posttoday

100 ปี ครูเพลง ‘สมาน กาญจนะผลิน’

05 ตุลาคม 2557

หากจะหาวาระใดเพื่อที่จะเขียนถึงครูเพลงแห่งสยามประเทศ นามว่า “สมาน กาญจนะผลิน”

โดย...เสน่ห์จันทน์

หากจะหาวาระใดเพื่อที่จะเขียนถึงครูเพลงแห่งสยามประเทศ นามว่า “สมาน กาญจนะผลิน” คงจะไม่มีกาลใดเหมาะเท่ากับนี้อีก เพราะปีนี้นับเป็นโอกาสครบ 100 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล “กาญจนะผลิน”

กว่า 3,000 บทเพลง ที่ศิลปินครูเพลง สมาน กาญจนะผลิน ได้ประพันธ์ทำนองเพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน โดยร่วมกับผู้ประพันธ์คำร้องอีกหลายท่าน หลายบทเพลงของท่านยังถูกนำมาขับร้องโดยศิลปินรุ่นหลัง อาทิ “รักชั่วชีวิต” “หลงเงา” “รักในใจ” “เอื้องดอกฟ้า” “พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ” “ถ้าฉันจะรักคุณ” “รักประดับชีวี” “สายน้ำผึ้ง” “รักปักใจ” “ทุ่งรวงทอง” “อาลัยรัก” “หนาวตัก” ฯลฯ

ครูสมาน (10 มี.ค. 246425 มิ.ย. 2538) มีพื้นฐานด้านดนตรีไทยเดิมมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากบิดาเป็นหัวหน้าวงดนตรีไทย และได้เข้าเรียนวิชาดนตรีที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร ศึกษาดนตรีไทย ดนตรีสากล และการเรียบเรียงเสียงประสาน ได้ก่อตั้งวงดนตรีของตัวเอง ชื่อ “วงดนตรีกาญจนศิลป์” ร่วมกับ “ประสิทธิ์ พยอมยงค์” และ “จำนรรจ์ กุณฑลจินดา” ในปี 2489 ต่อมาในปี 2497 ได้ย้ายไปร่วมวงดนตรีประสานมิตร วงดนตรีวรรณเกษม แล้วย้ายไปเป็นหัวหน้าวงดนตรีของธนาคารออมสิน และวงดนตรีของโรงงานยาสูบ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

ในปี 2531 ครูสมานได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2531 ได้ประพันธ์เพลงไทยสากลไว้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เพลงปลุกใจ เพลงเพื่อจริยธรรม ศาสนา เพลงสำหรับเด็กลูกเสือ เนตรนารี เพลงประกอบภาพยนตร์และละคร

บทเพลงแรกที่ครูสมานแต่งทำนองเอง คือ “เพลงกลิ่นเนื้อนาง” โดย “สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์” เป็นผู้แต่งคำร้อง และ “ชาญ เย็นแข” เป็นผู้ขับร้อง โดยอาศัยทำนองจากเพลงไทยเดิม ชื่อ เพลงดาวทอง

ผลงานที่โด่งดังที่สุดคือ “รักคุณเข้าแล้ว” แต่งร่วมกับ “สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์” ขับร้องโดย “สุเทพ วงศ์กำแหง” ปี 2498

อีกหนึ่งบทเพลงที่จะไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้นั้นคือเพลง “ที่รัก” เพลงรักแสนหวานในแบบไทยสไตล์ครูสมาน ที่ยากจะหาใครเทียบ โดยเฉพาะวรรคทองของเพลงนี้ในท่อนแยก

“อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้

พอรุ่งสางก็จางหายไป รู้แน่แก่ใจได้แต่ระทมชีวี...”

100 ปี ครูเพลง ‘สมาน กาญจนะผลิน’

 

สำนวนที่ว่ากันว่า “ชุบน้ำผึ้งแท้” ของ “สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์” สุดยอดฝีมือด้านคำร้องคู่ใจครูสมาน บทเพลงที่รักบันทึกเสียงครั้งแรกปี 2497 ต้นฉบับเสียงร้องคนแรกคือ “ชรินทร์ นันทนาคร”

ผลงานของครูสมาน มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “สังคีตประยุกต์” เป็นการนำดนตรีไทยมาบรรเลงผสมผสานกับดนตรีสากล โดยได้แรงบันดาลใจจากสถานการณ์ที่ขณะนั้นอารยธรรมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการดนตรีในประเทศ ครูสมานได้พยายามที่จะหาแนวร่วมในการประสานวัฒนธรรมทั้งสองแบบนี้ให้ดำเนินไปด้วยกันได้ เพลงที่มีชื่อเสียงเช่น เพลง “วิหคเหิรลม” “ง้อรัก” “จูบเย้ยจันทร์” “นกเขาคูรัก” “สัญญารัก” “ท่าฉลอม” “แสนแสบ” ส่วนใหญ่เป็นผลงานแต่งร่วมกับศิลปินท่านอื่น เช่น “สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์” “เกษม ชื่นประดิษฐ์” “ชาลี อินทรวิจิตร”

“ศรีไศล สุชาตวุฒิ” ศิลปินหญิงที่มีพลังเสียงสุดโรแมนติก เป็นต้นแบบศิลปินเพลงรัก เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้ร่วมงานครูสมานอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ไล่ยาวมาจนถึงร่วมงานกับวงกาญจนะผลิน ที่ดูแลโดยรุ่นลูก อย่างงานที่เพิ่งผ่านมาก็คือร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้ถ่ายทอดบทเพลงผลงานของครูสมาน ในคอนเสิร์ต “100 ปี กาญจนะผลิน” ซึ่งคอนเสิร์ตถูกจัดขึ้นโดยทายาทครูสมาน กาญจนะผลิน ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทฯ และกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล “กาญจนะผลิน”

“เราร่วมงานกันมาบ่อยมากๆ ในปัจจุบัน หมายถึงกับลูกๆ ของครูสมานนะคะ แล้วกับตัวครูสมาน กาญจนะผลิน เนี่ย หรือที่ปกติจะเรียกน้าหมาน น้าหมานเหมือนเป็นอาจารย์ในทางเพลงของศรีไศลเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะว่าได้ร้องเพลงของน้าหมานหลายเพลงมาก อย่างเช่น เพลงถ้าฉันจะรัก รักประดับชีวัน และอีกหลายเพลง

แล้วอีกหนึ่งความประทับใจ คือ น้าหมานเคยแต่งทำนองเพลงให้ศรีไศลด้วย คือตอนนั้นเราเขียนเนื้อเพลงขึ้นมาเองเพลงหนึ่ง แล้วให้น้าหมานแต่งทำนองให้ แต่นานมากแล้วละค่ะ เป็นเพลงรัก แต่เพราะเราดูเนื้อเพลงแล้วรู้สึกมันยังไม่สมบูรณ์ก็เลยยังคงเก็บไว้ เพลงก็ไม่ได้ออกมาให้ใครได้ฟังซะที จนถึงวันนี้ค่ะ

ทุกครั้งที่ได้รับเชิญมาร่วมคอนเสิร์ตรำลึกถึงครูสมาน อย่างครั้งนี้รู้สึกปลื้มยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ตอบแทนและระลึกถึงครู ทำให้รู้สึกคิดถึงวันเก่าๆ ตั้งแต่สมัยครูสมานยังมีชีวิตอยู่ แล้วเคยได้ไปร้องเพลง เคยได้ไปต่อเพลงใหม่ๆ แล้วน้าหมานจะเป็นคนเล่นเปียโน แล้วเราเป็นคนร้อง”

แม้ครูสมานจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่บทเพลงที่ครูสมานฝากไว้ยังคงส่งเสียงบรรเลงอยู่ ภายใต้ชื่อวงดนตรี “กาญจนะผลิน” ที่มีประวัติศาสตร์เริ่มต้นถนนสายดนตรีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ผ่านการสืบสานและสร้างสรรค์ทางดนตรีจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบันได้รับการดูแลโดยลูกชาย “จิรวุฒิ กาญจนะผลิน” เป็นผู้ควบคุมวง ให้บริการงานดนตรี วงดนตรี (ทุกขนาด) โดยนักดนตรีคุณภาพที่มากด้วยประสบการณ์ในสายดนตรีทีมงานและผู้ควบคุมงานระดับปริญญาตรีสายดนตรีทุกท่าน เพลงที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงไทยสากลที่มีความหลากหลาย และที่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ งานเพลงลูกกรุงทุกประเภท แน่นอนว่าบทเพลงของครูสมาน กาญจนะผลิน ต้องเป็นหนึ่งในนั้น