posttoday

เมื่อสื่อบันเทิงพูดเรื่องยาเสพติด

16 สิงหาคม 2557

“ยาเสพติด” เป็นสิ่งไม่ดี มีพิษร้ายแรง อันตรายต่อร่างกาย ผู้เสพตาย คนขายติดคุก เด็กๆ ท่องจำกันได้ขึ้นใจ ผู้ใหญ่ก็รู้

โดย...นกขุนทอง ภาพ : กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

“ยาเสพติด” เป็นสิ่งไม่ดี มีพิษร้ายแรง อันตรายต่อร่างกาย ผู้เสพตาย คนขายติดคุก เด็กๆ ท่องจำกันได้ขึ้นใจ ผู้ใหญ่ก็รู้ แต่ถามว่า ในสังคมนี้ยังมีเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ คนชรา ติดยาเสพติดกันอยู่ไหม คำตอบคือ “มี”

การจะบอกถึงโทษภัยยาเสพติดให้เยาชนได้รับทราบ แบบแจกใบปลิว ทำเป็นสปอตโฆษณา รายการสารคดีสั้น 2 นาที ก็ดูกลายเป็นเรื่องจำเจ และได้ผลตอบรับที่เบาหวิวเสียเหลือเกิน ทว่าเรื่องการรณรงค์ให้คนห่างไกลยาเสพติดยังสำคัญยิ่ง การหากลยุทธ์ใหม่ในการนำสารไปยังผู้คนจำนวนมากได้อย่างน่าสนใจด้วยจึงเกิดขึ้น

ล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย “ผุสดี ตามไท” รองผู้ว่าฯ กทม. รักษาการผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดตัวรายการทีวีเรียลิตี้และทอล์กโชว์ครั้งแรกของไทย มุ่งลดปัญหายาเสพติดก้าวขึ้นสู่มหานครแห่งความปลอดภัย

เรียลิตี้ทอล์กโชว์ หนุนโดย กทม.

ครั้งนี้ทาง กทม.เลือกรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดผ่านรายการโทรทัศน์ประเภทเรียลิตี้โชว์และรายการเกมและทอล์กโชว์ 2 รายการ ได้แก่ รายการ “โชว์พาว” และรายการ “ภูมิคุ้มกัน”

“ดร.ผุสดี ตามไท” ได้กล่าวถึงโครงการประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ กทม. “Bangkok Clear ไม่เริ่มไม่ลอง ปลอดภัยไร้ยาเสพติด”

“หากพิจารณาถึงแนวโน้มและสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้น จะมีเด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการคิด ร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด นับเป็นครั้งแรกของ กทม.ที่มีการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดผ่านรายการทีวีรูปแบบใหม่ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้รับรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด และสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้เรียนรู้ที่จะปฏิเสธยาเสพติดได้ในทุกสถานการณ์ และเกิดรูปแบบการพัฒนาตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนอื่นๆ มีแรงจูงใจในการดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดในระยะยาว”

รายการโชว์พาว เรียลิตี้โชว์ต้านยาเสพติดครั้งแรกในประเทศไทย ที่แสดงพลังและความคิดของเยาวชน เพื่อค้นหา “นักสร้างหนังสั้นรุ่นใหม่” เป็นการกระตุกต่อมความคิด สะกิดจิตสำนึกของวัยรุ่น ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่โดนใจ โดยมีผู้กำกับแถวหน้าของเมืองไทย “อุ๋ยนนทรีย์ นิมิบุตร” “พิง ลำพระเพลิง” และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ “ประวิทย์ แต่งอักษร” เป็นคณะกรรมการตัดสิน มีทั้งหมด 10 เรื่อง ออกอากาศทาง ททบ.5 เริ่มตอนแรก วันที่ 19 ส.ค.นี้

ส่วนรายการภูมิคุ้มกัน เป็นเกมและทอล์กโชว์ที่ลงพื้นที่ออกไปถ่ายทำตามโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ กทม. จำนวน 10 แห่ง โดยพิธีกรขวัญใจวัยรุ่น “พล่ากุ้งวรชาติ ธรรมวิจินต์” มีกำหนดออกอากาศทางช่อง จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เริ่มเดือน ต.ค.

เมื่อสื่อบันเทิงพูดเรื่องยาเสพติด

 

โชว์พาวหนังสั้น ไม่ต้องโชว์ยาเสพติด

รายการหรือหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดจะน่าสนใจได้อย่างไร “อุ๋ยนนทรีย์ นิมิบุตร” ผู้กำกับมือฉมังคนหนึ่งของเมืองไทย ในฐานะกรรมการ บอกว่า การทำหนังสั้นยาเสพติด ต้องคิดหลายชั้น ไม่ใช่นำเสนอภาพยาเสพติด คนกำลังเสพ และบอกว่าโทษมันคืออะไร

“จากที่เราได้ทำเวิร์กช็อปกัน ผมบอกน้องๆ ไปว่า ทำหนังสั้นให้เจ๋งไม่เห็นยาเสพติดได้จะดีมาก เมื่อก่อนตอนเป็นกรรมการตัดสินหนังสั้นใหม่ๆ จะเห็นชัดเลยกับการนำเสนอแบบเอาคนมาฉีดยา ดูดกัญชา คิดชั้นเดียวมาก เราแนะนำให้น้องคิดสองชั้น การทำหนังสั้นสักเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องตามเรื่อง ถ้ามันไม่มียาเสพติดแล้วจะแล้วยังไง ก็เป็นโพสิทีฟแบบหนึ่ง หนังยาเสพติดไม่จำเป็นต้องซีเรียส แต่ทำหนังผีก็ได้ หนังตลกก็ได้ ถ้าเราทำชั้นเดียวจะเห็นภาพคนเมายา ในโลกนี้มันไม่ได้มีแค่นั้น ตอนผมเรียนหนังสือก็เห็นเพื่อนติดยาเสพติด มันก็สนุกดี แต่ก็มาสรุปได้ว่า มันไม่ใช่ของจริง ในที่สุดเราสามารถเล่าได้ว่า ความสุขชั่วครั้งไม่ใช่ของจริง เป็นโลกมายาที่สร้างขึ้นในตอนเล่นยาเสพติดมันเป็นแบบนั้น แต่มันไม่ได้ทำให้ชีวิตจริงหายไป การมองโลกมีชั้นที่สองที่สามที่สี่มันคิดได้ พอทำออกมาไม่จะไม่ใช่สิ่งดาดๆ”

ยาเสพติดอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนที่ไม่ได้เสพ แต่จะไกลตัวอยู่ไหมหากคนใกล้ตัวต้องเสี่ยงอยู่ท่ามกลางสังคมที่ยาเสพติดหาง่ายขายคล่อง และอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผู้เสพซึ่งเกิดอาการคลุ้มคลั่งขาดสติ

“คนไม่ค่อยสนใจเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้นถ้าเราทำหนังยาเสพติด เริ่มต้นพูดแต่ไม่ใช่เรื่องยาเสพติดก็จะเยี่ยมยอดมาก ทั้งเรื่องดูไม่เห็นยาเสพติด แต่ทำยังไงก็ได้ที่มันสนุก เมื่อมันสนุกคนตามคุณไป แล้วค่อยหยอดเมสเซจที่จะพูด เขาจะสนุกกับเรื่องนี้ แล้วเขาจะไม่ลืมหนังคุณ พอไม่ลืมเขาก็จำได้ว่ายาเสพติดมันไม่ดี” นนทรีย์ กล่าว

ด้านผู้กำกับอารมณ์ดี “พิง ลำพระเพลิง” กล่าวว่า “นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีจาก กทม.ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีเวทีแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม เกณฑ์การตัดสินของผมจะดูที่บทเป็นส่วนมาก เพราะหนังสั้นจะฉูดฉาดกับมุมกล้อง หรือเทคนิคมันมีน้อย ผมเลยดูที่บทมากกว่า ถ้าวิธีการเล่าเรื่อง การเปรียบเทียบและคมคาย ก็คัดเข้ามาเลย ถึงแม้ว่าบางทีบทตามตัวอักษรมันฉูดฉาดแต่ต้องไปดูอีกทีตอนโปรดักชั่นว่ามันจะกินกันไหม”

มาถึงนักวิจารณ์ภาพยนตร์ “ประวิทย์ แต่งอักษร” กล่าวว่า เกณฑ์การตัดสินจะไม่เหมือนกรรมการอีก 2 ท่าน เพราะเป็นคนทำหนัง ส่วนตัวเองเป็นนักวิจารณ์ เกณฑ์การตัดสินจึงมองจากมุมคนดู

“เราความสามารถชี้แนะน้องๆ ที่ผ่านเข้ารอบในมุมตรงนี้ได้ ในฐานะคนดูอยากเห็นอะไรในหนังของคุณ ที่เราเห็นได้ชัดเรื่องบทหนัง ดูการเชื่อมต่อของเหตุการณ์สมเหตุสมผลไหม ตรรกะในการเล่าเรื่อง เหตุการณ์มีความน่าสนใจไหม จุดจบเป็นยังไง ดูแล้วคือผมจะรีแอ็กกับมันยังไง

หนังที่พูดเรื่องยาเสพติด ถ้าทำแบบคอมเมอร์เชียล หนังยาว 2 ชั่วโมง ขายไม่ได้ มันต้องทำแบบนี้แหละ ต้องมีคนสนับสนุน และต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ ต้องยอมรับความจริงหนังรณรงค์ยาเสพติดมีวิวัฒนาการของมัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นำเสนอแบบเถรตรงแบบ 30 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นวิธีการที่ไร้เดียงสาในยุคสมัยนี้ แต่นั้นคือการสื่อสารข้อมูลที่ตรงที่สุด เรียกร้องความสนใจของคนดูตอนนั้นได้ดีที่สุด มันกลายเป็นประวัติศาสตร์ของหนังต่อต้านยาเสพติด แต่คนทำหนังทุกวันนี้ไม่ว่าประเด็นไหน ต้องทำหนังเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนดู จะต้องทำให้คนดูรู้สึก อย่าให้คนดูรู้สึกถูกสั่งสอน ยัดเยียดข้อมูล แต่การค้นพบความหมาย ข้อคิด มุมมองต่างๆ มันเกิดขึ้นจากการประสบความเข้าใจของเรากับสิ่งที่เราเห็น เกิดขึ้นมาเอง หลีกเลี่ยงการทำอะไรที่มันซ้ำซาก คนดูต้องการความสนุก อยากเข้าใจเรื่อง อยากดูรู้เรื่อง มากกว่านั้น ทำให้คนดูค้นพบข้อคิด ทำให้เข้าใจตัวละคร สังคมมากขึ้น ไม่ต้องมาบอกว่ายาเสพติดเลวร้าย ใครก็รู้ แต่ทำให้เราเข้าใจเงื่อนไขของปัญหา”

เมื่อสื่อบันเทิงพูดเรื่องยาเสพติด

 

สร้างภูมิคุ้มกันกับพล่ากุ้ง

เป็นพิธีกรมาหลายรายการ หลากรูปแบบ แต่รายการที่มีเนื้อหามุ่งนำเสนอการป้องกันปัญหายาเสพติด เพิ่งจะมีโอกาสเป็นครั้งแรก แต่ “พล่ากุ้งวรชาติ ธรรมวิจินต์” มั่นใจว่า รายการภูมิคุ้มกันจะเข้าถึงเด็กวัยรุ่นได้อย่างแน่นอน เชื่อมือพิธีกรสิ..

“ถ้าจัดอันดับดาราในเมืองไทย ผมจัดอยู่ในพวกกากเกรียน ผมคิดว่า ถ้าเราเตือนกันเองเด็กวัยรุ่นจะยอมฟังเชื่อผม ถ้าเขาคนหรูหราไฮโซมาเข้าไม่ถึงคนละมุม เขาไม่ฟัง เราแนวเพื่อนเขา เขาเล่นหัวเราได้ ผมเดินเข้าไปโรงเรียนเด็กเข้ามาทักทาย กลายเป็นเพื่อนกัน เพื่อนเตือนเพื่อน ผมว่าวัยรุ่นเชื่อเพื่อนมากกว่าครอบครัว ภาษาก็ใช้สไตล์เราไม่ใช่ทางการ

ชื่อรายการอาจจะดูซีเรียส แต่ขึ้นชื่อว่ากากเกรียนไม่มีอะไรเป็นแพตเทิร์น ดูหน้าพิธีกรไม่ใช่ซีเรียสแน่นอน การที่รายการนี้ได้พิธีกรชื่อดังอย่างพล่าสกุ้ง ก็ทำให้รายการแมสอยู่แล้ว ถุย! ตรงนี้ขอลงถุยด้วยนะครับผม ผมดีใจที่ได้ร่วมรายการนี้ ถึงหน้าตาเราโคตรตัวโกงเลย แต่เรามีพฤติกรรทที่ดี เราเป็นแบบอย่างเล็กๆ ให้คนกลุ่มหนึ่งได้ จากกลุ่มเล็กจะขยายเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าเราไม่เริ่มมันไม่เกิดหรอก แล้วการที่เราถ่ายทำนอกสตูดิโอ ไปถ่ายทำที่โรงเรียน ผมว่าดีมากจับต้องได้ การไปหาเขาถึงที่ เราให้เกียรติเขาแล้วบอกในสิ่งที่เราต้องการ ถ้าเขามาหาเราที่สตูดิโอก็จะตื่นเต้นกับบรรยากาศใหม่ ห้องถ่าย เขาจะหลงดูพวกนั้น ไม่สนใจคอนเทนต์ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ของเขา เขาจะรู้สึกสบาย ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมจะมองมาที่เราคนเดียว ถ้าเขาสบายใจ อยู่ในที่เขาอุ่นใจ เขาจะกล้ามีส่วนร่วมกับเราได้มากกว่าด้วย”

การใช้สื่อที่ใกล้ตัวผู้เสพ เพื่อส่งสารที่หนักหรือเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเข้าใกล้กลุ่มเป้าหมายได้ ทุกวันนี้เด็กเยาวชนเสพสื่อ โดยเฉพาะสื่อเคลื่อนไหว ทั้งจากโทรทัศน์ จากจอโทรศัพท์มือถือ การให้สิ่งที่เขาสนใจเป็นตัวกลางบอกเหล่าปัญหาเหล่านี้แทน จากทัศนคติที่ปิด พอเจอสื่อเรื่องราวที่สนุก น่าสนใจ เขาก็พร้อมที่จะคล้อยตามได้ไม่ยาก