posttoday

ทึ่ง!วงพังก์ "ดาวน์ซินโดรม" ตัวแทนประกวดยูโรวิชั่น

08 มีนาคม 2558

เราไม่อยากให้คนโหวตให้เราเพราะรู้สึกสงสารเรา เราไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ แค่คนธรรมดาที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเท่านั้น

โดย...ก้องภพ เทอดสุวรรณ

การได้รับการยอมรับจากสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเก่งสักแค่ไหนก็ตาม และยิ่งเป็นเรื่องยากอีกสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

อย่างไรก็ตาม ชาวฟินแลนด์ทั้งประเทศกลับเพิ่งทำสิ่งที่น่าทึ่งด้วยการเลือกวงพีเคเอ็น ซึ่งนักดนตรีมีความบกพร่องทางสมองทั้งวง เป็นตัวแทนคนทั้งประเทศเพื่อไปประกวดในเวทียูโรวิชั่น กรุงเวียนนา ในเดือน พ.ค.นี้

พีเคเอ็นเป็นวงพังก์ร็อก มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน เป็นชายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ทั้งอาการดาวน์ซินโดรม และออทิสติก มิหนำซ้ำยังอยู่ในช่วงวัยกลางคนราว 40 ปลายๆ อีกด้วย เนื้อหาของเพลงยังคงแบบฉบับของความเป็นพังก์ร็อกไว้ได้ดีเยี่ยม คือเสียดสีและต่อต้านสังคม

วงพีเคเอ็นเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี 2009 โดย เพิร์ตตี คูริกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นมือกีตาร์ เริ่มฟอร์มวงสำหรับแสดงในงานกุศลสำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านการพัฒนาด้านสติปัญญา คูริกันเริ่มแต่งเพลงโดยใช้พาวเวอร์คอร์ดเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า “คัลลิโอ” อันเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานในกรุงเฮลซิงกิ ของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านของคูริกันด้วยเช่นกัน

“ฉันไม่อยากอยู่ที่โรงพยาบาล ฉันอยากอยู่ที่คัลลิโอ... ฉันคิดถึงความนับถือ และความเสมอภาคของชีวิต”

อีก 3 ปีต่อมา เรื่องราวของวงพังก์ร็อกถูกนำไปถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “เดอะพังก์ ซินโดรม” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวันของผู้บกพร่องทางสมองและแสดงออกความขมขื่นผ่านดนตรี และกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้วงพีเคเอ็นโด่งดังขึ้นมา

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วงดนตรีซึ่งประกอบด้วย คาริ อัลโต (นักร้อง) และ โทนี วาลิตาลอน (มือกลอง) รวมถึง ซามิ เฮลล์ (มือเบส) ก็มีผลงานเพลงออกมาราว 5 ชิ้น ทั้งซิงเกิ้ลและอัลบั้ม อีกทั้งยังมีโอกาสได้ไปแสดงคอนเสิร์ตต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

เฮลล์ มือเบสของวง กล่าวว่า พีเคเอ็นต้องการต่อต้านสังคมในแบบที่แตกต่าง โดยที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องการเมือง แต่แค่อยากเปลี่ยนทัศนคติของคนเท่านั้น

“เราไม่อยากให้คนโหวตให้เราเพราะรู้สึกสงสารเรา เราไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ แค่คนธรรมดาที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเท่านั้น” เฮลล์ กล่าว

ด้าน อัลโต นักร้องของวง กล่าวว่า ทุกคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญาต้องกล้าบอกกับสังคมว่าต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร

ทึ่ง!วงพังก์ "ดาวน์ซินโดรม" ตัวแทนประกวดยูโรวิชั่น

เพลงของวงพีเคเอ็นเป็นภาษาฟินนิชทั้งหมด ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะต่อต้านพฤติกรรมของคนปกติต่อผู้ที่มีความบกพร่องทางสมอง เนื้อหาของเพลงบอกเล่าประสบการณ์ของการถูกเลือกปฎิบัติจากสังคม เช่นเพลง “พูเฮวิกา” ซึ่งมีเนื้อหาว่า “ฉันต้องกินอาหารหมูในโรงพยาบาลโรคจิต ฉันปิดปากฉันไว้ ไม่อย่างนั้นพวกมันจะทุบฉันแน่”

นิตยสารวงการดนตรีของฟินแลนด์ เอฟเอ็มคิว ระบุว่า ความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของพีเคเอ็น ทำให้วงดนตรีนี้เป็นวงดนตรีเสียดสีการเมืองอย่างแน่นอน ไม่ว่าสมาชิกในวงจะชอบหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ เพลงที่วงพีเคเอ็นใช้ประกวดคือเพลง “ไอนา มุน พิตา” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่น่าสนุก เช่น การล้างจาน และการต้องทานอะไรซ้ำๆ

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาตลอดความยาว 90 วินาที ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการย้ำว่า “ฉันไม่อยากทำ!” ซึ่งทำให้คะแนนนิยมในเว็บไซต์ “วีวิบล็อกส์” ได้เพียง 1 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และมีคนแสดงความเห็นว่า “นี่มันไม่ใช่เพลง แต่เป็นเสียงดังหนวกหูที่มีเรื่องราวปูมหลังต่างหาก”

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงดังกล่าวเป็นเพลงที่ร้องตามได้ง่ายมาก

นอกจากนี้ วงพีเคเอ็นยังปฏิเสธที่จะใส่ชุดตามแบบและสไตล์ของยูโรวิชั่น และยืนยันจะไม่เปลี่ยนชุดสำหรับการแสดงระดับทวีปครั้งนี้อีกด้วย

“มันคือพังก์ร็อก มันเป็นสไตล์เดียวที่เราจะใส่ เราไม่ต้องการจะเปลี่ยนใคร แล้วก็ไม่ต้องการให้ใครมาเปลี่ยนเรา”

ด้าน ทอยโว เมิกคินนีมี ผู้จัดการวง กล่าวว่า วงพีเคเอ็นต้องการที่จะเปลี่ยนโลกด้วยเพลงและดนตรี และอยากเป็นตัวอย่างให้กับคนที่มีความบกพร่องอื่นๆ

ชาวฟินแลนด์กำลังพนันสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนทั้งชาติมาก สำหรับการเลือกวงพีเคเอ็นเป็นตัวแทนคนทั้งประเทศไปประกวดในระดับทวีป แน่นอนหากพีเคเอ็นชนะย่อมนำความภาคภูมิใจมาสู่ฟินแลนด์ แต่หากแพ้ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งนี้ได้พิสูจน์น้ำใจของคนฟินแลนด์ทั้งชาติไปแล้ว

ทึ่ง!วงพังก์ "ดาวน์ซินโดรม" ตัวแทนประกวดยูโรวิชั่น

 

ทึ่ง!วงพังก์ "ดาวน์ซินโดรม" ตัวแทนประกวดยูโรวิชั่น