posttoday

ฉันรักกรุงเทพฯซีซัน8

28 มิถุนายน 2553

ฉันรักกรุงเทพฯ เข้าซีซัน 8 แล้ว เมืองศิวิไลซ์ใครๆ ก็รัก มองมุมไหนอะไรก็ดี ถ้าคนไทยเลือกมุมบวกในความทรงจำ

ฉันรักกรุงเทพฯ เข้าซีซัน 8 แล้ว เมืองศิวิไลซ์ใครๆ ก็รัก มองมุมไหนอะไรก็ดี ถ้าคนไทยเลือกมุมบวกในความทรงจำ

เรื่อง ทีมแซ่ด

กรองแก้ว ชัยฤกษ์
กรุงเทพฯ มีดีหลายอย่าง

พูดถึงความประทับใจ หากให้จำแนกคงไม่หวาดไม่ไหว น้องแนน หรือ กรองแก้ว ชัยฤกษ์ ผู้ประกาศข่าวสาวสวยแห่งช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ มีความพร้อม มีสถานศึกษาหลายแห่ง ที่ให้โอกาสทุกคนมีพร้อมสื่อการเรียนการสอน บุคลากร ห้องสมุด และศูนย์การเรียนรู้

ฉันรักกรุงเทพฯซีซัน8 กรองแก้ว

ความพร้อมด้านการคมนาคม ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวกสบายทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ

นอกจากนั้น กรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์รวมด้านวัฒนธรรมทุกเชื้อชาติ และศาสนา และยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมไปเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเยาวราชศูนย์รวมวัฒนธรรมจีน หรือพาหุรัด ศูนย์รวมวัฒนธรรมชาวซิกข์ ทั้งสองแห่งนี้แนนไปมาแล้วรู้สึกประทับใจ

น้องแนนแม้จะเป็นชาวจันทบุรี เลือกเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาตรีในกรุงเทพฯ เรียนจบก็ตั้งใจทำงานผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์มา 5 ปีกว่าแล้ว

เธอบอกว่า คนกรุงเทพฯ แม้จะมากมายไปด้วยผู้คนหลากหลายที่ แต่โดยภาพรวมคนส่วนใหญ่จิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีน้ำใจงาม เดินทางไปไหนมาไหนแม้จะไม่รู้จักสถานที่ แต่ก็ได้รับไมตรีจากผู้คนรอบข้างตลอดเวลา คือทุกคนพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับใครก็ได้ที่เจอปัญหา

“ประทับใจสวนรถไฟมากค่ะ” น้องแนนบอกถึงสถานที่สุดประทับใจ ใจกลางเมืองเพราะมีสภาพแวดล้อมดี อากาศดี มีต้นไม้มากมายร่มรื่นดูสบายตา ถึงแม้ผู้คนจะพลุกพล่าน แต่ใครได้ไปแล้วจะประทับใจไม่รู้ลืม

จุดขายของกรุงเทพฯ เธอประทับใจวัฒนธรรม ความจริงใจ และรอยยิ้มสยาม ผู้คนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี แม้จะผ่านเหตุร้ายๆ มาเยอะมาก แต่รอยยิ้มคนกรุงเทพฯ ยังเหมือนเดิม อดีตเป็นอย่างไรปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้น

“ใครว่าคนกรุงเทพฯ ใจดำ ใจแคบ เห็นแก่ตัว แนนขอเถียงไม่จริงค่ะ เท่าที่สัมผัสมาตลอดเวลาที่อยู่ในกรุงเทพฯ แนนรู้สึกประทับใจตลอดเวลา” เธอยืนยันอย่างหนักแน่น

ผูกพันกับกรุงเทพฯ มาก
อัญชิสา วัชรพล

มู่ลี่-อัญชิสา วัชรพล ทายาทหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ กำลังขึ้นชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์ ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้สึกผูกพันกับกรุงเทพฯ มาก เพราะค่าที่เกิดและโตที่นี่

ฉันรักกรุงเทพฯซีซัน8 อัญชิสา

“มู่เกิดที่วิชัยยุทธ เพราะเป็นโรงพยาบาลใกล้ๆ บ้าน ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเกิด มู่ชอบและรักประเทศไทยมาก เหมือนเป็นรากเหง้าของเรา บรรพบุรุษก็เกิดที่นี่ ทำไมเราต้องไม่รักประเทศด้วย มู่คิดว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีในหลวง พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ถ้าพูดถึงประเทศไทย มู่ก็คิดถึงในหลวงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะพระองค์คือสัญลักษณ์ของประเทศไทยสำหรับมู่ คือฝั่งตะวันตกไม่ค่อยมีวัฒนธรรมของเขา แต่ประเทศไทยมีศิลปวัฒนธรรมอันสวยงาม ผู้หญิงห่มสไบ บรรพบุรุษของเราอย่างบางระจันก็ปกป้องประเทศมาอย่างยากลำบาก เคยดูภาพยนตร์เรื่องบางระจันถึงกับน้ำตาไหล เห็นบรรพบุรุษปกป้องประเทศอย่างสุดชีวิตเพื่อให้ลูกหลานอยู่อย่างสุขสบายจนถึงทุกวันนี้”

ถนนสุโขทัย บริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา คือสถานที่ที่อัญชิสารู้สึกชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เหตุผลหนึ่งคือ บ้านเธออยู่แถวนั้น ต้องผ่านบริเวณนี้เป็นประจำ นั่งรถผ่านนั่งมองสวนข้างๆ ถนนรั้ววัง มีการตกแต่งอย่างสวยงาม โดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองอย่าง “วันพ่อ” และ “วันแม่” ตรงหัวมุมของถนนจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ประดับอยู่ ล้วนเป็นภาพที่งดงามมาก

“ตอนมู่เรียนปีหนึ่งต้องผ่านวัดพระแก้วเพื่อไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เห็นวัดพระแก้ว ตึกอันสวยงามของกระทรวงกลาโหมแล้วรู้สึกชอบมาก ดูเป็นเหมือนเมืองเก่า หรืออย่างนั่งรถผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วชอบมาก มองเข้าไปเห็นพระที่นั่งงดงามตระการตา เห็นลานพระบรมรูปทรงม้า อย่างถนนบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดามีความร่มรื่นสูงมาก นับเป็นถนนที่สวยที่สุดของกรุงเทพมหานคร เหมือนเป็นโอเอซีสกลางทะเลทราย มีต้นไม้ ดอกไม้สวยงามมาก”

คนฝั่งธนบุรี
แววดี ศรีไตรรัตน์
 

ถึงแม้แผ่นดินเกิดคือสหรัฐอเมริกา แต่นักธุรกิจสาวสวย โม-แววดี ศรีไตรรัตน์ ยืนยันความเป็นคนฝั่งธนฯ บ้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลูกสาวคนโตของ ครูเล็กภัทราวดี ปรมาจารย์ผู้ยิ่งยงแห่งวงการละครเวทีไทย โมบอกว่าคนย่านนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือรู้จักมักจี่กันไปหมดทั้งชุมชนย่านวัดระฆัง หากบอกว่าเป็นการทำลายกฎที่คนชอบคิดกัน (ไปเอง) ว่าสังคมเมืองสไตล์คนกรุงเทพฯ “ต่างคนต่างอยู่” ลงไปอย่างสิ้นเชิงก็คงว่าได้

ฉันรักกรุงเทพฯซีซัน8 แววดี

“ตอนเด็กๆ โมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เป็นคุณหนูที่เดินทางไปกลับโรงเรียนด้วยตัวเอง สบายดีค่ะ (หัวเราะ) ไม่ต้องมีคนไปรับไปส่งเพราะนั่งเรือข้ามฟากของคุณยาย (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) ไปเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ จนเข้าวัยพรีทีน คุณแม่ก็ส่งกลับไปเรียนไฮสกูลที่อเมริกา ซึ่งเวลาจะผ่านไปกี่มากน้อย โมก็ยังรู้สึกว่าฝั่งธนในอดีตเป็นอย่างไร วันนี้ภาพนั้นก็ยังฟรีทเป็นอย่างนั้นนะคะ แต่ก่อนเคยเห็นเด็กเล่นน้ำกระโดดลงเจ้าพระยา วันนี้ภาพนั้นโมก็ยังได้เห็นอยู่ทุกวัน” แววดี เริ่มต้นบทสนทนา

ความเป็นเมืองเก่าที่ควรค่าอนุรักษ์ของภาครัฐ ทำให้บรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่เปลี่ยนแปลง เรือเจ็ตสกีทันสมัยจ๋าๆ มีบ้างก็ไม่กี่ลำ ส่วนใหญ่เรือหางยาว เรือโยงบรรทุกทราย ก็ยังคงครอบครองเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำไม่จากหายกันไปไหน เป็นภาพตัดกันฉับกับความทันสมัยของสะพานแขวน พระรามแปด และเป็นภาพกรุงเทพฯ ในความทรงจำของใครหลายๆ คน

“ถ้าให้พูดถึงมุมบวกของกรุงเทพฯ คงเหมือนกับคนทั่วโลกนะคะ ว่า เมืองที่หาของกินง่าย อาหารการกินดีอร่อย ชีวิตเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย อยู่ที่นี่มีแม่บ้านรับใช้ดูแลต่างกับไปอยู่เมืองนอกที่ต้องทำเองทุกอย่าง แต่ถ้าอยากให้กรุงเทพฯ สมบูรณ์แบบกว่านี้ ก็คงเป็นคำตอบเดียวกันกับอีกหลายๆ คนนะคะว่า ระบบขนส่งสาธารณะเรายังไม่ดีเท่าไร ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่โมหมายถึงการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด โดยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง สะดวกที่สุดคือเครื่องบิน สุดสัปดาห์โมไปดูแลโรงแรม (พุทธรักษา) ที่หัวหินทุกๆ อาทิตย์ซึ่งก็ต้องขนลูกสาวลูกชาย สามี แม่บ้าน แถมบางอาทิตย์มีสุนัขอีก 23 ตัว โดยหนทางเดียวคือขับรถไปเอง

...หัวหินมีรถไฟ แต่ถ้าเรามีรถไฟที่ดีๆ ชีวิตก็จะสะดวกกว่านี้ แล้วไม่แค่ชีวิตดีๆ เฉพาะคนเมืองหลวง คนต่างจังหวัดก็จะได้อานิสงส์เรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวไปด้วย เมืองไทยมีสถานที่สวยงามมากมายนะคะ แล้วถ้าต้นทางดีๆ เริ่มต้นขึ้นที่กรุงเทพฯ คนไทยก็จะได้รับประโยชน์จากจุดนี้มหาศาล” แวว กล่าวแสดงความเห็นในสายตานักธุรกิจหญิง