posttoday

ไอ เลิฟ อีดีเอ็ม !?

07 ตุลาคม 2557

สมัยที่เรายังเป็นวัยรุ่น (อะแฮ่ม ก็เมื่อไม่นานมานี่เอง) ในวงการดนตรีก็มีคำว่า “อิเล็กทรอนิก้า” เกิดขึ้นมาใหม่

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง

สมัยที่เรายังเป็นวัยรุ่น (อะแฮ่ม ก็เมื่อไม่นานมานี่เอง) ในวงการดนตรีก็มีคำว่า “อิเล็กทรอนิก้า” เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้เรียกแนวทางดนตรีร่วมสมัยซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นจากเครื่องเคราดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ วันนั้น อิเล็กทรอนิก้า ซึ่งเป็นคำเก๋ไก๋ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ผู้ใช้ดูเดิร์นขึ้นไปอีกหลายขีด ส่วนตัวแนวทางดนตรีนั้นก็สุดฮอตจะเรียกว่าครองโลกก็ย่อมได้ ในบ้านเรา อิเล็กทรอนิก้า ก็เป็นกระแสคลั่งไคล้กันอยู่ไม่น้อยในช่วงนั้น กาลเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบันที่อิเล็กทรอนิก้าเก่าและเชยไปแล้ว ถ้าใครอยากเดิร์นก็ต้อง “อีดีเอ็ม”

อีดีเอ็ม (EDM) มาจาก Electronic Dance Music เป็นคำที่การตลาดดนตรีแดนซ์ในสหรัฐ ใช้เพื่อจำกัดความถึงเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ที่ผสมผสานหลากหลายแนวทางแยกย่อยเข้าไว้ด้วยกัน ซูเปอร์ดีเจและอาจารย์พิเศษวิชาดนตรีอย่าง “ซี้ดนรเศรษฐ์ หมัดคง” ได้สละเวลามีค่ามาเล่าให้ฟังว่า

อีดีเอ็มไม่ได้ใหม่ เพราะใช้มาได้สักพักแล้ว อีกทั้งถ้าขุดลึกกันไปถึงรากจริงๆ แล้ว อีดีเอ็มก็เหมือนดนตรีร่วมสมัยอื่นๆ ที่ต่างเกิดจากการนำของเก่ามาผสมผสาน และกระแสความนิยมในดนตรีก็จะผันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แนวทางดนตรีเก่าๆ จะเวียนกลับมาได้รับความนิยมเป็นวาระๆ ไป ไม่ว่าจะถูกนำกลับมาใช้แบบตรงๆ หรือผสมผสานกับสิ่งใหม่เข้าไป

ในปี 2000 ซึ่งเป็นยุคที่ฮิปฮอปกลับมาป๊อปและครองโลก จนเมื่อถึงขีดสุดแล้ว วงฮิปฮอปอย่าง แบล็ค อายด์ พีส์ ก็ได้นำเทคโนของยุค 1980 มาผสมกับฮิปฮอปแล้วเรียกว่า ดนตรีนิวเวฟหรือฮิปเฮาส์ (ให้ลองฟังเพลง The Time) ขณะที่เลดี้กาก้าก็ไปจับดนตรีอิเล็กโทรในยุค 1980 มาใช้ในเพลงของตัวเอง กลายเป็นอิเล็กโทรเฮาส์ นั่นจึงส่วนหนึ่งที่ทำให้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กลับมาอีกครั้ง รวมถึงงานดนตรีจากยุค 1990 อย่างโปรเกรสซีฟเฮาส์ของ พอล โอกเคนโฟลด์ หรืองานแบบ พอล แวน ไดก์ ก็อยู่ในกระแสอีกครั้ง

ไอ เลิฟ อีดีเอ็ม !?

 

ระหว่างนั้นดั๊บสเตปก็ปรากฏตัวอีกครั้ง “เมื่อ สกิลเรกซ์ นำดั๊บสเตปแบบเรียลๆ มาผสมกับเทคโน มันก็กลายเป็นแมสขึ้นมาทันที” ระหว่างนั้นดีเจอย่าง เดวิด เกตต้า ซึ่งตาม ดาฟต์พังก์ วงอิเล็กโทรหรือเฟรนช์เฮาส์หรือฟังกี้เฮาส์มา เขาได้จับคู่ทำงานกับ วิล.ไอ.แอม แห่ง แบล็ค อายด์ พีส์ จึงเป็นการมาพบกันของฮิปเฮาส์มาพบกับฟังกี้เฮาส์ ตอนหลังก็มีดีเจหลายคนทำเพลงให้มีบางช่วงเบรกเป็นสเตปมาผสมผสาน อีกท่อนหนึ่งเป็นดนตรีทรานซ์ ท่อนหนึ่งเป็นเทคโน อีกท่อนเป็นโปรเกรสซีฟเฮาส์ เป็นต้น

“พอมันผสมผสานกันอย่างนี้นักการตลาดฝั่งอเมริกาไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็เลยเอาคำว่า อิเลคทรอนิค แดนซ์ มิวสิค มาเป็นคำเรียกเพลงที่มีความหลากหลายในหนึ่งเพลง เพลงที่มีทั้งเทคโน โปรเกรสซีฟเฮาส์ ดั๊บสเตป เฮาส์ ฯลฯ เพลงยาว 56 นาที มี 5 จังหวะอยู่ในนั้น เลยเรียก อิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค แล้วมาย่อว่า อีดีเอ็ม คำนี้ดูจะแพร่หลายและใช้ในฝั่งอเมริกา ขณะที่ฝั่งอังกฤษไม่รับอีดีเอ็มเท่าไหร่”

ในช่วงที่กระแสดนตรีอื่นๆ ตกลงไป ดนตรีเต้นรำก็ได้โอกาสกลับมาอีกครั้ง และอีดีเอ็มก็ถูกดันออกมาให้ครองโลกโดยมีเทศกาลดนตรีแดนซ์เป็นปัจจัยส่งเสริม แดนซ์มิวสิคเฟสติวัล อย่างเช่น Tomorrowland, Future Music Festival, Electric Daisy Carnival ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีดนตรีอีดีเอ็มเป็นหลัก

สำหรับบ้านเราที่เพลงเต้นรำเคยถูกเรียกรวมว่า “เพลงตื๊ด” ตอนนี้จึงมี “อีดีเอ็ม” มาให้เรียกแทน ดีเจซี๊ดบอก อย่างน้อยที่สุดอีดีเอ็มก็ดีต่อแวดวงดนตรีบ้านเรา เพราะคนได้รู้จักกับ “เรียล แดนซ์ มิวสิค ไม่ใช่เพลงเต้นแอโรบิกหรือเพลงรถบัมพ์ ทำให้เราหลุดจากเพลงฮิตเพลงป๊อปที่นำไปรีมิกซ์ เพลงที่เปิดในคลับบ้านเราก็จะเหมือนกับที่เปิดในทั่วโลก เพียงแต่ว่าใครจะเลือกเวอร์ชั่นไหน เวอร์ชั่นแบบเรียล หรือฟังง่ายเป็นโวคอล ก็อยู่ที่รสนิยมและพื้นฐานความรู้”

ไอ เลิฟ อีดีเอ็ม !?

 

ด้วยกระแสอีดีเอ็มทำให้ในบ้านเรามีดีเจระดับโลกเดินทางมาเปิดการแสดงเป็นว่าเล่น คอนเสิร์ตเพลงแดนซ์หรือเทศกาลใหญ่ๆ ก็เกิดขึ้นเพื่อคออิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค โดยเฉพาะ ขณะที่ต่างประเทศอีดีเอ็มก็ดูเหมือนกำลังจะเฟด

“แต่ในอีกมุมหนึ่ง กระแสอีดีเอ็มก็น่าเบื่อ ตรงที่มันโหล ไปที่ไหนก็ได้ยินได้ฟังเหมือนกันหมด ดีเจอีดีเอ็มก็เล่นเพลงเหมือนๆ กันหมด เพียงแต่ว่าใครจะจัดตำแหน่งไว้ตรงไหน สุดท้ายแล้วมันก็จะไม่สนุก ตอนนี้อีดีเอ็มก็กำลังจะอิ่มแล้วทิศทางมันก็จะเปลี่ยน อย่าง ดีเจฮาร์ดเวลล์ ตอนนี้ก็กระโดดไปสู่ฮาร์ดสไตล์ คือ เพลงที่เร่งเร็วประมาณ 130 BPM (Beats Per Minute=ครั้งต่อนาที) ฟังค่อนข้างยากเหมือน ดรัม แอนด์ เบสส์ เป็นเทคโนล้วนๆ หนัก แม้จะมีเสียงร้องอยู่ก็ตาม ซึ่งคนไทยกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่จะฟัง

ตอนนี้ที่อังกฤษดนตรี ดรัม แอนด์ เบสส์ กลับมา ที่อเมริกากับยุโรปก็ไปสู่ฮาร์ดสไตล์ แต่บ้านเราอีดีเอ็มยังอยู่ อีดีเอ็มมันถูกสร้างให้เป็นกระแส สักว่าหนึ่งคนก็จะทิ้งมันไปโดยไม่ไยดี เขาไม่รู้ว่า ที่ดีเจเล่นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ อีดีเอ็มนั่นแหละ เพียงแต่ว่าดีเจจะเปิดเป็นเซตยาวๆ เป็นเฮาส์ เป็นเทคโน แบบ 1 หรือ 2 ชั่วโมง ไม่ใช่ใน 1 เพลงมีทุกอย่าง เมื่อคนไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้รายละเอียด ของดีๆ ที่กลายมาเป็นกระแสก็จะถูกทิ้งไปอย่างไร้คุณค่าเมื่อคนไทยเบื่อ”

วันนี้ คนฟังเพลงยัง “เลิฟอีดีเอ็ม” แต่ไม่รู้จะรักอีกนานแค่ไหน