posttoday

เรื่องของ ‘ครูมาด’ ก่อนจะเป็น ‘คิดถึงวิทยา’

19 เมษายน 2557

หากนับเรื่องราวความน่าประทับใจเป็นตัวเลข ภาพยนตร์ “คิดถึงวิทยา” ก็เดินทางมาได้ไกลจนแตะตัวเลข 100 ล้าน

โดย...พงศ์ พริบไหว

หากนับเรื่องราวความน่าประทับใจเป็นตัวเลข ภาพยนตร์ “คิดถึงวิทยา” ก็เดินทางมาได้ไกลจนแตะตัวเลข 100 ล้าน ซึ่งนั่นเองเป็นค่าวัดทั้งความนิยมและคุณภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ อีกทั้งยิ่งตอกย้ำความเป็นค่ายหนังน้ำดีให้กับค่ายจีทีเอช ที่ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวของครูหนุ่มคนเล็กๆ ชายขอบออกมาได้อย่างน่าประทับใจใครหลายๆ คน

เพื่อแทนการขอบคุณแฟนๆ กับยอดที่พุ่งทะลุ 100 ล้าน เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมาทางค่ายหนังจีทีเอชได้จัดงาน คิดถึง 100 ล้าน สานฝัน “โรงเรียนเรือนแพ” โดยในวันนั้นได้มีคุณครูที่เป็นเสมือนแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ “คิดถึงวิทยา” มารับมอบเงินสนับสนุนเพื่อใช้ในการศึกษาในโรงเรียนบ้านก้อจัดสรรสาขาเรือนแพ ซึ่งต้องบอกเลยว่าหากไม่ได้เรื่องราวของครูหนุ่มคนนี้เป็นจุดเริ่มในวันนั้น คงไม่มีคิดถึงวิทยาวันนี้...

แรงบันดาลใจจากครูแห่งห้องเรียนเหงากลางขุนเขาเงียบ

ครั้งหนึ่งค่ายหนังจีทีเอชเคยนำเอาแรงบันดาลใจจากหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวห้วงหนึ่งของชีวิต “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่เจ้าตัวเขียนไว้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อว่า “มหา’ลัย เหมืองแร่” ผลงานกำกับของ “เก้งจิระ มะลิกุล” ซึ่งเมื่อเข้าฉายก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของรางวัลมากกว่าเรื่องของยอดรายได้ จนมาถึง “คิดถึงวิทยา” เก้งก็แก้มือด้วยการหยิบยกเอาเรื่องราวชีวิตจริงของครูหนุ่มที่ชื่อว่า “ครูมาดสามารถ สุทะ” แห่งโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่เขาเองได้อ่านเจอในสารคดีเรื่องหนึ่งมาปรับแก้และเพิ่มเรื่องราวของความรักเข้าไป ให้เป็นบทภาพยนตร์ที่ชวนเสียเงินเข้าชม อีกทั้งยังงดงามด้วยเรื่องราวอันน่าประทับใจ

เรื่องของ ‘ครูมาด’ ก่อนจะเป็น ‘คิดถึงวิทยา’

 

“พอเขาอ่านเรื่องของผมเสร็จก็โทรมาหาผมพูดคุยกันนิดหน่อยว่า จีทีเอชอยากทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับตัวผม เขาบอกจะขอเข้าไปสอบถามข้อมูลจากผมได้ไหม จนวันไปรับรางวัลข้าราชการต้นแบบที่กรุงเทพฯ ทางทีมงานของจีทีเอชก็ขอพบผมเพี่อที่จะเชิญมาทานข้าวด้วยกัน ในวันนั้นผู้กำกับทุกคนก็มาหมดเลยนะ แล้วผมก็ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้จักใครเลยเหมือนเขาเรียกคนป่าคนดอยไปเจอดาราเลยมันรู้สึกแปลกๆ”

ครูมาดวัย 32 ปีเล่าย้อนความหลังครั้งเจอ เก้ง จิระ ให้ฟังปนเสียงหัวเราะต่อว่า วันนั้นได้พบกับทีมงานของจีทีเอชหลายคนซึ่งมีคุณเก้ง จิระ และผู้กำกับของเรื่องอย่าง “ต้นนิธิวัฒน์ ธราธร” อยู่ด้วย เมื่อทั้งหมดพบเจอกัน คำถามมากมายผุดขึ้น อาทิ เคยได้ยินชื่อบริษัทไหม? รู้จักเก้ง จิระเปล่า? รู้จักหนังเรื่องแฟนฉันไหม? ทุกคำถามถูกตอบกลับด้วยแววตาซื่อๆ ของครูมาดว่า “ไม่รู้จักเลยครับ”

“ผมก็ไม่รู้อะไรเลยที่เขาถาม อยู่แต่ในดอยก็ไม่รู้จริงๆ จนคุณเก้ง เขาคงไม่อยากถามอะไรอีก จึงตัดบทด้วยคำถามว่า ผมอยากเอาชีวิตครูไปทำหนังมากนะ ครูจะอนุญาตผมไหม ผมเห็นคุณเก้งจริงจังมาก ก็เลยตอบไปว่าถ้าบริษัทมีความเชื่อมั่น อยากจะทำหนังที่เกี่ยวกับชีวิตครูบ้านนอกและความเป็นครู ผมก็ยินดีมากเลย หลังจากนั้นพอมีข้อมูลประมาณหนึ่ง คุณต้นผู้กำกับและทีมงานก็ลงไปที่โรงเรียนเรือนแพเพื่อลองใช้ชีวิตกินอยู่ด้วยกัน จนเอาเรื่องมากมายและบรรยากาศไปไว้ในหนัง ทั้งเรื่องพายุ เจอศพ เรื่องชีวิต การทำงาน ความรัก เรื่องของการอกหัก และเด็กนักเรียน จากนั้นถึงเอาเรื่องเพื่อนของคุณเก้งที่พบรักกันด้วยสมุดไดอะรีมาเสริมผูกเข้าด้วยกัน”

เรื่องของ ‘ครูมาด’ ก่อนจะเป็น ‘คิดถึงวิทยา’

 

ชีวิตจริงของครูแพ

ในภาพยนตร์เรื่องคิดถึงวิทยาที่ได้ “บี้สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว” เข้ามารับบทเป็นครูหนุ่มในภาพยนตร์นั้น หนุ่มบี้เองแสดงได้เป็นธรรมชาติมากๆ ทั้งความมุ่งมั่นในการเป็นครู และชีวิตที่ต้องอยู่กับความคิดถึงและความเหงา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตครูมาดเจ้าของเรื่องเลย ที่มอบชีวิตทั้งหมดให้กับความฝันถึงการเป็นครูผู้ให้ อะไรกันที่นำพาครูคนหนึ่งมาอยู่ไกลแสนไกลในที่ซึ่งไม่มีครูคนไหนอยากมาอยู่

“คือชีวิตผมเหมือนรออะไรอยู่ ผมไม่อยากเป็นครูแค่สอนเด็กตกเย็นก็นั่งก๊งเหล้า ผมอยากเป็นครูที่สามารถนับถือตัวเองได้จริงๆ เลยไปสอบเป็นครูที่โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร แล้วพอวันแรกที่ไปถึงเห็นโรงเรียนมันร้างเลยนะ ผมก็นอนก่ายหน้าผากอยู่หนึ่งคืนเต็มๆ คิดเปรียบเทียบกับตัวเอง ที่ต้องบวชเรียนในวัดเพราะว่าไม่มีโรงเรียนใกล้ๆ ให้เรียน ยังจำได้เลยว่าเคยพูดกับตัวเอง ทำไมถึงไม่มีคนให้โอกาสเราบ้าง แล้วผมก็มองเด็กที่นี่เหมือนเราเมื่อก่อน คือต้องร่อนเร่เพื่อไปหาที่เรียน อย่างที่นี่มีห้องเรียนแต่ไม่มีครู เขามีโอกาสแต่กลับไม่มีคนสอนหนังสือ ถ้าผมตัดสินใจหนีไป เด็กๆ ต้องรอครูถึงเมื่อไร เพราะไม่มีคนมาสอนที่นี่เป็นปีแล้ว”

แค่คืนแรกที่มาอยู่เขาเองก็ต้องพบกับความแปลกใหม่มากมาย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีความบันเทิงทุกชนิด กระทั่งคู่รักให้คลอเคลีย มีเพียงแต่ความเหงาเข้ามากุมกอด ซึ่งครูมาดได้แต่บอกถึงความรู้สึกห้วงนั้นว่ามันอ้างว้างจับใจ เกินกว่าจะบรรยายความรู้สึก ว่านี่หรือคือชีวิตของครูจริงๆ ที่เขาต้องการ แทนที่จะหนีกลับพอตื่นเช้ามาครูมาดลงมือเริ่มงานวันแรกด้วยการทำความสะอาดแพคนเดียวสามวันสามคืน ตั้งแต่ที่นอน ห้องเรียน ห้องครัว ครูมาดคิดแค่ว่าเมื่อเด็กมาเด็กต้องได้เรียนหนังสือทันที

จากวันนั้นถึงวันนี้ 10 ปีทีเดียวที่เขาพยายามอย่างหนัก เพื่อให้เด็กๆ ที่อาศัยอยู่กลางทะเลสาบแม่น้ำปิง เหนือเขื่อนภูมิพล ยังคงมีที่ได้เรียนหนังสือ จากแพแห่งนี้เด็กหลายคนได้เติบโตไปเป็นประมงที่หาอยู่หากินอย่างไม่เอาเปรียบธรรมชาติ หลายคนได้ทุนไปเรียนต่อในสายอาชีพ ซึ่งยังรอยยิ้มและความภูมิใจมาถึงครูหนุ่ม

เรื่องของ ‘ครูมาด’ ก่อนจะเป็น ‘คิดถึงวิทยา’

 

ปลายทาง ของความรัก

หากใครได้ชม “คิดถึงวิทยา” แล้วละก็ คงอดไม่ได้ที่ต้องสงสัยถึงปลายทางของความรักของสองพระเอกนางเอกในเรื่อง ว่าสุดท้ายแล้วทั้งคู่จะรักกันได้หรือเปล่าหรือเพียงแค่ได้พบเจอกันและยิ้มให้กัน หากแต่ชีวิตจริงของครูมาด เรื่องราวความรักของเขาเองก็เป็นเรื่องราวแสนโรแมนติกไม่แพ้เวอร์ชั่น “คิดถึงวิทยา” เพราะความรักของครูมาดนั้นเขาเองต้องทนคิดถึงคนรักมาโดยตลอด 10 ปี บนสภาพความเหงาอันแสนโดดเดี่ยวกลางสายน้ำ

“เมื่อตอนเข้ามาอยู่เป็นครูเรือนแพใหม่ๆ แฟนก็ไม่อยากให้ห่างกันเพราะคิดว่าคนรักกันก็ควรอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ผมก็ยังตัดสินใจมาสอนนะเพราะที่ทำ ผมคิดว่าเป็นการให้โอกาสกับเด็กๆ และนั่นเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด

อย่างช่วงแรกๆ ที่ไปอยู่แพผมอยู่เดือนหนึ่งถึงจะได้ออกมาเจอกับแฟน คือตอนนั้นเงินเดือนน้อยออกมาทุกๆ อาทิตย์ไม่ได้ มันเลยทำให้ผมได้เจอแฟนเดือนละครั้ง แล้วพอเจอกันก็อยู่ด้วยกันไม่นาน ผมก็ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับ พอถึงแพก็ไม่สามารถติดต่อกันได้เลย

“ผมก็แอบมานั่งคิดถึงเขาบนดาดฟ้าแพทุกคืนโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้แฟนผมจะทำอะไรอยู่ กินข้าวหรือยัง นอนหรือยัง เขาสบายดีไหม คือผมคิดถึงจนท้อเลยนะ ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าจะเอายังไงเราอยู่ไกลห่างเขามาก เหมือนเราเกิดความลังเลเราอ่อนล้าเราเหนื่อย แต่เราตั้งใจแล้วก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ อีกอย่างเราก็ยังเป็นแค่เพียงครูอัตราจ้างอนาคตก็ไม่เห็น คือถ้าเป็นผู้หญิงคนอื่นเขาคงไปจากเรานานแล้ว คงไม่ทนรอถึงขนาดนี้ ทั้งๆ ที่อนาคตของเราก็มองไม่เห็นชีวิตของเรายังมืดมนอยู่เลยวันๆ อยู่กับเด็กๆ

“ผมเคยถามแฟนผมนะว่า ทำไมถึงต้องรอผม เขาบอกว่าความรักของเราสองคนมันผ่านอะไรกันมามาก เราเจออะไรที่หนักๆ ด้วยกันมาหลายๆ เรื่อง อย่างเมื่อก่อนที่ผมแข่งกีฬาก็ห่างกันแปดเดือนไม่เจอกันเลย เขาก็ยังรอและผ่านมาได้ แล้วแค่นี้ทำไมเขาจะรอคนที่เขารักไม่ได้ จนวันหนึ่งผมก็คิดว่ามันถึงเวลาแล้วแหละ ที่เราจะถามผู้หญิงคนหนึ่งว่าอยากใช้ชีวิตร่วมกันกับเราจริงๆ ไหม ชีวิตคู่ที่ไม่เหมือนกับคู่อื่นที่อยู่ด้วยกันทุกวัน”

เมื่อครูมาดขอคนรักแต่งงาน ผู้หญิงคนนั้นยังคงยืนยันคำเดิมว่าเขาจะอยู่เคียงข้างครูหนุ่มคอยสนับสนุนเขาให้ทำงานที่รักไปทั้งชีวิต

เรื่องของ ‘ครูมาด’ ก่อนจะเป็น ‘คิดถึงวิทยา’

หนังไทยจากเรื่องจริง

“มหา’ลัย เหมืองแร่” เข้าฉายในปี พ.ศ. 2548 เขียนบทและกำกับโดย จิระ มะลิกุล จากหนังสือรวมเรื่องสั้น ชุด เหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ แม้เป็นหนังที่ดีเอามากๆ แต่รายได้กลับไม่ดีตามหน้าหนัง ด้วยเพราะไม่ได้ใช้นักแสดงดัง อีกทั้งยังเน้นจริงจังกับการเดินทางและการใช้ชีวิตของตัวละคร “อาจินต์” หากไม่ใช่แฟนหนังสือคงไม่ง่ายที่จะตัดสินใจเข้าชม ทว่านักวิจารณ์ต่างมอบรางวัลมากมายให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้

“คืนบาป พรหมพิราม” อีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวทีสุพรรณหงส์ เป็นภาพยนตร์อาชญากรรม ซึ่งมีเค้าโครงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องราวที่เล่นเอาคนดูถึงกับสลดหดหู่กับเนื้อเรื่องกันไปเลยทีเดียว ภาพยนตร์เขียนบทและกำกับโดย มานพ อุดมเดช