posttoday

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล

20 สิงหาคม 2557

เวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โลกออนไลน์เติบโตขึ้นมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต

โดย : พริบพันดาว  

เวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โลกออนไลน์เติบโตขึ้นมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต และเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ได้ทำให้โลกของการฟังเพลงและซื้อเพลงมาฟังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หมวดหมู่ชาร์ตอันดับเพลงใหม่ล่าสุดของบิลบอร์ด ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ชาร์ต Social/Streaming โดยมีมาตรวัดความนิยมในบทเพลงและอัลบั้มผ่านบริการมิวสิก สตรีมมิ่ง ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ยูทูบ (YouTube) สปอติฟาย (Spotify) มูฟ มิวสิก (Muve Music) สแลกเกอร์ (Slacker) อาร์ดิโอ (Rdio) แรปโซดี (Rhapsody) ดีเซอร์ (Deezer) ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งคือ การประมวลผลเพลงฮิตหรือเพลงยอดนิยม จะมีการเฉพาะเจาะจงลงไปในหลายส่วน เช่น ยอดขาย การเปิดออกอากาศ และสตรีมมิ่งเพิ่มเข้ามาในวิธีการหาค่าเฉลี่ยในการขึ้นเป็นเพลงฮิตในชาร์ตด้วย เรียกกันว่าเป็นสูตรผสมผสาน (Hybrid Formula)

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือชาร์ต Social 50 และ Uncharted ได้ประมวลผลมาจาก Next Big Sound ซึ่งสำรวจจากพฤติกรรมและกิจกรรมบนเว็บไซต์โซเชียลมีเดียยอดนิยมต่างๆ เช่น ยูทูบ วีโว (Vevo) เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ซาวน์คลาวด์ (SoundCloud) อินสตาแกรม (Instagram) และวิกิพีเดีย (Wikipedia)

การพลวัตและขับเคลื่อนของชาร์ตบิลบอร์ดในสหรัฐ ทำให้เห็นแนวโน้มใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการฟังเพลงออนไลน์ ที่มีเครือข่ายประชาคมในโลกไร้สายรองรับ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกระแสหลักของโลก

ในวงการเพลงไทยรับมือกับโฉมหน้าใหม่การเสพฟังเพลงได้ดีอย่างไรบ้าง? เพราะปัจจุบันเม็ดเงินจากวงการเพลงได้หายไป จนทำให้บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ของไทยเปลี่ยนแปรโฉมเป็นบริษัทบันเทิงครบวงจร โดยธุรกิจเพลงเป็นแค่หน่วยหนึ่งเล็กๆ เท่านั้น ส่วนบุคลากรที่อยู่ในวงการเพลงไทยก็ต้องยอมรับชะตากรรมความตกต่ำของรายได้ และรอการปรับตัวให้ดีขึ้นอย่างใจจดใจจ่อ

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงโลก

อังควีเตียง ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคเอเชีย สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (International Federation of the Phonographic IndustryIFPI) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่องแนวโน้มของอุตสาหกรรมเพลง ลิขสิทธิ์ และเทคโนโลยี ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเพลงโลกมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 15,030 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สิ่งบันทึกเสียง (Physical) ที่ 7,700 ล้านบาท ดิจิทัล (Digital) ที่ 5,900 ล้านบาท สิทธิการเผยแพร่สู่สาธารณชน (Performance Rights) ที่ 1,100 พันล้านบาท และ การทำซ้ำสิ่งบันทึกเสียงเข้ากับสื่ออื่นๆ (Synchronization) ที่ 300 ล้านบาท

หากเปรียบเทียบตลาดรวมเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมากับยุคปัจจุบัน อังควีเตียง บอกว่า อุตสาหกรรมเพลงของโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว เห็นได้จากยอดดาวน์โหลดรวมจากทั่วโลกจากเดิม 14% ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 26% ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดซีดี มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงจาก 64% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 41% ในปีที่ผ่านมา

“จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในทุกส่วนทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางที่ตรวจสอบเรื่องลิขสิทธิ์ได้ยากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านการตรวจสอบเรื่องลิขสิทธิ์ จึงต้องสร้างเครือข่ายทั่วทุกมุมโลก และทำงานเป็นทีมเพื่อคงคุณค่าลิขสิทธิ์ของงานเพลงของศิลปิน ที่ปัจจุบันถูกละเมิดผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก”

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล

 

การปรับตัวของวงการเพลงไทย

จากข้อมูลของสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (Thai Entertainment Content Trade AssociationTECA) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทจัดการลิขสิทธิ์เพลงที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมากที่สุดในเมืองไทย

รณพงศ์ คำนวณทิพย์ นายกสมาคม เปิดเผยว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา ตลาดรวมของอุตสาหกรรมเพลงไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,280 ล้านบาท แบ่งเป็น สิ่งบันทึกเสียง ที่ 630 ล้านบาท ดิจิทัลที่ 1,080 ล้านบาท, Music Licensing ที่ 460 ล้านบาท อื่นๆ ได้แก่ งานคอนเสิร์ต อีเวนต์ และการบริหารสิทธิศิลปิน ที่ 2,110 ล้านบาท

“ถึงยุคที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวงการเพลง จะเห็นได้ว่ากลุ่มดิจิทัลเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโต โดยมีส่วนแบ่งตลาดได้ประมาณ 25% ในขณะที่กลุ่มฟิสิคอลหรือซีดี ดีวีดี อยู่ที่ 15% มิวสิก ไลเซนซิง 11% และอื่นๆ 49% ตามลำดับ โดยเราเชื่อมั่นว่าตลาดรวมในอนาคตกลุ่มดาวน์โหลด การจ่ายค่าฟังเพลงรายเดือนผ่านสตรีมมิ่ง และโฆษณา จะมีเทรนด์ที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด คาดว่าในปี 2557 มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมเพลงในไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้น”

ก้าวต่อไปของการกระตุ้นอุตสาหกรรมเพลงไทย รณพงศ์ ชี้ว่า ต้องตื่นตัวเร่งตรวจสอบลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์ หลังพบการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง โดยมีภารกิจหลัก 3 ประการ อันประกอบด้วย 1.มุ่งส่งเสริม คุณค่าของงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ 2.ปกป้องคุ้มครองงานสร้างสรรค์อันมี ลิขสิทธิ์และเผยแพร่ 3.การใช้งานสร้างสรรค์ อันมีลิขสิทธิ์ในเชิงพาณิชย์

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล

 

ทางเลือกทางรอดที่แท้จริง?

การเปลี่ยนแปลงของวงการเพลงไทยในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ธนัญชัย ชนะโชติ มิวสิก โปรดักชั่น เมเนเจอร์ บริษัท โมบาย อินดี้ ดิจิตอล บอกว่า ยังอยู่ในช่วงที่กำลังงุนงงและสับสน ไม่สามารถหาช่องทางที่ถูกต้องสำหรับตัวเองได้

“ภาพรวมของวงการเพลงไทย ตอนนี้ซีดีหรือฟิสิคอลกำลังจะหายไปแล้ว แต่ไม่กล้าพูดว่าถึงจุดสุดท้ายแล้ว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งโลก เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวใหม่ ทั้งเรื่องของการทำเพลง เรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะเลือกใช้ ตอนนี้ซีดีขายเพียงหลักพัน หลักหมื่นนี่น่าจะยากมากๆ โอเค อาจจะมีบางกลุ่มที่เป็นนิช มาร์เก็ต หรือตลาดเฉพาะกลุ่มจริงๆ เป็นกลุ่มฐานฟังเพลงที่เหนียวแน่นและฟังกันเฉพาะทาง หรือกลุ่มคนฟังเครื่องเสียงที่ฟังแผ่นมาสเตอริ่งดีๆ มีตลาดเล็กๆ ตรงนั้นอยู่ ถ้าจับได้ก็พออยู่ได้ ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของแฟนเพลงโดยเฉพาะ กลายเป็นของสะสม”

ตลาดเพลงไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธนัญชัยมองว่า คนที่อยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่มหรือนิช มาร์เก็ต ก็จะอยู่ได้ด้วยการขายซีดี ส่วนคนที่เป็นแมสหรือมีกลุ่มฟังในวงกว้างเพื่อความบันเทิงก็อยู่ด้วยการเป็นพรีเซนเตอร์และเล่นคอนเสิร์ต และตลาดสตรีมมิ่ง เพราะตอนนี้ตลาดแบ่งเป็น 2 เซอร์วิสใหญ่ๆ หนึ่งเซอร์วิสเก่า สองเซอร์วิสใหม่

“เซอร์วิสเก่าก็จะแตกเป็นเสียงรอสาย ริงโทน ซึ่งมีโอเปอเรเตอร์ใหญ่ๆ คือ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ เซอร์วิสเก่าตัวนี้ เมื่อก่อนเพลงดังๆ ก็จะมียอดโหลดเป็นหลายล้านบาทหรือถึง 10 ล้านโหลดก็มี หรือเพลงลูกทุ่งที่ฮิตๆ หลายๆ เพลงก็มียอดโหลดหลายล้านโหลด ยอดขายมากกว่าซีดีเยอะ แต่เจ้าริงโทนตัวนี้ก็ถึงเวลาที่อยู่ในช่วงถดถอย กำลังถอยลงเรื่อยๆ ถ้าดูจากกราฟตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2014 เสียงรอสายยอดจะตกลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล

 

“ที่นี่ก็มีเซอร์วิสใหม่เข้ามาซึ่งเราหวังไว้ มันก็มีไอทูน ซึ่งขายเพลงไปเลยในแอพสโตร์ อีกทางหนึ่งก็คือ สตรีมมิ่ง ซึ่งมีเจ้าใหญ่ๆ ที่โอเปอเรเตอร์มารองรับ ซึ่งตอนนี้มีของ ดีแทค ที่เรียกว่า ดีเซอร์ ส่วนของเอไอเอส เขาเรียกว่า เคเคบ๊อกซ์ (KKbox) อีกเจ้าหนึ่งกำลังอยู่ในการดีล คือทรูมูฟกับสปอติฟาย ไทยก็จะมีสตรีมมิ่ง 3 เจ้าใหญ่ ส่วนอาร์ดิโอ ไม่อยู่ร่วมกับโอเปอเรเตอร์เจ้าไหน จึงมีช่องทางรายได้น้อยกว่า ซึ่งเพลงของใครถูกสปินมากก็จะได้เงินเยอะ นี่คือระบบโลก เป็นช่วงข้อต่อของวงการเพลงที่เปลี่ยนไปก็คือ สตรีมมิ่ง ซึ่งเมืองนอกใช้แล้ว แต่ถามว่ามาทดแทนของเดิมให้เราอยู่รอดได้ไหม ซึ่งก็ยังไม่ได้”

การขายเพลงผ่านแอพสโตร์และสตรีมมิ่งยังไม่เหมาะกับผู้ฟังคนไทย โมเดลเหล่านี้ใช้กับเมืองไทยยาก เพราะอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพกับราคาเพลงไม่สอดคล้องกัน ธนัญชัยมองว่า ยูทูบ กลับเป็นคำตอบที่เหมาะกับพฤติกรรมชอบฟังเพลงฟรีของคนไทยมากกว่า

“คนไทยชอบคิดว่ามีเงิน 100 บาท ซื้อข้าวกินดีกว่า วิธีทำให้วงการเพลงรอดก็อย่างที่ผมบอก เป็นโมเดลที่ผมเป็นคนคิดขึ้นมาเอง อุดรูรั่ว 3 จุด หนึ่งไม่ว่าจะมีเพลงเก่าเพลงใหม่หรืออะไรก็ตาม ให้อัพลงยูทูบให้หมด แล้วก็เวอริฟายกับโปรแกรมพาร์ทเนอร์ ของยูทูบ (YouTube Partner Program) ให้เป็นโฆษณาสร้างรายได้ทั้งหมด

สองสร้างคอนเทนต์ ไอดีทั้งหมด ใครจะเอาไปอัพลงเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ยังได้เงินเหมือนเดิม สามคัฟเวอร์ คือใครที่คัฟเวอร์เพลงดังทั้งหมด ไม่ต้องไปตามจับหรือแจ้งเอาลง แต่ไปสนับสนุนให้เขาเป็นศิลปินเบอร์ใหม่ไปเลย เอาเพลงที่เขาคัฟเวอร์ขึ้นระบบและขายไปเลย และมาแบ่งเงินกันอย่างถูกต้องตามสัดส่วนที่เขาจะได้ เพราะวงดนตรีที่เขาคัฟเวอร์เพลงไปก็ถือว่าเขาเป็นมีเดียให้ ก็ต้องให้คัฟเวอร์ฟรี

สำหรับแชลแนลยูทูบของเขา ก็ทำรายได้เพิ่มเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงในรูปแบบใหม่ก็จะไม่มีรูรั่ว ถ้าทำได้ 3 จุดนี้ก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้ กลยุทธ์ตรงนี้เหมาะกับพฤติกรรมการฟังเพลงของคนไทยมากที่สุดแล้ว”

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล

 

ทางรอดของวงการเพลง ธนัญชัยย้ำว่า หลังเปิดยูทูบ ไทยแลนด์ ก็จะได้ใช้โปรแกรมพาร์ตเนอร์ของ ยูทูบอย่างเป็นทางการในเมืองไทย โดยโปรแกรมนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2550 ในสหรัฐอเมริกา โดยนำเสนอทรัพยากรและโอกาสให้แก่ผู้สร้างสรรค์ คอนเทนต์ในการปรับปรุงทักษะ ขยายฐานผู้ชม และสร้างรายได้ โดยยูทูบจะแบ่งปันรายได้จากโฆษณาให้แก่ผู้สร้างสรรค์วิดีโอที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยม ในฐานะพาร์ตเนอร์ของยูทูบสามารถลงทะเบียนเป็นสมาชิกได้ฟรีโดยการ Verify Youtube Account

“ในมุมมองของผมการที่จะช่วยเหลือวงการเพลงเมืองไทยให้รอดได้ก็คือ ยูทูบ ตอนนี้ก็มียูทูบไทยแลนด์แล้ว จะเป็นใครก็ได้เพียงให้มีเพลงของตัวเอง แต่งเอง นำมาเวอริฟายให้เกิดเป็นรายได้ เป็นความหวังที่วงการเพลงไทยจะรอด โดยให้แปลงแชลแนลนั้นให้เป็นมีเดียไปเลย แล้วให้สินค้ามาลงโฆษณา ซึ่งทุกคนมองข้ามตรงนี้หมดเลย ที่พูดมาทั้งหมดก็ต้องเริ่มจากตัวเพลงหรือโปรดักต์ก่อน ช่องทางในการหารายได้มันเปลี่ยนไป เพียงแต่ให้เข้าถูกทาง วงการเพลงไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นที่บอกว่า หมดความหวังแล้ว ในความสิ้นหวังมีโอกาสและเงินซ่อนอยู่”

จากตัวเลขมูลค่า 4,280 ล้านบาทของวงการเพลงไทย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิตอลไลฟ์ ซึ่งกำลังมีการปฏิรูปวงการเพลงไทยให้เข้าสู่ยุคใหม่ แสดงให้เห็นว่าวงการเพลงไทยยังไม่ถึงจุดอับตัน เพียงแต่ผลิตงานเพลงและมิวสิควิดีโอให้มีคุณภาพตรงกับกลุ่มคนฟัง หาช่องทางทำเงินให้เหมาะสมกับยุคสมัย แม้จะขายซีดีไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป

ปฏิรูปวงการเพลงไทย ไล่ให้ทันยุคดิจิทัล