม่ถึงปลายทางเช่นนั้น จึงเกิดความคิดว่าอยากนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไปทำงานที่ยังได้คลุกคลีอยู่กับเครื่องบิน ซึ่งก็ได้คำตอบเป็นการเปิดโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย เพื่อช่วยเด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นนักบินได้สานฝันให้เป็นจริงเหมือนกับที่ น.ท.ปิยะ ทำความฝันสำเร็จมาแล้วด้วย

“ผมเกิดวันที่ 27 มี.ค. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 27 ได้เข้าเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศวันแรกก็วันที่ 27 มี.ค. แล้วก็จบโรงเรียนนายเรืออากาศ ได้รับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 27 มี.ค. จึงคิดว่าทำไมต้องรอถึงวันที่ 1 เม.ย. ค่อยลาออกจากราชการ แม้จะทราบดีว่าหากรอถึง 1 เม.ย. จะได้สิทธิประโยชน์มากกว่า แต่ก็ตัดสินใจลาออกในวันที่ 27 มี.ค. เพราะอยากจดจำวันที่มีค่านี้ไว้”

เมื่อ น.ท.ปิยะ ลาออกจากราชการ ก็เริ่มก่อตั้งโรงเรียนการบินกรุงเทพ ในปี 2545 โดยระหว่างที่ยังวางระบบและดำเนินการเรื่องต่างๆ ไม่เสร็จ สายการบินไทยแอร์เอเชียเปิดให้บริการพอดี จึงเข้าไปทำงานเป็นนักบินคนไทยทีมแรกของไทยแอร์เอเชีย มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของไทยแอร์เอเชียอยู่ 1 ปีครึ่ง

กระทั่งวางระบบโรงเรียนเสร็จ ก็ลาออกมาทำธุรกิจโรงเรียนอย่างเต็มตัว โดยมีเพื่อนรัก 2 คน คือ น.อ.สุรัตน์ สุขเจริญไกรศรี ประธานกรรมการฝ่ายการเงิน บีเอซี และ พัฒน์ วินมูน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บีเอซี เป็นคนสำคัญที่ช่วยกันก่อร่างสร้างโรงเรียนจนมีวันนี้ได้

น.ท.ปิยะ กล่าวว่า เขาเป็นดั่งคนที่มีแผนที่ในใจในการสร้างโรงเรียนการบินกรุงเทพ เปรียบได้กับการอยากจะขุดอุโมงค์เจาะทะลุภูเขา แต่ไม่มีอุปกรณ์ หมายถึง เงิน รวมทั้งผู้ดูแลอุปกรณ์ด้วย ซึ่ง น.อ.สุรัตน์ เข้ามาช่วยเติมเต็มส่วนนี้ได้ และเมื่อขุดอุโมงค์แล้ว หากไม่มีคนขนดินออกจากอุโมงค์ก็ไม่สามารถขุดต่อไปได้ และพัฒน์ก็เปรียบเสมือนผู้ช่วยสำคัญในการขนดินออกจากอุโมงค์ มีหน้าที่หลักในการช่วยงานที่หลงเหลืออยู่ ขณะที่หน้าที่หลักของ น.ท.ปิยะ ก็คือ การหาทางออกเพื่อขุดหาทางใหม่ๆ โดยมี น.อ.สุรัตน์ และพัฒน์ คอยตามเก็บรายละเอียด ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมาในการทำงานร่วมกันก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ร่วมฝ่าฟันกันด้วยดีโดยตลอด

น.ท.ปิยะ กล่าวว่า ในช่วงเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เพราะเป็นโรงเรียนการบินแห่งแรกในไทยที่เจ้าของเป็นเอกชน ดังนั้นก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเปิดทางใหม่ให้กับธุรกิจนี้ เปรียบเสมือนกับทางข้างหน้าเป็นป่ารกก็ต้องคอยถางทางใหม่ทั้งหมด เช่น การทำให้กรมการบินพลเรือนยอมรับว่าโรงเรียนมีมาตรฐาน ข้อนี้ถือว่ายากมาก และข้อต่อไปที่ยากยิ่งกว่าคือ การทำให้สายการบินยอมรับและส่งคนมาเรียนการบินด้วย

อย่างไรก็ดี น.ท.ปิยะ มองว่า มีความโชคดีในชีวิตอยู่ จากการที่ได้ทำงานกับไทยแอร์เอเชียช่วงสั้นๆ จึงเดินเข้าไปขอโอกาสกับไทยแอร์เอเชียในการส่งคนฝึกเป็นนักบินกับบีเอซี และไทยแอร์เอเชียก็ให้โอกาสนั้น ส่วนหลังจากนั้นการบินไทยก็มาขอตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของโรงเรียนและส่งคนมาฝึกบินกับโรงเรียนเช่นกัน

จากวันแรกที่ก่อตั้งโรงเรียนจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลามากกว่า 12 ปีแล้ว สามารถผลิตนักบินออกมาได้ประมาณ 1,500 คน ในจำนวนนี้ได้งานทำ 100% ที่กล้าพูดเช่นนี้ เพราะนักเรียนที่มาเรียนกับบีเอซี 80% เป็นนักเรียนที่สายการบินต่างๆ เป็นผู้คัดเลือกคน และให้ทุนมาเรียน อีก 20% ใช้ทุนตัวเองในการเรียน ซึ่งกลุ่มนี้ 18% ได้งานนักบินทำ อีก 2% บริษัทรับไว้เป็นครูฝึกนักบินรุ่นต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ 2% นี้เมื่อทำงานกับบีเอซีได้ไม่เกิน 3 ปี ก็จะได้งานเป็นนักบินของสายการบินต่างๆ เช่นกัน

“เราไม่ใช่แค่เรือจ้างที่พาเด็กจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่ง แต่เราทำให้เด็กคนหนึ่งที่เป็นเพียงคนเดินดินแล้วบินเป็น”

น.ท.ปิยะ เชื่อว่า ทุกวันนี้โรงเรียนการบินกรุงเทพจัดเป็นโรงเรียนการบินติด 1 ใน 10 ของโลก ในแง่จำนวนนักบินที่ผลิตป้อนสู่ตลาดได้ และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ซึ่งไม่มีโรงเรียนไหนในเอเชียที่ผลิตนักบินป้อนสู่ตลาดได้เกินปีละ 120 คน ขณะที่โรงเรียนการบินกรุงเทพ ปีนี้มีกำลังการผลิตนักบินสูงถึง 212 คน

แม้ว่าฝันในการปั้นนักบินของ น.ท.ปิยะ จะเป็นจริงแล้ว แต่ น.ท.ปิยะ ไม่ขอหยุดแค่นี้ เพราะยังมีฝันสูงสุดต่อไปรออยู่ นั่นคือต้องการให้โรงเรียนการบินกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของการผลิตนักบินไทย เพื่อส่งออกไปทำงานกับสายการบินทั้งในและต่างประเทศ นำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ

น.ท.ปิยะ เชื่อว่า หากรัฐเข้าใจและสายการบินเห็นประโยชน์ที่มีต่อประเทศชาติ สนับสนุนการส่งออกนักบินอย่างจริงจัง ส่งออกได้ 6,000 คน ใน 10 ปี หลังจากนั้นนักบินที่ส่งออกไปก็จะสร้างรายได้จากต่างประเทศส่งกลับคืนสู่ไทยได้ถึงปีละ 3.6 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับรายได้การส่งออกสินค้าประเภทอื่น ต้องบอกว่ารายได้จากการส่งออกนักบินไม่มีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเสียไปเลย เพราะเป็นการสร้างรายได้จากการบริการล้วนๆ ซึ่งเชื่อว่าสักวันฝันนี้จะเป็นจริงได้

จะเห็นได้ว่าหากมีเป้าหมายอะไรแล้วตั้งใจทำ ในที่สุดก็จะไปถึงเป้าหมายได้เหมือนอย่างที่ น.ท.ปิยะสามารถสร้างฝันให้เป็นความจริง