posttoday

การ์ตูนไทย ในบริบทใหม่

24 ตุลาคม 2558

เวียนมาอีกแล้วสำหรับมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พ.ย.

โดย...เสน่ห์จันทน์

เวียนมาอีกแล้วสำหรับมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พ.ย. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครั้งนี้จัดภายใต้แนวคิดที่สั้นแต่ได้ความหมายยาวๆ “วาด” ชูไฮไลต์นิทรรศการ “การ์ตูนไทยตายแล้ว?”

จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวคิดงานครั้งที่ 20 ว่า แนวคิด “วาด” เชื่อมโยงกับนิทรรศการ “การ์ตูนไทยตายแล้ว?”

“วาดหมายถึง ในยามนี้คุณอยากวาดอะไรก็วาดไป ทุกคนมาเริ่มต้นกันใหม่ อยากวาดฝันประเทศอย่างไร อนาคตอย่างไร สอดคล้องกับคีย์วิชวลของงานครั้งนี้ที่ภาพลายเส้นในการวาดทั้งหมดมีนัยที่ซ่อนอยู่มากกว่าความเป็นภาพวาดธรรมดาให้ได้ตีความกัน ซึ่งจะวาดฝันประเทศชาติ เศรษฐกิจ วาดอนาคตตัวเอง หนังสือคือส่วนหนึ่งของความรู้ที่เป็นคำตอบ”

การ์ตูนไทย ในบริบทใหม่

 

นอกจากนี้ ยังมี “นิทรรศการ 100 ปี ประยูร จรรยาวงษ์ราชาการ์ตูนไทย” จัดแสดงผลงานของ ประยูร จรรยาวงษ์ บุคคลที่ได้ชื่อว่า ราชาการ์ตูนไทย ผู้สร้างชื่อเสียงแก่วงการนักเขียนการ์ตูนไทย เมื่อผลงานการทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย ได้รางวัลชนะเลิศ การประกวดการ์ตูนสันติภาพ ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผลงานการเขียนการ์ตูนการเมืองก็ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลของมูลนิธิรามอน แมกไซไซ สาขานักหนังสือพิมพ์ ในปี 2514 ไม่เพียงแต่เรื่องการเมืองเท่านั้น เขายังถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เขาได้มีประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิตของตนผ่านการ์ตูนชุดขบวนการแก้จน เริ่มตั้งแต่ปี 2515-2521

โลกออนไลน์ โลกของการ์ตูน

ท่ามกลางกระแสการปิดตัวลงของนิตยสารการ์ตูน และแนวโน้มที่จะลดการผลิตหนังสือการ์ตูนแบบรวมเล่มของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจที่ตีพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นฉบับภาษาไทย เช่น ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ผ่าพิภพไททัน คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา ฯลฯและการที่ Siam Inter Comics ผู้ผลิตผลงานเรื่อง กินทามะOne Piece, Black Butler ฯลฯ ได้ออกมาถามคนอ่านว่า “‎นายจะยังซื้อ‎หนังสือการ์ตูน‎ต่อไปใช่ไหม” แสดงให้เห็นว่ายอดขายหนังสือการ์ตูนได้ลดลงอย่างมากจนผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างหนัก

หากแต่การที่การ์ตูนเป็นเล่มกระดาษลดน้อยลง ไม่ใช่คำตอบว่าการ์ตูนหายไป เพียงย้ายพื้นที่มาสู่โลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรับกับพฤติกรรมของผู้เสพ และที่สำคัญมักจะอ่านมากในเรื่องที่ฟรี

การ์ตูนที่เติบโตได้ในยุคนี้ คือการ์ตูนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำเรื่องยากๆ และน่าเบื่อ เช่น ประวัติศาสตร์ แนวคิดทางสังคม และวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น ขณะที่แบบเรียนชั้นประถมศึกษาก็ยังคงใช้การ์ตูนในการสื่อสาร อีกเวทีหนึ่งที่การ์ตูนไทยเติบโตอย่างมากคือโลกออนไลน์ ที่มีหลากหลายเนื้อหาให้อ่านและแชร์กัน มีกระทั่งเรื่องการเมือง เช่น การ์ตูนมานี มีแชร์ ที่นำบุคลิกตัวละครจากแบบเรียนชั้นประถมศึกษามาใส่เนื้อหาในการวิพากษ์การเมืองอย่างแหลมคม

การ์ตูนไทย ในบริบทใหม่

 

อย่างไรก็ตาม นักอ่านหลายคนก็ยังชอบเสพภาพมากกว่าตัวอักษร เช่นเดียวกับที่ยังคงมีคนเขียนการ์ตูนหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เนื้อหา ลายเส้น หรือสื่ออาจจะไม่ใช่กระดาษอย่างเมื่อก่อน การ์ตูนจึงยังไม่ตาย ทว่าได้ปรับตัวปรับรูปแบบเพื่อรับใช้สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

“ปิยพัชร์ จีโน” หรือ Art Jeeno นักวาดการ์ตูนวัยรุ่นชื่อดังซึ่งเคยคว้าชัยในระดับนานาชาติ ได้รับรางวัล Bronze Award จากการประกวด International Manga Award ประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ปีซ้อน

“การ์ตูนมันเป็นงานที่เหนื่อยที่สุดในบรรดาการวาดภาพ และมันก็ได้เงินน้อยที่สุดด้วย การ์ตูนไทยอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ คนเลยไม่รู้ว่ามีการ์ตูนไทยอยู่ แต่เราก็ยังสามารถอยู่ได้ และกำลังไปได้ในทิศทางที่ดีด้วย โลกออนไลน์มันเป็นเหมือนเวทีแจ้งเกิดครับ คนสามารถสร้างผลงานหลากหลายรูปแบบตามที่ตัวเองถนัด ตามสไตล์ตัวเองเลย ถ้าเกิดสำนักพิมพ์มาเห็นและชอบ เขาก็ขอไปพิมพ์ ยิ่งเรามีเพจเป็นของตัวเองในเฟซบุ๊ก ก็จะมีกลุ่มที่ติดตามเพจอยู่

อย่างของผมเริ่มมาจากก่อนหน้านั้น ผมจะเป็น Blog ครับแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเพจ คนก็ตามมาเล่นเพราะมันเข้าถึงง่ายกว่า แต่บางทียอดไลค์ในเพจมันก็ไม่ได้วัดอะไรมากหรอกครับมีคนตามเยอะๆ มันก็ไม่ได้แสดงว่าเราเป็นคนเก่ง มันอยู่ที่ความตั้งใจด้วย เพราะถ้าแฟนเพจเยอะก็อาจจะเหลิงก็ได้ แต่มันเป็นตัวเลขที่จะทำให้สำนักพิมพ์ค่อนข้างมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะขายได้ หรือจะมีคนสนับสนุนก่อนที่เราจะเปิดตัวหนังสือจริงๆ แต่มันก็มีอีกกรณีหนึ่งครับ ที่คนกดไลค์น้อยๆ แต่ลายเส้นเกิดถูกใจสำนักพิมพ์ขึ้นมาก็แจ้งเกิดได้เหมือนกัน หน้าเพจมันเหมือนเป็นพอร์ตโฟลิโอครับ ไม่จำเป็นต้องมีคนกดไลค์เยอะก็ได้ เพราะบางทีงานดีแต่คนยังไม่เห็นก็มี”

การ์ตูนไทย ในบริบทใหม่

 

การ์ตูนไทยไม่จำเป็นต้องมีลายเส้นไทย แค่คนไทยเขียนก็คือการ์ตูนไทย “ลายเส้นจริงๆ มันเป็นรูปแบบสากล มันคือการหยิบยืมกันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าลายเส้นแบบนี้เป็นลายเส้นญี่ปุ่นเหมือนกันครับ เขาก็หยิบยืมมาจากต่างประเทศเหมือนกัน ทุกวันนี้ผมมองว่าการ์ตูนไทยตอนนี้ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองคือ เราจะเป็นตัวใครตัวมัน แต่ละคนจะมีลายเส้นเป็นของตัวเอง จะแตกต่างกันเยอะเลยครับ เพราะมันเป็นยุคของการทดลองครับ ไม่ได้มีอะไรตายตัวว่าการ์ตูนไทยต้องเป็นแบบนี้”

การ์ตูนไทยมีทิศทางที่ดี สวนทางกับสำนักพิมพ์ “สิ่งที่ผมอยากเห็นในวงการนี้ก็คือ ผมอยากให้มีสำนักพิมพ์ที่เพิ่มมากขึ้นครับ เพราะตอนนี้นักเขียนก็เริ่มมากขึ้นแล้ว และในปัจจุบันงานที่โชว์ในอินเทอร์เน็ตมันมีเยอะมากเลย และงานดีด้วยนี่ละครับคืออนาคตของการ์ตูนไทย เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน คนวาดการ์ตูนเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขียนการ์ตูนแล้วจะอยู่ได้หรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ดูมีความเป็นไปได้ที่จะทำอาชีพนี้แล้วดำรงชีวิตต่อไปได้ การ์ตูนมันเป็นงานที่เหนื่อยที่สุดในบรรดาการวาดภาพ และมันก็ได้เงินน้อยที่สุดด้วย ถ้าเทียบกับวาดภาพประกอบ เราแค่ตีโจทย์บทความที่เขาส่งมา วาดภาพเดียว เราก็ได้เงินก้อนหนึ่งแล้ว แต่การ์ตูนกว่าจะได้หน้าหนึ่ง เราจะวาดกี่ช่องๆ ใช้เวลาบางทีเป็นวันๆ กว่าจะได้หนึ่งหน้ากระดาษ และเงินที่ได้มามันก็ได้ตามอัตรานักเขียนทั่วไป คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดพิมพ์

ส่วนเรื่องคนจะสนับสนุนการ์ตูนไทยมากน้อยขนาดไหน ผมว่าความหวังคงต้องรอคนรุ่นใหม่ๆ แล้วครับ เพราะผู้ใหญ่ยุคนี้เขาอาจจะไม่ได้โตมากับการ์ตูนครับ ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น การ์ตูนเขาแข็งแรงมา 50-60 ปีแล้ว เด็กในยุคนั้นก็โตมาเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่ยังอ่านการ์ตูนอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีก็อ่าน แต่อย่างของเรา คงต้องรอคนรุ่นใหม่โตเป็นผู้ใหญ่ก่อน”

ด้าน “อนุชิต คำน้อย” เจ้าของนามปากกา “คิ้วต่ำ” นักวาดชื่อดังจากโลกออนไลน์ กล่าวถึงความอยู่รอดของนักวาดการ์ตูนไทยว่า “ตอนนี้ผมอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้อย่างเดียวครับ แต่ถามว่ามันอยู่รอดขนาดนั้นไหม เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราก็ไม่ได้รวยจนมีเงินเป็นแสนๆ ในแต่ละเดือน แต่เราก็คิดว่ามันเป็นหนึ่งอาชีพที่อยู่รอดด้วยเพราะเราใจรัก ยิ่งเราเกิดมาจากเพจ กระแสมันขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งถ้าเราถอดใจไปตั้งแต่ช่วงกระแสลง เราก็อาจจะไม่ได้วาดรูปต่อ แต่เพราะเรามองว่ามันคืออาชีพที่เรารัก เราเลยอยู่กับมัน ผมว่าถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะไม่ทำร้ายเรา”

พื้นที่ออนไลน์สร้างโอกาสให้นักวาดการ์ตูนได้ แต่ใช่ทุกคนจะรอด “เราสามารถพรีเซนต์ตัวเองได้ง่ายขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะถ้าไม่มีใครสนับสนุนต่อ หนทางของเขาก็อาจจะหยุดอยู่แค่นั้น ส่วนจะอยู่รอดไปได้แค่ไหน ต้องอยู่ทั้งที่ตัวนักวาดเองด้วยครับที่ต้องฝึกฝนตัวเอง เพื่อให้มีผลงานที่เป็นตัวเราเอง เป็นลายเส้นของเราเอง กับอีกด้านคือแรงสนับสนุนในการติดตามผลงานจากทางผู้ใหญ่ บางคนเขาเก่งนะครับ แต่ไม่มีโอกาส เราควรให้โอกาสเขาเพื่อให้เขาได้เปิดเผยตัวตน ได้ออกหนังสือ และคนที่อุดหนุนผลงาน ถ้าเขาได้อ่านลายเส้นเหล่านี้แล้วมีความสุข ก็อยากให้ลองไปติดตามนักวาดดู ไม่ว่าจะเป็นผลงานเขียน งานหนังสือ หรือผลงานออกแบบต่างๆ ที่เป็นการ์ตูนมันเหมือนเป็นการให้กำลังใจกันและกัน เหมือนเราได้ความสุขจากการอ่านแล้ว เราก็ควรจะส่งคืนกลับมาด้วย”

อยากแจ้งเกิดต้องมีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง “เอกลักษณ์งานของผมคือ เราจะคุยกันเหมือนเพื่อนครับลายเส้นบางลายเส้น คนอ่านหลายๆ คนยังบอกเลยว่าเขาวาดสวยกว่าอีก เป็นเพราะลายเส้นเราเป็นมิตร มันเป็นธรรมชาติ มันธรรมดามาก เพราะอยากให้มันเข้าถึงได้ง่าย ทำให้คนสมัยนี้ที่อาจจะยากในการหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่านได้หยิบมาแล้วรู้สึกเข้าถึงง่ายๆ

เมื่อก่อนผมอาจจะทำรูปในเพจพร้อมคำสั้นๆ แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าใครได้เข้าไปติดตามอยู่จะเห็นว่ามันกลายเป็นคำยาวหมดแล้วเขียนยาวเป็นหน้าๆ เลยก็มี ผมรู้สึกว่าอยากท้าทายตัวเองว่าเราจะมีความสามารถพอที่จะเขียนยาวกว่า 1 บรรทัดได้ไหม ก็เลยพยายามเขียนให้ยาวขึ้น และมันก็กลับกลายเป็นว่าเด็กสมัยนี้เขาก็ไม่ได้สมาธิสั้นนะ เขาก็อ่านยาวได้ แค่เป็นเรื่องที่เขาอยากอ่านเท่านั้นเอง เรื่องที่อยากอ่าน จะยาว 3-4 หน้ายังไงเขาก็อ่าน”