posttoday

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

09 ธันวาคม 2556

ปิดโรงค่ำคืนนี้แล้ว ในปี 2556 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “โมกขศักดิ์”

โดย...ปอย ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ปิดโรงค่ำคืนนี้แล้ว ในปี 2556 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “โมกขศักดิ์” มาจัดแสดงขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เมื่อจิ๊กซอว์ปะติดปะต่อจากความทรงจำแบบเรียนชั้นประถม รามเกียรติ์ ตอน “โมกขศักดิ์” ...พระรามเสียพระทัยเมื่อเห็นพระลักษณ์เป็นฝ่ายเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ปักพระอุระจนสลบลง พิเภกทูลว่าสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที แต่ที่สำคัญที่สุดคือถ้าแสงพระอาทิตย์สาดส่องเมื่อใดจะหมดโอกาสแก้ไขได้ หนุมานรับอาสาเหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าเข้ายุดรถพระอาทิตย์ จนตนเองต้องพินาศเพราะอำนาจของแสงอาทิตย์

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

 

โขนเวทีนี้ เป็นการรวมช่างฝีมือหลากหลายสาขา อาทิ ช่างทำหัวโขน ช่างปักสะดึงกรึงไหม และช่างเงินช่างทอง รวมทั้งการแต่งหน้าวาดคิ้วโก่งตัวนางแบบโบราณ ซึ่งเป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ โดยเฉพาะการแสดงโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนละคร รวมทั้งศิลปะการแต่งหน้าสำหรับการแสดงนาฏกรรมแบบประเพณี เมื่อ พ.ศ. 2540 เพื่อใช้สำหรับการแสดงพระราชทานและเป็นการฟื้นฟูงานในขนบโขนโบราณ

หน้าฉากวิจิตรงดงามปิดโรงไปแล้ว ฉาก เสียง สี แสง สุดอลังการกับฉากหยุดรถพระอาทิตย์ ทุกๆ คนปรบมือให้กับความตื่นตาตื่นใจของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ต้องบอกว่าสมกับการรอคอยทุกๆ ปี ส่วนหลังฉาก behind the scene ทันทีที่หนุมาน สุครีพ กุมภกรรณ และเหล่าเสนายักษ์ “ถอดหัวโขน” เผยโฉมใบหน้าที่แท้จริง จึงได้รู้ว่าพวกเขาเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ ตั้งแต่ระดับครูโขน ไปจนถึงเหล่าเสนานักเรียนนาฏศิลปใบหน้าละอ่อน เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มีพลังขับเคลื่อนวงการโขนไทยได้อย่างน่าสดใส บอกเลย! เบื้องหลังน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้เบื้องหน้าฉากเลยแม้แต่น้อย!!!

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

 

หนุมาน ‘ครูเอ็กซ์’ แม่ยก (FC) เพียบบบบบ

ทำไมได้แสดงบทนี้ : เจ้าของฉายาลิงรูปหล่อ “เอ็กซ์” พรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง อายุ 32 ปี ข้าราชการตำแหน่งนาฏศิลปินชำนาญงาน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร บอกว่า ปีนี้สวมบทบาทหนุมานเก็บสรรพยา

“หนุมานแต่ละรอบมี 5 ตัวละครครับ คือ หนุมานที่แปลงกายเป็นหมาเน่า ในตอนนี้ กุมภกรรณเป็นยักษ์ที่รักความสะอาดเป็นที่สุด นำหอกโมกขศักดิ์กลับไปประกอบพิธีลับหอกที่เขาทับทิมริมแม่น้ำใหญ่ กุมภกรรณสั่งให้ตั้งโรงพิธีใหญ่พร้อมทั้งเครื่องบูชาอย่างครบถ้วนตามตำรา และได้สั่งไพร่พลกวดขันดูแลมิให้สิ่งปฏิกูลใดๆ ผ่านเข้ามาเป็นอันขาด แล้วจู่ๆ หมาเน่าก็ลอยน้ำมา

หนุมานตัวที่ 2 รำออกกราวหรือการตรวจสอบกองพล หนุมานตัวนี้ต้องคล่องแคล่ว ตีลังกาเก่ง

หนุมานตัวที่ 3 ตัวรบ ลอยตัวอยู่บนบ่ายักษ์ หนุมานตัวนี้รูปร่างเล็กๆ

หนุมานตัวที่ 4 โหนตัวบนรอก เพื่อเข้าหยุดรถพระอาทิตย์

สวมบทบาท : “ผมแสดงหนุมานตัวที่ 5 เก็บสรรพยา ต้องรำออกมาในเพลงหน้าพาทย์ หรือคุกพาทย์ ซึ่งเป็นเพลงครูที่แสดงอิทธิฤทธิ์ แสดงความโกรธ แต่ละหนุมานมีความสำคัญไม่แพ้กันเลยครับ ทุกๆ ตัวต้องแสดงด้วยความสามัคคี เพื่อรวมเป็นหนึ่ง

On stage ความประทับใจบนเวที : “แฟนๆ คอโขน ผมคงไม่ต้องแนะนำนะครับ แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยดูโขน ‘ฉากรำกราววีรชัยลิง’ ซึ่งจะมีลิง 18 มงกุฎออกมาร่ายรำโชว์ความสามารถวนคะนอง ตีลังกาม้วนหน้าม้วนหลังของลิง พลาดไม่ได้ครับ”

แรงบันดาลใจคนโขน : “ผมเรียนจบจากวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ เพราะพี่สาวบังคับให้เรียน (บอกพร้อมเสียงหัวเราะ) แต่เมื่อได้มาเรียนก็เกิดความผูกพันกับเพื่อน กับครูบาอาจารย์ การเรียนรำเป็นการเรียนที่หนักมาก วันๆ เราก็จะอยู่กับการซ้อมในแบบซ้ำๆ รำท่าเดิมๆ ไม่แตกต่างอะไรกับการฝึกทหารเลยนะครับ เพราะฉะนั้นครูกับเพื่อนจึงกลายเป็นคนที่เราผูกพันที่สุด จากไม่รักก็กลายเป็นรักการอยู่ในวงการนาฏศิลป์โดยไม่รู้ตัวเลย

อนาคตในวงการโขน : “ผมจะเล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ใหญ่จะไม่เลือกให้เราเล่น พูดแบบนี้เพราะวงการนี้ผู้ใหญ่คือผู้ให้โอกาส และตั้งแต่มีโขนศิลปาชีพฯ ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาดูเยอะมากๆ ครับ ทั้งที่ติดต่อกับผมผ่านแฟนเพจทางเฟซบุ๊กพรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง ก็คงไม่ถึงกับถือป้ายไฟ (หัวเราะ) แต่จะเข้ามาขอถ่ายรูปด้วย ซื้อขนม ซื้อน้ำมาฝาก และมีทั้งแฟนคลับกันมายาวนานอย่างเช่น ‘พี่ศรี’ อายุ 70 กว่าปีแล้วนะครับ แต่ให้น้องๆ ทุกคนเรียกว่าพี่ เข้ามาดูโขนที่เราแสดงทุกๆ รอบเลย ตั้งแต่ผมเรียนจบและอยู่ในวงการนี้มา 10 ปีพอดี ทุกครั้งที่แสดงต้องได้เห็นใบหน้า ‘พี่ศรี’ ทุกรอบครับ” พรเลิศ บอกเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

 

ใต้เงา ‘สุครีพ’ ครูแบ๊งค์ยุทธนา ธนาคาร

ทำไมได้แสดงบทนี้ : ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ไทย เป็นผู้คัดเลือกตัวแสดงและเจาะจงให้ผมแสดงเป็นสุครีพ บทบาทปีนี้สุครีพใช้ให้นิลนนท์ไปทูลข่าวและอัญเชิญให้พระรามเสด็จมาสนามรบ ผมเป็นลูกหม้อของวงการโขนก็ว่าได้ครับ จบจากวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี แล้วสอบรับราชการเป็นครูที่วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด

สวมบทบาท : ปีนี้สุครีพได้รับพระราชโองการรับคำสั่งพระราม ให้จัดทัพจัดกระบวนพล เปิดตัวออกมาในฉากร่ายรำบทเพลงกราววีรชัย ท่ามกลางลูกน้องลิงเสนาวานรที่เรียกว่า “ลิง 18 มงกุฎ” ด้วยท่ารำที่แสดงความฮึกเหิมในการจัดทัพศึกรบกับกุมภกรรณ ลิงสีแดง “สุครีพ” เจ้าเมืองขีดขิน คาแรกเตอร์นิ่ง สุขุม ในแบบฉบับของลิงชั้นสูงต้องปกครองคนหมู่มาก ที่เรียกว่า ลิงยอดบัด เมื่ออยู่บนเวทีต้องซ้อมรำที่เรียกว่าแม่ท่าในการรำเพลงหน้าพาทย์ มีการรำเต้นเสา หกคะเมนตีลังกา ฝึกซ้อมบทบาทที่รับแสดงโดยซ้อมวันละ 2 ชั่วโมงขึ้นไปครับ คนแสดงโขนร่างกายต้องแข็งแรง ต้องขยันฝึกซ้อม

On stage ความประทับใจบนเวที : “ฉากหนุมานไปหาสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที แต่ที่สำคัญที่สุดคือถ้าแสงพระอาทิตย์สาดส่องเมื่อใดจะหมดโอกาสแก้ไขได้ หนุมานรับอาสาเหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าเข้ายุดรถพระอาทิตย์ ฉากนี้ห้ามกะพริบตาเลยครับ” ครูแบ๊งค์ ยุทธนา แนะนำถ้ามาดูทันคืนนี้ ก็อย่าพลาด!

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

‘กุมภกรรณ ยักษ์ติดความสะอาด’ เบิร์ดวงษ์สมัตถ์ เล้าประเสริฐ

กุมภกรรณขึ้นไปทูลขอหอกโมกขศักดิ์ แต่ด้วยเหตุอาเพศที่ต้องเสียสัจสุจริตหอกนั้นกลับเป็นสนิมทั้งสี่คม พระพรหมตักเตือน แต่ก็บอกถึงวิธีแก้ไข ให้กุมภกรรณนำหอกโมกขศักดิ์กลับไปประกอบพิธีลับหอกที่เขาทับทิมริมแม่น้ำใหญ่ กุมภกรรณจัดสั่งให้ตั้งโรงพิธีใหญ่พร้อมทั้งเครื่องบูชาอย่างครบถ้วนตามตำรา และได้สั่งไพร่พลกวดขันดูแลมิให้สิ่งปฏิกูลใดๆ ผ่านเข้ามาเป็นอันขาด ทางฝ่ายพระราม พิเภกกราบทูลว่า กุมภกรรณไปประกอบพิธีลับหอก ถ้าสำเร็จจะมีฤทธิ์ร้ายกาจนัก และทูลว่า โดยอุปนิสัยของกุมภกรรณเป็นพญายักษ์ที่รักความสะอาด สิ่งที่จะทำลายพิธีได้ คือ ให้พญาวานรหนุมานและพญาวานรองคตแปลงกายเป็นหมาเน่าและอีกาที่จิกกินซากหมาเน่า ลอยผ่านเข้าไปใกล้บริเวณพิธี

ทำไมต้องได้แสดงบทนี้ : “ผมเป็นนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ อายุ 19 ปีครับ เมื่อมีการประกาศรับนักแสดงให้เข้ามาออดิชั่นในบทยักษ์ ซึ่งภุมภกรรณปีนี้มี 7 ตัวละคร แสดงรอบละ 3 คน ผมสนใจจึงเข้ามาสมัคร ลองดูครับ โดยครูจะให้เพลงที่มีเนื้อหาให้เราแสดงอารมณ์ต่างๆ ความยากที่สุดในการออดิชั่นบทนี้ก็คือเราไม่รู้เนื้อร้องนี้มาก่อนเลย จะต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณร่ายรำไปตามบทร้อง ในที่สุดผมก็ได้แสดงบทนี้ “กุมภกรรณ” ซึ่งในตอนนี้ถือเป็นพระเอก ภูมิใจมากครับ” เบิร์ด วงษ์สมัตถ์ บอกพร้อมรอยยิ้ม

สวมบทบาท : ฉากที่ฮามากๆ คือตอนที่องคตแปลงตัวเป็นอีกา หนุมานเป็นหมาเน่า ผมก็ต้องเข้าใจบทกุมภกรรณ นอกจากรักความยุติธรรมแล้วรักความสะอาดที่สุดอีกด้วย ฉากนี้ต้องอ้วกออกมาให้สมจริง แบบติดหล่อด้วย เพราะเขาเป็นพระเอก

On stage ความประทับใจบนเวที : กุมภกรรณ เป็นยักษ์สง่างามครับ ผมประทับใจคาแรกเตอร์ยักษ์ตัวนี้ตั้งแต่ได้ดูภาพยนตร์เก่าที่คุณแม่ซื้อมาให้ดู เรื่อง ศึกกุมภกรรณ ผลงานของค่ายหนังไชโย สนุกมาก แล้วเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเรียนรำตั้งแต่นั้นมาเลย หนังเรื่องนี้ทำให้ผมอยากแสดงโขนครับ” วงษ์สมัตถ์ บอกย้ำอีกครั้ง

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

 

‘เสนายักษ์จากอ่างทอง’ ไก๊ด์ธนพล แก้วกว้าง

ทำไมต้องได้แสดงบทนี้ : “ผมเป็นนักศึกษาปีที่ 1 วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง อายุ 19 ปีครับ เข้ามาออดิชั่นในบทยักษ์ ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้วครับ ปีนี้ก็รำในโจทย์เดียวกับเบิร์ด แต่คงยังไม่เก่งเท่าไรนะครับก็เลยได้รับบทบาทเป็นเสนายักษ์ ผมชอบดูโขนตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ดูตามแม่ แม่เป็นครูสอนนาฏศิลปอ่างทอง เราดูแล้วก็เกิดความประทับใจอยากไปอยู่บนเวทีแบบนั้นบ้าง” ไก๊ด์ ธนพล บอกพร้อมรอยยิ้มอายๆ ด้วยสำเนียงหวานเหน่อๆ แบบเด็กจากอ่างทอง

สวมบทบาท : “ขึ้นเวทีตอนแรกก็ตื่นเต้นมากครับ กลัวรำผิด กลัวมีอุบัติเหตุครับ ลิงที่ลอยขึ้นบ่าเราไม่ได้อะไรแบบนี้ เรียกว่าท่าขึ้นลอย เป็นท่าที่มีจังหวะลอย 1 ลอย 2 จับลิงฉีกขา จับลิงยกขึ้นในบทบาทที่กำลังสู้รบกัน ก่อนขึ้นเวทีต้องวอร์มอบอุ่นร่างกายแบบทหารเลย ไม่ให้ตะคริวกิน แต่ตอนนี้อากาศหนาว วอร์มนานๆ กว่าจะเข้าที่ รับลิงก็เลยได้ไม่นาน ไม่หนักเท่าไรครับ (หัวเราะ)”

On stage ความประทับใจบนเวที : “ความฝันของผมคือได้เป็นยักษ์ใหญ่ เรียกว่าพญายักษ์นั่งเมือง ร่ายรำมาในท่าช้าปี่ ในตอนนี้คือกุมภกรรณพญายักษ์ ซึ่งเป็นอนุชาของทศกัณฐ์ คนที่เป็นเสนายักษ์ก็ใฝ่ฝันที่จะได้รับบทนี้นะครับ แต่ตอนนี้ผมคงยังไม่เก่ง คงต้องฝึกฝนไปอีกเรื่อยๆ ครับ” ไก๊ด์ ธนพล บอกเขินๆ ท่ามกลางแฟนคลับสาวๆ ที่เมื่อถอดหัวโขนก็มาขอถ่ายรูปคู่ เพียบ...

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’

 

‘อินทรชิต แบกชุดน้ำหนัก 20 กก.’ บาสธีรเดช หมีขยัน

ทำไมต้องได้แสดงบทนี้ :“ผมเรียนนาฏศิลป์ ม.ปลายที่สุพรรณ แล้วก็มาสอบวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ เข้ามาออดิชั่นในบทยักษ์แล้วก็ได้แสดงทุกครั้งตลอด 3 ปีที่มีโขนศิลปาชีพฯ ตั้งแต่ศึกไมยราพ ครูจับให้แสดงเป็นยุง (หัวเราะ) ปีที่ 2 ตอนจองถนน ได้แสดงเป็นลูกชายทศกัณฐ์กับนางสนม ชื่อ สิบรถ และในตอนโมกขศักดิ์ ก็ได้เป็นลูกที่เป็นพญายักษ์ คืออินทรชิต มองลงไปที่คนดูปีแรกเห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงนั่งทอดพระเนตร รู้สึกภาคภูมิใจมากครับ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) แล้วโขนเวทีนี้ก็มีคนรุ่นใหม่มาดูเยอะมาก”บาส ธีรเดช บอกพร้อมรอยยิ้มตี๋หนุ่มน้อย

สวมบทบาท :“อินทรชิต”:บุตรทศกัณฐ์กับนางมณโฑ มีมเหสีชื่อ นางสุวรรณกันยุมา มีบุตรชื่อยามลิวันและกันยุเวก มีสีกายสีเขียว มีฤทธิ์เก่งกล้ามาก

On stageความประทับใจบนเวที : ชุดนี้น้ำหนักประมาณ 20 กก. ชุดก็หนัก ท่ารำก็หนักไม่แพ้กัน ทุกครั้งที่เล่นถามว่าเหนื่อยไหม?เหนื่อยมากครับ หิวน้ำก็ต้องค่อยๆ จิบ เพราะชุดเข้าห้องน้ำยาก แต่ทันทีที่ได้ยินเสียงปรบมือ หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยครับ แล้วก็ทำให้ผมเข้าใจว่าสิ่งที่ครูเข้มงวด ดุ มีกฎระเบียบวินัยสอนให้อดทนในการฝึกซ้อม ก็เพื่อให้เราอยู่บนเวทีได้อย่างงามสง่าที่สุดครับ”ธีรเดช บอกก่อนขอตัวขึ้นเวที

ได้เวลาปิดฉาก ‘ถอดหัวโขน’