posttoday

จุดกำเนิดภาพยนตร์ ของคนรุ่นใหม่

22 สิงหาคม 2558

เรียกได้ว่าจัดสืบเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ 19 แล้ว กับเทศกาลภาพยนตร์สั้นเวทีแรกของประเทศไทย

โดย...พงศ์ พริบไหว ภาพ...Thai Short Film

เรียกได้ว่าจัดสืบเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ 19 แล้ว กับเทศกาลภาพยนตร์สั้นเวทีแรกของประเทศไทย ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2540 มีขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ ให้ได้มีเวทีโชว์ผลงาน โดยเป็นเทศกาลที่เปิดรับภาพยนตร์สั้นเข้าประกวดก่อนทางคณะกรรมการจากทางหอภาพยนตร์และมูลนิธิหนังไทยจะคัดหาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมที่สุดเพื่อมอบเงินรางวัลให้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้กำกับหน้าใหม่ที่รักจะทำภาพยนตร์ 

มดเอ็กซ์-สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เล่าถึงที่มาที่ไปของงานว่า การจัดเทศกาลนี้ขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนทำหนังได้แสดงศักยภาพและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผ่านการทำหนังสั้น และเป็นการสร้างกลุ่มผู้ชมคุณภาพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในครั้งนี้จะจัดขึ้นตลอดทั้ง 10 วัน (13-23 ส.ค.) ซึ่งจะมีการจัดฉายภาพยนตร์สั้นจากไทยและต่างประเทศหลากหลายโปรแกรม รวมทั้งการประกวดหนังสั้นยอดเยี่ยมประจำปี ซึ่งนอกจากนั้น รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ยังเล่าเรื่องอีกมากมายให้ได้ฟังเกี่ยวกับเทศกาลนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกจากตัวงานแล้วเทศกาลดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นจุดกำเนิดรูปแบบของภาพยนตร์ของคนรุ่นใหม่...

จากคำบอกกล่าวเวทีเทศกาลภาพยนตร์สั้นได้มีอิทธิพลมากมายกับผู้กำกับในยุคปัจจุบัน ครั้นสมัยยังเป็นเพียงนักศึกษา ไล่เรียงตั้งแต่ที่นี่เคยเป็นเวทีของแก๊งผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” ทั้ง 6 คน ในนาม กลุ่ม 365 ฟิล์ม พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ไทยไปไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันทุกคนล้วนกลายเป็นไอดอลของเด็กยุคหลังในนามของผู้กำกับของค่ายหนังอารมณ์ดี “จีทีเอช”

จุดกำเนิดภาพยนตร์ ของคนรุ่นใหม่ Examination

 

แม้แต่ผู้กำกับคนล่าสุดที่น่าจับตามองมากๆ อย่าง เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งกำลังจะมีผลงานที่หลายคนคาดว่าจะสร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่กับภาพยนตร์ในบ้านเราเช่นกัน ในภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง “ฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” ซึ่งเต๋อเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยผ่านเกิดได้รางวัลจากเทศกาลนี้มาแล้ว แม้ตัวเขาเองจะไม่ได้เรียนสายตรงจากคณะภาพยนตร์ก็ตามที แต่เพราะด้วยความรักเขาใช้พื้นที่นี้ส่งงานของตัวเองเข้าประกวดอยู่หลายปีจนสร้างชื่อ นั่นยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเทศกาลดังกล่าวเป็นเหมือนพื้นที่สร้างคนหนุ่มที่รักในการสร้างหนังอย่างจริงแท้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ฝึกฝนให้ผู้กำกับยุคใหม่หลุดพ้นกรอบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในแบบเดิมๆ

จากคำบอกกล่าวของ มดเอ็กซ์ สัณห์ชัย พอทำให้เห็นภาพของพัฒนาการของเทศกาลนี้เป็นลำดับ จากครั้งแรกที่มีหนังเข้าประกวดเพียง 10 เรื่อง ปัจจุบันมีมากถึง 500 เรื่อง และด้วยปริมาณของหนังที่ส่งเข้าประกวดซึ่งมีเทคนิคหลากหลายและไม่จำกัดเนื้อหา ในอีกทางก็สะท้อนให้เห็นจำนวนผู้กำกับยุคใหม่ที่มากขึ้น ทั้งยังมีแนวทางในการสร้างภาพยนตร์อย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนรูปแบบของภาพยนตร์ในแบบเดิมๆไปมาก ซึ่งผู้กำกับไม่น้อยได้ต่อยอดสร้างสรรค์เป็นสไตล์ใหม่ๆให้ได้เห็น

“เนื่องจากเทศกาลของเรามีรางวัลเฉพาะให้กับหนังสั้นของนิสิต นักศึกษา แน่นอนคนที่เรียนภาพยนตร์โดยตรงเขาต้องส่งมาที่เรา เพราะเราไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรเยอะ เราเปิดมากๆ ทั้งรูปแบบและการนำเสนอ อย่างในยุคหนึ่งก่อนที่วงการหนังในบ้านเราจะเปลี่ยนไป ก็มีงานของผู้กำกับแฟนฉันทุกคนเลยส่งเข้ามา บางคนได้รางวัล บางคนเข้ารอบ ซึ่งเราก็ได้เห็นงานของพวกเขามาโดยตลอด เห็นพัฒนาการมาเรื่อยๆ แม้กระทั้งตอนพวกเขาออกไปทำโฆษณากัน ก็ยังมีหนังส่งเข้ามาประกวดในประเภทบุคคลทั่วไป

จุดกำเนิดภาพยนตร์ ของคนรุ่นใหม่ Maryam

 

“อย่างคุณมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ก็เป็นคนที่ส่งผลงานมาตั้งแต่ปีแรกๆ ตั้งแต่เขาเรียนปี 1 ก็ได้เห็นงานของเขามาตลอดจนเขาได้รางวัล ซึ่งส่วนใหญ่ผู้กำกับยุคนี้
หลายคนก็จะเคยผ่านเวทีเรามาหมด ซึ่งเขาพัฒนางานของเขามาจากจุดนั้น อย่างที่เห็นชัด คุณอุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับหนังเรื่อง ‘เพลงของข้าว’ เขาก็ทำงานไม่หนีงานที่ส่งเข้าประกวด มีสไตล์ในแบบของตัวเอง อย่าง เต๋อ นวพล ก็เช่นกัน สไตล์หนังของเขาเป็นหนังที่โดดเด่นในตัว อย่างเขาทำหนังใหญ่นอกกระแส ‘Mary is happy, Mary is happy’ก็ไม่ได้หลุดจากหนังสั้นที่เขาทำนัก มันมีความเป็นเต๋ออยู่ในนั้น ซึ่งเราก็เชื่อว่าหนังใหญ่ของเขาความเป็นเต๋อก็จะอยู่ในนั้น

“มันยิ่งทำให้เราเห็นเลยนะว่า การที่เราเป็นพื้นที่ให้คนทำหนังรุ่นใหม่มันได้ประโยชน์จริงๆ มันทำให้งานของเขาพัฒนาอยู่เรื่อยๆ แล้วอย่างเทศกาลของเราหากผู้กำกับคนไหนได้รางวัล เราก็จะสนับสนุนหนังของเขาที่มีศักยภาพในตัวไปฉายที่ต่างประเทศ ซึ่งอันนี้สำคัญ มันทำให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ได้เปิดโลกกว้าง และเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลับมาทำงานต่อแล้วพองานเขาดีพอ เราก็จะได้เห็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่ทำงานในรูปแบบใหม่และมีอิทธิพลต่อวงการหนังบ้านเรา”

รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ยิ้มเมื่อเล่าถึงผู้กำกับหลายคน กับผลงานเรื่องสั้นของแต่ละคนที่โดดเด่น ซึ่งเทศกาลนี้เองแม้จะดูเหมือนที่ลองของหรือทดสอบแนวทางการทำภาพยนตร์ของแต่ละคน ทว่าอีกสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ที่นี่ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนพบปะของกลุ่มคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกัน เช่นที่รองผู้อำนวยการกล่าว

จุดกำเนิดภาพยนตร์ ของคนรุ่นใหม่ เข้ (คนกลาง)

 

“คือในปัจจุบันมันเป็นโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในแวดวงนี้ได้พบเจอกันง่ายขึ้น ใครชอบผลงานของใครก็สามารถแสดงความคิดเห็นหรือกระจายความรู้สึกต่อหนังเรื่องนั้นได้ง่าย ทำให้มันมีพื้นที่ในการสร้างฝึกฝนของผู้กำกับที่ทำงานออกมาว่าคนดูรู้สึกกับงานเขาเช่นไร ซึ่งมันเชื่อมโยงกันได้ง่ายและนี้ถือเป็นเป้าหมายของเทศกาลหนังสั้นที่มีขึ้นเลย เพราะนอกจากเรื่องของผู้กำกับ เรายังได้เปิดโลกทัศน์ของคนดู ซึ่งเทศกาลเราเหมือนเป็นเครื่องมือการพัฒนาคุณภาพของคนดูพร้อมๆ กับการสร้างพื้นที่ให้กับคนทำหนัง”

ในส่วนผู้ที่เคยผ่านการประกวดภาพยนตร์สั้นมาอย่างโชกโชนอย่าง เข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล อายุ 29 ปี ศิลปินอิสระผู้มีผลงานโดดเด่นที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่เขาส่งงานเข้าประกวดมาหลายปี เขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเทศกาลนี้ไปมากจากแต่ก่อน ซึ่งเจ้าตัวยิ้มและยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่พร้อมและเก่ง มีการวางแผนที่ดี มีบทมีโปรดักชั่นที่พัฒนามาจากแต่ก่อน ทั้งแนวหนังที่เข้าประกวดก็หลากหลายเลือกเล่าเรื่องราวที่ครอบคลุมหลายๆ ประเด็นที่สะท้อนให้เห็นสภาวะสังคม ซึ่งเจ้าตัวพูดถึงเทศกาลภาพยนตร์สั้นให้ฟังทำนองว่า

“เท่าที่เราได้ดูมาตลอด อย่างปีนี้เราเองได้มีโอกาสเป็นกรรมการสายหนังนักศึกษา เราก็ได้ดูครบทุกเรื่องนะแล้วเห็นว่า ส่วนมากจะเป็นหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเรื่องของครอบครัวและเรื่องของความรัก มีรักแบบชายๆ หญิงๆ ออกมาให้เห็น ซึ่งโอเค เราเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หยิบมาทำเป็นหนัง ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคนมีพัฒนาการขึ้น มีวิธีการที่แนบเนียนยิ่งขึ้น คิดว่านักศึกษารุ่นใหม่ๆ มีความสามารถมากขึ้นแล้วพวกเขาเข้าใจใช้ประสบการณ์จากการดูหนังมาใส่ไว้ในงานตัวเอง ก็มีวิธีการใหม่ๆ มาให้เราเห็นเสมอ

จุดกำเนิดภาพยนตร์ ของคนรุ่นใหม่ โดม สุขวงศ์ ผู้ริเริ่มเทศกาล

 

“อย่างในปีนี้มันก็จะมีบางเรื่องที่โดดเด่นเป็นหนังที่เกี่ยวกับเรื่องของปัญหาสังคมต่างๆ ที่คนไม่ค่อยจะมาเล่าถึง ซึ่งมันเป็นประเด็นเหตุการณ์ที่น่าคิด ซึ่งมีหนังสั้นเรื่องหนึ่งเล่าเรื่องนี้ได้ดีครอบคลุม เป็นหนังที่เกี่ยวกับเมือง ชนบท และเรื่องของเพศสภาพ มีการนำเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งเราว่าเป็นงานที่เห็นความสามารถของผู้กำกับรุ่นใหม่ ซึ่งโดยรวมเราคิดว่าเด็กรุ่นนี้มีฝีมือขึ้นเยอะในแง่ของการออกแบบ การถ่ายทำ และแง่ของวิธีในการเขียนบท ซึ่งเราว่าการที่พวกเขาได้มีพื้นที่แบบนี้ อย่างน้อยก็เป็นการได้แชร์ความคิดของพวกเขาให้คนอื่นได้รับฟังผ่านภาพเคลื่อนไหว”

เข้ จุฬญาณนนท์ เล่าต่ออีกว่า พื้นที่ของหนังสั้นก็เหมือนพื้นที่การได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นบันไดก้าวแรกที่จะสามารถขึ้นไปสู่หนังยาว ซึ่งนี้ถือเป็นเสน่ห์ให้ผู้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหนังสั้นกันมาก ทั้งยังสามารถทำสิ่งที่อยากทำได้อิสระ ฉะนั้นหนังสั้นจึงถือเป็นสื่อบันเทิงอีกสิ่งที่ทำให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ได้เติบโตไปสู่ก้าวที่ใหญ่กว่าในสายงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์

โดยในปีนี้เทศกาลภาพยนตร์สั้น ในส่วนของโปรแกรมประกวดหนังสั้นในประเทศจะมีทั้งประเภทบุคคลทั่วไป ประเภทนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี เยาวชนไม่เกิน 18 ปี สารคดี แอนิเมชั่น และโปรแกรมพิเศษของหนังสั้นไทยอย่าง โปรแกรมดิจิทัล ฟอรั่ม ที่จะฉายหนังที่มีความยาวเกิน 30 นาที ที่มีคุณภาพสูงและแสดงให้เห็นศักยภาพของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยรุ่นใหม่ และโปรแกรมหนังสั้น Queer ที่ฉายหนังที่นำเสนอเรื่องราวความหลากหลายทางเพศในมิติต่างๆ นอกจากนั้นยังมีโปรแกรมหนังสั้นต่างประเทศที่รวบรวมมาจากทั่วทุกมุมโลกให้ได้รับชม

ถ้าเทศกาลภาพยนตร์สั้นเปรียบเป็นจุดเริ่มของคนทำงานภาพยนตร์ 19 ปีที่ผ่านมาเทศกาลนี้ก็ทำหน้าที่ได้อย่างทรงพลังไม่น้อย เพราะผู้กำกับหลายคนได้สร้างภาพยนตร์ที่เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ต่อสังคม และหลายเรื่องกลายเป็นภาพยนตร์ในหัวใจของผู้คนในยุคปัจจุบัน ซึ่งในปีต่อๆ ไป เชื่อแน่ว่าเราจะยังได้เห็นผู้กำกับหน้าใหม่ซึ่งเป็นผลผลิตที่เติบโตอย่างงดงามใต้เทศกาลภาพยนตร์สั้นนี้อย่างไม่สิ้นสุด แต่ก่อนจะถึงตอนนั้นในปีนี้ทางเทศกาลก็มีผลงานโดนๆ ของผู้กำกับหนุ่มสาวไม่น้อยที่น่าจับตามองหากใครสนใจสามารถเขาไปติดตามข้อมูลข่าวสารของเทศกาลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thai Short Film & Video Festival”

จุดกำเนิดภาพยนตร์ ของคนรุ่นใหม่ มดเอ็กซ์