posttoday

ทางรอดของภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก

05 กรกฎาคม 2557

ภาพยนตร์ไทยรายได้ไม่กระเตื้อง เป็นช่วงขาลงของภาพยนตร์ไทย บ้างก็ว่าเพราะสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้

โดย...โจนาธาน

ภาพยนตร์ไทยรายได้ไม่กระเตื้อง เป็นช่วงขาลงของภาพยนตร์ไทย บ้างก็ว่าเพราะสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ ทำให้วงการภาพยนตร์ซบเซา เข้าตาจน ลงโรงฉายไปก็ไม่ได้เงิน แถมกระแสก็ไม่เปรี้ยง

ค่ายใหญ่เงินหนาคงไม่ยี่หระ ร้อนใจก็แต่ค่ายเล็กค่ายน้อยค่ายใหม่ กระทั่งคนประเภทควักทุนทำเองขายเอง ถ้าเกิดเหตุนี้ ก็มีอันจบเห่

ทางออกทางรอดอยู่ตรงไหน ให้ไปกระโดดตึกฆ่าตัวตาย คงไม่ใช่ละมัง หรือให้เลิกทำไปเลย แหม!!! ก็ในเมื่อภาพยนตร์เข้าเส้นเลือดแล้วอ่ะ จะยอมยกธงง่ายๆ โน โน โน

พลันที่เรามีโอกาสได้เจอกับคนทำภาพยนตร์เล็กๆ จึงไม่พลาดที่จะร่วมพูดคุย เพื่อให้เห็นภาพชัดถึงการต่อลมหายใจของภาพยนตร์ อันเปรียบเสมือนลูกน้อยหอยสังข์ จะอะไร ยังไง เรามีคำตอบ

ไปเทศกาล (ดีมั้ย) ก่อนฉายจริง

วิธีนี้ได้ผลมั้ย ถามใครก็คงตอบเหมือนกัน ไม่แน่นอน เพราะผลงานที่ไปเทศกาลภาพยนตร์ดัง เดินสายฉายโชว์ รวมทั้งมีชื่อเข้าชิงสายประกวดหลัก หรือแม้แต่มีรางวัลช่อมะกอกแปะหรา ก็ใช่ว่าจะกลับมาโกยเงินในบ้านเกิด ตัวอย่างมีให้เห็นตำตา “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล/ปาล์มทองคำ เมืองคานส์ ครั้งที่ 63) “36” (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์/New Currents Award ปูซานฟิล์ม 2012) ก็ไม่ได้โกยเงินถล่มทลาย มีเพียงกลุ่มคนชอบภาพยนตร์แนวนี้เท่านั้นที่ตามไปให้กำลังใจ

ถึงอย่างนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะดึงดูดใจให้คอภาพยนตร์หันมาสนใจและใส่ใจว่าอย่างน้อยๆ พวกเขากำลังจะได้ยลผลงานไม่ไก่กา รางวัลที่การันตีมาก็ช่วยในการตัดสินใจตอนซื้อตั๋ว

สดๆ ร้อนๆ “เพชฌฆาต” (ค่ายไทเกอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และ เดอ วอร์เรนท์ พิคเจอร์/ ข้าฉาย 3 ก.ค.) ภาพยนตร์ทริลเลอร์ชีวประวัติมือประหารคนสุดท้ายของไทยไปคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากการแสดงของ “วิทยา ปานศรีงาม” เทศกาลหนังนานาชาติ เซี่ยงไฮ้ ฟิล์ม เฟสติวัล ครั้งที่ 17

โปรดิวเซอร์สาวสวย “คทรีน่า กลอส” ยอมรับว่า การได้รางวัลเทศกาลภาพยนตร์มาประดับ ก็ยังเป็นเรื่องที่คาดเดายากว่าภาพยนตร์จะทำเงินมั้ย เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจังหวะและรสนิยมผู้ชม

“ถ้ามันมาถูกช่วงถูกจังหวะ ก็อาจจะได้เงินนะ แต่สำคัญคือมันเป็นหนังที่คนดูอยากดูมั้ยล่ะ เพราะถ้าใช่ คนดูก็คงไม่ยอมซื้อตั๋วไปดูอยู่แล้ว บางครั้งหนังบางเรื่องก็แทบไม่มีรางวัลการันตี ก็ยังมีคนแห่ไปดู การพาหนังไปเทศกาลก่อนหนังเข้าฉาย เคที่ว่ามันจะช่วยดึงกระแสมากกว่า เป็นกระแสที่จะช่วยให้คนหันมาสนใจหนังตอนเข้าฉาย แต่สุดท้ายก็อยู่ที่รสนิยมคนดูอีกแหละ มันเป็นเรื่องยากนะ ต่อให้หนังเรื่องนั้นได้รางวัลจากเทศกาลดังๆ ถ้าไม่ใช่แนวที่เขาชอบ ก็ไม่มีผลหรอกค่ะ

สำหรับเคที่แค่หนังได้ติดปีกบิน ไปฉายโชว์ ได้รางวัลมาก็โอเค มีคนบอกว่าชอบหนังเรื่องนี้จังเลย มันก็อิ่มใจแล้วละค่ะ แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว หรือแม้แต่จะบอกว่าไม่ชอบ ก็เป็นหนึ่งเสียงที่เราในฐานะคนทำหนังต้องกลับมาทบทวนถึงงานที่เราทำออกไปด้วย เหล่านี้เคที่มองว่ามันเป็นกำไร ส่วนรายได้ตอนฉายถ้าได้เยอะก็เป็นโบนัสค่ะ”

ภาพยนตร์ดี (ยังไง) ก็มีคนชม

คำว่าดี เป็นเรื่องของรสนิยม คุณบอกดี เราบอกไม่ดี เรื่องนั้นดี เรื่องนี้ห่วย ไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีสูตรสำเร็จ ภาพยนตร์ดีคือภาพยนตร์ที่คุณชอบ เข้าใจตรงกันตามนี้ (นะ) ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่แป็กสนิทก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าข่ายเป็นงานที่ห่วย ภาพยนตร์ฟอร์มจิ๋วหลายเรื่องก็ใช่ว่าจะดีและมีคนชื่นชอบเสมอไป

ไม่แปลก ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเจ๊งระนาว เข็นยังไงก็ไม่ขึ้น กู่ด้วยวิธีไหนก็ไม่กลับ ด้วยว่าเนื้อหาแย่เกินกว่าจะรับไหว หรือไม่เข้าทางผู้ชม ไม่โดนใจแฟนๆ ด้วยอะไรก็แล้วแต่ นั่นทำให้รายได้ภาพยนตร์ไม่เข้าเป้า

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนาม บอกถึงกรณีภาพยนตร์ตลก “ศรีธนญชัย 555+” (ค่ายออมทู เอ็นเตอร์เทนเมนท์/เข้าฉาย 5 มิ.ย.) ขาดทุนยับ 40 ล้านบาท เหตุหนึ่งคือภาพยนตร์ไม่มีจุดขาย ไม่มีความน่าสนใจ อีกทั้งการนำเสนอก็ไม่ทันสมัย ออกจะเชยเสียด้วยซ้ำ ทำให้กลายเป็นผลงานที่ผู้ชมหลงลืม

“ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” (ค่ายอีสานอินดี้/เข้าฉาย 5 มิ.ย.) ภาพยนตร์พูดอีสาน ขายฮาแบบบ้านๆ โด่งดังได้เพราะตัวเนื้อหาและความใสซื่อในการนำเสนอ หนึ่งตัวอย่างของภาพยนตร์ฟอร์มเล็กที่มีแผนโปรโมทไม่โฉ่งฉ่าง แต่กลับเอาผู้ชมอยู่หมัด โดยใช้วิธีการ “ป่าล้อมเมือง” เริ่มฉายต่างจังหวัดก่อนเข้ามาบุกกรุงเทพฯ แม้รายได้ในเมืองกรุงอาจจะไม่อู้ฟู่ ทว่าก็ไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว เพราะความสนุกของภาพยนตร์

ขณะที่ผู้กำกับภาพยนตร์ดราม่า “อยากอยู่อย่างใหญ่ (เข้าฉาย 19 มิ.ย.) “วุฒิชัย เจตน์ตระกูลวิทย์” เชื่อว่าตัวภาพยนตร์ต้องขายตัวมันเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นผลงานที่ดีด้วย จึงจะทำให้มีคนพูดปากต่อปาก เกิดเป็นกระแสนิยมโดยไม่ต้องใช้แผนโปรโมท หรือสร้างข่าวแบบลบๆ

“หนังผมจะขายเรื่องแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต คนดูก็จะได้แง่คิด คนไม่ดูก็อาจจะไม่ได้ ผมรู้ว่ามันค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่หนังตลาดที่มีคนดูกว้าง หนังดราม่าบ้านเราทำตลาดยากครับ แต่ที่ผมทำก็เพราะเราคิดว่าเราพร้อมแล้ว รู้ว่าจะขายใคร ตลาดคือใคร ถามว่ารายได้เยอะมั้ย ไม่เยอะหรอกครับ แต่มันก็ไม่เข้าเนื้อ บทเรียนครั้งนี้ก็ทำให้เราต้องเก็บไปตีโจทย์ให้แตกกับการทำงานชิ้นต่อไปครับ”

ไอเดียใหม่ใส่มาเถอะ (แต่ไม่รู้นะว่าจะโดนใจหรือเปล่า)

เงินคือสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงให้องค์รวมความเป็นภาพยนตร์สำเร็จ แต่ถ้ามีเงินอย่างเดียว ก็ขาดไอเดียบรรเจิด มันก็ไม่เกิดประโยชน์ใด บางเรื่องใช้งบน้อย ทว่าใช้สอยคุ้มค่า แถมยังขยันใส่ไอเดียดีๆ ลงไปในผลงานของตัวเอง

หลายเรื่องของภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ ได้ทุนคืน ทั้งๆ ที่ลงทุนน้อยนิด เพราะขายไอเดียที่ไม่เหมือนใคร ผู้ชมไปดู ไม่เสียดายเงิน ทั้งบอกปากต่อปาก ชวนให้เพื่อนๆ ญาติๆ ไปชมกัน ไม่เสมอไป แม้จะใส่ไอเดียเข้าไปในภาพยนตร์แล้ว ก็ยังไม่ถูกใจถูกจริตผู้ชม เจ๊ง!!!

“The Room ห้อง/หลอก/หลอน” (ค่าย ไจแอ้นท์ พิคเจอร์ส/เข้าฉาย 5 มิ.ย.) ผลงานสยองขวัญที่ขาดทุน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด “มนฤดี ธาดาอำนวยชัย” ก็ยืดอดยิ้ม ท้อ แต่ไม่เลิก ยังเดินหน้าทำภาพยนตร์ต่อ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ที่รายได้ภาพยนตร์ไม่คืนทุน เพราะตีโจทย์ภาพยนตร์ผีที่ผิดกระบวนไป ยิ่งเฉพาะการใส่ไอเดียใหม่ เพื่อให้เกิดภาพผีที่แปลกใหม่ ทำให้อาจไม่โดนใจผู้ชม

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะขาดทุนหรอกค่ะ เอาแค่เสมอตัวก็น่าจะโอเค แต่ปรากฏว่าขาดทุน แต่เราก็ยังไม่ยอมแพ้ ต้องหาเงินจากทางอื่น เช่น ขายหนังให้ต่างประเทศ ให้ทีวี หรือทำแผ่นขาย เพื่อเอาเงินตรงนั้นมาหักลบกลบหนี้กับส่วนที่หายไป

ปัญหาคือมันไม่ใช่หนังผีเพียวๆ เหมือนที่เราเคยทำ เราพยายามจะเน้นที่บท ไม่ได้ให้ดูเป็นผีแผลงฤทธิ์ แต่เป็นการเล่าถึงที่มาที่ไปของผี เป็นความท้าทายใหม่ๆ ของเราค่ะ แต่ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นบทเรียนให้เราต้องไปปรับใช้ในหนังเรื่องต่อไป ไปทำการบ้านที่หนักขึ้น เข้มข้นขึ้น ต้องให้น่ากลัวกว่านี้”

อีกหนึ่งผลงานที่เน้นไอเดีย แถมยังโชว์ซีจีสวยเวอร์ “สมิง” เรื่องแรกของผู้กำกับโฆษณา “นรินทร์ วิศิษฏ์ศักดิ์” (ค่ายฟาสท์ไทม โมชั่น พิคเจอร์ส/เข้าฉาย 11 ก.ย.) เขายืนยันเสียงเข้ม คนรู้จักสมิงดี จะเห็นสมิงอย่างที่สมิงเช่นจินตนาการ ส่วนคนไม่รู้จักสมิง ก็จะเข้าใจสมิงว่ารูปลักษณ์หน้าตาเป็นเยี่ยงไร

“มันคือการขายคาแรกเตอร์สมิง ถึงมันจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สมิงของผมที่ทำออกมามันจะใหม่ทั้งรูปลักษณ์และไอเดีย จริงจัง สัมผัสได้ เชื่อได้ สวยครับ

ถามว่ามั่นใจเรื่องรายได้มั้ย ไม่มั่นใจครับ แต่ผมมั่นใจว่าถ้าคุณได้ลองไปดู คุณจะชอบและเดินออกจากโรงแบบมีความสุข ผมมั่นใจอย่างนั้นครับ หรืออย่างแผนการตลาด ผมมีไอเดียว่าอยากจะเปิดตัวฉายพร้อมกันในหลายประเทศทั่วเอเชีย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากดู คนไทยจะดูเลยเหรอ นี่คือหนังที่เปิดตัวพร้อมกันหลายประเทศเลยนะ เป็นการการันตีผู้ชมและเรียกความสนใจ อันนี้เป็นแผนในอนาคตนะครับ”