posttoday

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ

19 ธันวาคม 2558

จัดให้เป็นเรื่องดีที่ในตอนนี้มีนักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นมากไม่จำกัดเพศ วัย และอาชีพ หลายคนลุกขึ้นมาเพื่อ “อยาก”

โดย...เสน่ห์จันทน์

จัดให้เป็นเรื่องดีที่ในตอนนี้มีนักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นมากไม่จำกัดเพศ วัย และอาชีพ หลายคนลุกขึ้นมาเพื่อ “อยาก” เป็นนักเขียน บางคนประสบความสำเร็จได้จากผลงานเพียงไม่กี่เรื่อง บางคนก็ฟันฝ่ากันอยู่หลายปีหลายเรื่องกว่าจะถูกยอมรับและมีคำนำหน้าชื่อว่า “นักเขียน” บางคนก็เป็นเพียง“นักอยากเขียน” แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายเสียที แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาเหล่านั้นก็เป็นอีกฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนวงวรรณกรรมไทย

ในยุคที่โลกโซเชียลเข้าครอบครองทุกปลายนิ้วของผู้คน เปิดโอกาสให้คนอยากเขียนได้ลงมือเขียนและมีพื้นที่ระบายของมากขึ้น แต่ใช่ว่ามีโอกาสง่ายเส้นทางนักเขียนจะเกิดได้ง่าย มันยังย้อนแย้งกันอยู่ เพราะถึงที่สุดแล้ว ในแวดวงนี้ก็คัดเพียงตัวจริง ซึ่งในงานเสวนา “ทิศทางวรรณกรรม” ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ ปองวุฒิ รุจิระชาคร

ใครคือ...นักเขียนยุคใหม่ 

“ปองวุฒิ รุจิระชาคร” นักเขียนเลือดใหม่ที่มีผลงานหลายเรื่องได้รับความนิยม เขามองว่านักเขียนยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 คือ นักเขียนร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน และถ่ายทอดความเป็นไปของสังคมแต่ถ้าจะบอกให้ชัดเจนก็คือนักเขียนสมัยที่อินเทอร์เน็ตรุ่งเรืองหลังปี 2000 เป็นต้นมาทำให้โลกแคบลง และรสนิยมคนแตกแยกย่อยไปหลายแบบรวมทั้งหนังสือที่มีเนื้อหาแตกย่อยไปกว่าเดิมมาก

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ ปาริฉัตร ศาลิคุปต

ด้านนักเขียนนวนิยายมือฉมัง “ปาริฉัตร ศาลิคุปต” เจ้าของนามปากกา “กิ่งฉัตร” ให้ความเห็นว่า นักเขียนรุ่นใหม่คือนักเขียนที่มีคีย์บอร์ดอยู่ในมือ ปัจจุบันพรมแดนมันเปิดกว้าง ไม่ต้องผ่านบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์ ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้หมด แต่ตอนนี้ใครก็เป็นนักเขียนยุคใหม่ทั้งนั้น มีความฝัน ความคิด ส่งเข้าไปผ่านโซเชียลมีเดีย บรรดาบล็อกต่างๆ ทุกคนก็มีโอกาสที่จะเป็นนักเขียนทั้งนั้น

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ สกุล บุณยทัต

“สกุล บุณยทัต” ให้ข้อคิดว่า เมื่อมีพื้นที่แล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ จะเขียนอะไร “ยุคโมเดิร์น มันเริ่มจากความคิดของทุกคน ความสมเหตุสมผลมีมากขึ้น พอมาถึงยุคนี้ต้องเข้าใจความคิดของคนยุคนี้ก่อนว่าพื้นฐานของวรรณกรรมเป็นอย่างไร คือความคิดแบบสว่าง ทุกคนมีสิทธิจะเป็นนักเขียนแต่จะเขียนอะไรนี่สำคัญ นี่คือการเรียนรู้ในยุคสมัยใหม่คนต้องกระตือรือร้น เป็นเรื่องของยุคสมัย ความคิดถูกนำเสนอตามภาพที่คิดถ้าคิดอะไรก็จะเขียนออกมาก มันง่ายขึ้น”

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ในขณะที่นักเขียนใหม่เกิดขึ้น นักเขียนเก่าก็ยังยืนหยัดอย่าง “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ซึ่งแบ่งยุคของนักเขียนตามนี้

“ที่จริงแล้วเราคิดเหมือนกันในแวดวงคนเขียนหนังสือ และคงจำกัดความของกระแสวรรณกรรมเป็นยุคไว้ สมัยหลังรัชกาลที่ 7เป็นยุคความคิดใหม่ ส่วนตอนที่ผมเกิด 2500-2516 ผมเรียกว่ายุคเฟื่องการรัก เป็นยุคของการเขียนเรื่องความรัก และพอถึงสมัยหลัง 6 ต.ค. 2519 ก็จะใช้นามปากกากันมากขึ้น ให้ชื่อว่า ยุคหลบอำพราง เป็นนิยายกระแสสำนึก มาถึงยุคสร้างสรรค์ใหม่ และไร้พรมแดน เป็นยุคของพวกแฮรี่ พอตเตอร์ และยุคล่าสุด ให้ชื่อยุคว่า ผ่านแผ่นจอและยุคปัจจุบัน ให้ชื่อว่า ยุครอรางวัล”

โอกาสลอยอยู่บนอากาศ

พื้นที่จะนำเสนอผลงานมีมากขึ้น งานมีมากขึ้น แต่คนอ่านก็เลือกมากขึ้นหรือทั้งคนเขียนกับคนอ่านอาจหลงอยู่ในกับดักของพื้นที่อิสระจนลืมแก่นแท้ของงาน

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ วิภว์ บูรพาเดชะ

“วิภว์ บูรพาเดชะ” กล่าวว่า “ข้อดีคือมีทางเลือกเยอะ มีโอกาสให้คนใหม่ๆ ทำได้ง่ายขึ้น บางทีเยอะไปก็ทำให้คนเสพแยกแยะไม่ถูกอะไรดีหรือไม่ดี อะไรคือสิ่งที่ควรให้เวลากับมัน ซึ่งถ้าให้เลือก ผมว่าอยู่ที่คนเสพจะมีสติในการเลือกแค่ไหน ในการเสพสื่อที่เยอะมากๆ ในปัจจุบันน่าจะเป็นเฟซบุ๊กที่เราแชร์ต่อกันเร็วมาก แต่จริงไม่จริงไม่รู้ ข้อมูลบางทีร้ายแรงมากก็ส่งกัน เร็วจนไม่น่าเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้สังคมต้องเรียนรู้ที่จะใช้และเลือกเชื่อมันแค่ไหน”

“กิ่งฉัตร” ให้มุมมองว่า “พอมีสื่อเยอะมันก็ง่ายกับคนที่อยากจะเป็นนักเขียน เพราะถ้าย้อนไปสมัยก่อนยากมากส่งงานไปตามนิตยสารกว่าจะได้ลง รอเป็นปีกว่าจะได้การตอบรับ แต่พอสื่อเข้ามาอย่างรวดเร็ว มันทำให้คนนำเสนอผลงานได้มากขึ้น ถ้ามีฝีมือจริงลงได้เลยตามบอร์ดต่างๆ สำนักพิมพ์จะวิ่งเข้าหาเอง สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องผ่านอะไร มันเร็วมาก ซึ่งข้อเสียของความเร็วคือความชุ่ยจะตามมา โดยไม่มีบรรณาธิการอ่านให้ผ่านตาว่าตรงไหนไม่เหมาะสม คนปัจจุบันเขียนภาษาไทยแย่มาก ผิดทุกอย่างโดยไม่รู้ตัวเองว่าผิด และปัญหาของนักเขียนรุ่นใหม่มีความภูมิใจในตัวเองสูงมาก และคนอ่านก็ไม่สนใจข้อผิดพลาดเช่นกัน ซึ่งคำว่านิดหน่อยมันจะสะสมไปเป็นปัญหาที่ลุกลาม วันข้างหน้าอาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ข้อดีก็มี ข้อเสียก็เยอะ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะนำทั้งสองข้อมาปรับเข้าหากัน ที่สำคัญเป็นนักเขียนอย่าอีโก้สูง แต่ทำตัวเหมือนแก้วน้ำที่ว่างมันก็จะไปได้ไกล”

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ

โอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน “ปองวุฒิ รุจิระชาคร” เชื่อเช่นนี้ “ปัจจุบันเราสามารถทำได้ สร้างฐานตัวเองได้ง่าย คือเรามองว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน หลายคนไม่มีโอกาสได้ออกแน่ๆ ถ้ามันไม่ตลาดพอ แต่สมัยนี้เห็นได้ง่ายขึ้นว่าเก่ง ถ้าพูดถึงวรรณกรรมสำนักพิมพ์ก็อาจจะอยากพิมพ์มาทำเป็นละคร คือมันเปิดโอกาสมากขึ้นสำหรับคนสมัยนี้ บางคนก็โด่งดังมาได้เพราะสร้างฐานแฟนคลับเหมือนกัน บางทีเป็นเด็กก็เขียนแนวตบจูบ ซึ่งผมก็ตามไม่ทัน ผมก็เคยเห็นมาเยอะ จากการศึกษามา พูดถึงสื่อเสรีมันจะมีคุณธรรมบางอย่างที่จะทำให้คนเราตระหนักในการเขียนบ้าง”

“วิภว์ บูรพาเดชะ” กล่าวเพิ่มเติมในทัศนะว่า สมัยก่อนผลงานสร้างนักเขียน แต่สมัยนี้นักเขียนสร้างชื่อก่อนออกผลงาน “สมัยก่อนกว่าจะเผยโฉมยังซ่อนตัวในนามปากกา แต่สมัยนี้เขียนได้สองบรรทัดก็เสนอตัวแล้ว นักเขียนวัดกันเรื่องงานนะครับ ไม่ใช่ที่ตัวตน นักเขียนบางคนเขียนงานเดือนละไม่รู้กี่ชิ้น เพราะสมัยนี้มันดิ้นรน นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยนี้”

นักเขียนยุคใหม่กล้าที่จะเผยตัวตน และกล้านำเสนอความคิดของตัวเองออกมานำเสนอ เขียนได้ไว เผยแพร่ได้ไกลหากแต่การสร้างงานนั้นคุณภาพเนื้อหาสาระก็จะเป็นตัวคัดกรองเองว่า นักเขียนยุคใหม่ที่ผุดขึ้นนั้น ใครจะเติบโตต่อไป...

กำเนิด...นักเขียนยุคไวไฟ