posttoday

พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร ครั้งหนึ่งในชีวิต หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี

04 พฤษภาคม 2553

ครั้งหนึ่งในชีวิตของหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ที่ได้เป็นผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรที่จัดขึ้น ณ หมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง

ครั้งหนึ่งในชีวิตของหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ที่ได้เป็นผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรที่จัดขึ้น ณ หมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง

นับเป็นที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของ หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ธิดาเพียงคนเดียวในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย กับหม่อมเจ้าหญิงพัฒน์คณนา (กิติยากร) ไชยันต์ ที่เคยร่วมเป็น ๑ ใน ๑๖ หญิงสาวในราชสกุล ที่ได้เป็นผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรที่จัดขึ้น ณ หมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง หรือคำสามัญคือ “พิธีขึ้นบ้านใหม่” ที่ในหนึ่งรัชกาลจะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว นับเป็นโบราณราชประเพณีในโอกาสที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ นับเป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจัดขึ้นในวันถัดมา ซึ่งจัดเป็นการภายใน ไม่มีแม้แต่การถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงให้ประชาชนได้รับทราบ

พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร ครั้งหนึ่งในชีวิต หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี

๑ ใน ๑๖ ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร

ในพระชันษา ๗๖ ปี หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา (หรือ “คุณหญิงแก้มพวง” ชื่อเล่นที่ใช้เรียกกันในราชสกุลกิติยากร) ยังจำเหตุการณ์ในเย็นวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ได้ดี ขณะนั้นคุณหญิงแก้มพวงอายุเพียง ๑๖ ปี เป็นเด็กสาวรูปร่างสูงโปร่งถึง ๑๖๕ เซนติเมตร และได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๖ ราชสกุล นับเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลหาที่สุดมิได้

“วันหนึ่งได้นั่งเล่นอยู่บ้าน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนไชยนาทนเรนทร เสด็จมาที่บ้าน ได้ทรงปฏิสัณฐานกับท่านพ่อและท่านแม่พักหนึ่ง ท่านแม่รับสั่งให้ดิฉันเข้าเฝ้าเสด็จในกรม พอดิฉันกราบถวายบังคมทูลแทบพระบาทเสด็จในกรม ก็รับสั่งให้ดิฉันยืนขึ้นแล้วทอดพระเนตรดิฉันอยู่นาน แล้วก็ทรงหันไปพูดกับท่านพ่อท่านแม่ว่า ดิฉันคงไม่สูงเกินไป” หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา เล่าถึงวันที่ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในผู้อัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร หรือเครื่องบรมราชูปโภค ทำหน้าที่เดินตามเสด็จในขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระคู่หมั้น จากพระที่นั่งไพศาลทักษิณสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งทั้งสองพระองค์จะต้องประทับแรม ณ พระที่นั่งเก่าแก่องค์นี้หนึ่งคืน หรือเรียกพระราชพิธีนี้อย่างชาวบ้านก็คือ “พิธีขึ้นบ้านใหม่” ก่อนวันพระราชพิธีจริง ได้มีการซ้อมใหญ่และมีการตระเตรียมพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรนานหลายเดือน หลังจากที่มีข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นหมายกับหญิงสูงศักดิ์ในราชสกุล “กิติยากร”

ก่อนมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจริง ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครพร้อมด้วยพระคู่หมั้นโดยเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือเดินสมุทรซีแลนเดีย จากประเทศฝรั่งเศส รอนแรมนาน ๑ เดือน เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ ๘ ระหว่างที่รัฐบาลไทยทรงรอการเสด็จมาถึงของทั้งสองพระองค์ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรส บรมราชาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร ทางการได้ตระเตรียมวางแผนงานทุกอย่างไว้อย่างพร้อมเพรียง

ตระเตรียมพระราชพิธีให้ครบถ้วน

เมื่อทราบหมายกำหนดการว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จนิวัตประเทศไทย การเตรียมงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในส่วนของหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา และเชื้อพระวงศ์เริ่มขึ้น เสด็จในกรมขุนไชยนาทนเรนทร ทรงนัดให้ผู้ที่ได้รับเลือกให้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรทุกคนไปพบกันที่วังของพระองค์ เพื่อมอบหมายหน้าที่ในพระราชพิธี โดยมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงมอบหมายหน้าที่ในการอัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องบรมราชูปโภคแก่เชื้อพระวงศ์ทั้ง ๑๖ คน ทุกคนเมื่อได้รู้ว่าจะต้องถืออะไรและเดินคู่กับใครก็รู้สึกตื่นเต้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ตรัสว่า ผู้ทรงเป็นหม่อมเจ้าสามองค์ ต้องอัญเชิญพระแสงศักดิ์สิทธิ์สององค์ อีกองค์อัญเชิญพระแส้หางช้างเผือก เพราะจัดเป็นของสูง ส่วนธารพระกรศักดิ์สิทธิ์และอุ้มไก่ขาวนั้น ตามโบราณราชประเพณีถือว่าเป็นของคู่กับหญิงรูปงาม ผู้อัญเชิญควรเป็นหม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร

สำหรับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ได้รับมอบหมายให้อุ้มวิฬาร (แมว) คุณหญิงแก้มพวงเล่าว่า การอุ้มวิฬารไม่มีผู้ใดขันอาสา เพราะแมวเป็นสัตว์ซุกซน อยู่ไม่ค่อยนิ่ง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ตรัสถาม ไม่มีใครขันอาสา ทันใดนั้นก็หันพระพักตร์ตรัสถามหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ว่า อุ้มแมวได้ไหม โดยธรรมชาติของคุณหญิงแก้มพวงรักสัตว์อยู่แล้ว จึงกราบบังคมทูลตอบรับโดยไม่รีรอ เสร็จสิ้นจากการพูดคุยแบ่งหน้าที่กัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้พระราชทานผ้าไหมสีน้ำเงินยกดิ้นทองกลับไปตัดเป็นชุดเหมือนๆ กันเพื่อใส่ในวันงานจริงด้วย เนื่องจากพระราชพิธีจัดขึ้นในวันเสาร์จึงใช้สีม่วงอมน้ำเงิน

ก่อนวันจริง มีพิธีซ้อมใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระคู่หมั้นจะทรงซ้อมด้วย ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
การซ้อมกำหนดขึ้นในช่วงเย็นๆ อากาศเย็นสบายดี ท่านแม่พาคุณหญิงแก้มพวงไปถึงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นพระที่นั่งต่อเนื่องกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ อันเป็นสถานที่ตั้งริ้วขบวนเพื่อเคลื่อนสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รอคอยอยู่นานพอสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงพร้อมด้วยพระคู่หมั้น

นับเป็นครั้งแรกที่หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ได้เห็นพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระพักตร์ของพระองค์งดงาม แต่ไม่ทรงแย้มพระสรวล เพราะเพิ่งผ่านพ้นพิธีอันเศร้าสลด นั้นคืองานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๘ เพิ่งเสร็จสิ้น หลังจากวันซ้อมทุกคนก็ต่างเฝ้ารอพระราชพิธีจริงอย่างใจจดใจจ่อ

วิฬารสวมอุบะเพชรซีกโบราณ สร้อยทองโบราณและกำไล

 

พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร ครั้งหนึ่งในชีวิต หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา

วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระราชพิธีราชมณเฑียรที่ ๑๖ ราชสกุลสาวต่างเฝ้ารอก็มาถึง ช่วงเย็นของวันนั้นคุณหญิงแก้มพวงในวัย ๑๖ สวยแรกแย้มในชุดผ้าซิ่นไหมสีน้ำเงินเข้มยกทองที่เชิงซิ่น เสื้อสีเดียวกันเข้ารูปตรงช่วงเอวและต่อระบายสั้น เสื้อแขนสั้น คอรูปหัวใจกลายๆ อยู่รอบคอ ชายเสื้อปักเลื่อมและลูกปัดสีทองเป็นลายไทยวิจิตรสวยงาม

“ก่อนเริ่มพิธีต้องนำแมวเพื่อนยากไปใส่เครื่องประดับอันล้ำค่าตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ประกอบไปด้วย อุบะเพชรซีกโบราณชิ้นใหญ่ ห้อยด้วยสร้อยโบราณและกำไลข้างละ ๔ อันซ้อนๆ กัน ท่านเลขาธิการพระราชวังกำชับนักกระชับหนาว่าจะทำหกตกล้นไม่ได้ ดิฉันจึงต้องระมัดระวังให้ดี ขณะที่ดิฉันอุ้มแมวก็อุ้มอย่างดี รัดซะเกือบแน่นเลย เพราะกลัวแมวจะดิ้นหลุดมือไป แต่ทั้งแมวและดิฉันก็คุ้นกันดีเพราะนำไปเลี้ยงไว้ที่วังนานเกือบเดือน” หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา เล่าอย่างอารมณ์ดี

การตั้งริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เริ่มในเวลาเย็น หัวขบวนเริ่มที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ลำดับตั้งริ้วขบวนยืนเข้าแถมเป็นคู่ๆ ตามลำดับ ได้แก่ คู่นำเทียน-หม่อมราชวงศ์ประศาสน์ศรี ดิศกุล และหม่อมราชวงศ์ปรียา โสณกุล เดินนำขบวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอัญเชิญขันบรรจุดอกพิกุลเงินและทองดอกจิ๋วสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยรายทาง เสด็จพระราชดำเนินตาม จากนั้นเป็นขบวนผู้อัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรตามลำดับ ได้แก่ พระแสงฝักทองเกลี้ยง-หม่อมเจ้ารังสีนภดล ยุคล พระแสงขรรค์เพชร รัชกาลที่ ๕-หม่อมเจ้าเฟื่องฉัตร ฉัตรชัย พระแส้หางช้างเผือก-หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์และอุ้มไก่ขาว-หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร ศิลาบดโมรา-หม่อมราชวงศ์เยาวลักษณ์ รังสิต พานพืช-หม่อมราชวงศ์ทิพาวดี เกษมสันต์ กุญแจทอง-หม่อมราชวงศ์ทรงสุวรรณ ทองแถม จั่นหมากทอง-หม่อมราชวงศ์กรองทอง ทองใหญ่ อุ้มวิฬาร-หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ไชยันต์ พานฟัก-หม่อมราชวงศ์ดวงใจ จิตรพงศ์ ต่อด้วยผู้เชิญเครื่องบรมราชูปโภค คือ พระสุพรรณศรี–หม่อมราชวงศ์วิมลโพยม สวัสดิวัฒน์ พานพระศรี-หม่อมราชวงศ์พวงแก้ว ชุมพล พานพระอุโบสถ-หม่อมราชวงศ์นิสารัตน์ เทวกุล และพานพระมาลา-หม่อมราชวงศ์ลภาพรรณ วรวรรณ ทั้งหมดยืนเข้าแถวรอคอยการเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์อยู่ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้วยความเรียบร้อยสง่างาม ท่ามกลางบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ของพระราชพิธี

เสด็จฯร่วมริ้วขบวน

เมื่อถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้วยพระพักตร์แจ่มใส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงแย้มพระสรวลน้อยๆ อยู่ตลอดเวลา ดูหวานซึ้งงดงามจับตา มีหม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล ทูลเกล้าฯ ถวายขันทรงโปรยแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินยืนประจำพระองค์หลังคนนำเทียน ทั้งสองพระองค์แต่งพระองค์ด้วยฉลองพระองค์สีน้ำเงินอมม่วงเหลืองทองงดงามแปลกตา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาโจงและฉลองพระองค์ไหมคอปิดแขนยาวคล้ายชุดไทยพระราชทานที่บุรุษยุคหลังสวมใส่ รัดบั้นพระองค์ด้วยประคดกรองทองทิ้งชายยาว ทรงสร้อยสะพายเฉียงพระองค์ พระดุมเพชร ๕ พระดุม ฉลองพระบาทด้วยไหมเหลือบทองเข้าชุดกับฉลองพระองค์ งามเหลือเกิน ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระภูษาแบบซิ่นป้ายข้าง ฉลองพระองค์เข้ารูปคอแหลม โค้งน้อยๆ ทรงหิ้วพระกระเป๋าลักษณะคล้ายกระเป๋าทรงร่างแหแบบโบราณสีทอง งดงามทั้งคู่เหมาะสมกันราวกับกิ่งทองใบหยก

พระราชพิธีเริ่มขึ้นโดยผู้นำเทียนทั้งคู่เดินนำเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองจากขันที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอัญเชิญตลอดทางเสด็จฯ ด้วยทั้งสองพระองค์ทรงมีพระบารมีมาก สายฝนจึงเริ่มโปรยปรายละอองเย็นชื่นใจ ขณะที่ริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีผู้คนมากมายล้วนแต่เป็นข้าราชบริพารมาหมอบเฝ้ารอชมพระบารมีอยู่ในความมืดอย่างเงียบสงบ เมื่อเสด็จฯ ถึงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นท้องพระโรงหน้า ขึ้นสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางอัฒจันทร์ตะวันตก สำหรับเชื้อพระวงศ์ที่อัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรเครื่องบรมราชูปโภคและนำเทียน เฝ้ารออยู่ที่ห้องพักกลาง เว้นแต่ผู้ทำพิธีเท่านั้น

พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระวิมานที่บรรทมของสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าเท่านั้น ตามโบราณราชประเพณีองค์พระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว แต่ยังไม่ได้ทรงรับบรมราชาภิเษกจะไม่เสด็จประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นอันขาด ต่อเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว จึงเสด็จขึ้นประทับได้ โดยจะต้องมีพระราชพิธีเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรต่อเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าสู่ห้องบรรทม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับบนพระแท่นลด สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับรวมกับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิรฏกุลินี ถวายพระแส้หางช้างเผือก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ถวายจั่นหมากทอง และท้าววรคณานันท์ ทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจทอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้ววางไว้ปลายพระที่บนพระแท่นใหญ่ หลังจากนั้นเสด็จขึ้นพระแท่นบรรจถรณ์ ทรงเอนพระองค์ลงบรรทมโดยเบื้องขวาสู่พระที่ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย แตรสังข์และเครื่องดุริยางค์ดนตรีบรรเลง พอสุดเสียงประโคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับมาประทับ ณ พระแท่นลดตามเดิม

จากนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิรฏกุลินี กล่าวถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระพรแล้วทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทอง พระราชทานเป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับลงมาประทับบนพระเก้าอี้ในห้องนี้อีกครั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ๑๖ สาวจากราชสกุลคลานเข้าไปหมอบเฝ้ารับพระราชทานของที่ระลึกเป็นเสมาสำหรับห้อยคอเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหน้า ด้านหลังจารึกคำว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๙๓” และดอกพิกุลทอง และเงินดอกจิ๋วหนึ่งคู่ ปัจจุบันแม้จะเก่าตามกาลเวลาแต่หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ก็ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี

เสร็จจากคืนนั้น มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า ในช่วงเวลาที่อยู่บนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น พระองค์ทรงรู้สึกกลัวมาก เพราะบรรยากาศห้องสลัว และพระราชพิธีดูศักดิ์สิทธิ์มาก

*** รายละเอียดของพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร นำความบางตอนมาจาก “เขียนถึงสมเด็จฯ” ตอน นางแก้วคู่บารมี โดยหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี***