posttoday

กวีซีไรต์โวยสพฐ.ของานไปพิมพ์ไม่จ่ายเงิน

10 มีนาคม 2557

"อังคาร จันทาทิพย์"กวีซีไรต์โพสต์เฟซบุ๊กจวกสพฐ. ขอบทกวีไปพิมพ์แต่ไม่จ่ายค่าตอบแทน จวกมักง่าย-ไม่ให้เกียรติวิชาชีพ

"อังคาร จันทาทิพย์"กวีซีไรต์โพสต์เฟซบุ๊กจวกสพฐ. ขอบทกวีไปพิมพ์แต่ไม่จ่ายค่าตอบแทน จวกมักง่าย-ไม่ให้เกียรติวิชาชีพ

เมื่อวันที่  10 มี.ค.2557 นายอังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์ ประจำปี 2556 จากผลงานบทกวีนิพนธ์เรื่อง "หัวใจห้องที่ห้า" ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตำหนิการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ขออนุญาตนำบทกวีชื่อ "ความตายของสันติสุข"ไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ "กาญจนกานท์ : รวมบทกวีวรรคทองร่วมสมัย เล่ม 2" แต่ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของผลงานเลย โดยกล่าวว่าเป็นการกระทำที่มักง่าย เพราะหากจะส่งเสริมการอ่านและการเขียนจริงๆ ก็ไม่ควรละเลยคนที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นทางอย่างกวีด้วย

ทั้งนี้เนื้อหาที่นายอังคารโพสต์เอาไว้มีเนื้อหามีดังนี้

กวีท่านใดได้รับจดหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องขออนุญาตนำบทกวีไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ ‘กาญจนกานท์ : รวมบทกวีวรรคทองร่าวมสมัย เล่ม 2’ บ้าง

ก่อนได้รับจดหมาย ได้พูดคุยรายละเอียดคร่าวๆ พอสมควร สิ่งที่รู้สึกขัดเคืองใจมากๆ คือ เป็นการนำไปจัดพิมพ์เผยแพร่โดยไม่จ่ายค่าต้นฉบับ ค่าตอบแทน ค่าลิขสิทธิ์ (จะเรียกอะไรก็ตามแต่) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดและรู้สึกว่า ‘ออกจะคิดอะไรกัน (มัก) ง่ายเกินไปไหม?’ สารภาพตามตรงว่า ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์โภชน์ผลเรื่องเงินทองอะไรขนาดนั้น ถึงคิดจริง ได้ตอบแทนกลับมาจริงก็คงไม่ได้มากมายอะไร แต่ติดใจอย่างมากกับเรื่อง ‘เรื่องวิธีคิด’ ของคนที่จัดทำโครงการนี้ ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการอ่านและการเขียน (ดูจากเนื้อหาของจดหมาย) แต่กลับไม่ครบถ้วนทั้งกระบวนการและวิธีคิด เพราะหากจะส่งเสริมการอ่านและการเขียนกันจริงๆ โดยหน่วยงานของรัฐ นอกจาก ‘คนอ่าน’ แล้ว คนที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นทางอย่าง ‘กวี นักเขียน’ ก็ไม่ควรถูกมองข้าม และไม่ควรถูกมองเป็น ‘ของตาย’ จะอะไรยังไงก็ได้

ว่ากันตามจริง งบประมาณในการดำเนินโครงการจัดพิมพ์ แจกจ่าย เผยแพร่คงมีอยู่ทุกกระบวนการ และว่ากันตามจริง กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรร ‘งบประมาณ’ สูงเป็นลำดับต้นๆ ไม่นับรวมถึงการใช้จ่ายงบแบบสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์ในโครงการอื่นๆ อย่างที่เห็นและรับรู้กันอยู่

บ่นมาเสียยืดยาว เผื่อจะทำให้ใครที่พลัดหลงเข้ามาอ่านแล้วฉุกคิดเรื่อง ‘มาตรฐาน--วิธีคิด’ ที่ควรจะมีจะเป็นอย่างที่พูดๆ กันอื้ออึงอยู่ในตอนนี้ ส่วนกวีท่านใดที่ได้รับจดหมายแล้ว ‘อนุญาต’ ก็คงเป็นสิทธิส่วนบุคคลนะครับ

แต่ผม ‘ไม่อนุญาต’

นายอังคารเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า  นี่เป็นครั้งแรกที่ทางสพฐ.ส่งจดหมายขออนุญาตนำบทกวีไปเผยแพร่ ก็ถือว่ายังดีที่มีระบบการขออนุญาต แต่เรื่องค่าลิขสิทธิ์ นักเขียนก็ควรต้องได้ เพราะหน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงเจ้าของงานที่เชิญไปบรรยาย หรือของานไปพิมพ์ยังมีงบจ่ายค่าตอบแทนให้ นี่ระดับหน่วยงานใหญ่ขนาดนี้ยังคิดได้แค่นี้ ทำเหมือนกับเราเป็นคนง่ายๆอะไรก็ได้ เท่าที่ทราบยังไม่รู้ว่ามีเพื่อนกวีคนไหนเจอเรื่องแบบนี้บ้าง แต่ขอยืนยันว่าไม่อนุญาต"

ขณะที่ นายมกุฏ อรดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 และนักเขียนชื่อดัง ได้แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า

"ขอใช้ต้นฉบับ พิมพ์หนังสือไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์" กรณีล่าสุด คือหน่วยงานราชการ และกระทรวงศึกษา ขอใช้ต้นฉบับของกวีร่วมสมัย เพื่อรวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือเรียนของนักเรียน แต่จะไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์

กรณีนี้น่าสนใจว่าเราจะไม่มีทางพัฒนาระบบหนังสือของชาติได้เลยในเมื่อหน่วยงานหลักของระบบการศึกษาชาติไม่เข้าใจกลไกต่างๆอันทำให้ 'ระบบหนังสือ' เกิดขึ้น งอกงาม และมั่นคง

ถ้ากระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณพิมพ์หนังสือให้เด็กเรียนกระทรวงศึกษาธิการไม่รู้หรือว่า ค่าลิขสิทธิ์เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง และถ้าผู้พิมพ์หนังสือทุกฅนคิดเหมือนกระทรวงศึกษาธิการคือ ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้เขียนก็ได้ ฅนเหล่านั้นจะกินอะไร

ประเทศไทย มืดจริงๆ ครับ