posttoday

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

31 มกราคม 2558

20 กว่าปีมาแล้วการเรียกร้อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทย

20 กว่าปีมาแล้วการเรียกร้อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยได้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวอย่างต่อเนื่อง ทว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเพียงเสียงกระซิบของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เคยก้องในหัวใจใคร กระทั่งวันหนึ่งเมื่อคนบันเทิงผู้มีใจรักและเมตตาสัตว์ได้เข้ามาช่วยผลักดันเรื่องดังกล่าวร่วมกับเหล่าอาสาสมัครอย่างจริงจัง พวกเขาสามารถเชื่อมโยงความรักจากผู้คนที่มีต่อสัตว์ รวมเป็นเครือข่ายใหญ่โต เพื่อส่งเสียงเรียกร้องเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ จนดังสนั่น...

สุดท้ายเรื่องราวของการเรียกร้องที่ยาวนานมาถึงจุดที่มองเห็นทางออก รัฐบาลในปัจจุบันได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ขึ้นในวันที่ 26 ธ.ค. 2557 เพื่อวางระเบียบบังคับในเรื่องของการทารุณสัตว์ทุกชนิดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกที่มีขึ้นในอาเซียนซึ่งครอบคลุมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ แต่ทว่างานของพวกเขายังไม่จบสิ้น เพราะนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

 

พวกเขายังคงมุ่งมั่นในจุดยืนอย่างต่อเนื่อง เปิดหน้าท้าชนกับคนที่กระทำผิดในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะการประกาศข่าวลงตามสื่อออนไลน์บอกเล่าเรื่องราวถึงกฎข้อบังคับเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ หรือแม้แต่เดินหน้าเอาผิดกับผู้ที่ทารุณสัตว์ อย่างเหตุการณ์ล่าสุดอย่างการตามล่าผู้กระทำผิดยิงสุนัขจนเสียชีวิตซึ่งเป็นคลิปเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ เก๋-ชลลดาเมฆราตรี ดารานางแบบ ประธานมูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา) หนึ่งในผู้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ได้เดินหน้าเอาผิดกับคนที่ปรากฏในคลิป เกิดเป็นกระแสกดดันกระทั่งสามารถนำไปสู่การมอบตัวของผู้ก่อเหตุ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อไฟบนกองฟางที่สะท้อนสะเทือนสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

“ต้องขอย้อนไปปี 2553 ก่อนที่เก๋จะเริ่มทำมูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา) ในเวลานั้นก็มีคนที่สังคมรู้จักมาผลักดันเรื่องนี้อยู่เยอะมาก ซึ่งเราก็ต้องพูดตรงๆ เลยว่าเมื่อดารา นักร้อง หรือเซเลบริตี้ ที่มีคนรู้จักในสังคมหลายๆ คน เข้ามาช่วยในเรื่องนี้มันก็ทำให้เสียงเชิญชวนมีอิทธิพล ซึ่งนั่นเป็นข้อดีที่ทำให้คนหมู่มากยอมรับ แล้วเมื่อเราเห็นว่ามีคนเหล่านี้อยู่เยอะเราก็รู้สึกว่าถ้าพวกเรามารวมกันมันจะมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือเรื่องหมาแมวหรือสัตว์ได้เยอะ วันดีคืนดีเราก็คิดว่าน่าจะมีกลุ่มคนบันเทิงที่ทำเรื่องที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงพูดแทนพวกสัตว์ มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เก๋ก่อตั้งมูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา)ขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นการบอกต่อให้ผู้คนตระหนักในเรื่องต่างๆ ของสรรพสัตว์ยากไร้ ซึ่งนั่นเป็นจุดยืนที่ทำให้เราอยากทำสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม”

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

 

เมื่อก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียง ทางมูลนิธิเองมีจุดยืนมุ่งมั่นที่จะผลักดันกฎหมายแห่งความเมตตา ซึ่งเสียงของเหล่าดาราที่มาเข้ารวมกับทาง The Voice (เสียงจากเรา) ก็กังวานเหลือเกิน เพียงแค่ 3 สัปดาห์ ที่ทางเครือข่ายลงสื่อประชาสัมพันธ์สามารถขอความรวมมือลงรายชื่อจากประชาชนกว่า 1.4 แสนราย เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นเพื่อหยุดการกระทำทารุณต่อสัตว์

“ในฐานะที่เก๋ทำงานเป็นอาสามาหลายปี เราดีใจมากที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา เพราะที่สุดนี่คือก้าวแรกของประเทศไทยที่เรามีกฎหมายแห่งความเมตตาหรือ พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ขึ้น ซึ่งมีกฎลงโทษผู้กระทำผิดต่อสัตว์ ซึ่งก้าวต่อมามันจะดีมากถ้าเกิดมีข้อบังคับที่ครอบคลุมกว่านี้ และมีหน่วยงานของรัฐที่ทำเรื่องนี้จริงจัง ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหน่อยให้สมบูรณ์แบบ แต่ถึงตอนนี้เมื่อมี พ.ร.บ.ขึ้นมา คนก็เกรงกลัวและมีความระแวดระวังมากขึ้น ซึ่งจากที่เราเป็นอาสามาเรื่องร้องเรียนที่รุนแรงก็น้อยลง

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

 

เก๋ก็ต้องวิงวอนต่อประชาชนตรงนี้เลยว่าไม่ใช่แต่หมาแมวที่กฎหมายคุ้มครอง สัตว์ทุกชีวิตที่เรานิยามเขาว่าเป็นสัตว์สามารถใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เอาผิดผู้กระทำผิดได้หมด ซึ่งโทษก็จะมีทั้งจำทั้งปรับคือปรับเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000-4 หมื่นบาท โทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งตอนนี้ทางเครือข่ายเราก็พยายามผลักดันให้ผู้คนรับรู้เรื่องของ พ.ร.บ. เฉกเช่นเดียวกับที่เราเข้าใจ” เก๋ ชลลดา พูดทิ้งท้าย

ระหว่างสนทนาสาวเจ้ามักจะพูดเสมอว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนมีส่วนช่วยกันเพราะการทำงานอาสาดาราแต่ละคนก็เปรียบเหมือนเป็นเทียนหนึ่งเล่มที่จุดแล้วส่งต่อกันไป เพียงแต่โชคดีที่เทียนเล่มที่เก๋ถืออยู่เปลวไฟแรงพอที่จะจุดต่อให้ผู้คนได้มากมาย ซึ่งแน่นอนว่าแสงเทียนเล่มอื่นก็ทำหน้าที่เฉกเช่นเดียวกัน และหนึ่งในนั้นก็รวมถึง โก๋เอ็ม-กิตติพงษ์ คำศาตร์แห่งวงดนตรีสุดเฟี้ยว “บุดด้า เบลส” ผู้เป็นอาสาสมัครที่ทำงานช่วยเหลือสัตว์มากว่าสิบปี ทั้งยังเป็นเจ้าของรายการ “หมากาพย์ หมาจร” ที่ออกอากาศทางทรู วิชั่นส์ช่อง 70 ซึ่งเป็นทีวีรายการแรก ที่นำเอาเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ เข้าไปบังคับใช้กับผู้กระทำผิดซึ่งเจ้าตัวได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้แบบติดตลกว่า

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

 

“คือเมื่อ พ.ร.บ.ถูกบังคับใช้ ผมเหมือนคนเก็บกดเลยนะ เมื่อก่อนเราเห็นสุนัขถูกล่ามโซ่ปล่อยให้เป็นโรคผอมเหลือแต่หัวอยู่กับขี้กับเยี่ยว เราเป็นอาสาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิจะเอาสุนัขออกมาดูแลเพราะมันมีเจ้าของและไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ตอนนี้มันสามารถทำได้แล้ว คือใน พ.ร.บ.ระบุไว้เลยว่าหากเลี้ยงดูไม่ดีก็คือการทารุณสัตว์ แค่เราถ่ายรูปเป็นหลักฐานเราสามารถเข้าไปเอาตัวหมาออกมาดูแล แล้วดำเดินคดีกับผู้เลี้ยงได้เลย ตอนนี้ผมเลยเห่อใช้ พ.ร.บ.มาก ทำตัวเหมือนอีลูกช่างฟ้องเลย ใครเลี้ยงไม่ดีใครทารุณสัตว์ผมหาหลักฐานแล้วเอาตำรวจไปจับเลย เพราะฉะนั้นเลี้ยงกันดีๆ หากผมเห็นใครเลี้ยงไม่ดีนะโดน” โก๋เอ็มหัวเราะลั่น ก่อนเล่าต่อด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า

“ผมว่ามันเป็นของขวัญปีใหม่ที่ดีให้กับคนรักสัตว์เลยนะรวมถึงพวกสัตว์เองด้วย เพราะพอมีแบบนี้เราว่ามันช่วยได้มากนะ แต่จะช่วยได้มากกว่านี้ก็ต้องขึ้นอยู่ที่จิตใจมนุษย์ด้วย ต้องช่วยเป็นหูตาให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง พบเจอพบเห็นก็ต้องแจ้งให้เข้าไปช่วยเหลืออย่าไปเกรงกลัว ซึ่งเราก็รู้ว่าเรื่องนี้มันใหม่คนยังไม่รู้ก็เลยคิดว่าเรื่องไม่ใช่ไม่เอาตัวเข้าแลก เราในฐานะเป็นสื่อ เป็นนักร้อง เราก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจใหม่ ซึ่งแน่นอนมันต้องใช้เวลาในการทำงานอีกระดับให้ผู้คนรับรู้ ซึ่งตอนนี้ิโลกโซเชียลก็ช่วยได้เยอะ ดารานักแสดงเองก็ออกมาเปิดหน้าลุยเรื่องนี้หลายคนซึ่งแต่ละคนก็ทำงานกันจริงจังมาก มันจึงช่วยสร้างกระแสสังคมให้ผู้คนรับรู้เรื่องของสวัสดิภาพสัตว์”

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

 

 ก่อนที่หนุ่มมาดเท่จิตใจงามจะพูดปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า มันมีคำพูดของมหาตมะคานธีอยู่คำหนึ่งที่ว่า หากจะดูคนในประเทศให้ดูว่าจิตใจถูกยกระดับแล้วหรือยัง ให้ดูว่าพวกเขาปฏิบัติต่อสัตว์เช่นไร ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อนชี้ของเขาอย่าง ป๊อบ-ปองกูล สืบเชื้อ ก็คิดไม่ต่างกัน เพราะเจ้าตัวก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าใคร ทั้งจัดงานคอนเสิร์ต จัดงานการกุศล เพื่อหาเงินช่วยทางมูลนิธินำเงินมาช่วยเรื่องหมาจรอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวเขาก็เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาก่อน ซึ่งนั่นเป็นเหมือนแรงผลักให้เขาเองลงมาทำงานในเรื่องนี้แบบจริงจัง ซึ่งนักร้องเสียงละมุนเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“ตอนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยมันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำฝังใจเลย คือที่มหาวิทยาลัยช่วงรับปริญญาจะต้องใช้สถานที่ซึ่งบริเวณนั้นจะมีหมาจรจัดอยู่เยอะมาก แล้วเขาก็แก้ปัญหาด้วยการฆ่า ซึ่งมันเกิดขึ้นทุกปี ผมเองเมื่อเห็นก็รู้สึกว่ามันไม่ถูก ผมเลยเข้าไปคุยกับมหาวิทยาลัยเขาก็ให้ผมหาวิธีแก้ปัญหามาผมก็หาทางช่วยซึ่งสิ่งที่ผมทำคือการหาอาสาสมัครมารับผิดชอบในการย้าย ปรากฏว่าผมหาคนได้ครบแล้วกำลังจะเข้าไปย้าย แต่ทางมหาวิทยาลัยเขาก็ฆ่าสุนัขหมดเลย ซึ่งถ้าเขาปล่อยให้เราย้ายก็ไม่ต้องมีการสูญเสีย เหตุการณ์นี้มันเลยสะท้อนให้เห็นเลยว่าหากเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์เกิดขึ้นในเวลานั้น ผมซึ่งเป็นแค่นักศึกษาก็สามารถหยุดเรื่องแบบนั้นได้ ซึ่งตอนนั้นผมก็เรียกร้องเรื่องนี้อยู่ 4 ปี จนเรียนจบมหาวิทยาลัยซึ่งแต่ก็ไม่เป็นผล”

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา

 

เรื่องดังกล่าวเป็นเหมือนสิ่งที่ติดอยู่ในใจเขามาโดยตลอด ทำให้เมื่อมีโอกาสช่วยผลักดันในเรื่องดังกล่าวตัวเขาเองจึงจริงจังอย่างมาก ให้ความมีชื่อเสียงช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เกิดการตื่นตัว อย่างเช่นทุกวันนี้เมื่อต่อสู้มายังจุดที่ พ.ร.บ.เป็นจริง เขาเองก็ยังคงไม่หยุดที่จะเป็นประชาสัมพันธ์ของบรรดาหมาจรจัด เพราะรู้ว่าสิ่งนี้คือเครื่องมือที่จะช่วยชีวิตหมาจรจัดที่ไม่มีใครเหลียวแล

“พอถึงวันนี้เมื่อมี พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์เกิดขึ้นผมเชื่อว่า จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนการมองสัตว์ไปอีกแบบหนึ่ง เราจะมองพวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตร่วมโลก เพราะโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งมีชีวิตทุกอย่างไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ทุกชีวิตมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งมันเป็นความชอบธรรมที่พวกเขาต้องได้ พอมี พ.ร.บ.แบบนี้ ทุกชีวิตก็จะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข” ศิลปินหนุ่มหุ่นน่ากอดพูดทิ้งท้าย

 ถึงตรงนี้ท้ายที่สุดแล้วคงไม่ใช่เพียงแต่บรรดาเหล่าคนมีชื่อเสียงที่ต้องทำงานในเรื่องนี้ ถ้าอยากให้การทารุณสัตว์หายไปหรือน้อยลงจากประเทศไทย เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ทารุณต่อสัตว์ไม่ว่าจะประเภทไหน สามารถเข้าไปปรึกษาสอบถามข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/thevoiceforanimals

เสียงจากคนบันเทิง สู่กฏหมายแห่งความเมตตา