posttoday

เปิดโลกหลากสี ผ่านจอหนัง

23 พฤษภาคม 2558

คงไม่ใช่เรื่องใหม่และน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ (หรอก) หากว่าเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนจะยกขบวนไปตัดริบบิ้นที่บอสตัน

โดย...แจนยูอารี

คงไม่ใช่เรื่องใหม่และน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ (หรอก) หากว่าเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนจะยกขบวนไปตัดริบบิ้นที่บอสตัน เมลเบิร์น ลอนดอน บูดาเปสต์ เบอร์ลิน ไมอามีรีโอเดจาเนโร โซล โตเกียว มุมไบ หรือกระทั่งฮ่องกง ก็ยังเป็นเรื่องปกติ (มากกก) เพราะสถานที่เหล่านี้จัดเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันและยาวนานมาหลายปี

แต่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อข่าวว่าจะมีเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยน ก็ทำเอาชาวรุ้ง ตลอดจนคอภาพยนตร์ทั่วไปออกอาการกระดี๊กระด๊าไม่น้อย มากกว่านั้นยังร่วมใจเช็กข่าวนี้กันอย่างด่วนจี๋ จริง มั่ว หรือแค่คำโฆษณา

ไม่รอช้า ยกโทรศัพท์สอบถามไปถึงโต้โผใหญ่ นิตยสารแอตติจูด ประเทศไทย ได้รับการยืนยันจริงแท้และแน่นอน ภายใต้ชื่อ Bangkok Gay and Lesbian Film Festival 2015 หรือจะให้เข้าใจและเข้าถึงตามประสาคนไทย นั่นก็คือ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพฯ 2558 (ระหว่างวันที่ 5-14 มิ.ย. เอสพละนาด รัชดา www.attitudethai.com)

ถือเป็นครั้งแรกของคนไทยและประเทศไทยที่เทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนได้ทำการปักธงเด่นชัด ไม่มีอะไรง่าย อะไรที่ว่าง่ายมันก็ไม่ง่าย ส่วนอะไรที่ว่ายากก็ยากยิ่งเป็นไหนๆ ถึงอย่างนั้น สุดท้ายเทศกาลนี้ก็ผ่านฉลุยและพร้อมให้คอภาพยนตร์ได้รับชม

เปิดโลกหลากสี ผ่านจอหนัง

 

ธวัชชัย ดีพัฒนา บรรณาธิการนิตยสารแอตติจูด ประเทศไทย ในฐานะตัวตั้งตัวตีผลักดันให้เทศกาลนี้เกิดเป็นรูปธรรม เขาเปิดใจกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่าเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนจำเป็นต้องมี ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่หมายถึงที่อื่นๆ ด้วย เพราะมันคือสิ่งที่จะแสดงถึงความเป็นอารยประเทศ อีกทั้งยังสะท้อนการเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นและยอมรับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนที่มีความหลากหลายในสังคม

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกๆ สังคมจะเปิดใจกว้างในประเด็นนี้ เพราะหลายๆ ประเทศก็มักปรากฏข่าวออกบ่อยๆ เรื่องการทำร้ายร่างกายคนหลากหลายทางเพศ บางประเทศก็ปิดกั้น ถึงกับออกกฎหมายว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ผิด ผมว่าเทศกาลนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยก็จริง แต่ถ้าเรากวาดตาดูประเทศเพื่อนบ้านก็จะพบว่าหลายประเทศได้ดำเนินการจัดเทศกาลไปเกือบครบทุกประเทศแล้ว เช่น Q! Film Festival Jakarta ที่อินโดนีเซีย Yangon LGBT Film Festival 2013 ที่เมียนมา หรือ Pink Film Festival ก็เป็นความภูมิใจของคนฟิลิปปินส์ ส่วนกรุงเทพฯ ซึ่งเราก็ภูมิใจนักหนาว่าเป็นศูนย์กลางของเกย์และเลสเบี้ยนในเอเชีย เพราะมีโอกาสได้ต้อนรับคนหลากหลายทางเพศจากนานาชาติในแต่ละปีเป็นจำนวนนับล้านคนแต่กลับไม่ปรากฏงานเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนเลยสักครั้ง

ในเมื่อภาพยนตร์คือศิลปะ ผมว่าภาพยนตร์นี่ละที่จะสะท้อนวิถีชีวิตและเป็นสื่อที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาติได้ดีอีกสื่อหนึ่ง การรับชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งที่ได้แรงบันดาลใจจากบริบทของผู้สร้างในชาตินั้นๆ มันก็จะทำให้คนดูได้เรียนรู้ชีวิตที่หลากหลายจากสังคมอื่นๆ สิ่งที่สะท้อนแวดวงเกย์และเลสเบี้ยนได้อย่างชัดเจน ก็คือชีวิตและความเป็นไปของผู้คนในแต่ละสังคม ซึ่งต่างก็มีบริบทที่ไม่เหมือนกันเลย นอกจากนั้นภาพยนตร์ยังสะท้อนประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนเหล่านี้ไว้ด้วย เช่น ประเด็นเอชไอวี ประเด็นสิทธิความเสมอภาค แม้แต่ประเด็นการแต่งงานก็ไม่เคยจางหายไปและมักถูกสอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์ตระกูลเควียร์”  

เปิดโลกหลากสี ผ่านจอหนัง

 

สำหรับภาพยนตร์ที่จะมาปรากฏในเทศกาลนี้ เป็นผลงานของผู้กำกับทั้งที่ประกาศตัวเป็นเกย์จ๋าและที่ไม่ใช่จากทั่วโลก บราซิล นอร์เวย์ อินโดนีเซีย เวีดนาม ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อังกฤษ โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แน่นอน ผลงานผู้กำกับไทย ก็ย่อมเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด การคัดสรรภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นทางคนจัดงานเผยไม่ได้เน้นที่ความวาบหวามของฉากรัก แต่จะมุ่งไปที่ผลงานที่สร้างความเข้าใจและเข้าถึงในเพศสภาพของชาวสีรุ้งเป็นสำคัญ ฉะนั้น สบายใจได้ว่าคงไม่ทำใครหัวใจวาย หรือเผลอร้องเสียงหลง ว้าย!!! ขณะนั่งชมภาพยนตร์

“จุดเด่นและความน่าสนใจของเทศกาลภาพยนตร์นี้ คือมันเป็นงานรวมหนังเกย์และเลสเบี้ยนจาก 12 ประเทศ ที่สะท้อนความหลากหลายทางเพศในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องความรัก การต่อสู้ชีวิตที่ต้องเผชิญกับความจริงต่างๆ เช่น การเกณฑ์ทหาร การแต่งงานในประเทศที่ไม่เปิดรับเรื่องราวของคนรักเพศเดียวกัน ตลอดจนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเข้าสู่ขบวนการแปลงเพศของสาวประเภทสอง ปกติเรื่องราวเหล่านี้จะกระจายอยู่ในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วไป แต่ก็ไม่เยอะ เทศกาลละสองสามเรื่อง ซึ่งก็ไม่ได้สะท้อนแง่มุมที่หลากหลายเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสเหมาะสมที่ผมในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ไลฟ์สไตล์สำหรับเกย์จะได้สานต่อการสร้างความเข้าใจอันดีต่อสังคม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจ เห็นใจกันและกันมากขึ้น

สิ่งที่คาดหวังไม่ใช่แค่เรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศเท่านั้นนะครับ แต่ผมคาดหวังไปถึงการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นมนุษย์ปกติเหมือนคนทั่วไป ทำไมถึงยังมีการเลือกปฏิบัติในหลายๆ ด้านอยู่ สิ่งที่อยากให้ปรากฏบนแผนที่โลก คือ การสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ โดยใช้เทศกาลภาพยนตร์นี่ละ ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน มิ.ย. เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย”

เปิดโลกหลากสี ผ่านจอหนัง

เปิดโลกหลากสี ผ่านจอหนัง

เปิดโลกหลากสี ผ่านจอหนัง