posttoday

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

25 พฤษภาคม 2557

หลายคนค่อนขอดว่า พล็อตเด่นละครดังของไทยมีวนๆ เวียนๆ ซ้ำกันไปมา

โดย...นายใจดี

หลายคนค่อนขอดว่า พล็อตเด่นละครดังของไทยมีวนๆ เวียนๆ ซ้ำกันไปมา ไม่สลับตัวเป็นหญิงเป็นชาย นางเอกผู้ยากจนกับลูกชายมหาเศรษฐี รักต่างชนชั้น พระเอกนางเอกความจำเสื่อม สลับลูกกัน อิจฉาริษยา ชิงรักหักสวาท

ทำไมพล็อตเหล่านี้ยังขายได้ ทำออกมาเป็นละครทีไร ทั้งๆ ที่เดาตอนจบกันได้ก็ยังมีคนติดตามดูจำนวนมาก

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

 

วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องของ “คมพยาบาท” ละครหลังข่าวที่กำลังออกอากาศทางช่อง 7 สี ทุกวันพุธพฤหัสบดี บทประพันธ์นี้ของ “สุข หฤทัย” ซึ่งถูกนำมารีเมกเป็นละครนับถึงครั้งนี้ได้ 6 ครั้ง ทว่าจุดเริ่มต้นคมพยาบาทเป็นละครวิทยุมาก่อน ของ คณะกมลพิศมัย และในปี 2506 ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ ซ้ำยังนำไปดัดแปลงเป็นละคร “เลือดหงส์” และ “แก้วล้อมเพชร” ทางช่อง 5

คมพยาบาท เรื่องราว ความรักของ “เย็น” ที่ถูกทรยศจาก “อุทัย” ไปแต่งงานกับ “วณี” กลายมาเป็นแค้น จึงขโมยลูกสาวของทั้งคู่ไป 18 ปีต่อมา เย็นกลับมาพร้อมหญิงสาว 2 คน ชื่อ “น้อย” กับ “เปีย” การแก้แค้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เย็นส่งลูกสาวที่ชื่อเปียคืนกลับครอบครัว

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

 

ความวุ่นวาย เรื่องยุ่งยากขึ้น เมื่อนิสัยของเปียนำมาแต่ความเลวร้ายตรงข้ามกับน้อย จึงทำให้หลายคนคิดว่าเด็ก 2 คนนี้น่าจะสลับตัวกันมากกว่า เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีปมรักสามเส้า ระหว่าง “น้อย” “พี่เลอสรร” “เปีย” โยงเข้าไปให้เรื่องเข้มข้นขึ้นไปอีก ไหนจะปมความแค้นตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาถึงปมชิงรักหักสวาทรุ่นลูก

การเล่าเรื่องที่นำสู่ผู้ชมไม่ได้ซ่อนเงื่อน แต่เฉลยให้รู้ตั้งแต่ต้นว่า ใครเป็นตัวจริง ใครเป็นตัวร้ายใครเป็นตัวดี ละครดูเข้าใจได้ง่ายแถมยังสนุกไปกับปมที่ตัวละคร “น้าเย็น” สร้างความขัดแย้งขึ้น โดยใช้ น้อยกับเปีย เป็นหมากตัวหนึ่งในเกมแก้แค้น คนดูลุ้นเอาใจช่วยให้ความลับถูกเปิดเผย แต่ยิ่งลุ้น เรื่องยิ่งอิรุงตุงนัง เพราะเปียร้ายขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลัวความลับแตก

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

 

พล็อตแบบนี้จึงยังครองใจผู้ชมอยู่ได้ ทีนี้มาดูกันที่ยุคสมัยละครนำเสนอออกมา ละครที่ถูกสร้างเมื่อ 10 20 30 ปีก่อน ใช่ว่ามาทำในยุคนี้จะล้าสมัย คำพูดคำจาคงดูฟังแปลก อย่างที่บอกว่าถ้าพล็อตเป็นอมตะ เป็นที่นิยม พล็อตก็เป็นหัวใจหลักที่ยังมีบริบทแวดล้อมอีกหลายอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแหละที่ปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยที่ละครนำเสนอ ไม่ว่าจะเสื้อผ้าหน้าผม หน้าที่การงาน เทคโนโลยีแวดล้อม เห็นได้ว่าเวอร์ชั่นล่าสุด มีเฟซบุ๊ก มีโชว์ล้างรถมอเตอร์ไซค์ด้วย

นักแสดงเจ้าบทบาทในเรื่องนี้สำคัญมาก โดยนักแสดงเด่นยกให้ผู้หญิง 3 คน “น้าเย็น” “น้อย” และ “เปีย” (เรียงตามลำดับ)

ปี 2512 (ช่อง4) สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ฉันทนา ธาราจันทร์ ศิริพร วงศ์สวัสดิ์

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

 

ปี 2520 (ช่อง 9) อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ยุวธิดา สุรัสวดี พัชรา กุญชร ณ อยุธยา

ปี 2525 (ช่อง 7) ศศิวรรณ นันทิยารักษ์ กมลวรรณ ขวัญศิริ เกษริน พูนลาภ

ปี 2531 (ช่อง 5) นาถยา แดงบุหงา ชไมพร จตุรภุช นฤมล ศิลปี

ปี 2544 (ช่อง 7) หมวยสุภาภรณ์ คำนวณศิลป์ ยุ้ยจีรนันท์ มะโนแจ่ม อั้มพัชราภา ไชยเชื้อ

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

 

ปี 2557 (ช่อง 7) หยกธัญยกันต์ ธนกิตติ์ธนานนท์ นาวทิสานาฏ ศรศึก เปรี้ยวทัศนียา การสมนุช

ทั้ง 3 บทบาท ต้องแสดงอารมณ์อย่างมาก ทั้งเก็บกดใช้ได้แค่สายตากล้ามเนื้อหน้าก็ห้ามกระตุก ให้สมกับความร้ายลึก ความแค้นที่ฝังเจ็บในใจ บางซีนก็ระเบิดอารมณ์โพล่งออกมา บทเจ้าน้ำตาก็เค้นกันออกมาไหลเป็นสาย ต่างเวอร์ชั่นตีความกันออกไป แม้หลักๆ จะแบ่งเป็น คนหนึ่งร้ายเพราะโดนทรยศจึงแค้น คนหนึ่งร้ายโดยสืบสันดานโจรและอิจฉาริษยา คนหนึ่งแสนดีโดยสืบสันดานจากตระกูลผู้ดีเก่าแม้จะอยู่ในแวดล้อมคนไม่ดีก็ยังเป็นเพชร แต่ในการแสดงออกมาย่อมต่างไป จากการตีความและบทโทรทัศน์ยุคนั้นๆ

ยกตัวอย่าง 2 เวอร์ชั่นล่าสุด น้าเย็นหมวย ร้ายลึกแบบอาฆาตแค้นดูน่ากลัว หยก ร้ายแต่ยังมีความน่าสงสารเธอทำเพราะเธอรักมากเจ็บมาก น้อยยุ้ย นางเอกเจ้าน้ำตา ยอมทุกอย่าง นาว มีสีสันขึ้นมาบ้างเริ่มพูดโต้แย้งปกป้องตัวเองบ้างแต่ยังเจ้าน้ำตาเรียกคะแนนความสงสารได้เหมือนเคย เปียอั้ม ร้ายลึก เจ้าเล่ห์ มีแผนร้าย เปียเปรี้ยว ร้ายสุดโต่ง แอ๊บแบ๊วแต่ก็ร้าย จะว่าไปแล้วเวอร์ชั่นล่าสุดดูง่ายกว่าครั้งก่อน เพราะตัวละครแบน ขาวดำแยกกันชัด แต่ความสนุกอยู่ที่บททันสมัยใส่เข้ามาดูมีความสมจริงของตัวละคร

คมพยาบาท เมื่อรักกลายเป็น (แก้) แค้น

 

คมพยาบาทเวอร์ชั่นที่ผ่านๆ มาประสบความสำเร็จ แถมยังส่งชื่อ ยุ้ยอั้ม ขึ้นแท่นนางเอกแถวหน้า ครั้งนี้ นาวเปรี้ยว ก็แสดงได้ดีไม่แพ้กัน อนาคตสดใสไม่แพ้รุ่นพี่แน่ และถ้าอีก 10 ปีหน้า คมพยาบาทจะถูกนำมาเป็นละครอีกครั้งก็เชื่อได้ว่า พล็อตนี้ยังขายได้ ยังสามารถดัดแปลงให้สนุกได้อีก